หมอพลเดช : กระจายอำนาจเทียม! คือปัญหาชายแดนใต้
เลขา เกลี้ยงเกลา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“การพัฒนาต้องควบคู่ไปกับศีลธรรม จิตสำนึก และความดีงามเสมอ ต้องทำกลุ่มให้เข้มแข็ง สมาชิกต้องยกระดับความสำนึกดีงาม เป็นคนดี จึงจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” เป็นคำกล่าวของ นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ปัจจุบัน หมอพลเดช นั่งทำงานในตำแหน่งเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (Local Development Institute) และคณะกรรมการนโยบายขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai Public Broadcasting Service) หรือ ส.ส.ท. องค์กรแม่ของสถานีโทรทัศน์ “ทีวีไทย” โดยหมอพลเดช ได้นำเสนอ “แนวคิดว่าด้วยประชาสังคมในสถานการณ์ความขัดแย้งของจังหวัดชายแดนภาคใต้” ในการประชุมเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม ครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและอาชีพแก่ชายและหญิงที่เปราะบางในภาคใต้ของประเทศไทย (Enhanced Food and Livelihoods Security for Vulnerable Men and Women in the South of Thailand) เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
หมอพลเดช กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องให้หลุดพ้นจากวงจรทุนนิยม ก้าวไปในทิศทางที่มีการพัฒนาชุมชน วัฒนธรรม และวิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง โดยการพัฒนาต้องควบคู่ไปกับศีลธรรม จิตสำนึกและความดีงามเสมอ จึงจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
“ก่อนหน้านี้การพัฒนาของประเทศไทยเน้นในเรื่องทุนนิยม ทิศทางของประเทศถูกนำพาไปผิดทาง การพัฒนาที่ถูกคือต้องเอาชุมชน วัฒนธรรม และวิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง ต้องให้ผู้มีอำนาจได้ยินและเข้าใจ ด้วยเหตุนี้สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาจึงถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างองค์ความรู้ โดยมีประเทศแคนาดาเข้ามาช่วยเหลือ ตั้งกองทุนประเดิมจำนวน 100 ล้านบาท และเป็นปฐมบทของการก่อตั้งกองทุนอื่นๆ ในระยะหลัง เป็นอุดมการณ์ทางสังคมที่เป็นที่ยอมรับในการพัฒนา”
“ผมอยากเน้นย้ำว่า ความคิดของชุมชนเข้มแข็งเป็นหลักและเป็นทางเลือกในการพัฒนา แนวคิดของวัฒนธรรมชุมชนคือ ชุมชนเป็นหมู่บ้านไม่ใช่ท้องถิ่น การพัฒนาต้องอยู่บนฐานคิดของชุมชน ต้องปลดปล่อยชุมชนจากทุนนิยม ซึ่งเป็นแนวทางที่สวนทางกับโลกาภิวัตน์ ชุมชนต้องมีสิทธิ์ในทรัพยากร ถือเป็นรูปธรรมของการกระจายอำนาจที่แท้จริง ที่ผ่านมามีการกระจายอำนาจไม่แท้ ส่วนหนึ่งของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือการกระจายอำนาจเทียม และวันนี้อำนาจหยุดแค่การปกครองส่วนท้องถิ่น”
หมอพลเดช กล่าวต่อว่า ชุมชนเข้มแข็งเป็นฐานรากของประเทศ จำเป็นต้องให้มีความเข้มแข็งอย่างทั่วถึงจึงจะป้องกันวิกฤติต่างๆ ได้ เราต้องสร้างเจดีย์แห่งการพัฒนา ยอดของเจดีย์คือจิตวิญญาณ องค์เจดีย์คือระบบต่างๆ และฐานเจดีย์คือชุมชนท้องถิ่น สิ่งสำคัญคือการพัฒนาต้องควบคู่ไปกับศีลธรรม จิตสำนึก และความดีงามเสมอ ต้องทำกลุ่มให้เข้มแข็ง สมาชิกต้องยกระดับความสำนึกดีงาม เป็นคนดี จึงจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เรื่องของสิทธิชุมชนเป็นเรื่องสำคัญของชุมชนที่มีมานานและยังคงอยู่ ซึ่ง หมอพลเดช ชี้ว่า เป็นวาทกรรมที่ชุมชนใช้ต่อสู้ทางความคิดกับทุนนิยม
"สิทธิชุมชนเน้นหนักเรื่องสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้ประชาชนจัดการ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่จัดการ นอกจากนั้นยังมีสิทธิในการทำมาหากินและประกอบอาชีพ สิทธิในการสื่อสารของชุมชน และสิทธิในการจัดการระบบการเงินชุมชนที่ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน อาจารย์ประเวศ วะสี (ราษฎรอาวุโส) บอกว่าทุนนิยมเป็นการพัฒนาที่เซาะฐานและไปละเมิดสิทธิชุมชน แนวคิดนี้กำลังการกระจายไปทั่วโลก การพัฒนาที่ตัดรากเหง้าเป็นวิธีที่ผิด เอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) เองใช้สิทธิชุมชนเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ ขณะนี้กระแสการต่อสู้ของประชาชนชายแดนใต้ถูกกลบให้แผ่วเบาลงไปด้วยกระแสก่อความรุนแรงและปัญหาความมั่นคงที่มาเป็นเรื่องใหญ่”
“ช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา มีหลายสิบแนวความคิดที่เกิดขึ้น ทว่าขบวนการชุมชนไทย 5 ขบวนหลักคือ ขบวนการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อสวัสดิการชุมชน ขบวนการเกษตรผสมผสานในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ขบวนการสภาผู้นำชุมชน ขบวนการบ้านมั่นคง และขบวนการแผนแม่บทชุมชน เป็นขบวนการที่ยังยืนยงคงอยู่ และต้องสร้างสำนึกในการปกครองตนเอง สำนึกในความเป็นพลเมืองที่เหนือกว่าสำนึกสิทธิผู้บริโภค แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา”
ในประเด็น “การใช้สื่อมวลชนในงานรณรงค์และสร้างความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ขององค์กรภาคประชาสังคม” หมอพลเดช ยกเหตุการณ์จลาจลเผาเมืองเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาเป็นตัวอย่าง โดยระบุว่า สื่อเป็นปัจจัยสำคัญเพราะมีสุญญากาศเกิดขึ้น เช่น การเกิดวิทยุชุมชนที่มีสัมพันธ์กับนักการเมืองเพื่อสร้างฐานการเมืองนทางที่ผิด ควบคุมไม่ได้ จึงจำเป็นต้องคิดและจัดระเบียบสังคมใหม่ สังคมจะแข็งแรงจริงต้องยึดเจตนารมณ์ให้มั่น ไม่บ่อนเซาะชุมชนและสังคม
“สิ่งที่สื่อบางสื่อกำลังทำ เป็นทิศทางที่มีความเหนื่อยยากในการว่ายทวนและต้านทานกระแสทุนนิยมที่เชี่ยวกราก สื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งเหนือกว่าระดับชุมชน แต่อยู่ที่เทคนิค วิธีการ ทั้งนี้เครื่องมือสื่อสารที่ใช้ได้มีตั้งแต่หอกระจายข่าว วิทยุ และสื่ออื่นๆ ขอให้ทุกคนอย่าท้อถอยในการทำงานเพื่อชุมชน เด็ก และสตรี วิธีการคือการเกาะเกี่ยวกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายคือการสร้างความเข้มแข็งของประชาสังคม ยิ่งมากยิ่งดี สำคัญคือการรวมตัวกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สานสัมพันธ์กัน เป็นพื้นฐานสร้างสังคม ประชาคม เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ การเชื่อมโยงทำให้มีอิสระเกื้อหนุนกัน มีเอกภาพในทิศทาง ไม่มีใครดีกว่าใคร ถือเป็นความแตกต่างที่งดงาม”
เป็นถ้อยคำส่งผ่านกำลังใจเพื่อร่วมกันสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง” อย่างแท้จริงที่ชายแดนใต้!
----------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป