ข้อเท็จจริงจากปาก “โรฮิงญา” กับหลากทัศนะเพื่อหาทางออก
หมายเหตุ : รวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลกรณีผู้อพยพชาวโรฮิงญา จากการเข้าชี้แจงกับอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2556
นับตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2556 ที่พบชาวโรฮิงญาอพยพเข้ามาในดินแดนไทย 307 คน โดยมีความมุ่งหวังจะเดินทางไปยังประเทศที่ 3 จากนั้นก็ทยอยพบชาวโรฮิงญาอีก 401 คนที่สวนยางในภาคใต้ และในวันที่ 13 ม.ค. พบอีก 156 คนที่ชุมชนมุสลิมแห่งหนึ่งไล่เลียงมากระทั่งปัจจุบัน (28 ม.ค.2556) มีชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมแล้ว 1,486 คน ที่รวมทั้งเด็กและผู้หญิง กระจายไปอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ของจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งบ้านพักเด็กและสตรีสงขลา สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพังงา สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองปาดังเบซาร์ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสะเดา
โดยปกติการเข้ามาเมืองไทยของชาวโรฮิงญา จะเป็นช่วงหลังคลื่นลมมรสุมสงบลง ประมาณเดือนต.ค. ถึง ก.พ.ของทุกปี แต่พบว่าในรอบปีนี้มีเด็กและผู้หญิงอพยพมามากถึง 264 คน และในจำนวนนี้เป็นเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี 41 คน จากปกติจะเป็นชายฉกรรจ์เท่านั้นที่เข้ามา
ข้อมูลสถิติล่าสุดในรอบปีนี้ พ.ต.อ.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลแก่ อนุกรรมการสิทธิพลเมืองฯ ซึ่งเขาบอกด้วยว่า ได้มีการจัดทีมแพทย์และพยาบาลเข้าไปดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บและด้านสุขภาพตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ เนื่องจากชาวโรฮิงญาอพยพมาจากรัฐยะไข่ของพม่าและมีครอบครัวอยู่ที่นั่น จึงได้รับการผ่อนผันการดำเนินคดี ตามมติคณะรัฐมนตรีที่หากพม่า ลาว กัมพูชา หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยแม้จะถือว่าผิดแต่ก็ได้รับการผ่อนผันให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดี เพื่อรอส่งตัวกลับประเทศต้นทางหรือประเทศที่ 3
ในส่วนที่มีข้อสงสัยว่ามีการค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่นั้น พ.ต.อ.กฤษกร ให้ข้อมูลต่อว่า นิยามของ "การค้ามนุษย์" จะต้องถูกแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี วัตถุลามก ประโยชน์ทางเพศทุกรูปแบบ ถูกนำมาเป็นทาส บังคับใช้แรงงาน หรือถูกตัดตัดอวัยวะ แต่จากการสอบสวนพบว่าชาวโรฮิงญาทุกราย "สมัครใจ" เดินทางมาเอง และยังไม่พบการแสวงหาประโยชน์ดังกล่าวจึงถือว่า ไม่เข้าลักษณะของการค้ามนุษย์!!!
ขณะที่ผู้กระทำความผิดฐานให้ที่พักพิงที่เป็นคนไทย 4 คน คนต่างด้าว 7 คนและยังหลบหนีอีก 2 คน ขณะนี้ได้ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างไม่มีข้อยกเว้น โดยฝากขังอยู่ที่ศาลเพื่อรอส่งฟ้องและตัดสินต่อไป
สำหรับผู้อพยพอพยพที่เป็นเด็กและผู้หญิงชาวโรฮิงญากว่า 264 คนนี้ ได้รับการยืนยันจากการชี้แจงของ นางเสาวนีย์ โขมพัตร ผอ.สำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลผู้หญิงและเด็กที่อพยพมาแล้ว ไม่มีรายใดเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งมีทั้งที่อพยพมาพร้อมครอบครัว และบางรายที่คนในครอบครัวถูกควบคุมตัวอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือข้ามไปประเทศที่ 3 แล้ว
ด้านท่าทีของกระทรวงต่างประเทศ นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ ผอ.กองสังคมกรมองค์การระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานกับองค์กรต่างประเทศที่เกี่ยวแล้ว และเตรียมที่จะหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน ในระยะสั้นวางกรอบเวลาการทำงานเบื้องต้นไว้ 6 เดือนที่จะดูแลชาวโรฮิงญาตามหลักมนุษยธรรมอย่างดีที่สุด มีการตรวจสอบสัญชาติและสถานะของชาวโรฮิงญาเพื่อส่งกลับประเทศต้นทางหรือประเทศที่ 3 ทั้งนี้ จะเจรจาระหว่างประเทศ หารือด้วยทวิภาคี แลกเปลี่ยนข้อมูลและดำเนินกลไกระดับภูมิภาคและกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อหาทางออกร่วมกัน
UNHCR แนะอาเซียนร่วมกันหาทางออกให้โรฮิงญา
ในระดับหน่วยงานระหว่างประเทศ นายเอ็ม โกลัม อาบัส ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่เคยลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ของชาวโรฮิงญาและเข้าร่วมการชี้แจงในครั้งนี้ มองว่าในระยะยาวจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่มีทักษะในด้านต่างๆ เข้ามาดูแล โดยอาจเชิญยูนิเซฟเข้ามาร่วมดูแล เนื่องจากกลุ่มเด็กและผู้หญิงเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ
เขายังกล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนด้วยว่า กรณีนี้จะต้องมีการหารือแบบทวิภาคี ทุกประเทศในอาเซียนต้องร่วมกันหาทางออก โดยเฉพาะประเทศต้นทางและประเทศที่ 3 เพราะปัญหาชาวโรฮิงญาไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยในเบื้องต้นได้ประสานกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในทุกประเทศอาเซียนเพื่อเตรียมหารือแล้ว ทั้งนี้ มุ่งหวังว่ารัฐบาลไทยจะหาทางออกให้ปัญหานี้ได้อย่างดีที่สุด
เสียงจากโรฮิงญา...
"ถ้าประเทศพม่าดี ปลอดภัย ผมก็ไม่อยากอยู่ประเทศไหนทั้งนั้น ผมอยากอยู่ประเทศที่ผมเกิด ขอร้องให้กระทรวงต่างประเทศ และประเทศในอาเซียนช่วยกดดันพม่าและหาทางออกให้โรฮิงญาด้วย เรามีบัตรประชาชน มีหลักฐานแสดงสิทธิทุกอย่าง แต่ทหารและตำรวจฆ่าประชาชนและยึดทุกอย่างไป ทุกวันนี้เราไม่มีสิทธิและพิสูจน์อัตลักษณ์ก็ไม่ได้" ชายชาวโรฮิงญาผู้หนึ่งกล่าวขณะให้ข้อมูลกับอนุกรรมการสิทธิพลเมืองฯ
ชาวโรฮิงญาทุกคน เริ่มต้นประโยคด้วยการ "ขอบคุณ" คนไทยและประเทศไทย พวกเขาบอกว่า เข้าใจว่าประเทศไทยต้องรับภาระหนักและจะให้รับผิดชอบประเทศเดียวคงไม่ได้ จึงขอให้ประเทศทั้งอาเซียนช่วยเหลือพวกเขาด้วยการเจรจากับพม่าให้ดูแลพวกเขาด้วย
นายหม่อง จอ นุ ประธานสมาคมโรฮิงญาประเทศไทย เล่าเพิ่มเติมว่า รัฐบาลพม่ามักอ้างเสมอว่าโรฮิงญาเป็นชาวเบงกาลี หรือชาวบังกลาเทศ แต่ข้อเท็จจริงแล้วพวกเขาเป็นชาวพม่าและอาศัยในรัฐยะไข่มานานแล้ว เขาชูบัตรประชาชนของเพื่อนชาวโรฮิงญาคนหนึ่งที่ได้รับตั้งแต่ปี 1983 และจบการศึกษาที่เมืองย่างกุ้ง แต่ก็ถูกรัฐบาลพม่าปราบปรามและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จนต้องลี้ภัยมาเป็นกลุ่มแรกๆ ซึ่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้เองเป็นสาเหตุที่ปัจจุบันเด็กและผู้หญิงโรฮิงญาต้องอพยพหนีตายมาที่ไทยวันละกว่า 100 คน
"เราต้องการสันติภาพ อยากให้นานาประเทศเข้ามาช่วยให้มีการคุ้มครองชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ด้วย"
ขณะที่นายมูฮัมหมัด นอร์ซิม เลขานุการสมาคมโรฮิงญาประเทศไทย เล่าสะท้อนปัญหาการดูแลชาวโรฮิงญาในประเทศไทยขณะนี้ด้วยว่า พวกเขามีปัญหาขาดล่าม จึงเกิดปัญหาในการสื่อสาร เมื่อคุยกันไม่รู้เรื่องก็เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาเคลื่อนเกี่ยวกับการอพยพมาของพวกเขา
เขายืนยันว่าที่ต้องอพยพมาเพราะถูกกดขี่และทำร้ายทุกรูปแบบ ต้องขอขอบคุณที่ไทยรับภาระดูแลเป็นอย่างดี แต่ก็มีบางข้อมูลที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้รับและเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการอพยพ แต่โรฮิงญาทุกคนมาเพราะต้องการหนีตาย
...หากจะแก้ปัญหาอย่างถาวรนานาประเทศต้องกดดันพม่าในการทำร้ายโรฮิงญา แต่ยืนยันว่าการส่งกลับไปประเทศต้นทางนั้นแก้ไม่ตรงจุด ชาวโรฮิงญาจะมีอันตรายถึงชีวิตหรือไม่ก็ต้องกลับไปสู่มือของนายหน้าเหมือนเดิม
"กรณีนายหน้าค้ามนุษย์นั้นมีจริง... แต่เป็นชาวพม่าที่เรียกเก็บเงินกับโรฮิงญาที่ต้องการอพยพออกจากพม่ามาที่ประเทศไทยหรือไปประเทศที่สาม โดยต้องจ่ายในราคา 60,000-80,000 บาท ส่วนเด็กที่ไม่มีเงินจ่ายก็จะถูกทำร้ายและจับไปใช้งาน โดยปัจจุบันมีชาวโรฮิงญาเป็นพันชีวิตไปเป็นลูกเรือประมงอยู่กลางทะเลแบบไม่ได้รับค่าตอบแทน ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีคนไทยบางส่วนที่เข้ามาหาประโยชน์กับกระบวนการนี้บ้าง"
กสม.เตรียมถกแก้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง รับผู้ลี้ภัย
ท้ายที่สุดแนวทางและท่าทีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดย น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กสม. บอกว่า มีแนวคิดที่สอดคล้องกับกระทรวงต่างประเทศเกี่ยวกับหลักปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาที่นอกจากยึดเรื่องเขตแดนและ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองแล้ว ต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนด้วย
"ประเทศในอาเซียนต้องยึดเสาหลักด้านสังคมวัฒนธรรมและการเมืองด้วย แม้จะเข้าใจว่าอาเซียนจะไม่แทรกแซงการเมืองภายในของแต่ละประเทศ แต่สำหรับโรฮิงญาที่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองไม่ใช่แค่ผู้ลักลอบเข้าเมือง คงต้องปรับองค์ความรู้กันใหม่ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง คงไม่ตรงนักเมื่อนำมาใช้กับผู้ลี้ภัย ซึ่ง กสม.อาจร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อปรับแก้กฎหมายฉบับนี้ เพื่อช่วยให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและทหารไม่ต้องแบกรับปัญหาใหญ่นี้ฝ่ายเดียว และจะลงไปรับฟังปัญหาของชาวโรฮิงญาในพื้นที่เร็วๆ นี้"
ทั้งนี้ กสม.จะตั้งคณะกรรมการศึกษากรณีโรฮิงญา ร่วมกับสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เพื่อจัดองค์ความรู้ใหม่ สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เสนอว่าควรจัดที่พักแบบไม่ถาวร 3-6 เดือน แต่มีมาตรฐานเพื่อรองรับเด็กและผู้หญิง รวมถึงการอยู่แบบไม่ต้องจับแยกครอบครัว คู่ขนานไปกับการเจรจาหาทางออกระหว่างประเทศ ทั้งนี้ กสม.จะหารือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอีกทางหนึ่ง