ถามหาความจริงใจส.ส.เสียงส่วนใหญ่ ต่อกรณีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน
ถามหาความจริงใจของส-ส-เสียงส่วนใหญ่-ต่อกรณีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน
ประทีป-มีคติธรรม
การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง ในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์หรือฟินแลนด์ ประชาชนสามารถเข้าชื่อเพื่อกฎหมายได้
สำหรับประเทศไทยได้รับรองหลักสิทธิเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายครั้งแรกตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐,๐๐๐ คนเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมายในหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยและหมวดว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐได้ ต่อมารัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ก็ยังคงหลักการดังกล่าว แต่ได้ลดจำนวนผู้เข้าชื่อลงเหลือไม่น้อยกว่า ๑๐,๐๐๐ คน เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้กระทำได้ง่ายและคล่องตัวยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังกำหนดให้การพิจารณาร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอมานั้นจะต้องประกอบด้วยผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดด้วย
ในกรณีของพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ... (ฉบับประชาชนเข้าชื่อ) นั้น แต่เดิมกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านและนักวิชาการยกร่างขึ้นมาทั้งหมด ๑๓๕ มาตรา แต่ภายหลังถูกคณะกรรมการกฤษฎีกาตัดเหลือเพียง ๒๕ มาตราจนไม่เหลือสาระสำคัญและบทบัญญัติของกฎหมายตามเจตนารมณ์ที่เคยยกร่างกันมาตั้งแต่แรก ดังนั้นเครือข่ายประมงพื้นบ้านและภาคประชาชนจึงได้พัฒนาร่างกฎหมายและร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.... (ฉบับประชาชนเข้าชื่อ) เสนอประกบกับร่างของคณะรัฐมนตรี เพื่อจะได้นำสาระสำคัญและหลักการของร่างกฎหมายภาคประชาชนไปพิจารณาประกอบกันในชั้นกรรมาธิการ
ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับประชาชนเข้าชื่อดังกล่าวผ่านการตรวจสอบของสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร เหลือเพียงขั้นตอนให้กระทรวงมหาดไทยประกาศรายชื่อเพื่อเปิดให้คัดค้านรายชื่อ ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน ๓๐ วันกฎหมายประชาชนฉบับนี้ก็เข้าสู่การพิจารณาของสภาควบคู่ไปกับร่างของรัฐบาลตามความตั้งใจของประชาชน
แต่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๖ วิปรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากในสภากลับลงมติให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ... (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) โดยไม่รอร่างภาคประชาชน ทั้งที่การเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ก็ได้เคยมีหนังสือสำทับถึงนายกรัฐมนตรีและประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อนเพื่อรอร่างของประชาชนจะได้พิจารณาร่างกฎหมายไปพร้อมๆ กัน
นอกจากนั้นจากการสอบถามตัวแทนประชาชนผู้เข้าชื่อพบว่า วิปรัฐบาลกลับไม่เคยได้ปรึกษาหารือหรือแจ้งให้ตัวผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายรับทราบหรือชี้แจงก่อนวิปรัฐบาลตัดสินใจเลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้แต่อย่างใด จนกระทั้งก่อนการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาไม่กี่ชั่วโมงจึงได้เรียกตัวแทนประชาชนผู้เข้าชื่อไปเจรจาทั้งขู่ทั้งปลอบเพื่อให้จำยอม
การตัดสินใจลงมติเห็นด้วยกับวิปรัฐบาลที่จะให้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ... โดยไม่รอร่างของประชาชนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่สะท้อนการมองไม่เห็นความหมายของกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายว่าเป็นสิทธิของประชาชนและเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการวางหลักในเรื่องนี้ไว้เป็นตัวอย่างว่า ต่อให้ประชาชนลงทุนลงแรงพัฒนากฎหมายและร่วมลงชื่อเพื่อเสนอกฎหมายมากมายเพียงใด แต่หากรัฐบาลหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ให้ความสำคัญ กฎหมายของประชาชนเหล่านั้นก็ไร้ความหมาย อีกทั้งยังสามารถกีดกันไม่ให้กฎหมายของประชาชนเข้าสู่การพิจารณาของสภาด้วยวิธีการเดียวกันนี้
ที่สำคัญเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้อดที่จะกังขาและเกิดคำถามต่อความจริงใจของรัฐบาล วิปรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากในการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนไม่ได้ ยิ่งในยุคที่อยู่ในช่วงของประชาธิปไตยผลิบานเพราะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากวิกฤตรัฐประหาร ๒๕๔๙ และประชาชนคนในสังคมมีความตื่นตัวในทางการเมืองสูงที่สุดในประวัติการเมืองไทย แต่เหตุใดการตัดสินใจที่ “ไม่เห็นหัวประชาชน” “ไม่เคารพต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ” จึงเกิดขึ้นได้ในสภาผู้ทรงเกียรติในช่วงเวลาเช่นนี้