ความจริงจาก “ทนาย-ตำรวจ-อัยการ” ชำแหละกระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
กระทรวงยุติธรรมตั้งคณะทำงานช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีความมั่นคงชายแดนใต้ หลังพบปัญหาผู้ต้องขังกว่าครึ่งพันไม่ได้รับประกันตัว ทั้งๆ ที่คดีส่วนใหญ่ศาลยกฟ้อง "ทนายมุสลิม-อัยการ" แฉ 90% มีแต่พยานบอกเล่า-คำซัดทอด ไร้หลักฐานอื่นรองรับ ลั่นวางมาตรฐานใหม่ สั่งไม่ฟ้องทุกคดี ขณะที่ “บิ๊กตำรวจ"ยอมรับพนักงานสอบสวนมีปัญหา ทุกหน่วยในกระบวนการยุติธรรมเห็นพ้อง เปิดช่องให้ประกันผู้ต้องหาคดีความมั่นคง
เมื่อเร็วๆ นี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามในคำสั่งที่ ยธ.224/53 เรื่องตั้งคณะทำงานช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีความมั่นคงและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุเหตุผลว่า เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือเรื่องการขอประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงอย่างเป็นระบบ
คณะทำงานทั้ง 5 คณะมีหน้าที่รวบรวมตรวจสอบข้อมูลผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือมีข้อมูลหรือความปรากฏว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม, ตรวจสอบข้อมูลผู้ต้องขัง ผู้ได้รับผลกระทบ และสรุปข้อมูลผู้ต้องขังเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเงินประกันตัว หรือกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ตัวเลขล่าสุดของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในเรือนจำ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีทั้งสิ้น 514 คน ทั้งนี้ ทางกระทรวงได้จัดการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่ เพื่อสรุปปัญหาทั้งของตัวผู้ต้องขังเองและครอบครัว จะได้เร่งให้ความช่วยเหลือต่อไป โดยหากมีกรณีที่ผู้ต้องขังหรือครอบครัวต้องการยื่นขอประกันตัวหรือขอปล่อยตัวชั่วคราวแต่ขาดหลักทรัพย์ คณะทำงานก็จะเสนอให้ใช้ "กองทุนยุติธรรม" เข้าไปอุดหนุน แต่การจะให้ประกันหรือไม่อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล
ในการประชุมสัมมนาเรื่องดังกล่าว ทางกระทรวงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งอัยการ ตำรวจ และทนายความที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมระดมความเห็น ปรากฏว่าเวทีที่จัดขึ้นมีการพูดถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในภาคใต้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
ทนายแฉคดีมั่นคงใต้มีแต่คำรับสารภาพ
นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า ทางศูนย์ฯรับว่าความคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 500 คดี แต่ละคดีมีจำเลยมากกว่า 1 คน ส่วนใหญ่จำเลยจะอยู่ที่ 3-7 คน จากประสบการณ์ที่ทำงานมาหลายๆ ครั้งการให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดีมีความสำคัญต่อความรู้สึกของตัวจำเลยและครอบครัวยิ่งกว่าคำพิพากษายกฟ้องในท้ายที่สุดเสียอีก
"การยื่นประกันตัวต้องใช้หลักทรัพย์ 7-8 แสนบาท ที่ดินตาบอดก็ใช้ไม่ได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีหลักทรัพย์มากขนาดนั้น เมื่อไม่มีก็ต้องรอคำพิพากษา แต่ปัญหาก็คือหลายคดีแม้จะยกฟ้องในศาลชั้นต้น แต่ก็ให้ขังระหว่างอุทธรณ์ ทำให้มีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นจำนวนมาก"
นายสิทธิพงษ์ เสนอว่า น่าจะใช้ช่องทางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 173/1 ที่กำหนดให้ศาลอาจกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานก่อนกำหนดวันนัดสืบพยานได้ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการกลั่นกรองคดี จะได้เห็นว่ามีพยานหลักฐานสำคัญเพียงพอที่จะทำให้ศาลลงโทษได้หรือไม่
"คดีความมั่นคงส่วนใหญ่ไม่มีประจักษ์พยาน มีแต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวน ซึ่งในหลายคดีเป็นคำสารภาพในชั้นซักถาม (ช่วงควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เสียด้วยซ้ำ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องคดีได้ ในชั้นนี้หากมีการตรวจพยานหลักฐาน และพบว่ามีแต่คำรับสารภาพหรือคำซัดทอดของพยาน ศาลก็อาจใช้ดุลยพินิจได้ว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่" ทนายสิทธิพงษ์ กล่าว และว่าคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเลยส่วนใหญ่ถึง 80% มีแต่คำซัดทอดจากการปิดล้อมตรวจค้นและคำให้การในชั้นซักถาม
อัยการชี้คดี 90% ไร้หลักฐาน
นายนิพล ผดุงทอง รองอธิบดีอัยการเขต 9 (รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง) กล่าวว่า คดีความมั่นคงที่ส่งมาจากพนักงานสอบสวน 90% มีแค่คำรับสารภาพในชั้นซักถามหรือชั้นสอบสวน เมื่ออัยการฟ้องคดีไปแล้ว ส่วนใหญ่ศาลจะยกฟ้อง แต่ในระหว่างการพิจารณาคดี ผู้ต้องหาหรือจำเลยมักไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้เดือดร้อนมาก
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ต.ค.2552 เป็นต้นมา ทางอัยการเขต 9 ได้วางหลักการพิจารณาฟ้องคดีความมั่นคงใหม่ โดยคดีที่มีแต่คำรับสารภาพหรือคำซัดทอดของพยานหรือมีแต่พยานบอกเล่า อัยการจะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง
"ผ่านมาแล้ว 7-8 เดือน ปรากฏว่าคดีลักษณะนี้ 80-90% เราจะสั่งไม่ฟ้อง ถือเป็นนโยบายของอัยการเขต คือเน้นให้ใช้กฎหมายจริงจัง โดยเฉพาะคดีความมั่นคงจะใช้ความรู้สึกไม่ได้ พยานบอกเล่าฟังไม่ได้ ป.วิอาญา มาตรา 226/3 ก็บัญญัติเอาไว้ชัดเจนห้ามศาลรับฟังพยานบอกเล่า ยกเว้นมีพยานหลักฐานอื่นรองรับ ฉะนั้นต้องเคร่งครัด เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ส่งผลกระทบทางจิตใจของผู้ต้องหาและครอบครัว"
นายนิพล กล่าวด้วยว่า คดีจำนวนมากมีเพียงคำรับสารภาพในชั้นซักถาม ซึ่งในขณะนั้นผู้ที่ถูกฟ้องยังไม่ได้มีสถานะเป็นผู้ต้องหา แต่เป็นผู้ให้ถ้อยคำ ดังนั้นตามมาตรฐานใหม่ถ้าคดีไหนมีหลักฐานเพียงแค่นี้ อัยการจะสั่งไม่ฟ้อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
พลิก ป.วิอาญา ไม่ให้น้ำหนัก“พยานบอกเล่า-ซัดทอด”
ในเรื่อง “พยานบอกเล่า” ตามที่นายนิพลพูดถึงนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วางหลักเอาไว้ว่า ข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลใดนำมาเบิกความต่อศาลหรือที่บันทึกไว้ในเอกสารหรือวัตถุอื่นใดซึ่งอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาล หากนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้น ให้ถือเป็นพยานบอกเล่า
ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่
(1) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ หรือ
(2) มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น
ในกรณีที่ศาลเห็นว่าไม่ควรรับไว้ซึ่งพยานบอกเล่าใด และคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องร้องคัดค้านก่อนที่ศาลจะดำเนินคดีต่อไป ให้ศาลจดรายงานระบุนาม หรือชนิดและลักษณะของพยานบอกเล่า เหตุผลที่ไม่ยอมรับ และข้อคัดค้านของคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องไว้ ส่วนเหตุผลที่คู่ความฝ่ายคัดค้านยกขึ้นอ้างนั้น ให้ศาลใช้ดุลพินิจจดลงไว้ในรายงานหรือกำหนดให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นคำแถลงต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวน
ส่วนเรื่อง "พยานซัดทอด" กฎหมายยังได้วางหลักไว้ในมาตรา 227/1 ระบุว่าในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอด พยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน หรือพยานหลักฐานที่มีข้อบกพร่องประการอื่นอันอาจกระทบถึงความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน
พยานหลักฐานประกอบตามวรรคหนึ่ง หมายถึง พยานหลักฐานอื่นที่รับฟังได้ และมีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากพยานหลักฐานที่ต้องการพยานหลักฐานประกอบนั้น ทั้งจะต้องมีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนให้พยานหลักฐานอื่นที่ไปประกอบมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย
ตร.ยอมรับพนักงานสอบสวนมีปัญหา
ด้าน พล.ต.ต.นราศักดิ์ เชียงสุข ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบก.สส.ศชต.) กล่าวว่า ยอมรับว่าการทำงานของพนักงานสอบสวนมีปัญหา เพราะตำรวจส่วนหนึ่งไม่อยากอยู่ในพื้นที่ นายตำรวจระดับหัวหน้าสถานีหาคนสอบสวนเป็นแทบไม่มี ตรงนี้คือต้นเหตุที่ทำให้สำนวนคดีมีปัญหา
"ตำรวจเรายังเชื่อเรื่องคำรับสารภาพ เพราะไม่ได้อ่านกฎหมายใหม่ ทั้งๆ ที่กฎหมายใหม่ไม่ให้เชื่อคำรับสารภาพหรือคำซัดทอดอย่างเดียวแล้ว" พล.ต.ต.นราศักดิ์ กล่าว และว่าเห็นด้วยกับนโยบายของกระทรวงยุติธรรมที่จะให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดีความมั่นคง โดยเฉพาะคดีที่หลักฐานไม่หนักแน่นพอ ซึ่งสามารถยื่นประกันได้ในชั้นสอบสวน และจะนำแนวทางนี้ไปเสนอผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ต่อไป
-----------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อนุสาวรีย์หน้าโรงเรียนตำรวจภูธร 9 อ.เมือง จ.ยะลา เป็นรูปปั้นตำรวจยืนกอดไหล่กับเด็กชายชาวพุทธและเด็กชาวมุสลิมที่แต่งกายแบบชาวมลายูท้องถิ่น สร้างเมื่อราวปี พ.ศ.2509 ถือเป็นสัญลักษณ์ของความปรองดองและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)
อ่านประกอบ :
- ในเรื่องร้ายยังมีข่าวดี... ยธ.ตั้งคณะทำงาน 5 ชุดช่วยผู้ต้องขังแดนใต้