กษ.เผยแผนปฏิบัติการตั้งกรมฝนหลวงฯ-บรรเทาภัยพิบัติ-ศูนย์กลางดัดแปลงอากาศอาเซียน
กระทรวงเกษตรฯ พร้อมตั้งกรมฝนหลวงฯ เผย 7 แผนปฏิบัติการบรรเทาภัยธรรมชาติ-ศูนย์กลางอาเซียนดัดแปลงสภาพอากาศ-ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ5ภาคดึงท้องถิ่นร่วม
เร็วๆนี้นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(รมว.กษ.) เปิดเผยถึงขั้นตอนการตั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ว่า ขณะนี้กษ.ยังไม่ได้รับเอกสารที่เป็นทางการ เนื่องจากเรื่องยังอยู่ในกระบวนการงานที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองกาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม จัดตั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา อย่างไรก็ตามคาดว่ากระทรวงฯ จะได้รับเอกสารแจ้งอย่างเป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายในสัปดาห์หน้า โดยขั้นต่อไป คือ ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) จะต้องส่งร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ให้สำนักงานกฤษฎีกาตรวจร่าง และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะส่งเรื่องให้กษ.ออกกฎกระทรวงต่อไป โดยกษ.จะต้องเตรียมการตั้งอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรหรือผู้รักษาการ เพื่อเริ่มขับเคลื่อนกระบวนงานตามภาระหน้าที่ของกรมฝนหลวงฯ ตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงฯ ได้ทันที
นายยุคลกล่าวต่อว่า การตั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรที่จะมีฐานะเป็นนิติบุคคล ขึ้นตรงกับกษ.จะทำให้การดำเนินงานต่างๆเป็นเอกภาพและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยกรมฝนหลวงฯจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มภารกิจด้านบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิต ซึ่งประกอบด้วยกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ร่วมอยู่ในกลุ่มภารกิจเดียวกัน ซึ่งนอกจากจะมีหน้าที่และความรับผิดชอบในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในบรรยากาศของประเทศแล้ว ยังเพิ่มบทบาทในการบูรณาการทั้งด้านการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และการดำเนินงาน ในด้านการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงและการดัดแปรสภาพอากาศต่างๆ และการให้บริการด้านการบินและการสื่อสารในการสนับสนุนภารกิจของกระทรวงฯ
โดยภารกิจสำคัญๆที่จะเร่งรัดดำเนินการเมื่อเป็นกรมฝนหลวงแล้ว ประกอบด้วย 7 ส่วนหลักด้วยกัน คือ 1.การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาองค์กรกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ระยะเร่งด่วน และระยะ 5 ปี 2.การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคที่สมบูรณ์ให้ครบ 5 ศูนย์ (5 ภาค) เพื่อกระจายอำนาจการตัดสินใจ และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานระดับกลุ่มจังหวัด และระดับท้องถิ่น ในการให้บริการฝนหลวงที่แม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ 3.การเพิ่มจำนวนหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคให้เพียง พอและเหมาะสมกับจำนวนจังหวัดและพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละศูนย์ปฏิบัติการฝน หลวงประจำภาค 4.การเข้าร่วมกำหนด นโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน เชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการบริการจัดการทรัพยากรน้ำชอง ประเทศ การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และการให้บริการด้านการบินในภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
5.การลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาองค์กร บุคลากร และเทคโนโลยีกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 6.การเร่งรัดพัฒนาผลงานวิจัยในด้านเทคโนโลยีฝนหลวง การดัดแปรสภาพอากาศ และองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศของประเทศไทย 7.การแสดงบทบาทผู้นำทางด้านเทคโนโลยีฝนหลวงของประเทศไทย ในฐานะเป็นศูนย์กลางการดัดแปรสภาพอากาศแห่งอาเซียน และการเป็นประเทศสมาชิกด้านการดัดแปรสภาพอากาศขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ซึ่งภารกิจต่างๆที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ จะมีผลสำคัญต่อการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำฝนหลวงให้บริการประชาชน และการร่วมขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนที่จำเป็นต้องดำเนินการของรัฐบาล .
ที่มาภาพ ::: www.komchadluek.net