บทบาทสื่อ 2 มุมในภาวะวิกฤติ ทัศนะจาก 2 วงเสวนาวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในสังคมไทย สื่อมวลชนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลากหลายฝักฝ่ายและหลากหลายแง่มุม มีไม่น้อยที่สื่อถูกตั้งคำถามอย่างแหลมคมว่า การทำหน้าที่ของสื่อในบางปัญหา โดยเฉพาะปัญหาที่มีความอ่อนไหวอย่างปมการเมืองและความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น สื่อกำลังเร่งขยายปมความขัดแย้งหรือร่วมแรงสร้างสันติภาพกันแน่
ด้วยเหตุนี้ เนื่องใน "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก" วันที่ 3 พ.ค. สื่อมวลชนไทยจึงได้ใช้โอกาสนี้ทบทวนตัวเอง พิจารณาจุดยืน และปรับเข็มทิศเพื่อก้าวเดินไปในบริบทสังคมแบบใหม่ ในวังวนของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าอย่างไม่ยอมหยุดพัก
ในวงเสวนาเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก วงหนึ่งพูดถึงบทบาทของ “สื่อกระแสหลัก” ที่แม้จะไม่ได้ถูกคุกคามจากอำนาจรัฐมากนักในช่วงฝุ่นตลบทางการเมือง แต่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างยากลำบากเสมือนหนึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างเขาควาย
อีกวงหนึ่งพูดถึงบทบาทของ “สื่อกระแสรอง” และ “สื่อใหม่” หรือ “นิว มีเดีย” ที่นับวันจะยิ่งมีบทบาทสูงขึ้นเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวันของผู้คน จึงถูกจับจ้องและพยายามขีดกรอบโดยผู้มีอำนาจรัฐอยู่ตลอดเวลา
ทั้งหมดนี้คือบทบาทสื่อ 2 มุมในภาวะวิกฤติ...
สร้างสันติภาพ ยุติธรรม รับผิดชอบ
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก "ร่วมสร้างสันติภาพ ยุติธรรม รับผิดชอบต่อสังคม"
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้วันที่ 3 พ.ค.ของทุกปี เป็น "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก" เพื่อย้ำถึงเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชน
โอกาสนี้ 3 สมาคมวิชาชีพสื่อจึงเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้
1.ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนประเภทต่างๆ พึงตระหนักว่าท่ามกลางวิกฤติของประเทศในขณะนี้ การทำหน้าที่สื่อมวลชนจะต้องวางเป้าหมายการรายงานข่าว "เพื่อสันติภาพ ความยุติธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม" กล่าวคือต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง รวมทั้งเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับกลุ่มต่างๆ อย่างเท่าเทียม และต้องรายงานถึงสาเหตุของปัญหา รวมถึงนำเสนอทางออก
2.ขอเรียกร้องให้ฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งยุติการใช้สื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง โดยการโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ฝ่ายตน
3.ขอเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมีความจริงใจในการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ เร่งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการจัดสรรและกำกับดูแลคลื่นความถี่ใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ได้อย่างเต็มที่
ขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐที่ครอบครองคลื่นความถี่ต้องแสดงเจตนารมณ์ในการปฏิรูปตัวเองให้ตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยฝ่ายรัฐบาลต้องยุติการแทรกแซงและใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง
4.ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร เปิดใจให้กว้างรับฟังความเห็นที่หลากหลายจากสื่อมวลชน และพึงระมัดระวังอย่างยิ่งในการรับข่าวสารจากสื่อที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง
5.องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนขอยืนยันว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนมีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำของทุกฝ่ายที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไม่อาจยอมรับได้ และจะต่อสู้เรียกร้องจนถึงที่สุด
บทบาทสื่อในภาวะวิกฤติ…เลือกข้างได้แต่ต้องรับผิดชอบ
โอกาสนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก หัวข้อ "สื่อเสรีร่วมสร้างสันติภาพอย่างไร" โดยมีนักสื่อสารมวลชน นักสันติวิธี นักสิทธิมนุษยชน และตัวแทนภาครัฐ ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้มีปัญหามาจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่ขณะนี้สถานการณ์ได้นำพาประเทศไทยสู่ความแตกแยก และแพร่แกระจายไปสู่ทุกภาคส่วนของสังคมและระดับประเทศ เนื่องจากปัญหาได้หยั่งรากลงไปถึงระดับครัวเรือน เห็นได้จากแม้แต่ในครัวเรือนเดียวกันก็เห็นต่างกัน และพร้อมจะใช้กำลังต่อกัน
เมื่อมองย้อนกลับมาที่เวทีราชประสงค์ (การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง) หากมีการสลายการชุมนุมแล้วปัญหาจะยุติหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าปัญหาจะไม่ยุติ เพราะปัญหาขณะนี้นำมาสู่เงื่อนไขของสภาพสงครามการเมืองที่รัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สภาพเช่นนี้มองว่าสื่อมวลชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบ เป็นเหยื่อเช่นเดียวกันฝ่ายอื่น เนื่องจากสังคมแบ่งข้างแยกขั้วกันอย่างชัดเจน แนวทางการนำเสนอของสื่อมวลชนหากไม่ถูกหูถูกใจของผู้ชุมนุมหรือฝ่ายใดก็ตาม ความยับยั้งชั่งใจของคนก็จะลดน้อยลง ทำให้สื่อกลายเป็นเป้า แม้กระทั่งบนเวทีของผู้ชุมนุมไม่ว่าจะเป็นสีแดงหรือสีเหลืองก็เคยประกาศขึ้นบัญชีสื่อบางสำนักมาแล้ว
"การเลือกข้างของสื่อขณะนี้เป็นไปใน 2 ลักษณะ คือจากทิศทางนโยบายของสื่อหรืออิทธิพลของเจ้าของ นายทุน กับอิทธิพลอุดมการณ์ของตัวสื่อเอง ผมมองว่าสื่อสามารถเลือกข้างได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบ และต้องมีความเป็นวิชาชีพ ไม่แสดงความคิดเห็นไปในทางยั่วยุ โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่รัฐเข้ามาแทรกแซงสื่อ เพราะเป็นเรื่องที่ผิดรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญผมไม่อยากเห็นบรรยากาศเช่นนี้เกิดขึ้นจนนำไปสู่การลุแก่อำนาจโดยอ้างเพื่อรักษาความสงบ"
"ปัจจุบันรัฐเลือกที่จะปิดกั้นสื่อบางสื่อ ขณะที่สื่อที่สุดโต่งบางแห่งกลับได้รับการยกเว้นไว้ ฉะนั้นสมาคมวิชาชีพสื่อเองจะต้องมีบทบาทในการตรวจสอบจรรยาบรรณมากกว่านี้ ขณะที่ตัวสื่อหรือนักข่าวในฐานะปัจเจกบุคคลจะต้องนำเสนอข่าวที่เป็นข้อเท็จจริง" ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ระบุ
นายสมเกียรติ อ่อนวิมล สื่อมวลชนอิสระ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า การทำหน้าที่ของสื่อควรทำตัวให้เป็นสื่อมืออาชีพ กล่าวคือ
1.จะต้องให้ข่าวสารความจริงอย่างสม่ำเสมอและตรวจสอบข้อเท็จจริง
2.เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งเมื่อประชาชนเสพข่าว สื่อต้องตั้งหน้าตั้งตาให้ความรู้และการศึกษา อย่าพาดพิง เช่น การให้ความรู้เรื่องการชุมนุมโดยอหิงสาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งอหิงสาที่แท้จริงคือต้องสงบตั้งแต่ในใจ ไม่ใช้วาจาหยาบคาย เป็นต้น เมื่อให้ความรู้ไปแล้ว ต่อไปก็ให้ประชาชนคิดเอง
3.การให้ความเห็น ทั้งนี้มองว่าสื่อสามารถเลือกข้างได้เพราะเป็นเรื่องของเสรีภาพ โทรทัศน์สีแดง เหลือง จะทำอะไรก็ทำได้ แต่ต้องประกาศให้ชัดเจนว่าตัวเองเลือกข้าง ขณะที่สื่อที่แสดงตัวว่าเป็นอิสระก็ต้องให้ข้อมูลอย่างสมดุล
4.สื่อจะต้องมีเวทีให้กับสาธารณชนทุกฝ่าย เวลานี้เป็นความขัดแย้งของฝ่ายที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือฝ่ายกลุ่มคนเสื้อแดง กับฝ่ายรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ควรให้มีเนื้อที่ได้แสดงความคิดเห็น
ส่วนกรณีการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 มองว่ารัฐบาลโชคร้ายที่เป็นเจ้าของสื่อ ส่วนตัวเชื่อว่าจะดีมากหากรัฐบาลปล่อยให้สื่อมีความเป็นอิสระ
"ขอเสนอแนะเกี่ยวกับกรณีที่สื่อโทรทัศน์นำเสนอข่าวและรายงานพิเศษกรณีมีข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ เสียชีวิตแล้ว เพราะทำแล้วได้ลูกค้า ได้คนดู แต่อยากให้นักข่าวตามล่าหาข้อเท็จจริง ไปที่อูกันดาเลย (ประเทศล่าสุดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างว่าไปพำนัก) เพื่อนำข้อเท็จจริงมาเสนอ นอกจากนี้ มองว่าปัจจุบันเนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้สื่อกระแสหลักต้องปรับตัว แต่สื่อต้องไม่ลืมว่าการให้ข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องครอบคลุมเพียงพอทำให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยได้" นายสมเกียรติ ระบุ
ขณะที่ นายพนา ทองมีอาคม กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า ในแง่ของสื่ออยากแนะนำให้มีบทบาทส่งเสริมให้มีการสร้างเสรีภาพและรับผิดชอบต่อสังคม เพราะสื่อมีพลังมากที่จะโน้มน้าวต่อสังคมในช่วงวิกฤติการเมือง
สื่อใหม่-สื่อกระแสรอง…ถ่วงดุลสื่อสารทางเดียว
ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มีการเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “เสรีภาพสื่อในวิกฤติการเมือง: คำสั่งปิดเว็บไซต์ประชาไท” วิทยากรประกอบด้วย น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้จัดการเว็บไซต์ประชาไท น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 นายวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และ อาจารย์สาวิตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
น.ส.จีรนุช กล่าวว่า รัฐบาลได้ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จากนั้นคณะกรรมการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) ก็มีมติให้ปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ทำให้มีเว็บไซต์ถูกปิดกว่า 30 เว็บไซต์ รวมทั้งเว็บไซต์ประชาไทด้วย
ในส่วนของเว็บไซต์ประชาไท มีการไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองในลักษณะไต่สวนฉุกเฉิน แต่ก็ยังไม่มีคำตอบจากศาลในประเด็นที่เป็นข้อโต้แย้ง (ศาลปกครองยกคำร้อง โดยชี้ว่ารัฐบาลมีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จึงจะมีการอุทธรณ์คำสั่งศาลต่อไป
“สิ่งที่เรานำเสนอในเว็บไซต์นั้น ไม่เคยถ่ายทอดสิ่งที่แกนนำคนเสื้อแดงปราศรัย จะมีก็เพียงการไปสัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมว่า เขาต้องการอะไรจึงเข้ามาชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง” น.ส.จีรนุช ระบุ
ขณะที่ น.ส.ฐปนีย์ กล่าวว่า หลายคนได้ติดตามข่าวผ่านสื่อที่เธอได้ทำหน้าที่รายงานในสื่อกระแสหลักไปบ้างแล้ว แต่ไม่สามารถรายงานได้ทั้งหมด เพราะสื่อมีโครงสร้างที่เชื่อมโยงกัน เธอจึงนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏและได้เห็นจากการทำหน้าที่ไปสื่อทางช่องทาง "ทวิตเตอร์" ซึ่งเป็นสื่อทางเลือกใหม่ เพราะเห็นว่า สื่อกระแสหลักไม่สามารถผลักดันข้อมูลข้อเท็จจริงออกไปได้มากเท่าที่ควร เนื่องจากมีเจ้าของเป็นนักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับนักการเมือง ด้วยโครงสร้างที่โยงอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล จึงเกิดการเลือกเสพสื่อที่เป็นการสื่อสารไปในทิศทางเดียว
“สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 นั้น หลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นของเอกชน แต่ความจริงแล้วมีการโยงใยเหมือนกับช่อง 9 คือเป็นสื่อของรัฐ การที่เราจะพูดอะไรออกไป แน่นอนย่อมมี 2 ด้านเสมอ คือด้านที่มองเหมือนกัน กับด้านที่มองไม่เหมือนกัน ทำให้หลายๆ คนไม่กล้าแสดงความเห็นออกสู่สาธารณะ เหมือนอย่างที่ดิฉันสื่อสารความจริงออกไป แล้วด้านตรงข้ามก็เข้ามาจัดการกับดิฉัน”
น.ส.ฐปณีย์ กล่าวต่อว่า การทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา สิ่งที่รายงานล้วนเป็นเรื่องจริงที่พบมาแล้วเก็บมารายงานเป็นข่าว อย่างการรายงานข่าวการชุมนุมของคนเสื้อแดง เมื่อไปพบแล้วไม่สามารถรายงานทางทีวีได้เต็มๆ ก็มองหาสื่อทางเลือก จึงนำมาทวิต เพียงระยะเวลาไม่นานก็ได้รับการเผยแพร่อย่างรวดเร็ว แต่ข้อความบางส่วนถูกตัดตอนไป เป็นการบิดเบือน ขณะที่แรงตอบกลับจากสังคมชาวทวิตเตอร์ก็มีมาเยอะมาก จนทำให้ต้องหยุดทวิตข่าวการเมือง
ขณะที่ นายวิชาญ กล่าวว่า ในส่วนของวิทยุชุมชนนั้น เท่าที่ได้ติดตามข้อมูล ทราบว่าคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) มีข้อมูลอยู่ประมาณ 6 พันกว่าสถานี แต่ยังมีสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียนอีกกว่า 1 พันสถานี รวมทั้งหมดแล้วมีสถานีวิทยุชุมชนอยู่ประมาณ 7 พันสถานีทั่วประเทศ ถือว่าเป็นจำนวนที่มาก
“ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงกลัวว่าจะมีการนำวิทยุชุมชนไปใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลหรือนำประชาชนเข้ามาร่วมการชุมนุม เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารครอบคลุมกว้างไกลมาก ทางสถานีวิทยุอาจจะลิงค์เชื่อมต่อสัญญาณจากเวทีชุมนุมได้ง่าย เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดสัญญาณการชุมนุมของคนเสื้อแดงได้”
“ปัจจุบันสถานีที่มีปัญหาทั้งหมดกำลังถูกจับจ้อง เขาก็ต้องปรับตัว ถ้าหมดสัญญาซึ่งจะหมดภายใน 3 สัปดาห์ สถานีวิทยุชุมชนเองก็เกรงจะไม่ได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการต่อไปอีก ขณะที่รัฐบาลก็เข้าไปตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ทางสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติยอมรับว่า สิ่งที่รัฐบาลหวั่นเกรงนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเป็นจริงบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด วิทยุชุมชนบางแห่งก็เสนอข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา โดยหลายเรื่องแม้จะเป็นความจริง เป็นข้อเท็จจริง แต่เราก็พูดไม่ได้ ทำได้แค่การเลือกที่จะไม่สื่อสารบางอย่าง ไม่นำเสนอเรื่องราวเหล่านั้น”
“ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ภาคเหนือ พบว่าสถานีวิทยุชุมชนภาคเหนือบางแห่งได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับตำรวจ เลือกที่จะไม่เสนอบางเรื่อง หรือไม่เชื่อมต่อสัญญาณการชุมนุมของคนเสื้อแดง เพราะกลัวว่าเมื่อครบกำหนดการต่อสัญญา รัฐจะไม่อนุญาตให้สถานีเปิดต่อไป ตรงนี้จึงทำให้การทำหน้าที่สื่อข้อมูลทำไม่ได้เต็มที่ เราเกรงว่าการเลือกรับชมสื่อเพียงด้านเดียวจะเป็นอันตราย อาจทำให้สังคมแตกแยก ประชาชนเกลียดชังกันมากขึ้นไปอีก” เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ระบุ
ด้าน อาจารย์สาวิตรี กล่าวว่า อำนาจที่ 4 น่าจะเป็นผู้ตรวจสอบรัฐในการใช้อำนาจ โดยไม่ใช่ทำหน้าที่แค่ตัวกลางเพียงอย่างเดียว สื่อมวลชนต้องเป็นตัวนำเสนอข้อเท็จจริง ไม่ควรตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐหรือถูกครอบงำ แล้วให้ผู้บริโภคหรือประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบสื่อมวลชนอีกทางหนึ่ง
อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังตั้งคำถามว่า รัฐบาลกำลังใช้สื่อของรัฐนำเสนอเพียงภาพบางภาพ ไม่นำเสนอบางอย่างให้กับฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดหรือไม่ และต้องไม่ลืมว่าเมื่อประชาชนได้รับข้อมูลด้านเดียว ประชาชนก็จะคิดว่าทำอย่างไรถึงจะได้รับข้อมูลจากช่องทางอื่นที่ไม่ใช่ข้อมูลด้านเดียว
ขณะที่ รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำหน้าที่ของสื่อที่ต้องเผยแพรข้อมูลข่าวสารนั้น อยากให้ได้ไตร่ตรองก่อนนำเสนอ ไม่เช่นนั้นผลกระทบจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่หยุด โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดอยู่และยังไม่จบสิ้น การจำกัดหน้าที่ของสื่อทำให้เกิดผลกระทบต่อข้อมูลข่าวสารที่ควรจะออกสู่สาธารณชน
--------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อแถลงข่าวเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
ขอบคุณ : ภาพจากบล็อคโอเคเนชั่น และเนื้อหาข่าวบางส่วนจากสำนักข่าวเนชั่น