เร่งหนุนเกษตรกรเลี้ยงโค-กระบือ ดันไทยเป็นฮับสินค้าอาหารป้อนอาเซียน
รมว.เกษตรฯเผยไทยเลี้ยงโค-กระบือน้อยลง สวนทางความต้องการตลาด เร่งส่งเสริมปศุสัตว์ ดันฮับสินค้าอาหารป้อนอาเซียน
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.)เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงานวันเกษตรภาคอีสาน และงานโคเนื้อและกระบือแห่งชาติ ประจำปี 2556 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า การที่ทุกหน่วยงานได้ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาด้านการเกษตรระดับภูมิภาคเพื่อเตรียมก้าวไกลสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ถือว่ามีความเหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์และการเกษตรเป็นอย่างมาก คิดเป็น 70 % ของพื้นที่ถือครองทั่วประเทศ มีจำนวนโค-กระบือ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4.34 ล้านตัว คิดเป็น 52 % ของทั้งประเทศ ดังนั้น จึงถือได้ว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งการเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญของประเทศ จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่กรมปศุสัตว์และหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ได้ร่วมให้การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ รวมทั้งการประกวดโค-กระบือหลากหลายพันธุ์ที่เกษตรกรได้พัฒนาการเลี้ยงของตนขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างและกำลังใจแก่เกษตรกร นำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะการสนับสนุนนโยบายในการผลักดันให้เกษตรไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในภูมิภาค ดำเนินการด้านธุรกิจการเกษตรและอาหารป้อนอาเซียน รวมถึงการใช้เวทีอาเซียนเป็นฮับส่งสินค้าจำหน่ายทั่วโลก
"ปัจจุบัน ทุกประเทศในกลุ่มอาเซียน มีความต้องการโคเนื้อและกระบือเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศไทยมีการเลี้ยงโคเนื้อ กระบือลดลง ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และองค์กรต่างๆ ร่วมกันจัดงานโคเนื้อและกระบือแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ประจำปี 2556 เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรหันกลับมาเลี้ยงโคเนื้อและกระบือเพิ่มมากยิ่งขึ้น สามารถผลิตโคเนื้อคุณภาพ ตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศ และส่งออกไปจำหน่ายในประเทศอาเซียนได้"นายยุคล กล่าว
สำหรับกิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นในงานโคกระบือแห่งชาติ ปี 2556 ระหว่างวันที่ 25 ม.ค. - 3 ก.พ. ภายใต้หัวข้อ “โค – กระบือไทย ก้าวไกลสู่อาเซียน ” นั้น ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการวิชาการทางด้านปศุสัตว์ กิจกรรมเสวนาเครือข่ายคนรักควาย การแสดงพันธุ์สัตว์ การแสดงพันธุ์พืชอาหารสัตว์ การสาธิตการใช้ควายไถนา และการประกวดกระบือ โคพื้นเมือง โคลูกผสมไทย - บราห์มัน โคพันธุ์บราห์มัน โค พันธุ์ลูกผสมสายเลือดเมืองหนาว โคนม รวมทั้งการประกวดและแข่งขันภูมิปัญญาไทย แข่งขันไถนา แข่งขันฝึกกระบือแสนรู้ และแข่งขันวาดภาพระบายสี ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย เช่น หน่วยงานในสังกัดของกรมปศุสัตว์, ภาควิชาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาควายไทย, สมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย, มูลนิธิเครือเจริญโภคภัณฑ์, สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้บำรุงพันธุ์โคบราห์มันแห่งประเทศไทย, สมาคมส่งเสริมผู้เลี้ยงโคบราห์มัน, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตกระบือและโค, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และสำนักงานส่งเสริมกิจการโคนมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฯลฯ
ที่มาภาพ ::: http://www.mcot.net/site/content?id=50efcb1a150ba01c5c00006a#.UQI_9PL8voQ