“ศาสนาพุทธ”กับ”ศาสนาอิสลาม”ที่ชาวพุทธและมุสลิมควรเรียนรู้ซึ่งกันและกัน (1)
กัณหา แสงรายา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาอิสลาม เคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบและปลอดภัยมานานนับร้อยๆ ปี ยกตัวอย่างเช่น คนเชื้อสายไทยพุทธใน ต.พิเทน อ.มายอ ต.ปิยา อ.ยะหริ่ง ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ฯลฯ ไม่เคยมีปัญหาใดๆ กับคนเชื้อสายมลายูซึ่งนับถือศาสนาอิสลามและเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่
การอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจกันเป็นภาพประทับใจที่ไม่เพียงส่งผลต่อสภาพจิตใจที่ดีเท่านั้น หากยังส่งผลดีต่อชีวิตทางเศรษฐกิจของส่วนรวมและชีวิตความเป็นอยู่ทั่วๆ ไป เช่น ในการปกครองท้องถิ่น การศึกษา และสุขภาวะในชุมชนแต่ละแห่งเป็นอย่างมากด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นเรื่องอ่อนไหวซึ่งสามารถทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่ได้ คือการดูถูกกันในเรื่องความเชื่อ โดยเฉพาะการที่ชาวมุสลิมเชื่อหรือศรัทธาใน “อัลลอฮฺ” (Allah) เนื่องจากศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่เชื่อและศรัทธาในพระเจ้า ในขณะที่ศาสนาพุทธไม่เชื่อในพระเจ้า หลายคนจึงคิดว่าทั้งสองศาสนานี้ไม่มีวันจะเข้าใจกันได้ เมื่อไม่เข้าใจกันแล้ว ก็เลยพาลดูถูกเหยียดหยามสิ่งที่อีกศาสนาหนึ่งนับถือและศรัทธา ทำให้ความไม่เข้าใจกันยิ่งถ่างกว้างออกไปอีก
บทความในรูปคำถาม-คำตอบต่อไปนี้ จะพยายามทำความเข้าใจกับความเชื่อในศาสนาทั้งสอง (และศาสนาที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกเล็กน้อย) เพื่อให้ผู้นับถือศาสนาทั้งสองได้มีโอกาสทำความเข้าใจกับศาสนาของเพื่อน รวมทั้งศาสนาที่ตนเองนับถืออย่างลึกซึ้งด้วย เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน อันจะเป็นการปิดหนทางที่อาจนำไปสู่การดูถูกเหยียดหยามความเชื่อทางศาสนาของอีกฝ่าย
ข้อจำกัดในการอธิบายของผู้เขียนย่อมมีแน่นอน จากพื้นฐานที่ว่า ประการแรกผู้เขียนไม่มีโอกาสศึกษาศาสนาอิสลามโดยตรง ประการต่อมาในส่วนของศาสนาพุทธนั้น แม้ผู้เขียนจะเคยสอบได้ธรรมศึกษาตรีมาตั้งแต่สมัยยังรุ่นๆ อยู่เมื่อหลายสิบปีก่อน ก็ยังนับว่าเป็นข้อจำกัดอยู่ดี แต่ในการศึกษาต่อเนื่อง ผู้เขียนได้ใช้เวลาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับศาสนาทั้งสองนี้ด้วยตนเองมาโดยตลอดจวบจนปัจจุบัน ดังนั้นหากมีความบกพร่องหรือข้อผิดพลาดประการใด โปรดได้ให้อภัยและได้โปรดถือเป็นความด้อยปัญญาของผู้เขียนอย่างแท้จริง
แต่ก็ขอได้โปรดมองเจตนาดีของผู้เขียนที่หวังให้พี่น้องต่างศาสนิกได้เข้าใจกัน เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนผืนแผ่นดินที่ทุกคนต่างก็เป็นเจ้าของผืนนี้...
O ความหมายของคำว่า “ศาสนา” (Religion)?
ในศาสนายูดาย (ยิว) ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ฯลฯ คำว่า “ศาสนา” หมายถึง คำสั่งหรือบทบัญญัติของพระเจ้าซึ่งสั่งสอนโดยศาสดาพยากรณ์ (รอซุลหรือนบี) ส่วนในศาสนาพุทธ ศาสนาขงจื๊อ ศาสนาเต๋า ฯลฯ หมายถึงคำสั่งสอนและวินัยบัญญัติโดยศาสดาผู้เป็นเจ้าลัทธิเอง
O ศาสนามี 2 กลุ่มใหญ่ ซึ่งมีความแตกต่างกัน โปรดอธิบาย
ในโลกนี้ศาสนามีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1. ศาสนาที่เชื่อว่ามีพระเจ้า เรียกว่า "ศาสนาเทวนิยม" (Theism) เช่น ศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
2. ศาสนาที่ไม่เชื่อในพระเจ้า เรียกว่า "ศาสนาอเทวนิยม" (Atheism) เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาเซน เป็นต้น
การแยกศาสนาออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ นี้เป็นเพียงการแบ่งตามความเชื่อในพระเจ้า โดยแยกเป็นกลุ่มที่เชื่อว่ามีพระเจ้า และกลุ่มที่เชื่อว่าไม่มีพระเจ้าเท่านั้น ศาสนาที่เชื่อว่ามีพระเจ้าจะเชื่อว่า “พระเจ้า” เป็น “ผู้สร้าง” (Creator) บรรดาสรรพสิ่งทั้งหลาย ในขณะที่ศาสนาที่ไม่เชื่อในพระเจ้าก็จะเชื่อว่ามนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หามีพระเจ้าเป็นผู้สร้างแต่อย่างใดไม่
แต่ถ้าทำความเข้าใจกันให้ลึกซึ้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นศาสนาที่เชื่อหรือไม่เชื่อในพระเจ้า ต่างก็เป็นศาสนาที่มีความเชื่อในแนวที่เรียกว่า “จิตนิยม” (Spiritualism) ทั้งสิ้น คำว่า “จิตนิยม” ในที่นี้ หมายถึงว่าทุกศาสนาล้วนสอนและมีพื้นฐานความเชื่อใน “สิ่งเร้นลับ” หรือ “สิ่งเหนือธรรมชาติ” (Supernatural) ทั้งสิ้น
“สิ่งเร้นลับ” หรือ “สิ่งเหนือธรรมชาติ” นั้น เราไม่สามารถใช้ “วิธีการทางวิทยาศาสตร์” (Scientific Method) มาอธิบายได้ ส่วนทัศนะที่ว่า เราสามารถใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ “สิ่งเร้นลับ” ในศาสนาของตนได้นั้น เอาเข้าจริงๆ แล้ว เมื่อทำการพิสูจน์ก็เป็นการใช้วิธีการทางปรัชญาเท่านั้น หาใช่วิธีการทางวิทยาศาสตร์แท้ๆ ไม่
O จุดมุ่งหมายของ “ศาสนา” คืออะไร?
การสอนให้คน “ทำความดี-ละเว้นความชั่ว” ถือเป็นพื้นฐานคำสอนของทุกศาสนา อย่างไรก็ตาม แต่ละศาสนามักมี “เกณฑ์ของความดีและความชั่ว” แตกต่างกัน บางศาสนาเกณฑ์ดังกล่าวนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ในขณะที่ในบางศาสนาเกณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะศาสนาแนวเทวนิยม เช่น ศาสนาอิสลาม เชื่อว่าบทบัญญัติต่างๆ เป็นของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นจึงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ศาสนาอิสลามจึงเป็นศาสนาที่มีความเคร่งครัดมากยิ่งกว่าศาสนาใดๆ
แต่ถึงกระนั้นศาสนาอิสลามก็มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ให้คำนึงถึงความยืดหยุ่น ความสะดวกและความง่าย ไม่ให้มีความยากลำบาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เวลานั้นๆ เช่น เมื่อมีเหตุจำเป็นในกรณีเกิดอุบัติภัยหรือกรณีฉุกเฉินที่ในศาสนาเรียกว่า ภาวะ “ฎอรูเราะห์” (Darurah) เกิดขึ้น
นอกจากนี้ในศาสนาอิสลามยังเปิดโอกาสให้มีการตีความบทบัญญัติต่างๆ โดยให้มีการแต่งตั้งคณะผู้รู้ในอิสลามเพื่อทำหน้าที่ตีความบทบัญญัติในศาสนาทุกครั้งที่มีปรากฏการณ์ใหม่ๆ ทางสังคมหรือจักรวาลวิทยา ทั้งนี้โดยไม่เปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในพระคัมภีร์
ในศาสนาพุทธและในศาสนาคริสต์เป็นเช่นเดียวกับศาสนาส่วนใหญ่ คือมีการ “สังคายนา” หรือการรวบรวมปรับปรุงและจัดหมวดหมู่บทบัญญัติทางศาสนาเพื่อให้เป็นระบบระเบียบ และเพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัยเป็นระยะๆ นับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาหลายต่อหลายครั้ง
O แต่ละศาสนาพูดถึงการศรัทธาหรือความเชื่อในสิ่งเร้นลับ ศาสนาต่าง ในโลกนี้มีความเชื่อใน “สิ่งเร้นลับ” อะไรบ้าง?
ความเชื่อใน “สิ่งเร้นลับ” ในศาสนาแนวเทวนิยม เช่น ความเชื่อในพระเจ้า (God), “บาปกำเนิด” ในศาสนาคริสต์, กฎการตอบแทนในเรื่องบาปบุญคุณโทษในศาสนาต่างๆ, กฎแห่งการกำหนดสภาวการณ์ของพระเจ้าในศาสนาอิสลาม, ความเชื่อใน “สิ่งเร้นลับ” ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธ เช่น ชาติหน้า, สังสารวัฏ (การเวียนว่ายตายเกิด) และหลักปฏิจสมุปบาท, นิพพาน (Nirvana) ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและพุทธ
ทฤษฎี “จิตประภัสสร” ทฤษฎี “เวรกรรม” เช่นความเชื่อในเรื่อง “เจ้ากรรมนายเวร”, ทฤษฎีเรื่อง “กรรม” (กรรมนิยม) ดังคำกล่าวที่ว่า กรรมเป็นตัวกำหนด ชี้ชะตาของมนุษย์ว่า “ถ้าทำดีก็ต้องได้ดี และถ้าทำชั่วก็ต้องได้ชั่วเหมือนกับการหว่านพืช”: กลฺยาณการี กลฺยาณํ, ปาปการี จ ปาปกํ ยาทิสํ วปเตพีชํ, พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ; “คนจะดี-ชั่วก็เพราะกรรม”: กมฺมุนา โหติ พฺราหฺมโณ; “กรรมคือการกระทำเป็นผู้จำแนกสรรพสัตว์ให้ดีชั่ว”:กมฺมํ สตฺเต วิภชติ; "โลกเป็นไปตามกรรม": กมฺมุนา วตฺตตี โลโก ในศาสนาพุทธ เป็นต้น
“สิ่งเร้นลับ” อื่นๆ ซึ่งมีอยู่ในแทบทุกศาสนาและความเชื่อของกลุ่มชนเผ่า เช่น ชาติหน้า, ชีวิตภายหลังความตาย, นรก-สวรรค์, เทวดา นางฟ้า, พญาแถน, ผีบรรพบุรุษ (ผีด้ำ), ภูตผีปีศาจ, เปรต, เจ้าพ่อ-เจ้าแม่, เจ้าที่-เจ้าทาง, เจ้าป่า-เจ้าเขา, อำนาจของรูป เจว็ดหรือสิ่งที่เคารพ, จอมปลวก, ลัทธิบูชากบ (พญาคันคาก), พิธีทางไสยศาสตร์ เช่น เสกหนังเข้าท้อง การสักตัว ผ้ายันตร์ เหล็กไหล ตะกรุด ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นความเชื่อที่ขนานไปกับวิทยาศาสตร์ (Science) ซึ่งไม่อาจใช้ “วิธีการทางวิทยาศาสตร์“ พิสูจน์ได้
คำว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” และคำว่า “ดลบันดาล” ที่ปรากฏในภาษาไทย แสดงถึงความเชื่อของคนไทยที่มีต่อ “สิ่งเร้นลับ” ดังกล่าว พึงสังเกตว่า ในภาษาไทยมีคำกล่าวที่มักคอยเตือนสติว่า “ไม่เชื่อแต่อย่าลบหลู่” ซึ่งสะท้อนความเชื่ออันยากที่จะปฏิเสธถึงความมีอยู่ (existence) ของบรรดา “สิ่งเร้นลับ” ต่างๆ ในมโนภาพของคนไทย
อย่างไรก็ตาม “ทฤษฎี” (Theory) ทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากก็อาศัยความเชื่อ (Belief) ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเพียง “ข้อสมมุติฐาน” (Assumption) เท่านั้นเอง เช่น ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin), ทฤษฎีกำเนิดจักรวาล ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นจริงได้อย่างน่าเชื่อเช่นกัน
O เหตุใด “คำปฏิญาณ” ของชาวมุสลิมจึงกล่าวว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์” (There’s no gods but Allah) จงอธิบาย
ศาสนาอิสลามก็เช่นเดียวกับศาสนายูดาย (ยิว) เป็นศาสนาเทวนิยมประเภท “เอกเทวนิยม” (Monotheism) หรือศาสนาที่มีหลักศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว ศาสนาอิสลามเชื่อใน อัลเลาะห์ (Allah) ว่าเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียวตามที่ปรากฏในคำกล่าวปฏิญาณดังกล่าว
คำกล่าวปฏิญาณมีลักษณะของการปฏิเสธไม่เชื่อว่ามีเทพเจ้าหรือพระเจ้า (ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่) อื่นใด นอกจากอัลเลาะห์ (องค์เดียว)
คำกล่าวปฏิญาณนี้จะเป็นตัวกำหนดโลกทัศน์และชีวทัศน์ของคนอิสลามว่า เว้นแต่พระเจ้า (อัลเลาะห์) แล้ว หน่วยของจักรวาลทั้งหมดเป็นเพียงวัตถุทางธรรมชาติเท่านั้น ไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์หรือมีสถานะที่สูงส่งไปกว่าวัตถุทางธรรมชาติอื่นๆ แต่อย่างใดไม่ ดังนั้นวัตถุทางธรรมชาติหรือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทั้งหลายจึงไม่อาจเป็นเป้าหมายที่มนุษย์จะต้องไปกราบไหว้และเคารพบูชาประหนึ่งพระเจ้า หรือยึดเหนี่ยวไว้เป็นที่พึ่ง
ในโลกทัศน์ของชาวมุสลิมจึงเห็นว่า พระอาทิตย์ก็คือพระอาทิตย์ ดวงจันทร์ก็คือดวงจันทร์ ต้นไม้ก็คือต้นไม้ แม่น้ำก็คือแม่น้ำ ฟ้าผ่าก็คือฟ้าผ่า ฯลฯ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่อธิบายได้ (ตามหลักวิทยาศาสตร์) และสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ “สิ่งเร้นลับ” หรือสิ่งนอกเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด ศาสนาอิสลามจึงไม่มีพิธีกรรม “บูชา” สิ่งธรรมชาติเหล่านี้ รวมทั้งไม่บูชารูปเคารพหรือสิ่งที่เป็นเจว็ดทุกประการ
การที่ศาสนาอิสลามเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว จึงทำให้สามารถแยกสิ่งเร้นลับออกจากสิ่งธรรมชาติออกจากกัน ด้วยเหตุนี้ศาสนาอิสลามจึงแตกต่างจากศาสนาบางศาสนา เช่น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูซึ่งเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ ที่เรียกว่า “ตรีมูรติ” อันประกอบด้วยพระอิศวร พระนารายณ์ พระวิษณุ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมักอธิบายในทำนองว่า พระเจ้าแทรกซึมอยู่ในสรรพสิ่งอันเป็นธรรมชาติทั้งหลาย ชาวฮินดูจึงกราบไหว้บูชาและวิงวอนขอจากพระอาทิตย์ก็ได้ พระจันทร์ก็ได้ แม่โพสพก็ได้ ฯลฯ เพราะถือว่าสรรพสิ่งเหล่านั้นเป็น “เทพเจ้า” (สังเกตการใช้คำว่า “พระ” นำหน้าวัตถุสรรพสิ่งเหล่านั้น) คล้ายคนไทยส่วนใหญ่ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน
แต่ในศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิม (ผู้นับถือศาสนาอิสลาม) ไม่สามารถบูชาหรือกราบไหว้สิ่งธรรมชาติเหล่านั้นได้ เพราะจะขัดต่อหลักศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว การกราบไหว้บูชาสิ่งอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์ ถือว่าเป็นการตั้งภาคีต่ออัลเลาะห์ (พระเจ้า) ซึ่งในศาสนาอิสลามถือเป็นบาปใหญ่ถึงกับตกจากศาสนาเลยทีเดียว
O ศาสนามีความสำคัญหรือมีประโยชน์อย่างไร?
ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ศาสนาเป็นบ่อเกิดของจริยธรรมและศีลธรรมตั้งแต่ในระดับบุคคล จนถึงสังคมที่ใหญ่ขึ้น ศาสนาช่วยควบคุมสังคมตั้งแต่พื้นฐานเลยทีเดียว ผลก็คือทำให้สังคมทุกระดับมีความมั่นคงทั้งทางจิตวิทยาและวัตถุ ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจของสมาชิกในสังคมทุกระดับได้ดีที่สุด ศาสนามีชุดคำตอบที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับมนุษย์ซึ่งครอบคลุมทั้งชีวิตในปัจจุบันและภายหลังความตาย
ในขณะเดียวกันกฎหมายของบ้านเมืองล้วนมีพื้นฐานมาจากเกณฑ์ความดี-ความชั่วที่บัญญัติไว้ในศาสนาซึ่งคลี่คลายขยายตัวเป็นระยะๆ โดยลำดับในกระแสธารของประวัติศาสตร์ ทำให้สังคมมีอายุสืบเนื่องมาได้จนถึงทุกวันนี้
O ศาสนามีโทษหรือไม่?
แน่นอนทุกปรากฏการณ์ย่อมมีทั้งคุณและโทษ ศาสนามีคุณหรือโทษขึ้นอยู่กับผู้ที่นับถือศาสนานั้นๆ มากกว่ามาจากคำสอนในศาสนาที่ตนนับถือ เราทราบว่าศาสนาคือระบบความเชื่อที่ยิ่งใหญ่และมั่นคงที่สุดที่ดำรงอยู่อย่างยาวนาน ดังนั้นแต่ละศาสนาจึงประกอบด้วยผู้ที่เชื่อถือและศรัทธาในศาสนาซึ่งเรียกว่า “ศาสนิกชน” (เช่น อิสลามิกชน พุทธศาสนิกชน หรือพุทธมามกะ คริสตศาสนิกชน ฯลฯ) อยู่เป็นจำนวนมาก ยิ่งกว่านั้นในแต่ละศาสนาก็มีลัทธิและนิกายแยกย่อยไปอีกมากมาย แนวปฏิบัติและประเพณีต่างๆ ในศาสนาจึงมีมากมายราวกับไม่จำกัด สิ่งเหล่านี้เปิดโอกาสให้ความขัดแย้งก่อตัวขึ้นได้ง่ายในระหว่างผู้ที่มีความนิยมและยึดมั่นต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ทุกศาสนาล้วนมีบทบัญญัติในเรื่อง “ขันติธรรม” (Tolerance) ซึ่งแสดงว่า แต่ละศาสนาเน้นให้มีความอดกลั้นทั้งในระดับบุคคลและสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของมวลหมู่มนุษย์ (น่าสนใจที่อีกความหมายหนึ่งของคำว่า “อิสลาม” แปลว่า “สันติภาพ” หรือ Peace แสดงอย่างชัดแจ้งว่าอุดมการณ์ของอิสลามคือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของมนุษยโลก)
ตัวอย่าง “ขันติธรรม” ในศาสนาอิสลามดังปรากฏในบทบัญญัติในเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งแสดงถึงการเคารพในความแตกต่างกันในสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน เช่น ในพระมหาคัมภีร์กุรอานมีบทบัญญีติว่า “ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนา” (อัลกุรฺอาน 2:256) และ “สำหรับพวกท่านก็คือศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉันก็คือศาสนาของฉัน” (อัลกุรฺอาน 109:6)
-----------------------------โปรดติดตามต่อตอนที่ 2------------------------