แกะรอยพจนานุกรมเก่าแก่มลายูถิ่นปัตตานี-ไทย...ความภาคภูมิใจที่ยังไม่เคยถูกจารึก
ปรัชญา โต๊ะอิแต
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ณ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ดินแดนที่วัฒนธรรมมลายูปัตตานีปกคลุมแทบทุกมิติชีวิตของผู้คนแถบนี้ มักจะมีเรื่องเก่าให้เล่าขาน และมีเรื่องราวที่น่าค้นหาอยู่เสมอ เรื่องบางเรื่องเคยถูกค้นพบและจารึกเอาไว้เป็นประวัติศาสตร์ แต่บางเรื่องก็ยังเป็นความลับหรือรับรู้กันอยู่ในวงจำกัด รอคอยให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เหมือนดั่งเรื่องราวของพจนานานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทยฉบับเก่าแก่ที่น้อยคนนักจะทราบว่าเคยปรากฏในบรรณพิภพมานานหลายสิบปีแล้ว
เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2551 คณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) นำโดย ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู เปิดตัวพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทย ฉบับที่ว่ากันว่าสมบูรณ์และได้มาตรฐานที่สุด และต่อมายังจัดทำเป็นซีดีแจกจ่ายเพื่อให้ผู้สนใจเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี หลายคนเข้าใจว่าพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทยฉบับดังกล่าว เป็นฉบับแรกของประเทศไทยและอาจจะเป็นฉบับแรกของโลก แต่แท้ที่จริงแล้วในอดีตมีความพยายามจัดทำพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทยมาแล้วหลายครั้ง ทั้งที่ได้รับการจัดพิมพ์อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
พจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทยฉบับเก่าแก่หลายๆ ฉบับที่ยังพอสืบค้นได้ คือเครื่องยืนยันความจริงข้อนี้
ที่น่าสนใจก็คือ อาจารย์แวยูโซะ สามะอาลี หนึ่งในคณะทำงานจัดทำพจนุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทย ที่มีอาจารย์วรวิทย์เป็นหัวหน้าคณะ เป็นผู้มีส่วนร่วมริเริ่มจัดทำพจนานุกรมภาษามลายูถิ่น-ปัตตานีฉบับเก่าแก่ในอดีตด้วย
"ผมเป็นคนพื้นเพที่นี่ เป็นคนปัตตานีโดยกำเนิด เพิ่งเกษียณอายุราชการในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานศาสนาและวัฒนธรรม ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เมื่อปี 2544 ที่ผ่านมานี้เอง ผมเป็นหนึ่งในคณะ 4 คนที่คิดริเริ่มทำพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทย โดยมี ดร.มูฮัมหมัด อับดุลกอเดร์ เป็นแกนหลัก แต่ขณะนี้ผมเป็นเพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่"
อาจารย์แวยูโซะ เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของพจนานุกรมฉบับเก่าแก่ที่ได้มีส่วนร่วมจัดทำนั้น มาจากความคิดที่ว่าอยากให้คนบ้านเกิดของเราสามารถเข้าใจภาษาไทย เขียน อ่าน และสื่อสารกับหน่วยงานราชการได้ แต่ด้วยความที่เราเป็นคนพูดภาษามลายูถิ่น จึงมีปัญหาว่าถ้าจะเขียนเป็นภาษาไทยเราจะเขียนอย่างไร เพราะอักษรไทยที่เขียนเป็นภาษามลายูถิ่นปัตตานีนั้นมีไม่ครบ จึงทำให้เรารวมตัวกันเพื่อค้นคว้าศึกษาเรื่องนี้
"ตอนนั้นเราใช้ภาษามลายูถิ่นปัตตานีจัดทำเป็นหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่ของการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เราทำงานอยู่ เราเน้นหลักการใช้ตัวอักษรง่ายๆ ไม่มีความยุ่งยากมากนัก ซึ่งสุดท้ายแล้วผมก็คิดว่ามันยังไม่ใช่ เพราะตอนอ่านก็แตกต่างไปจากเสียงภาษาถิ่นจริงๆ"
"พอทำไประดับหนึ่ง ผมก็พบพจนานุกรมฉบับของ ม.อ.ปัตตานี ตอนปี พ.ศ.2518 ซึ่งตอนนั้นผมคิดว่าเป็นฉบับที่ใกล้เคียงกับเสียงจริงมากที่สุด แต่ยากที่จะทำเป็นอักษรเขียน และตอนนั้นพจนานุกรมฉบับนั้นก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์สักเท่าไหร่”
อาจารย์แวยูโซะ เล่าต่อว่า จากการค้นคว้าพบว่าก่อนหน้านั้นก็มีเอกสารรวบรวมคำศัพท์ในลักษณะพจนานุกรมอยู่หลายเล่มที่จัดทำเอาไว้เดิม และมีความเก่าแก่พอสมควร แต่ไม่มีการระบุปีที่พิมพ์ และรูปแบบก็ไม่เหมือนกัน ดูแล้วยังไม่ถูกต้องตามหลักภาษา
"จริงๆ เอกสารลักษณะนี้มีอยู่เยอะ แต่ก็ไม่มีเล่มที่เป็นข้อสรุปได้ เพราะยังไม่ได้รับการรับรองจากราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ผมทำกับ ดร.มูฮัมหมัด นั้นเก่าแก่มาก เก่ากว่าฉบับของ ม.อ.ปัตตานี อีก แต่จำไม่ได้แล้วว่าปีอะไร ซึ่งไม่เชิงว่าเป็นพจนานุกรม แต่เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อสอนชาวบ้านเป็นหลัก มีคำศัพท์ประมาณ 5,000 คำ คณะทำงานขณะนั้นมี 4 คน ตอนนี้เสียชีวิตไปหมดแล้ว เหลือผมคนเดียว"
"ความตั้งใจในตอนนั้น เราทำเพื่อเน้นสอนชาวบ้านให้รู้จักภาษาไทย ซึ่งในยุคนั้นสถานการณ์ยังไม่รุนแรง และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่อยากให้ชาวบ้านพูดภาษาไทยได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ากระแสของชาวบ้านตอนนั้นไม่ค่อยมีใครสนใจพจนานุกรมของเราสักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่มีการต่อต้าน ตอนนี้ผมไม่แน่ใจว่าอยู่ที่ไหน น่าจะยังมีอยู่ที่ กศน."
อาจารย์แวยูโซะ บอกอีกว่า พจนานุกรมฉบับเก่าแก่แม้จะหาดูได้ยากแล้ว แต่วันนี้ได้ส่งต่อความคิดเรื่อยมากระทั่งเป็นพจนานุกรมฉบับสมบูรณ์ที่จัดทำโดยโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
“ผมเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่จัดทำพจนานุกรมในโครงการของสถาบันสมุทรรัฐฯด้วย จากประสบการณ์เรื่องพจนานุกรมที่ผมเคยทำและเคยศึกษามา สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างพจนานุกรมฉบับเก่าแก่อื่นๆ กับฉบับนี้ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือตัวเขียน ซึ่งฉบับล่าสุดเป็นตัวเขียนที่ใกล้เคียงกับเสียงภาษาจริงมากที่สุด มีการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ให้อ่านง่ายยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้รับการรับรองจากราชบัณฑิตยสถาน ที่ผ่านมามีคณะทำงานไปซักไปถามจนตอนนี้นำมาปรับกันบ้างเล็กน้อย เชื่อว่าไม่นานก็จะผ่านและประกาศใช้ต่อไป ใครจะเอาไปเขียนก็สามารถอ้างจากพจนานุกรมเล่มนี้ได้เลย"
แต่ อาจารย์แวยูโซะ ก็บอกว่า พจนานุกรมมลายูถิ่นปัตตานี-ไทยที่จัดพิมพ์ออกมาอย่างได้มาตรฐาน ก็ใช่ว่าจะถึงขั้นนำมาเป็นกีตาบ (หนังสือเกี่ยวกับคำบัญญัติทางศาสนา) เพื่อสอนศาสนาได้
"เป้าหมายคงอยู่แค่ความต้องการสอนภาษามลายูถิ่นปัตตานีด้วยภาษาไทย เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจภาษามลายูถิ่นปัตตานีที่ง่ายยิ่งขึ้น แต่บางคนไม่เข้าใจ กล่าวหาว่าผมทำลายภาษามลายู และก็พยายามต่อต้าน ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะภาษาของเรามันไม่มีภาษาเขียนก็เลยต้องสร้างขึ้นมา ส่วนที่เขียนกันอยู่มันคือภาษามาเลย์ ซึ่งนำมาเขียนแทนได้แต่อ่านไม่ได้”
“ภาษามลายูถิ่นปัตตานีเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติพันธุ์มลายู ซึ่งความเป็นมลายูของเราจะซ่อนไว้ที่ไหนมันก็ยังเป็นชาติพันธุ์ของเรา ภาษาในประเทศไทยมีภาษาถิ่นกว่า 70 ภาษา และภาษาแต่ละภาษาก็เป็นอัตลักษณ์ที่แสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ที่ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน คนที่นี่ก็เช่นกัน ถึงแม้จะไปอยู่ที่ไหนก็หนีไม่พ้นความเป็นมลายู ผมจึงคิดว่าแต่ละท้องถิ่นควรอนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาษาไว้อย่าให้สูญหาย เพราะทุกวันนี้ภาษาถิ่นหลายแห่งในประเทศไทยเริ่มจะสูญหายไปแล้ว"
"เรื่องความหลากหลายของภาษามันมีความสวยงามอยู่ ต่างคนต่างภาษาแต่ก็สามารถสื่อสารกันได้ ผมจึงอยากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ไว้แด่คนรุ่นหลัง เพราะถ้าหายไปก็น่าเสียดาย” อาจารย์แวยูโซะ ผู้อุทิศทั้งชีวิตให้กับการฟื้นฟูอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมบ้านเกิด กล่าว และทิ้งท้ายไว้อย่างคมคายว่า
“มนุษย์แม้แค่คนเดียวที่พูดภาษาของตนเอง ก็ถือว่าเป็นเจ้าของภาษานั้นแล้ว ซึ่งเขาสามารถรักษาความเป็นมนุษย์ของเขาเอาไว้ได้ ดังนั้นควรจะให้เกียรติในภาษาของเพื่อนมนุษย์ อย่าไปดูถูกหรือคิดจะครอบงำให้มีเพียงภาษาเดียว เพราะทำให้ภาษาดีๆ ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันสูญหายไป”
เส้นทางของพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทยฉบับเก่าแก่ยังไม่จบแค่นั้น เพราะยังมีพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทย อีกเล่มหนึ่งที่เก่าแก่น้อยกว่า เพราะตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2527 จัดทำโดยคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี จากโครงการที่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินและผู้เชี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์จากสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ภายใต้แผนการโคลัมโบ นอกจากนั้นยังเป็นหนึ่งในขอบเขตงานของโครงการจัดตั้งปัตตานีศึกษาปี พ.ศ.2525 ในชื่อชุดหนังสือว่า “เอกสารโครงการปัตตานีศึกษา อันดับที่ 1”
กรอบคิดของโครงการดังกล่าวก็คือ ภาษามลายูถิ่นปัตตานีเป็นภาษาที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีความแตกต่างจากภาษามลายูกลางที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุนี้จึงน่านำมารวบรวมเป็นพจนานุกรมเพื่อธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมทางภาษาของจังหวัดภาคใต้ และยังเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงประชาชนที่พูดภาษามลายูถิ่นด้วย
อย่างไรก็ดี เส้นทางความเป็นมาของพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทย ฉบับปี พ.ศ.2527 หากจะกล่าวให้ถึงที่สุดจริงๆ ก็คงต้องย้อนไปถึงปี พ.ศ.2518 ซึ่งมี ผศ.มะเนาะ ยูเด็น เป็นผู้ริเริ่ม โดยขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี
การศึกษาและจัดทำพจนานุกรมฉบับนั้น ยังมีคณะทำงานอีกหลายท่าน อาทิ อาจารย์ไพฑูรย์ มาศมินทร์ไชยนรา ผู้ประสานกับ Mr.Christopher A.F. Court ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์จากรัฐบาลออสเตรเลีย กระทั่งถึงปี พ.ศ.2522 พจนานุกรมจึงเริ่มเป็นฉบับร่าง จากนั้นจึงถูกส่งต่อให้คณะผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามลายูถิ่นในสมัยนั้น คือ นายเจ๊ะมะ เบ็ญนา ผศ.สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์ และ อาจารย์สาเหะอับดุลเลาะห์ อัลยูฟรี โดยได้ร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องของภาษาไทยและภาษามลายูถิ่นก่อนจะจัดพิมพ์เป็นเล่มโดยความช่วยเหลือของ ดร.บุญพฤกษ์ จาฎามระ และได้รับการปรับปรุงอีกครั้งในปี พ.ศ.2526 โดยสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ กรุงเทพมหานคร กระทั่งได้รับการเผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2527
พจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทยฉบับนี้ ไม่ทราบแน่ชัดว่าได้แจกจ่ายให้หน่วยงานหรือองค์กรใดบ้าง ทำให้ค่อนข้างหาอ่านยากในปัจจุบัน แต่เท่าที่ค้นพบทราบว่ามีอยู่ 3 แห่งด้วยกัน คือที่สำนักวิทยบริการ หอสมุด จอห์น เอฟ เคนเนดี ม.อ.ปัตตานี หอสมุดของมหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา และโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.อ.ปัตตานี
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ แม้จะผ่านมาหลายสิบปีแล้ว และไม่เคยมีใครบันทึกประวัติความเป็นมาของพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทยฉบับต่างๆ เอาไว้อย่างเป็นทางการ แต่ผลงานสร้างสรรค์ในแต่ละยุคแต่ละสมัยได้สร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่ชนรุ่นหลัง และเป็นที่มาของพจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทย...
ความภาคภูมิใจของคนไทยเชื้อสายมลายู
-----------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พจนานุกรมภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทย ฉบับเก่าแก่ของ ม.อ.ปัตตานี
2 อาจารย์แวยูโซะ สามะอาลี
3 เนื้อในของพจนานุกรมฉบับเก่าแก่ มีการเทียบคำศัพท์ทั้งภาษาไทย มลายูกลาง และมลายูพื้นเมืองเอาไว้อย่างชัดเจน
อ่านประกอบ :
- โปรแกรมแปลภาษามลายูถิ่นปัตตานี-ไทย อีกความภูมิใจจากปลายด้ามขวาน
- เปิดตัว "พจนานุกรมมลายูถิ่นปัตตานี" ฉบับแรกของโลก
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=3908&Itemid=86