บาบ๋า ย่าหยา...ในโลกไทยมลายูปัตตานี
กัณหา แสงรายา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
บทบาทของ เจนเนท เอา นักแสดงสาวจากสิงคโปร์ซึ่งรับบทหนักในภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง The Little Nyonya (พากย์ไทยว่า “บาบ๋า ย่าหยา... รักยิ่งใหญ่จากใจดวงน้อย”) ทั้งในฐานะ Juxiang (จี๋เซียง-แม่) และ Yue Niang (เย่ เหนียง-ลูกสาว) ล้วนสะท้อนถึงสิ่งที่คนจีนโพ้นทะเล (พวกหัวเฉียว) มีร่วมกัน นั่นคือความกล้าหาญ อดทน มัธยัสถ์ ฉลาดเฉลียว รุนแรง (aggressive) และอ่อนน้อมถ่อมตน ทั้งไม่อาจยอมรับสภาพหรือยอมจำนนต่อชะตาชีวิตได้ตลอดกาล
ลักษณะเช่นนี้นี่เองที่ผูกขาดชัยชนะให้ชาวจีนโพ้นทะเลเหนือคนพื้นเมือง (the indegenous) แทบในทุกๆ ด้านไม่ว่าในเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา หรือการเมือง
ภาพยนตร์ซีรีส์จากสิงคโปร์เรื่องนี้จึงมุ่งถ่ายทอดภาพรวมของกลุ่มอนุวัฒนธรรมจีนโพ้นทะเลกลุ่มหนึ่งในมะละกาและสิงคโปร์คือ “จีนบาบ๋า” ซึ่งเรียกในภาษามลายูว่า Cina Baba (จีนอ บาบา) ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาระหว่าง ค.ศ.1942-1945 ชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มนี้เป็นจีนลูกผสมกับคนพื้นเมือง (มลายูและชวา) ที่รับเอาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีหลายอย่างของคนพื้นเมืองแบบผสมผสานกัน แม้กระทั่งภาษาพูดก็ยังใช้ภาษาพื้นเมืองที่ปนภาษาจีนฮกเกี้ยน (คนจีนโพ้นทะเลในมลายูและอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยน มีส่วนน้อยที่เป็นพวกแต้จิ๋ว แคะ หรือกวางตุ้ง) รู้จักกันในชื่อ "ภาษามลายูบาบา" (Bahasa Melayu Baba)
การแต่งงานข้ามสายพันธุ์ระหว่างจีนกับมลายูหรือชวาไม่ใช่เรื่องปกติ แม้ในช่วงเริ่มการมีปฏิสัมพันธ์กันเมื่อหลายร้อยปีก่อน พ่อค้าและลูกเรือชาวจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายจะข้ามน้ำข้ามทะเลมาสู่อาณาจักรแห่งทะเลจีนใต้ หรือ “โลกมลายู” ที่รู้จักกันในชื่อว่า Kepulaun Melayu (เกอปูเลาวัน มลายู) หรือในสมัยมัชปาหิตรู้จักกันในชื่อว่า “นูซันตารา” (Nusantara) ดูเหมือนอาณาจักรทะเลจีนใต้จะโด่งดังเป็นอันมากในฐานะหมู่เกาะแห่งเครื่องเทศ ซึ่งโลกยุคนั้นทั้งซีกตะวันออกและตะวันตกต่างมุ่งหน้ามาเสาะแสวงหาถึงที่นี่
กุมารจีนสมัยนั้นมีส่วนน้อยเท่านั้นที่แต่งงานอยู่กินกับสาวชาวพื้นเมือง เพราะส่วนใหญ่แล้วจะแต่งงานกันเองในชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลด้วยกัน โดยเฉพาะภายหลังได้ตั้งนิวาสถานบ้านเรือนเป็นชุมชนชาวจีนในเมืองท่าต่างๆ แถบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในสมัยหลังๆ ระยะแรกๆ ชาวจีนเหล่านี้จะนิยมส่งลูกชายของตนกลับเมืองจีนเพื่อไปแต่งงานกับสาวจีน ส่วนใครที่มีลูกสาวก็จะส่งลูกสาวกลับไปแต่งงานกับกุมารจีนในบ้านเกิดเมืองนอน แล้วค่อยกลับมาทำมาหากินในดินแดนใหม่ สืบลูกสืบหลานต่อไป ด้วยเหตุนี้คนจีนโพ้นทะเลส่วนใหญ่จึงไม่ได้เป็น "จีนบาบ๋า"
สำหรับผู้หญิงจีนบาบ๋าในอินโดนีเซีย (ต่อมาได้แพร่เข้าสิงคโปร์ มะละกา และปีนัง) มักเรียกกันว่า Nyonya (อ่านว่า ‘โญญา’; ny=ญ อ่านออกเสียงขึ้นจมูกคล้ายในภาษาไทยถิ่นใต้เวลาออกเสียงคำว่า ‘ญิ๋ง’ (หญิง) หรือ ‘ใญ๋’ (ใหญ) แต่เราอ่านว่า ‘ย่าหยา’ แบบไทยๆ ที่ชอบใส่วรรณยุกต์) ดูเหมือนจะเป็นผู้พิทักษ์รักษาประเพณีมลายูหรือชวาไว้ตราบนานเท่านาน นับตั้งแต่แต่งงานอยู่กินกับกุมารจีนครั้งแรก พอมีลูกมีหลานเป็นหญิงก็รักษาประเพณีมลายู-ชวาของตนต่อไป แม้แต่การพูด
จุดเด่นที่สุดในเรื่องประเพณีและวัฒนธรรมมลายู-ชวาที่ว่านี้ก็คือ “เสื้อกบายา” (Kebaya) และโสร่งปาเต๊ะที่สาวเจ้านุ่งห่มอยู่ทุกวี่ทุกวันนั่นเอง เครื่องแต่งกายสตรีนี้กลายเป็นอัตลักษณ์สำคัญของสตรีชาวจีนบาบ๋า ไม่ว่าจะในชวา สิงคโปร์ มะละกา ปีนัง หรือในเกาะภูเก็ตและ จ.ตรัง ซึ่งอยู่ในฝั่งไทย (อย่าลืมว่าคนจีนแถบชายฝั่งอันดามันส่วนใหญ่เป็นพวกฮกเกี้ยน ซึ่งอพยพมาจากเกาะปีนัง ครั้งหนึ่งเกาะปีนังและเกาะภูเก็ต ยังถือว่าเป็นเกาะคู่แฝดกัน คนจีนชาวเกาะนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นลูกหลานของจีนบาบ๋า)
ในเมืองไทย คนจีนบาบ๋าไม่ได้มีอยู่เฉพาะบนเกาะภูเก็ต ตรัง พังงา ระนอง และกระบี่เท่านั้น แต่ยังมีที่ จ.ปัตตานีอีกเป็นจำนวนมาก
คนจีนบาบ๋าที่จังหวัดปัตตานีสืบเชื้อสายมาจากพ่อค้า ช่างฝีมือ และนักเดินเรือชาวจีนที่เข้ามาค้าขายและลงหลักปักฐานที่เมืองปัตตานีเก่า โดยเฉพาะที่กรือเซะ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมืองปัตตานี และที่ อ.ยะหริ่ง กับ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ตั้งแต่ในราวศตวรรษที่ 16 และ 17 โน่นแล้ว
สาวมลายูปัตตานียินดีต้อนรับกุมารจีนเป็นสามีของตน ก็โดยเงื่อนไขต้องเข้ารับศาสนาอิสลามและหันมาพูดภาษามลายูเท่านั้น ส่วนการแต่งเนื้อแต่งตัวของสาวเจ้าก็ยังต้องคงตามประเพณีมลายูของตน คือสวมชุดเสื้อกบายา (คนปัตตานีเรียกว่า ‘เสื้อบานงกบายอ’) และนุ่งโสร่งปาเต๊ะ จนกระทั่งสาวมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่งจะหันมานุ่งห่มชุดฮิญาบแทน หลังจากขบวนการฟื้นฟูศาสนาอิสลามทั้งจากกลุ่มซาลาฟียะห์และกลุ่มดะวะห์อิสลามียะห์เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ในราวสัก 30 ปีเศษมานี่เอง
หลายคนตกใจว่า เพียงไปเยือนปัตตานีหนแรกก็เห็นหนุ่มสาวและคนเฒ่าคนแก่หน้าตาแบบคนจีน ผิวขาว ตาตี่ แต่งตัวสะอาดสะอ้าน อ่อนน้อมถ่อมตน มีลักษณะเป็นผู้ดีมากๆ ทั้งในการพูดจาและกิริยาท่าทาง แต่ถ้าอ่านประวัติความสัมพันธ์ระหว่างคนจีนกับโลกมลายูทั้งหมดตั้งแต่โบราณกาลก็จะไม่แปลกใจเลย เพราะพวกเขาคือเหล่าลูกหลาน "จีนบาบ๋า" ซึ่งเข้ามาปักหลักอาศัยในปัตตานีตั้งแต่สมัย “ลิ้มโต๊ะเคี่ยม” โน่นแล้ว
ลิ้มโต๊ะเคี่ยมคือพี่ชายแท้ๆ ของ “นางลิ้มกอเหนี่ยว” ที่ในตำนานกล่าวว่า ได้รอนแรมข้ามทะเลลึกกับสำเภาจีนเพื่อตามหาพี่ชายที่ไปทำมาค้าขายอยู่เมืองปัตตานี แต่แล้วพี่ชายที่รักก็บ่ายบี่ยงไม่ยอมกลับแผ่นดินเกิด เวลานั้นครอบครัวที่เมืองจีนก็สิ้นเตี่ยแล้ว เหลือแต่แม่ซึ่งเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ เฝ้ารอลูกชายกลับมาดูใจ นางลิ้มกอเหนี่ยวไปถึงปัตตานีพลันพบว่าพี่ชายได้อยู่กินกับภรรยาสาวมลายูในวังปัตตานี จะเว้าวอนขอร้องอย่างไรก็ไม่ยอมกลับไปดูใจผู้เป็นแม่ ช่างใจร้ายไส้ระกำนัก
ตำนานเรื่องเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวซึ่งพลีชีพประท้วงพี่ชายยังเป็นตำนานเล่าขานมาจนกระทั่งทุกวันนี้ คนปัตตานีบันทึกเรื่องราวของนางลิ้มกอเหนี่ยวในชื่อพื้นเมืองว่า “โต๊ะแปะกงแมะ” (Tok Pek Kong Mek)
สมัยนั้นคนจีนอพยพเข้ามายังเมืองปัตตานีจำนวนมากด้วยเหตุผลหลักๆ คือการค้าขาย มีคนจีนจำนวนไม่น้อยสมัครใจลงหลักปักฐานในปัตตานีเป็นการถาวร บันทึกของพ่อค้าชาวตะวันตกกล่าวว่า ภายในเมืองตานีมีทั้งวัดจีนและตัวหนังสือจีนใช้ สมัยนั้นปัตตานียังปกครองโดยพระนางรายา มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอันมาก ทั้งในฐานะเมืองท่าชายฝั่งที่สำคัญในเขตอ่าวไทย และเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปืนใหญ่รายสำคัญ ด้วยความช่วยเหลือจากบรรพบุรุษของชาวจีนบาบ๋าพวกนี้แหละ
ปัจจุบันชาวจีนบาบ๋าปัตตานีมีความรู้สึกว่าตนเป็นคนมลายูเต็มตัว เนื่องจากบรรพบุรุษได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามมาตั้งแต่สมัยโน้นแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นมุสลิมที่เคร่งครัด ลูกหลานจีนบาบ๋าพวกนี้บางคนเปิดโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งเปิดสอนทั้งวิชาสามัญและศาสนา เนื่องจากใฝ่การศึกษาจึงมีหลายคนสำเร็จการศึกษาสูงถึงระดับปริญญาเอก เช่น ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรรัฐแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คนปัจจุบัน บางคนเป็นนักการศึกษา แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ เชื่อว่า ส.ว.ปัตตานีคนปัจจุบันคนหนึ่งก็เป็นลูกหลานของชาวจีนบาบ๋า
อิทธิพลของชาวจีนบาบ๋าปัตตานีมีกระทั่งในภาษามลายูถิ่น เช่น คำตอบรับว่า “ฮ้อ” (yes) ซึ่งจนกระทั่งปัจจุบันคนมลายูปัตตานีก็ยังใช้คำตอบรับว่า “ฮ้อ” หรือ “แฮ” อยู่อีก ในขณะที่มลายูแท้ๆ จะใช้คำว่า “ยอ” ในมาเลเซียใช้ว่า “ยา” (ya)
โลกมลายูของปัตตานีมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากโลกมลายูของมาเลเซียไม่มากก็น้อย ในขณะที่โลกมลายูของมาเลเซีย (โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก) จะมีวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ที่เป็นลูกผสมระหว่างมลายูดั้งเดิมกับคนอินเดียมุสลิมอย่างที่เรียกว่า “ยาวี เปอกัน” (Jawi Pekan หรือ Jawi Peranakan) และที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกทีก็คือลูกผสมระหว่างมลายูกับปุชตุนแห่งอัฟกานิสถานและปากีสถาน และส่วนหนึ่งก็ผสมกับพวกอาหรับจากฮาดรอเม้าท์ แต่โลกมลายูปัตตานีกลับเป็นพวกลูกผสมมลายู-จีน (เช่น ดร.หะยีฮารน สุหลง อดีตเจ้าของโรงเรียนธรรมวิทยา) มลายู-อาหรับ (เช่น ดร.อิสมาแอ อาลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี และตระกูลโต๊ะมีนา) มลายู-ชวา (เช่น รศ.ดร.รัตติยา สาและ) มลายู-บูกิส (เช่น ตระกูลระเด่นอาหมัด) และมลายู-เปอร์เซีย (เช่น ลูกหลานเชื้อสายสุลต่านสุไลมานแห่งเขาแดง สงขลา) เป็นต้น
หน้าตา ภาษาพูด และอุปนิสัยใจคอของชาวมลายูปัตตานีจึงแตกต่างจากชาวมลายูมาเลเซียไม่ใช่น้อย ที่สำคัญคนมลายูปัตตานีเองก็มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ และอุปนิสัยใจคอ ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากเชื้อสายหรือยีนที่ส่งทอดมานับร้อยๆ ปี รวมทั้งการอบรมบ่มนิสัยในแต่ละครอบครัวและสายตระกูลทำให้มีความแตกต่างกัน
ก็ขอให้เป็นความแตกต่างที่ไม่แตกแยกกันก็พอ
------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 แฮนด์บิลภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง The Little Nyonya หรือ “บาบ๋า ย่าหยา... รักยิ่งใหญ่จากใจดวงน้อย”
2 ชุดเสื้อกบายา และโสร่งปาเต๊ะ (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)
อ่านประกอบ : เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และ "ปาตานี" ในอดีต ผลงานของ กัณหา แสงรายา ในเว็บอิศรา...
- ย้อนอดีตลังกาสุกะ (1) อาณาจักรฮินดู พุทธ และอิสลาม
- ย้อนอดีตลังกาสุกะ (2) เครือข่ายผู้คน-วัฒนธรรมร่วมกับภาคกลาง
- ย้อนอดีตลังกาสุกะ (3) สงครามและหัวเลี้ยวแห่งการเปลี่ยนผ่าน