จัดระนาบการเมืองใหม่-ตั้งเขตปกครองพิเศษ...กับสันติภาพยั่งยืนที่ชายแดนใต้
แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
งานมหกรรมสันติภาพชายแดนใต้ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งเป็นงานใหญ่งานแรกของปี 2553 และ "ทีมข่าวอิศรา" เคยรายงานบรรยากาศภาพรวมของงานให้ทราบไปแล้ว แต่ยังมีแง่มุมน่าสนใจที่สมควรเก็บตกมาบอกเล่าเก้าสิบกันใหม่ โดยเฉพาะการเสวนาในหัวข้อ “ไฟใต้กับกระบวนการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน”
ไล่ดูชื่อวิทยากรที่ประกอบด้วย รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.จรัล มะลูลีม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.มารค ตามไท จากสถาบันเพื่อการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพายัพ ก็ต้องบอกว่างานนี้พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง
และวิทยากรทุกท่านก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะได้ร่วมกันตอบโจทย์ชายแดนใต้อย่างถึงแก่น!
รศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่า ถ้ามองปัญหาภาคใต้จากระบบใหญ่ทางการเมือง โดยเปรียบระบบการเมืองเป็นร่างกาย ก็จะพบว่าร่างกายของเรากำลังมีเชื้อโรค ขณะที่ร่างกายก็มีภูมิต้านทานต่ำ ไม่สามารถจัดการได้ ยาที่ได้รับจากภายนอกก็ยิ่งมาทำร้ายร่างกายให้ทรุดหนักรวดเร็วยิ่งขึ้น
“สภาพสังคมการเมืองโดยทั่วไปมี 2 ลักษณะคือ สันติกับสงคราม ถ้าเกิดสงครามเต็มรูปแบบ มันก็จะยุติไปตามกาลเวลา จะไม่มีสงครามนานเป็นร้อยปี ในที่สุดมันต้องจบ แต่สถานการณ์ภาคใต้อยู่ในภาวะกึ่งสงคราม คือจะสงครามก็ไม่ใช่ จะสันติก็ไม่เชิง ผมคิดว่าลักษณะปัญหาความรุนแรงในภาคใต้อยู่ระหว่างสงครามที่ไม่เต็มตัว สันติก็เกิดไม่ได้ มันเป็นภาวะของการเกิดโรคพยาธิภายในร่างกาย”
"ผมมองว่าปัญหาภาคใต้เป็นความขัดแย้งของระบบที่เราใช้กันมาหลายร้อยปีและไม่ตอบโจทย์ของคนข้างล่าง การเมืองของเราส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาจากข้างบนคือจากนักการเมืองเท่านั้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมคิดว่าเป็นข้อเรียกร้องหรือความต้องการการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่"
รศ.ดร.ธเนศ กล่าวด้วยว่า กุญแจสำคัญที่จะไขเพื่อนำไปสู่สันติภาพ ต้องทำให้การเมืองเป็นระนาบใหม่ เป็นการเมืองของภาคประชาชน และต้องเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเป็นเจ้าของ เพราะว่าปัจจุบันนี้ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะส่วนใหญ่เป็นรัฐ แม้แต่พื้นที่สื่อเองก็ตกอยู่ในอุ้งมือของรัฐ
อย่างไรก็ดี ก่อนจะไปถึงกุญแจที่ไขสู่สันติภาพ ดร.มารค ย้อนตั้งคำถามถึงโจทย์ที่แท้จริงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“จริงๆ แล้วในการแก้ไขปัญหา มีโจทย์หลายอย่างที่ต้องทำ แต่บางโจทย์ไม่จำเป็นต้องทำทันทีก็ได้ สิ่งสำคัญคือต้องหาโจทย์ให้ถูกต้องก่อน โจทย์แรกคือจะต้องมองลักษณะของปัญหาให้ถูกด้วย ผมคิดว่าหลายภาคส่วนกำลังมองปัญหาภาคใต้ในทางที่ผิดอยู่ มันจึงเป็นสาเหตุให้แก้ยาก”
ดร.มารค อธิบายว่า วิธีมองปัญหาภาคใต้ที่ผ่านมาตลอดคือ หลายภาคส่วนมองว่าเป็นปัญหาความมั่นคงของประเทศ คนที่ได้รับมอบหมายให้แก้ไขจึงทำไปแบบหนึ่ง งานจึงไม่คืบหน้าเลย
“แท้ที่จริงแล้วปัญหาภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาความมั่นคง แต่เป็นปัญหาจริยธรรมของสังคมไทย ถ้ามองปัญหาในพื้นที่เป็นปัญหาจริยธรรมของสังคมไทย จริยธรรมในแง่การเมือง การปกครอง วิธีเข้าใจปัญหาและคนที่จะได้รับมอบหมายให้แก้ไขก็จะเป็นคนละแบบกันเลย กล่าวคือถ้ามองเป็นเรื่องของความมั่นคง ก็จะต้องให้คนหรือหน่วยงานความมั่นคงเป็นผู้รับผิดชอบหลัก แล้วหน่วยงานอื่นมาเสริม แต่ถ้าเป็นปัญหาทางจริยธรรมในแง่การเมืองการปกครอง ผู้ที่จะเป็นฝ่ายนำในการแก้ปัญหาก็จะเป็นฝ่ายการเมืองการปกครองของรัฐบาล ไม่ใช่ทหาร"
"ทันทีที่มองสองแบบนี้ออก สิ่งที่เราพูดก็จะชัดเจนขึ้น เช่น การเมืองนำการทหารแปลว่าอะไร ถ้ามองว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาความมั่นคง เวลาเราพูดการเมืองนำการทหารมันก็จะกลายเป็นยุทธศาสตร์ของฝ่ายความมั่นคงไป แต่ถ้าเรามองเป็นปัญหาทางจริยธรรมของสังคม การเมืองนำการทหารก็แปลว่าความถูกต้องและความเป็นธรรมจะต้องเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ยุทธศาสตร์ของความมั่นคงที่จะลดความรุนแรงอย่างเดียว"
ดร.มารค ยังกล่าวถึงข้อเสนอเรื่องตั้ง "เขตปกครองพิเศษ" ด้วยว่า ถ้าเรามองปัญหาว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง สิ่งที่จะถกเถียงกันคือ ถ้ามีรูปแบบการปกครองพิเศษจะทำให้มั่นคงขึ้นหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะกลายเป็นประเด็นว่าควรจะมีหรือไม่มี เพราะมันเป็นเรื่องการบริหารความรุนแรงมากกว่า แต่ถ้าเรามองว่าเป็นประเด็นปัญหาจริยธรรมของสังคม คำถามที่ต้องถามก็คือว่า รูปแบบการปกครองพิเศษมันถูกต้องกว่าและเกิดความเป็นธรรมในสังคมหรือเปล่า แต่มันจะไม่ถามว่าสร้างความมั่นคงได้หรือไม่ เพราะเชื่อว่าถ้าเกิดความเป็นธรรม ความมั่นคงจะตามมาเอง ในทางกลับกันถ้ามองว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง มันอาจจะเป็นไปได้ว่ามีความมั่นคงกว่า แต่ไม่มีความเป็นธรรม สองแบบนี้ต้องชัดงว่าทิศทางเป็นอย่างไร และผู้รับผิดชอบหลักคือใคร
"ผมว่าคำถามเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองพิเศษ ณ วันนี้ไม่ต้องถามแล้วว่าควรมีหรือเปล่า มันต้องมีแน่ และคิดว่าทุกคนยอมรับในข้อเสนอนี้ คำถามที่ต้องถามต่อก็คือมันจะเป็นอย่างไรมากกว่า ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าไปเยอะ แต่ประเด็นตอนนี้คือใครจะถือธงนำเรื่องนี้ พอมองเป็นปัญหาจริยธรรมการเมืองการปกครอง แน่นอนก็คือรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ แล้วก็คนในพื้นที่เป็นส่วนที่จะบอกรัฐบาลว่าต้องการอะไร แต่ถ้ามองว่าเป็นปัญหาความมั่นคง การทหารจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ซึ่งจะเป็นไปคนละทิศละทาง ขอย้ำว่าการสร้างกระบวนการสันติภาพ ภาคประชาชนเองถือเป็นกุญแจสำคัญ ส่วนคนอื่นๆ เป็นหน่วยเสริม ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ไม่ก็ตาม" ดร.มารค กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.จรัญ กล่าวว่า หลายคนมองและสรุปว่าปัญหาของภาคใต้เป็นผลจากการละเลยทางเศรษฐกิจมายาวนาน ทั้งภาครัฐและเอกชนขาดโอกาสในการทำงานร่วมกับชาวมุสลิม ขณะที่พี่น้องมุสลิมก็ขาดการรับรู้จากฝ่ายราชการ มีปัญหาการไม่ยอมรับด้านศาสนา ภาษาศาสตร์ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายใต้ระบบการปกครองของไทย
ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาเหล่านี้แน่นอนว่ารัฐไทยต้องใช้ความพยายามหลายด้าน รวมทั้งการมองปัญหาความมั่นคงซึ่งต้องเป็น "ความมั่นคงสมัยใหม่" ด้วย เพราะว่าทุกวันนี้ในทางรัฐศาสตร์ "ความมั่นคงแบบเก่า" กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแรงว่าคือการใช้กำลังทหารเป็นหลัก แต่ความมั่นคงสมัยใหม่คือการเข้าใจวัฒนธรรม วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของพื้นที่
"ถ้าหากสามารถเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ การเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพภายในประเทศจะเกิดขึ้นได้ มิเช่นนั้นแล้วภาพภายนอกก็จะถูกมองด้วยสายตาที่ผิดพลาดและเข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการต่อต้านประชาคมมุสลิม แล้วปัญหาชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยก็จะถูกจัดให้อยู่ในระดับเดียวกันกับกรณีปัญหาปาเลสไตล์ แคชเมียร์ เคนย่า อิรัก และอัฟกานิสถาน"
รศ.ดร.จรัญ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากมองในแง่ประวัติศาสตร์ของคนที่อยู่ชายแดนติดกัน อย่างภาคเหนือของมาเลเซียกับภาคใต้ของประเทศไทย บันทึกประวัติศาสตร์หรือการหยิบใช้ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชาวไทยเชื้อสายมลายูที่เป็นปัญหามาตลอด เพราะว่าถูกมองในเชิงลบ แต่ว่าชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยที่อยู่ในมาเลเซียกลับถูกมองในเชิงบวก ประวัติศาสตร์ชาติไทยของชาวไทยเชื้อสายมลายูเป็นประวัติศาสตร์ปกปิด และสถาบันครอบครัวส่วนใหญ่ก็ไม่มีความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์ตนเอง
"ถามว่าการศึกษาก็สอนแต่ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ไม่ค่อยลงรอยกับประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของชาวไทยเชื้อสายมลายู ผลที่ตามมาก็คือทำให้สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาไม่สามารถทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทนขัดเกลาทางสังคมให้กับเยาวชนไทยเชื้อสายมลายูได้ ในขณะเดียวกันสื่อมวลชนเองก็ได้แต่นำเสนอภาพความขัดแย้งรุนแรงทางชาติพันธุ์อยู่เสมอ"
"สำหรับประเทศไทย แม้ว่ารัฐบาลได้พยายามจะให้สิทธิแก่พลเมืองในชาติอย่างเท่าเทียมกัน แต่ประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นพหุสังคมอย่างแท้จริง เอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่ผ่านมามักมีศูนย์รวมอยู่ที่ส่วนกลางของประเทศ และอีกหลายกรณีดูเสมือนหนึ่งว่ามีการต่อต้านเอกลักษณ์ทางสังคมของเชื้อสายอื่นๆ เช่น เชื้อสายมลายู"
ส่วนข้อเสนอเรื่อง "เขตปกครองพิเศษ" รศ.ดร.จรัญ กล่าวว่า มีการเสนอรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง ส่วนตัวมองว่าน่าจะเป็นทางออกทางหนึ่ง ยกตัวอย่างประเทศต่างๆ เช่น ในอินเดียมีภาษาที่ใช้ทำงานถึง 23 ภาษา ทำให้ชนกลุ่มน้อยได้มีโอกาสใช้ภาษาของตนเอง และมีภาษากลาง 4 ภาษา สำหรับประเทศไทยแค่มีการเสนอให้ใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาทำงานก็ถูกคัดค้านเสียแล้ว ด้วยการอ้างว่ารัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยวแบ่งแยกไม่ได้ แต่ไม่ได้มองว่าความแตกต่างทางภาษาเป็นความสวยงาม
"ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าในหลายประเทศที่มีเขตปกครองพิเศษ เช่น จีน ทิเบต ก็ไม่ได้หมายความว่ามีแล้วจะเป็นการแยกหรือหลุดออกจากการเป็นประชาชนของประเทศนั้นๆ เลย"
ประเทศไทยก็เช่นกัน!