ร่างกฎหมาย ศอ.บต.ฉบับใหม่...ติดดาบย้าย "ขรก.-ทหาร-ตำรวจ" พ้นพื้นที่?
แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ที่ผ่านมาในมิติของ "นโยบายดับไฟใต้" ประเด็นที่พูดคุยกันอย่างกว้างขวางในพื้นที่จะมีเฉพาะข้อเสนอว่าด้วย "นครปัตตานี" และการใช้ "มาตรา 21" ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ นำร่องใน 4 อำเภอของ จ.สงขลาเท่านั้น ส่วนร่างกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ "ร่าง พ.ร.บ.ศอ.บต.ฉบับใหม่" กลับไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก
ทั้งๆ ที่เป็นการจัดวางโครงสร้าง "องค์กรดับไฟใต้" ซึ่งก็คือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ในรูปแบบใหม่ เพื่อรองรับปัญหาและยุทธศาสตร์ "การเมืองนำการทหาร" ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป ซึ่งเชื่อกันว่าปฏิบัติการทางทหารแบบเดิมเดินมาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว
เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งมีเวทีรับฟังความคิดเห็นในหัวข้อ “ร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ...ประชาชนได้ประโยชน์อะไร” ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งจัดโดย คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน, คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับภาคีพันธมิตรเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพชายแดนภาคใต้ กับมูลนิธิเพื่อนหญิงและเครือข่ายประชารัฐปัตตานี
ประเด็นที่ผู้จัดเสนอให้ผู้ร่วมเวทีได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ก็คือประเด็นที่ยังมีจุดยืนแตกต่างหลากหลายในการพิจารณาร่างกฎหมาย ซึ่งอยู่ในชั้นแปรญัตติ (วาระที่ 2) ของสภาผู้แทนราษฎร อาทิ การกำหนดนิยามของจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าหมายถึง 5 จังหวัด คือปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล หรือจำกัดแค่ 3 จังหวัดที่มีปัญหาความไม่สงบเท่านั้น เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่น่าสนใจและหลายฝ่ายในพื้นที่ตั้งคำถามก็คือ เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ประชาชนจะได้อะไร เพราะกับข้อเสนอ "นครปัตตานี" หรือการใช้ "มาตรา 21" กฎหมายความมั่นคง จะมีคำตอบในประเด็นนี้ค่อนข้างชัด
"ทีมข่าวอิศรา" สัมภาษณ์พิเศษ รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ และ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ เพื่อค้นคำตอบในประเด็นดังกล่าว
O ร่าง พ.ร.บ.ศอ.บต.ฉบับใหม่ พิจารณาถึงไหนแล้ว?
รัชฎาภรณ์ : ขณะนี้เสร็จไปแล้ว 11 มาตรา จากทั้งหมด 28 มาตรา โดย 11 มาตราที่เสร็จไปล้วนสำคัญทั้งสิ้น โดยเฉพาะที่มีการระบุว่าถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนกระทำการกระทบสวัสดิภาพของสังคมหรือความมั่นคง เลขาธิการ ศอ.บต.มีอำนาจส่งตัวออกนอกพื้นที่ได้ แล้วค่อยแจ้งไปยังต้นสังกัดดำเนินตามต่อขั้นตอนกระบวนการ
ประเด็นนี้ดิฉันเสนอให้ตัดคำว่า "ฝ่ายพลเรือน" ออก เพราะแม้ฝ่ายทหารหรือตำรวจก็ต้องให้ ศอ.บต มีอำนาจเข้าไปตัดสินใจด้วย ดิฉันคิดว่าถ้าเป็นทหาร ตำรวจ หรืออัยการ หากให้ ศอ.บต.แจ้งไปยังต้นสังกัดเพื่อดำเนินการก็ยังดีกว่าไม่ได้แจ้งเลย เพราะต้นสังกัดอาจไม่รู้ปัญหาก็ได้ แต่ต้นสังกัดพิจารณาแล้วจะดำเนินการอย่างไรก็เป็นไปตามระเบียบ หากเป็นเช่นนี้ดิฉันไม่ขัดข้อง
ส่วนคำจำกัดความหรือนิยามของจังหวัดชายแดนภาคใต้ สรุปแล้วให้ครอบคลุมทั้ง 5 จังหวัด ไม่ใช่ 3 จังหวัด เพราะกฎหมายเราต้องเผื่ออนาคตไว้ด้วย รวมทั้งเมื่อพูดถึงแผน นโยบาย และยุทธศาสตร์ที่จะร่างสำหรับเป็นกรอบในการแก้ไขปัญหา ทั้งในส่วนของสภาความมั่นคงแห่งชาติและสภาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่แรกและมากที่สุด
O จุดเด่นของ ศอ.บต.ตามกฎหมายใหม่คืออะไร?
รัชฎาภรณ์ : เมื่อเราจะตั้ง ศอ.บต.ขึ้นมาใหม่ จุดสำคัญที่สุดคือต้องการความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา เพราะฉะนั้นมันก็ควรจะครอบคลุมหน่วยงานทุกหน่วยที่อยู่ในพื้นที่ เดิมทีร่างของรัฐบาลจะดูแลเฉพาะฝ่ายพลเรือน ไม่รวมทหาร อัยการ ตำรวจ ซึ่งดิฉันมองว่าต้องรวม หากร่างสุดท้ายออกไปแบบนี้ ก็ถือเป็นจุดแข็งของ ศอ.บต.
O เท่าที่ดู ร่างกฎหมายมีจุดอ่อนบ้างหรือไม่?
ไกรศักดิ์ : จุดอ่อนคือส่วนใหญ่เลย 90% เป็นข้าราชการประจำที่จะมาบริหารงานภาคใต้ อีกประเด็นหนึ่งก็คือการมีส่วนร่วมของประชาชนมันอยู่ในมาตราเดียวคือสภาที่ปรึกษา ปัญหาที่ต้องคิดต่อก็คือสภาที่ปรึกษาในมาตรานี้จะคัดเลือกกันอย่างไร มาจากที่ไหน ที่สำคัญที่ปรึกษาจะมีอำนาจแค่ไหนนอกเหนือจากอำนาจของเลขาธิการ ศอ.บต.
O หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง?
รัชฎาภรณ์ : เราจะมีหน่วยงานขึ้นมาหน่วยหนึ่งเพื่อบริหารจัดการทั้งหมดที่เป็นการทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งแผนงาน งบประมาณ ต่อไปเวลาทำแผนจะต้องผ่าน ศอ.บต. แต่ทุกวันนี้ต่างคนต่างทำ มันจึงซ้ำซ้อนกัน นอกจากนั้นเวลาจะร้องเรียนก็ร้องเรียนจุดเดียวได้ คือ ศอ.บต. จากนั้นก็เข้าไปดูแล
ที่สำคัญแผนทั้งหลายประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วม โดยเรื่องการมีส่วนร่วมที่ดิฉันแก้เอาไว้และเสนอเข้าไปใหม่ก็คือ ให้สภาเสริมสร้างสันติสุขฯ มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแผน ยุทธศาสตร์ และร่วมตัดสินใจด้วย รวมทั้งต้องมีหน้าที่ในการติดตามประเมินผล สรุปก็คือนโยบายทั้งหลายต้องฟังจากประชาชน ที่เราพยายามคุยกันก็คือต้องมีเวทีรับฟังจากชาวบ้าน
O กฎหมายใหม่จะช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สงบได้หรือไม่?
ไกรศักดิ์ : ผมคิดว่ามันจะแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง แต่ถึงที่สุดแล้วการจะแก้ไขปัญหาอย่างถาวรมันต้องกลับไปที่กระบวนการยุติธรรม เพราะว่าปัจจุบันนี้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ใช้รัฐธรรมนูญทุกมาตรา แต่ใช้กฎอัยการศึกที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหาเลย เมื่อโดนจับกุมแล้วก็ไม่อนุญาตให้พบทนายบ้าง ไม่อนุญาตให้พบญาติพี่น้องบ้าง จับกุมโดยไม่ขึ้นศาลเป็นปีๆ บ้าง หรือหลักฐานก็น้อย แต่ที่ดีอย่างก็คือว่า การพิจารณาของศาลมีแนวโน้มที่จะปล่อยผู้ต้องหาสูงมาก แสดงว่ามีความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ในชั้นจับกุม
เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ที่จับกุมต้องปฏิรูปอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะตำรวจ รวมทั้งกระบวนการอื่นๆ มิฉะนั้นชาวบ้านก็จะโดนทำร้ายอยู่บ่อยๆ แล้วก็เกิดความเกลียดชัง เกิดความไม่พอใจต่อรัฐบาล นี่คือสิ่งที่ต้องปรับปรุงเป็นสิ่งแรก ส่วนเรื่องความไม่สงบ กฎหมายฉบับนี้คงแก้ได้ยาก เพราะอย่างที่ผมเรียน ผมว่าถ้าเราไม่สามารถแก้ที่คุณธรรมและศีลธรรมของเจ้าหน้าที่ได้แล้ว คุณจะร่างกฎหมายดีแค่ไหนมันก็ไม่สำเร็จหรอก
O ถ้าอย่างนั้นทางออกที่คิดว่าจะเป็นไปได้คืออะไร?
ไกรศักดิ์ : ก่อนอื่นเลยคือเรื่องการเมือง ต้องให้สิทธิเสรีภาพประชาชนให้มากขึ้น แล้วก็ต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็งจริงๆ รัฐบาลที่มีคุณธรรมจริงๆ เริ่มต้นด้วยการเยียวยา ต่อมาด้วยการจับกุมเจ้าหน้าที่ที่ประทุษร้ายต่อประชาชนอย่างเอิกเกริก แล้วก็ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ต้องหาที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอ หากถูกจับกุมอยู่ก็ต้องปล่อยเพื่อให้ความยุติธรรมต่อเขา แล้วก็ต้องให้ค่าชดเชยความเสียหายด้วย
O แสดงว่าในมุมมองของอาจารย์ไกรศักดิ์ คิดว่าปัญหาความไม่เป็นธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงอยู่?
ผมมองว่าการแก้ปัญหายังไม่ดีพอ สิ่งที่เราต้องทำคือเรื่องการฆ่าหมู่โดยนโยบายของรัฐบาล เช่น การฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด ต้องไม่เกิดขึ้นอีกเป็นอันขาด การที่จะจับกุมชาวบ้านมามัดกันแล้วโยนขึ้นรถ ทำให้ตายเป็นสิบๆ คน (เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ 25 ต.ค.2547) ต้องไม่เกิดขึ้นเป็นอันขาด การบุกเข้าไปในบ้านคน ไปสังหารชีวิตคน ตามไล่ฆ่าก็ต้องไม่เกิดขึ้นเป็นอันขาด
ส่วนกรณีกราดยิงในมัสยิดที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส (มัสยิดไอร์ปาแย เมื่อ 8 มิ.ย.2552) เป็นเรื่องที่เราจะต้องตามล่าอาชญากรมาลงโทษให้ได้ ปัจจุบันนี้ได้มาเพียงคนเดียว เชื่อว่ามีอีกราวสิบกว่าคนที่ยังหลบหนี อันนี้เราละเว้นไม่ได้เลย
O การบังคับใช้กฎหมายยังทำให้ประชาชนมั่นใจได้ไหม?
เรื่องที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลคือการบังคับใช้กฎหมาย ต้องมีการปฏิรูปตัวเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายอย่างมหาศาล เท่าที่ฟังมาทางฝ่ายกองทัพหรือฝ่ายทหารเข้าใจปัญหาดีกว่าส่วนอื่นๆ แล้วในตอนนี้ คือในส่วนของทหารได้ปรับเปลี่ยนไปเยอะ ก็หวังว่าส่วนอื่นๆ จะปรับตามมา คือเราอาจจะพูดว่า “โอ๊ย...ต้องใช้เวลา“ แต่ผมบอกเลยว่าสำหรับเรื่องนี้คงพูดแบบนี้ไม่ได้ มันไม่ได้เป็นข้ออ้างที่ดี ต้องรีบทำอย่างรีบด่วน
ส่วนร่างกฎหมาย ศอ.บต.ฉบับใหม่ คิดว่าอีกหลายเดือนกว่าจะเสร็จ ก็อยากให้ทุกคนช่วยกันติดตาม ทางที่ดีต้องอ่านทั้งหมดทุกมาตรา แล้วช่วยกันคิดว่ายังมีประเด็นไหนที่ต้องแก้ไขอีก ผมคิดว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญ สื่อมวลชนก็เช่นกัน ต้องแสดงบทบาทเพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
----------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1. นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท และ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ
2. บรรยากาศการประชุม ณ หอประชุมใหญ่ ม.อ.ปัตตานี
อ่านประกอบ :
1. ครม.ไฟเขียวตั้งองค์กรดับไฟใต้ ใช้ชื่อ "ศอ.บต." ยกระดับเทียบ กอ.รมน. นายกฯนั่งผู้อำนวยการ
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4928&Itemid=47
2. เปิดวิวัฒนาการ "องค์กรดับไฟใต้" จาก ศอ.บต.ถึง กอ.สสส.-กอ.รมน. แล้วจะไปทางไหน?