นักฟิสิกส์รุมจับโกหก"จีที 200" ประชดเทคโนโลยี"ต่างดาว"
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
เวทีเสวนาเรื่อง "หลักการทางวิทยาศาสตร์ของเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด" หรือจะเรียกง่ายๆ ว่าเป็นเวที "จับโกหก" เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด "จีที 200" ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อบ่ายวานนี้ คลาคล่ำไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ใหญ่น้อย รวมถึงประชาชนผู้สนใจ และนักการเมือง ถือเป็นบรรยากาศความคึกคักในวงการวิทยาศาสตร์บ้านเราที่ดูจะห่างหายไปเนิ่นนาน
หลายคนขอบคุณเจ้าเครื่องตรวจระเบิด "จีที 200" ที่ช่วยสร้างกระแสให้สังคมและเยาวชนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์กันมากมายขนาดนี้ และอีกคนที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ก็คือ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ออกมาเปิดโปงอุปกรณ์ลวงโลกแบบ "ปะ-ฉะ-ดะ" กับคนในกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นๆ ที่ปลาบปลื้มกับ "จีที 200" โดยไม่เกรงภัยคุกคามใดๆ
เวทีดังกล่าวจัดโดยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และออกตัวว่าเป็นเวทีที่มีความเป็นกลางทางวิชาการจริงๆ จึงไม่มีการเอ่ยถึงคำว่า "จีที 200" เลยแม้แต่คำเดียวตลอด 2 ชั่วโมงของการเสวนา
การจัดเวทีในครั้งนี้เป็นการระดม "นักฟิสิกส์" ชื่อก้องของประเทศมานั่งชำแหละกระบวนการตรวจหาสารระเบิด ซึ่งทั้งหมดก็เป็นคำตอบอย่างชัดเจนในตัวเองว่า เจ้าเครื่องตรวจระเบิดที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในสังคมขณะนี้ ไม่สามารถใช้งานได้จริง!
ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายให้ฟังถึงข้อมูลพื้นฐานของ "เครื่องตรวจวัด" หรือ Detector Basic โดยระบุว่า การตรวจวัดในทางวิทยาศาสตร์ คือการแปลงปริมาณของสิ่งที่ต้องการวัดเป็นสัญญาณทางฟิสิกส์ เช่น แปลงสารระเบิดหรือสารเสพติดเป็นสัญญาณทางฟิสิกส์ ซึ่งต้องมีกระบวนการแปลงข้อมูล
เมื่อได้ตัวสัญญาณมาแล้วก็ต้องไปปรับแต่งเพื่อดึงเฉพาะส่วนที่ต้องการออกมา เรียกว่า "การประมวลสัญญาณ" เพราะสัญญาณที่ได้จะเยอะแยะไปหมด จึงต้องเลือกเฉพาะสัญญาณที่ต้องการตรวจวัด ฉะนั้นการตรวจวัดสารแต่ละชนิดจึงไม่เหมือนกันเลย เพราะวัตถุแต่ละอย่างมีสารประกอบแตกต่างกัน จึงไม่มีเครื่องตรวจวัดชนิดใดวัดได้ครอบจักรวาล อาจจะมีเครื่องมือบางชนิดที่ตรวจวัดได้หลายอย่าง แต่ก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการวัดในแต่ละครั้ง เช่น ต้องการตรวจวัดสาร ก. ก็จะได้สาร ก. ถ้าจะไปตรวจวัดสาร ข. ก็ต้องใช้เครื่องมือใหม่ หรือปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ เป็นต้น
ผศ.พงษ์ อธิบายต่อว่า อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวพันกับการตรวจวัด คือ "ความไว" หรือ sensitivity โดยความไวของการตรวจวัดจะแตกต่างกันไปตามความต้องการ เช่น ปริมาณน้อยที่สุดที่สามารถตรวจจับได้ หรือปริมาณที่วัดต่อสัญญาณที่ได้ 1 หน่วย อาจจะเป็นโวลต์ หรืออื่นๆ แต่หลักก็คือถ้าความไวน้อยเกินไป ก็ตรวจจับไม่ได้ แต่ถ้าความไวมากไปก็ตรวจผิด ได้ผลหลอก
"สมมติเรานำเครื่องมือไปตรวจหาสารระเบิดหลังจากระเบิดไปแล้ว เอาขี้เถ้ามาตรวจยังเจอสารระเบิดทุกทีอย่างที่หลายคนพูดกัน แบบนี้เรียกว่าความไวมากเกินไป" อาจารย์จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ระบุ
สำหรับการวิเคราะห์เครื่องมือแต่ละชนิดว่าสามารถตรวจวัดได้จริงหรือไม่นั้น ผศ.พงษ์ ชี้ว่า ต้องเริ่มจากการพิจารณาหลักการของเครื่องว่าใช้หลักการอะไร อย่างเช่น เครื่อง ซีทีเอ็กซ์ 9000 ใช้หลักการคอมพิวเตอร์วิเคราะห์ภาพ ตัดภาพมาเรียงเป็นชิ้นๆ ว่าอยู่ตรงไหนและมีวัตถุใดบ้าง โดยเทียบกับฐานข้อมูลที่เครื่องมีอยู่ เช่น วัตุระเบิด สารเสพติด ถ้าเทียบแล้วตรงกันก็จะส่งสัญญาณเตือน
หรือเครื่อง GSS3000 เป็น Hand-Held Explosive Detector หรือเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดแบบมือถือ ตัวเครื่องก็จะบอกชัดเจนว่าใช้หลักการไฟฟ้าเคมีและการสันดาปเป็นกลไกทำให้เกิดสัญญาณทางฟิสิกส์ แล้วนำไปขยาย ก็จะทราบว่าสารที่ตรวจเป็นสารอะไร แต่ก็ตรวจได้เฉพาะสารไนโตรเจน นั่นคือหลักการที่บอกว่ามองหาอะไรก็จะได้สิ่งนั้น
"ส่วนเครื่องมือที่มีปัญหากันอยู่ อ้างว่าใช้หลักการสนามแม่เหล็ก ขอบอกว่าไม่ใช่กระบวนการตรวจวัดตามหลักฟิสิกส์ และที่อ้างว่าสามารถตรวจวัดสสารได้ในปริมาณเล็กน้อยถึง 1 พิโคกรัม ซึ่งเท่ากับ 1 ในล้านล้านกรัมนั้น ถือว่าเล็กมาก ซ้ำยังอ้างว่าตรวจวัดได้ไกลถึง 700 เมตร อย่างนี้บอกได้เลยว่าเป็นความไวระดับทะลุโลก"
ผศ.พงษ์ ยังบอกด้วยว่า การผ่าพิสูจน์เครื่องที่เป็นปัญหาอยู่ซึ่งจะมีขึ้นโดยหน่วยงานที่เป็นกลางในเร็ววันนี้ เขาจะไม่ร่วมพิสูจน์ด้วย เพราะในทางฟิสิกส์ไม่เชื่ออยู่แล้วว่าทำงานได้จริง ส่วนการที่เครื่องมือชนิดนี้ใช้ได้ผลในบางครั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีหลายปัจจัย อาจเป็นไปได้ว่าเป็นความบังเอิญ มีสารที่ต้องการค้นหาเยอะมากในพื้นที่ หรือมีการข่าวแจ้งมาก่อน ทำให้มีความเบี่ยงเบนที่ตัวผู้ใช้ ส่งผลให้เครื่องมือชี้ไปในทิศทางที่การข่าวบอกตำแหน่งหรือสถานที่หรือบุคคลที่ต้องการตรวจหา
"ที่บอกว่าใช้พลังงานจากไฟฟ้าสถิตย์นั้น จริงๆ แล้วไฟฟ้าสถิตย์จากร่างกายคนไม่มีพลังงานมากพอที่จะบังคับเครื่องได้ และความไวของการตรวจจับที่บริษัทผู้ผลิตอ้างก็สูงเกินความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเครื่องนี้ใช้เทคโนโลยีของโลกที่มีอยู่ในปัจจุบัน โอกาสที่จะทำงานได้จริงมีน้อยมาก ที่ต้องบอกอย่างนี้เพราะเครื่องอาจทำงานได้จริงก็ได้ แต่คงใช้เทคโนโลยีที่ผมไม่รู้จัก หรือใช้เทคโนโลยีต่างดาว หรือไม่ใช่วิทยาศาสตร์"
ดร.กว้าน สีตะธนี จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค กล่าวว่า เครื่องมือที่เป็นปัญหา อ้างหลักการสนามแม่เหล็กซึ่งควบคุมยากมาก โอกาสที่จะตรวจจับได้จริงมีน้อย ส่วนที่ว่าใช้พลังงานจากไฟฟ้าสถิตย์ในตัวผู้ถือ ก็เป็นเรื่องยากเช่นกันที่จะส่งพลังงานไปให้ถึงเป้าหมาย ข้อมูลของผู้ผลิตและหลักการที่เขียนไว้กล่าวได้ว่าเป็นไปไม่ได้เลย
ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ กล่าวว่า เทคโนโลยีตรวจระเบิดที่คิดค้นได้ในประเทศไทยมี 3 รูปแบบคือ
1.ใช้ "นิวตรอน" ในการหาสารหรือวัตถุที่ซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ เพราะมีอำนาจทะลุทะลวงสูง แต่มีเงื่อนไขเรื่องเวลากับตัวสารที่ต้องการค้นหา ถ้าต้องใช้เวลาน้อย แต่ความไวสูง ค้นหาสสารที่ปริมาณน้อยๆ ได้ ก็จะมีราคาแพง
2.ใช้ "รังสีเอ็กซ์" หมายถึงเครื่องเอ็กซเรย์ต่างๆ เช่น ซีทีเอ็กซ์ 9000 วิธีนี้ก็ใช้ได้ผลดี แต่หากจะตรวจให้ได้ผลอย่างละเอียด ตัวเครื่องต้องมีขนาดใหญ่มาก ส่วนใหญ่ใช้อยู่กับที่ เช่น วางไว้ตามสนามบิน เป็นต้น
3.ใช้ "คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า" หลักการคือการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นตัวสารให้ส่งสัญญาณกลับมา แม้จะเป็นวิธีที่ดี แต่ต้องพัฒนาอีกมาก ขณะนี้ใช้ตรวจหาสารใต้พื้นดิน เพราะในสภาพแวดล้อมทั่วไปจะถูกรบกวนด้วยคลื่นวิทยุที่มีอยู่มากมายในอากาศ
"กล่าวโดยสรุปก็คือหลักการใช้งานตามที่กล่าวอ้างของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่กำลังมีปัญหานั้น ไม่ใช่หลักการทางฟิสิกส์ และไม่ใช่หลักการที่มีวิทยาศาสตร์รองรับ ส่วนที่อ้างว่าใช้ทฤษฎีแควนตัม ฟิสิกส์ ก็มีความเป็นไปได้ แต่ต้องเป็นอีก 50 ปีข้างหน้า เพราะทฤษฎีนี้แม้จะมีอยู่จริง แต่ก็เกี่ยวข้องกับพลังจิตในตัวมนุษย์ และทำได้ผลแค่ในห้องทดลอง" ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ระบุ
เมื่อนักฟิสิกส์ระดับประเทศประสานเสียงคีย์เดียวกันเช่นนี้ ก็เหลือแต่ฝ่ายการเมืองและฝ่ายความมั่นคงเท่านั้นว่าจะตัดสินใจอย่างไร!