ศธ.ยกเครื่องกฎกระทรวง สั่งนักเรียนชายเลิก "เกรียน"
กลายเป็นประเด็นฮอตฮิตรับ "วันเด็กแห่งชาติ" ประจำปี 2556 ไปในพริบตา เมื่อ "นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มอบให้สำนักงานปลัด ศธ.ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ "ทรงผม" นักเรียน และนักศึกษา โดยไฟเขียวให้นักเรียนชายไว้ "รองทรง" ได้ จากเดิมที่โรงเรียนส่วนใหญ่มักกำหนดให้นักเรียนชายต้องไว้ผม "เกรียน" ส่วนนักเรียนหญิงไว้ผมสั้น หรือยาวก็ได้ แต่ถ้ายาวต้องรวบให้เรียบร้อย
การที่นายพงศ์เทพมีนโยบายให้นักเรียนชายเลิกไว้ผมเกรียน และหันมาไว้ผมรองทรงได้ เพราะเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีนักเรียนชายในโรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ จ.สมุทรสาคร ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียนหญิงล้วน แต่เปลี่ยนมารับนักเรียนชายด้วย จึงได้เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แต่ กสม.ชี้แจงว่าเป็นอำนาจของโรงเรียน นักเรียนชายคนดังกล่าวจึงร้องไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งเรื่องไปยัง ศธ.จนเป็นที่มาของการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว
ทั้งนี้ หากไปพลิกดูกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับทรงผมนักเรียน และนักศึกษา จะมีอยู่ 2 ฉบับ คือกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ.2515) ออกตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน 2515 ที่กำหนดให้นักเรียนชายไว้ได้เฉพาะผมเกรียน ห้ามไว้รองทรง หนวด และเครา ส่วนนักเรียนหญิงให้ไว้ได้ทั้งสั้น หรือยาวก็ได้ แต่ถ้าไว้ผมยาวเลยต้นคอ ต้องมัดให้เรียบร้อย และห้ามใช้เครื่องสำอาง หรือของปลอมต่างๆ ในการเสริมสวย
ในขณะที่กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ให้ยกเลิกความในข้อ (1) ของข้อ 1 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ.2515) ซึ่งนายพงศ์เทพได้ส่งให้ราชบัณฑิตช่วยตีความ สรุปว่าให้นักเรียนชายไว้รองทรงได้ แต่ไว้หนวด ไว้เครา ไม่ได้ ส่วนนักเรียนหญิงยังคงให้ไว้ผมสั้น หรือผมยาวได้ แต่ต้องรวบให้เรียบร้อย
นายพงศ์เทพระบุว่า ถ้าตีความตามกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับแล้ว กฎกระทรวง พ.ศ.2515 นักเรียนชายต้องไว้ผมเกรียน แต่กฎกระทรวง พ.ศ.2518 ให้นักเรียนชายไว้รองทรงได้ ขณะที่ในทางปฏิบัติ โรงเรียนยังคงยึดติดกับการให้นักเรียนชายไว้ผมเกรียน ซึ่งไม่ถูกต้อง ส่วนนักเรียนหญิงนั้น กฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ กำหนดให้ไว้ผมสั้น หรือผมยาวได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของโรงเรียน เห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีเหตุผลเช่นกัน เพราะดุลยพินิจของโรงเรียนแต่ละแห่งแตกต่างกัน เพราะบางโรงเรียนบังคับให้นักเรียนหญิงตัดผมสั้นแค่ติ่งหู มุมปาก แต่บางโรงเรียนให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ ทั้งที่นักเรียนหญิงควรจะมีสิทธิที่จะตัดสินใจว่าจะเลือกไว้ผมสั้น หรือผมยาวได้ ฉะนั้น การไว้ผมของนักเรียนหญิงเองก็ควรอยู่บนแนวปฏิบัติเดียวกัน ฉะนั้น จะให้ ศธ.ทำข้อแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการไว้ผมยาวของนักเรียนหญิง อาทิ ถ้าไว้ผมยาวต้องรวบให้เรียบร้อย จากนั้นให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติเหมือนกัน
ล่าสุด ศธ.ได้เตรียมออกหนังสือเวียนแจ้งไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ ให้ถือปฏิบัติตามแนวทางของนายพงศ์เทพ เกี่ยวกับการไว้ผมของนักเรียนชาย และนักเรียนหญิง
อย่างไรก็ตาม หลังรัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีนโยบายดังกล่าว ปรากฎว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งเสียงสนับสนุน และเสียงคัดค้าน จากนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และนักวิชาการ โดยฝ่ายที่สนับสนุนก็เห็นควรจะ "ปลดล็อก" ทรงผมของนักเรียนได้แล้ว เพราะทรงผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับสติปัญญา
ส่วนฝ่ายที่คัดค้านก็เกรงว่านักเรียนจะมัวแต่สนใจเรื่องการทำผมตามแฟชั่น ทำไฮไลท์ ทำสีผม จนไม่เป็นอันเรียนหนังสือ รวมถึง ผู้บริหารโรงเรียนบางคนเกรงว่ากฎกระทรวงอาจจะเปิดช่องให้นักเรียนชายไว้หนวด ไว้เคราได้ ส่วนนักเรียนหญิงใช้เครื่องสำอาง และเสริมสวยได้ จนทำให้นักเรียนไม่อยู่ในกฎ ระเบียบ วินัยของโรงเรียน
แต่ฝ่ายสนับสนุนอย่าง "นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา" ปลัด ศธ.กลับมองว่าการให้เด็กๆ ไว้ผมสั้น เป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่เมื่อให้ไว้ยาวได้ ก็ไม่สามารถดัดผม ทำสี หรือใส่เจลให้ผมตั้งได้ โดยนักเรียนหญิงต้องรวบผมให้เรียบร้อย และนักเรียนชายต้องไม่ไว้ยาวจนปิดหน้าปิดตา
ด้านผู้อำนวยการโรงเรียนเทพศิรินทร์ "นายปรเมษฐ์ โมลี" เชื่อมั่นว่าเมื่อกฎกระทรวงเปิดช่องให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ นักเรียนคงไม่ทำทรงผมฮิปปี้ รุงรัง หรือทรงที่ไม่เรียบร้อยมาโรงเรียนแน่นอน เพราะทุกคนมีความรับผิดชอบ
รวมถึง "นายสมพงษ์ จิตระดับ" อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เห็นด้วยกับการปลดล็อกกฎไดโนเสาร์ เพราะกฎเกณฑ์ที่ผ่านมาขัดกับวิถีชีวิตวัยรุ่นในปัจจุบัน และจำกัดเด็กมากเกินไป จนเด็กรู้สึกต่อต้าน การปลดล็อกทรงผมจะทำให้เด็กมีอิสระในชีวิตมากขึ้น ไม่อยู่ในกรอบที่ตึงเกินไป แต่โรงเรียนควรส่งเสริมให้เด็กมีวินัย รู้จักดูแล ควบคุมตนเอง ตลอดจนใช้วิจารณญาณว่าเมื่ออยู่ในโรงเรียน ควรจะมีทรงผมแบบใด ไม่ใช่ทำทรงแฟชั่นมาเรียน
ขณะที่ฝ่ายคัดค้านอย่าง "นายอลงกรณ์ นิยะกิจ" รองผู้อำนวยการฝ่ายปกครอง โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ และหนึ่งในคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับแบบทรงผมของนักเรียนนักศึกษา บอกว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะทำให้แยกแยะระหว่างนักเรียน และบุคคลทั่วไปไม่ได้ รวมถึง การคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กด้วย ฉะนั้น อยากเสนอให้ทำประชาพิจารณ์ในเรื่องนี้กับบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ประชาชนทั่วไป 2.นักเรียน ครู และ 3.ผู้ปกครอง เพื่อดูว่าควรปรับปรุงกฎกระทรวงไปในทิศทางใด เพราะไม่ควรเปลี่ยนแปลงข้อบังคับเพื่อให้ประโยชน์กับเด็กบางกลุ่ม โดยที่เด็กอีก 4 ล้านกว่าคนได้ประโยชน์ด้วยหรือไม่ และหากออกระเบียบกว้างเกินไป อาจเป็นปัญหาระหว่างครูฝ่ายปกครองกับนักเรียน จึงอยากให้ปรับให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เช่น ห้ามแต่งหน้า ทาเล็บ ทำสีผม เป็นต้น
ส่วนอาจารย์ฝ่ายปกครอง โรงเรียนเทศบาล1 ทรงพลวิทยา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี "นายธนสิทธิ์ แอ่งสาย" เป็นอีกคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะมองว่าการให้นักเรียนไว้ผมสั้นไม่ได้ส่งผลกระทบกับเด็ก ทั้งยังทำให้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ แต่การไว้ผมยาว โดยเฉพาะนักเรียนหญิง จะทำให้เด็กเสียเวลากับการจัดแต่งทรงผม ที่สำคัญจะเป็นการเพิ่มความสวยให้เด็ก และเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงได้ง่ายขึ้น
แม้ ศธ.จะปรับแก้กฎกทรวงให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ แต่ปัญหาที่อาจจะเกิดตามมา คือนักเรียนชายที่เรียนวิชาทหาร จะไว้ผมยาวได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ "พล.ท.วิชิต ศรีประเสริฐ" ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.นรด.) ยืนยันว่าจะไม่ปรับกฎระเบียบตาม ศธ.เพราะกฎระเบียบของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน เพื่อฝึกระเบียบวินัยให้นักศึกษาวิชาทหาร ฉะนั้น ทุกคนที่สมัครเข้าเรียนต้องอยู่ในกฎระเบียบของทหาร และทหารทุกประเทศก็ไม่อนุญาตให้ไว้ผมยาว
นอกจากปัญหาที่ฝ่ายคัดค้านมองว่าอาจเกิดขึ้นภายหลัง ศธ.ให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ ทั้งๆ ที่การไว้ผมเกรียน หรือผมสั้น เป็นการแสดงสถานภาพ "นักเรียน" ฝ่ายที่คัดค้านยังหวั่นว่าต่อไปในอนาคต อาจลามไปถึงการเรียกร้องให้ยกเลิก "ชุดนักเรียน" ก็เป็นได้
หลังฟังความเห็นของผู้ใหญ่แล้ว คราวนี้ลองมาฟังเสียงของเด็กๆ ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกันบ้าง อย่าง "ด.ญ.ทัศศิตา แผ้วพาล" ชั้น ม.3 โรงเรียนเทศบาล 1 ทรงพลวิทยา จ.ราชบุรี บอกว่า ดีใจมากที่ไว้ผมยาวได้ มั่นใจมากขึ้น กล้าแสดงออก เพราะเดิมไว้ผมสั้นเสมอติ่งหู ซึ่งไม่เข้ากับหน้าตา และบุคลิกภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกันจากโรงเรียนเอกชนที่ไว้ผมยาวได้ ทำให้ไม่กล้าแสดงออก และถูกเพื่อนแซวอยู่บ่อยๆ จนกลายเป็นปมด้อย
ส่วน "น.ส.ภาวินี แจ่มจำรัส" ชั้น ม.6 โรงเรียนพุทธชินราชพิทยา จ.พิษณุโลก กล่าวว่า อึดอัดมาก เพราะตัดผมสั้นเสมอติ่งหูมาตั้งแต่ชั้น ม.1 ส่วนตัวเชื่อว่าการไว้ผมยาวไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียน
"น.ส.ชลดา สุขจิตต์มาลี" ชั้น ม.5 โรงเรียนสตรีวิทยา กรุงเทพฯ เป็นอีกคนที่เห็นด้วย และดีใจที่จะได้ไว้ผมยาว เพราะแม้จะอยู่มัธยมปลาย แต่โรงเรียนบังคับให้ไว้ผมสั้น การปลดล็อกทรงผมทำให้รู้สึกอิสระ และดูแลตัวเองได้ จากนี้จะไว้ผมยาว แต่จะรวบผมให้เรียบร้อยตามระเบียบใหม่แน่นอน
ด้านนักเรียนชาย "ด.ช.พชร อาสาชัย" ชั้น ม.3 โรงเรียนบุญวัฒนา จ.นครราชสีมา บอกว่าการยกเลิกการตัดผมเกรียน เป็นสิ่งที่ดี ทำให้ไว้ผมทรงที่เหมาะกับเครื่องแต่งกาย และดูดีกว่าผมไถเตียน เพราะเมื่อตัดผมใหม่ๆ มักถูกล้อ
หรือ "นายเสฏฐวุฒิ ตั้งสถิตพร" ชั้น ม.4 โรงเรียนหนองฉางวิทยา จ.อุทัยธานี และประธานสภานักเรียน ประจำปี 2556 กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าตัดผมทรงไหนก็คงไม่ทำให้นักเรียนเรียนดีขึ้น หรือแย่ลง ตนคงไม่คัดค้าน จริงๆ การไว้ผมทรงไหนควรให้เด็กตัดสินใจเอง เพราะบางคนหน้าตาดี ตัดผมสั้นเกรียนก็ดูไม่น่าเกลียด แต่สำหรับคนที่ตัดแล้วดูไม่ดี อาจทำร้ายจิตใจเด็ก เพียงแต่ต้องมีกฎระเบียบดูแลความเหมาะสม เรียบร้อย เพื่อไม่ให้ดูโตเกินวัย ส่วนจะให้ถึงขั้นทำสีผม หรือไว้ทรงอะไรก็ได้นั้น ไม่เห็นด้วย เพราะจะดูหนุ่มสาวเกินวัย และอยากให้ระวังว่าจะมีปัญหาชู้สาวเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจเกิดปัญหาท้อง แท้ง ทิ้ง หรือเกิดคุณแม่วัยใสเพิ่มขึ้น จึงอยากให้ผู้ใหญ่ป้องกันเรื่องนี้ด้วย
ได้ฟังเหตุผลของฝ่ายที่สนับสนุน และคัดค้านไปแล้ว ก็คงต้องหันหน้าเข้าหากัน เปิดอกพูดคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นระหว่าง ศธ.กับโรงเรียน โรงเรียนกับนักเรียน โรงเรียนกับผู้ปกครอง และผู้ปกครองกับนักเรียน เพราะแม้กฎระเบียบจะเปิดกว้างให้นักเรียนชายไว้รองทรงได้ ให้นักเรียนหญิงไว้ผมยาวได้ เพื่อให้เด็กๆ ไม่รู้สึกว่าถูกตีกรอบจนเกินไป...
เนื่องจากต้องเข้าใจว่า "วัยรุ่น" เป็นช่วงที่กำลังรักสวยรักงาม วิ่งตามกระแส ตามแฟชั่น ที่สำคัญเป็นช่วงที่เด็กต้องการอิสระ และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง
แต่ขณะเดียวกัน น้องๆ ก็ต้องเข้าใจสิ่งที่ผู้ใหญ่เป็นห่วง และกังวล ว่าหากปล่อยให้เด็กๆ ไว้ผมยาว ก็อาจทำให้น้องๆ เอาเวลาไปใส่ใจกับการแต่งตัวทำผมมากกว่าที่จะสนใจเรียนหนังสือ และเป็นห่วงว่าอาจเกิดปัญหาต่างๆ ที่คาดไม่ถึงตามมา อย่างปัญหาอาชญากรรม การล่อลวง หรือการล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ
ฉะนั้น การที่ ศธ.เปิดช่องให้นักเรียนชาย และนักเรียนหญิงไว้ผมยาวได้ ไม่ต้องตัด "เกรียน" หรือไว้สั้นเสมอ "ติ่งหู" ก็ถือว่า ศธ.ใจกว้าง และรับฟังเสียงของเยาวชนพอสมควร...
ขณะเดียวกันเมื่อน้องๆ ได้รับโอกาสนี้แล้ว ก็ต้องพิสูจน์ให้ผู้หลักผู้ใหญ่เห็นว่า ได้ใช้โอกาสเหล่านี้อย่างเหมาะสม และถูกกาลเทศะ!!
กฎระเบียบเกี่ยวกับทรงผมนักเรียน-นักศึกษา
กฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ.2515) ออกตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน 2515 อาศัยอำนาจตามความในข้อ 3 และข้อ 11 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ข้อ 1 การแต่งกาย และความประพฤติดังต่อไปนี้ถือว่าไม่เหมาะสมแก่สภาพนักเรียน ตามความในข้อ 4 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 (1) นักเรียนชายไว้ผมยาว โดยไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน 5 เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะไม่ตัดเกรียนชิดผิวหนัง หรือไว้หนวดเครา นักเรียนหญิงตัดผม หรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียน หรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้น ก็ให้รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย
กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ให้ยกเลิกความในข้อ (1) ของข้อ 1 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ.2515) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2515 และใช้ความต่อไปนี้แทน "(1) นักเรียนชายตัดผม หรือไว้ผมยาวจนด้านข้าง และด้านหลังยาวเลยตีนผม หรือไว้หนวด ไว้เครา นักเรียนหญิงตัดผม หรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียน หรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้น ก็ให้รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย"