หวั่นร่างกรอบเจรจาบเอฟทีเอ ไทย-อียู กระทบความมั่นคงด้านอาหาร
(กรุงเทพฯ/21 ม.ค.56) นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวว่า ภาคประชาสังคมที่ติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศกังวลต่อร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปที่เพิ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งที่ผ่าน ครม.เกือบ 2 เดือนแล้ว เพราะพบว่า เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชนในภาพรวมกับเขียนอย่างกว้างๆ ขณะที่เนื้อหาที่ภาคธุรกิจต้องการกับเขียนอย่างรัดกุม ดังนั้น ผลจากการรับฟังวันพุธนี้ ควรนำไปสู่การปรับปรุงร่างกรอบเจรจาก่อนส่งเข้าสู่การพิจารณารัฐสภา
"ในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ข้อ 5.11.1 ระบุว่า 'ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสอดคล้องกับระดับการคุ้มครองตามความตกลงขององค์การการค้าโลก และ/หรือความตกลงใด ๆ ที่ไทยเป็นภาคี' ซึ่งก่อนหน้านี้กรมเจรจาฯยอมรับเองว่า ที่เขียนเช่นนี้ อนุญาตให้เจรจาความตกลงที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ได้ แม้จะพยายามเขียนข้ออื่นๆให้เหมือนเป็น safeguard
แต่จากเอกสารที่ สำนักงาน อย.นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภา ระบุว่า "ผลกระทบที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม คือ การผูกขาดข้อมูลทางยาจะขัดขวางการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรของรัฐเพื่อสาธารณประโยชน์ (ซีแอล) มิให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้ เว้นแต่จะได้บัญญัติให้เป็นข้อยกเว้นในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการประกาศซีแอลเป็นการยกเว้นสิทธิตามสิทธิบัตรในระบบสิทธิบัตร แต่การผูกขาดข้อมูลทางยาเป็นมาตรการขัดขวางการขึ้นทะเบียนยาของผู้ผลิตรายอื่นที่ผลิตยาตามการประกาศซีแอล ซึ่งเป็นข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติยา"
ดังนั้น ในทางปฏิบัติจะไม่สามารถช่วยอะไรได้เลยตามที่ อย.ระบุไว้
"ดังนั้น หากประเทศไทยซึ่งจะทำการเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปถูกผูกมัดด้วยบทบัญญัติทั้งการขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร และการผูกขาดการขึ้นทะเบียนยา จะส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ภาครัฐอย่างรุนแรง ซึ่งหมายถึงผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนไทย และกระทบกับความมั่นคงทางยาของประเทศในที่สุด"
นี่คือ ข้อสรุปของ อย.ที่กรมเจรจาต้องไปนำปรับปรุง
ทางด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การเจรจาเอฟทีเอครั้งนี้ เป็นไปเพื่อการต่อสิทธิพิเศษทางการค้า (จีเอสพี) เท่านั้น โดยเอาประโยชน์ของทั้งประเทศเข้าแลก
"กรมเจรจาฯมักอ้างว่า กรอบการเจรจาต้องเขียนให้กว้าง ซึ่งไม่เป็นความจริง จะพบว่า การปกป้องผลประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ เช่น มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม กลับเขียนว่า ให้เท่ากับกฎหมายในประเทศเท่านั้น ซึ่งเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ แต่ทอดทิ้งประชาชน
การเจรจาเอฟทีเอที่ผ่านมา เมื่อภาคเกษตรไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ กลุ่มธุรกิจที่ต้องการผลักดันให้มีการเจรจา มักอ้างว่า ภาคที่แข่งขันไม่ได้ไม่ควรได้รับการปกป้อง แต่ภาคธุรกิจส่งออกที่พึ่งจีเอสพี ทั้งกับสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ กลับเรียกร้องการปกป้องจากรัฐบาล ว่า จะสู้คู่แข่งไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับสิทธิจีเอสพี ทั้งที่หากถูกตัดสิทธิจะเสียเปรียบคิดเป็นมูลค่า 80,000 ล้านบาทเท่านั้น"
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถียังกล่าวเพิ่มว่า ร่างกรอบเจรจาฯนี้ไม่ได้ใส่ใจต่อเกษตรที่จะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์แพง 3-4 เท่าตัว และนำไปสู่กระทบความมั่นคงด้านอาหาร หากรัฐบาลไปยอมขยายระยะเวลาการคุ้มครองพันธุ์พืชและผูกขาด ขณะที่เรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งประเทศไทยควรได้ประโยชน์กลับระบุให้เป็นแค่ความร่วมมือซึ่งไทยจะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่
ทางด้าน ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า การค้าเสรีจะทำให้สินค้าราคาถูกลง บริการดีขึ้น โฆษณาทำการตลาดได้เสรี หลักการนี้จึงควรใช้กับสินค้าที่มีประโยชน์กับมนุษย์เท่านั้น แต่เครื่องดื่มฆ่าคนไทยปีละ 26,000 คน ตกราวชั่วโมงละ 3 คน และยังทำลายครอบครัวเยาวชนอีกมากมาย เป้นสาเหตุของโรคมากกว่า 60 โรค ถ้าปล่อยให้ค้าเสรี จะกลายเป็น "การฆ่าเสรี" เสียมากกว่า ที่ผ่านมากรมเจรจาฯเปิดรับฟังแต่ไม่เคยใส่ใจเรื่องพิษภัยแอลกอฮอล์ ทำให้ร่างกรอบเจรจาฯไม่ได้วางแนวป้องกันดังกล่าวเลย
"รัฐบาลนี้เคยเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกจีนที่ไทยเมื่อเดือน ก.ค.55 โดยมีข้อสรุปตรงกันว่า สนับสนุนให้ถอนสินค้าเหล้า บุหรี่ ออกจากสินค้าปลอดภาษี เพราะสินค้าดังกล่าวทำร้ายสุขภาพ นั่นเป็นการแสดงความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาสังคม ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารโลกที่แนะนำว่า ประเทศใดควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มาก จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น เหตุใดรัฐบาลจึงละทิ้งความมุ่งมั่นดังกล่าวเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางการค้าเฉพาะหน้าเช่นนี้"
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ดีที่ในที่สุดกรมเจรจาฯยอมเปิดรับฟังและเผยแพร่ร่างกรอบเจรจาฯเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่รับฟังแล้วควรนำไปสู่การทบทวน ไม่ใช่เปิดฟังแบบพิธีกรรม ดังที่ผ่านมาเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องไม่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ ทั้งนี้ประสบการณ์การเจรจาของอินเดียพิสูจน์การยืนหยัดในเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้การเจรจาเอฟทีเอเดินหน้าไม่ได้ ตามที่กรมเจรจาฯและภาคธุรกิจกล่าวอ้าง
ทางด้านนายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์กล่าวว่า ประเด็นการลงทุน ข้อ 5.9.5 ที่เปิดโอกาสให้สามารถใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นทางเลือกหนึ่งในการระงับข้อพิพาท เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าห่วงใย เนื้อหาส่วนนี้ เรียกชื่อทางการว่า กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor State Dispute Settlement – ISDS) ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ต้องการยกเว้น ไม่เจรจาในการเจรจา TPP ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากประสบการณ์ของประเทศในความตกลง NAFTA ที่ถูกนักลงทุนต่างชาติใช้กลไกดังกล่าวในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและล้มนโยบายสาธารณะมานักต่อนักแล้ว แต่ในร่างกรอบเจรจาฯเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปกลับเปิดทางให้
"จากการเสียค่าโง่อยู่บ่อยครั้ง ทำให้คณะรัฐมนตรีเคยมีมติ ครม.เมื่อปลายปี 2552 "ให้การสัญญาทุกประเภทที่หน่วยงานของรัฐทำกับเอกชนในไทยหรือต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ ไม่ควรเขียนผูกมัดในสัญญาให้มอบข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด แต่หากมีปัญหาหรือความจำเป็น หรือเป็นข้อเรียกร้องของคู่สัญญาอีกฝ่ายที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเป็นราย ๆ ไป" โดยเหตุผลที่สำคัญคือ "เมื่อมีเหตุต้องดำเนินการตามวิธีการอนุญาโตตุลาการแล้ว ส่วนใหญ่หน่วยงานของรัฐจะเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือเป็นฝ่ายที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นภาระด้านงบประมาณแผ่นดิน จึงเห็นควรให้ปรับปรุง" ซึ่งมติครม.นี้ยังถือปฏิบัติอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่การทำเอฟทีเอที่เปิดช่องเช่นนี้เท่ากับเป็นการตีเช็คเปล่าให้เกิดค่าโง่เรื่อยๆ ซึ่งจะกระทบทั้งงบประมาณแผ่นดินและการทำนโยบายสาธารณะของประเทศ"