7 ปี ยังไม่คืบ พิพาทที่ดินทำกินเทือกเขาบูโด
กรรมการสิทธิมนุษยชขนแห่งชาติ ลงพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี รับปากนำข้อมูลที่ได้รับจากชาวบ้านไปพิจารณาอย่างเร่งด่วน พร้อมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไข
เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางอังคณา นีละไพจิตร นางจิราพร บุนนาค นางสาวพรเพ็ญ เกียตริขจร นายดอรอแม ดือราแม อนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมประชุมกับประชาชนในพื้นที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ณ ศูนย์บริการเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงในกรณีประชาชนร้องเรียนว่า ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านสิทธิชุมชน และที่ดินทำกิน
สืบเนื่องจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ และการประกาศพระราชกฤษฎีกาอุทยานแห่งชาติ เทือกเขาบูโด- สุไหงปาดี มีผลกระทบต่อที่ทำกินของชาวบ้านครอบคลุม พื้นที่ ๘๓ หมู่บ้าน ๒๕ ตำบลในเขต ๙ อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินและไม่สามารถเข้าไปตัดโค่นต้นยางพาราที่หมดอายุเพื่อปลูกทดแทนใหม่
ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๑ เห็นชอบแนวทางการตัดโค่นต้นยางพาราที่หมดอายุเพื่อปลูกทดแทนใหม่ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ ๔ ของพื้นที่เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาเอกสารสิทธิของชาวบ้านที่เดือดร้อน แต่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชดำเนินการล่าช้าในการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
นายดอรอแม ดือราแม อนุกรรมการฯ และปราชญ์ชาวบ้าน ได้นำเสนอข้อมูลรากเหง้าปัญหาของสิทธิในที่ดินทำกินของชาวบ้านว่า “ พื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี ตามหลักฐานของกระทรวงมหาดไทย ชาวบ้านเข้าไปทำกินมาก่อน ๓๐๐ กว่าปีแล้ว ก่อนมีประกาศเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ทางการได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎร ซึ่งถือครองสิทธิ์ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี โดย ศอ.บต.ได้มอบให้อุทยานแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินการสำรวจตรวจสอบเอกสารสิทธิการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) และพิสูจน์สิทธิ์ หากผู้ครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติฯ มีเอกสารสิทธิ์ที่ชอบด้วยกฎหมายก็สามารถตัดโค่นต้นยางพาราที่หมดอายุ และปลูกทดแทนได้ แต่วันนี้การดำเนินการดังกล่าวมีความล่าช้ามาก”
นายอาหะมะ (ผู้ร้อง) ได้กล่าวว่า การแก้ปัญหานั้นรัฐให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ แต่วันนี้ล่วงเลยมาถึง ๗ ปีแล้ว ประชาชนยังไม่เห็นความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด พื้นที่ของอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ต้องการให้เป็นพื้นที่นำร่องของการแก้ปัญหา และจะส่งผลให้พื้นที่ของ ๙ อำเภอได้รับการแก้ปัญหาด้วย หากรัฐแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องที่ดินทำกินให้ประชาชนได้ รัฐจะได้รับความมั่นใจจากประชาชนมากขึ้นและต้องการนำเสนอปัญหาให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ช่วยเร่งดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของชาวบ้าน ณ ที่นี้เสบียงอาหารของชาวบ้านอยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติที่ประกาศทับสิทธิ์ของชาวบ้าน แต่เมื่อรัฐมาปิดกั้นประชาชนก็เดือดร้อน
ต่อจากนั้น ศ.ดร.อมรา พร้อมคณะได้เดินทางเข้าเยี่ยมประชาชนผู้เดือดร้อน ณ วัดเชิงเขา หมู่ ๔ ตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ได้รับทราบความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยแก้ปัญหาในเรื่องที่ดินทำกิน และได้นำคณะอนุกรรมการฯ ศึกษาพื้นที่เชิงเขาบูโด -สุไหงปาดี ที่มีสวนยางพาราของชาวบ้านที่ปลูกไว้เป็นจำนวนมาก
ศ.ดร.อมรา กล่าวกับประชาชนที่มาร้องเรียนว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชขนแห่งชาติ จะนำข้อเท็จจริง และข้อมูลที่ได้รับจากชาวบ้านไปพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพื่อแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา และขอให้เครือข่ายในชุมชนร่วมกันจัดทำข้อมูล เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิในเบื้องต้น และจะเร่งนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้สำนักนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบติดตามเร่งรัดให้หน่วยงานภาครัฐปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรี ให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านสิทธิในที่ดินทำกินอย่างเร่งด่วน และจะจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้รัฐบาลแก้ไขเรื่องสิทธิที่ดินทำกินและสิทธิชุมชนในภาพรวมต่อไป อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการฯ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าร่วมประชุมเพื่อสอบถามข้อมูลรวมถึงความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๖