เมื่อปฏิบัติการทางทหารถึงทางตัน จับตา "นครปัตตานี-ม.21" ดับไฟใต้
นาซือเราะ เจะฮะ
สุเมธ ปานเพชร / ปกรณ์ พึ่งเนตร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ซึ่งมีกองทัพบกเป็นหน่วยนำ จะยืนยันว่าสถิติการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดปี 2552 ลดปริมาณลงอย่างน่าพอใจ แต่จากข้อมูลตัวเลขที่เก็บรวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) กลับพบว่าภาพรวมความรุนแรงไม่ได้ลดลงจริงดังที่กล่าวอ้าง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถิติการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในปี 2551 จะพบว่ามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 1,370 ครั้ง อัตราการสูญเสีย 605 ราย ขณะที่ในปี 2552 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 1,347 ครั้ง ลดลงจากปี 2551 เพียง 23 เหตุการณ์ หรือคิดเป็น 1% เศษ และมีอัตราการสูญเสีย 606 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ประมาณ 1.7%
นอกจากนั้น ตลอด 6 ปีไฟใต้ (2547-2552) ยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นทั้งสิ้น 13,058 ครั้ง แยกเป็นลอบยิง 5,494 ครั้ง วางระเบิด 1,716 ครั้ง ที่เหลือเป็นวางเพลิงและเหตุป่วนอื่นๆ มีผู้เสียชีวิตรวม 3,850 ราย แยกเป็นประชาชน 3,365 ราย ทหาร 248 นาย ตำรวจ 237 นาย มีเด็กกำพร้ามากกว่า 5,000 คน หญิงหม้ายมากกว่า 1,600 คน โดยปี 2550 เป็นที่เกิดเหตุรุนแรงมากที่สุดคือ 2,475 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1,015 ราย เป็นประชาชน 888 ราย ทหาร 83 นาย ตำรวจ 44 นาย
ที่สำคัญปี 2552 ยังเกิดเหตุระเบิดในลักษณะ "คาร์บอมบ์" ถึง 6 ครั้ง ขณะที่ในรอบ 5 ปีก่อนหน้านั้นมีคาร์บอมบ์เกิดขึ้น 6 ครั้ง โดยรัฐบาลต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว 18 ครั้ง
จะเห็นได้ว่าสถิติการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในปี 2551 ลดลงจากปี 2550 ซึ่งมีเหตุรุนแรงสูงที่สุดราว 44% จากนั้นในปี 2552 ปริมาณเหตุรุนแรงเริ่มคงที่ คือลดลงเพียง 1% เศษ นั่นหมายความว่าความรุนแรงในพื้นที่เริ่มทรงตัว และปฏิบัติการทางทหารอาจเดินถึงทางตัน คือลดปริมาณความรุนแรงได้มากที่สุดเพียงเท่านี้ หากจะให้สถานการณ์ดีขึ้นในปี 2553 และปีต่อๆ ไป อาจต้องใช้วิธีอื่น
ทหารพร้อมเปิดเวทีเจรจา
พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) กล่าวว่า ภาพรวมของสถานการณ์จากปลายปีที่แล้วถึงช่วงต้นปีนี้ดูดีขึ้น เพราะทุกคนทุกฝ่ายต้องการให้เกิดความสงบ ขณะที่ทหารก็มีความจริงใจต่อพี่น้องประชาชน ยืนยันว่าทุกวันนี้ความหวาดระแวงลดลงมาก ที่สำคัญฝ่ายความมั่นคงพร้อมพูดคุยกับทุกคน รวมทั้งผู้ที่ก่อเหตุรุนแรงด้วย
“ผมเชื่อว่าทุกคนรักพื้นที่นี้ รวมทั้งผู้ที่พยายามก่อเหตุ เพียงแต่เขาอาจจะมีวิธีคิดหรืออุดมการณ์ที่ต่างออกไป ฉะนั้นทางกองทัพพร้อมที่จะพูดคุย เบื้องต้นได้ลงไปคุยกับคนที่อยู่ในเรือนจำ (ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ถูกจับ) เข้าไปดูแลช่วยเหลือ ไม่มีเขา ไม่มีเรา แต่อยู่กันด้วยความรัก” แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว
”งานการเมือง”คือจุดเปลี่ยน
ด้านความเห็นของนักวิชาการ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) กล่าวว่า แนวโน้มของสถานการณ์ในปี 2553 ยังมองไม่ออก และยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าดีขึ้น แต่ยอมรับว่าการจัดการของฝ่ายทหารและภาครัฐทั้งหมดพัฒนาขึ้นกว่าเดิม
"เหตุรุนแรงที่ดูนิ่งในระยะนี้ อาจมาจากทหารหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจัดระบบการควบคุมพื้นที่ได้มาก ทั้งตรวจจับ เฝ้าระวัง ทำให้สถานการณ์ดูทรงๆ ส่วนจะปะทุรุนแรงขึ้นอีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับงานมวลชนของรัฐว่าได้ผลหรือเปล่า เพราะงานมวลชนหรืองานการเมืองคือกุญแจสำคัญในการคลี่คลายสถานการณ์” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
สอดคล้องกับ นางละม้าย มนะการ คณะทำงานภาคประชาสังคมในพื้นที่ ซึ่งบอกว่า การใช้อาวุธในการปราบปรามไม่ใช่ทางออกอย่างแน่นอน และเสียงของชาวบ้านก็บอกออกมาแล้ว ทำให้ช่วงหลังๆ ทหารพยายามปรับตัวมากขึ้น ใช้ยุทธวิธีที่ดีขึ้น เน้นงานพัฒนาโดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง
แก้ปัญหาปากท้องยุติความรุนแรง
ผศ.ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี อดีตที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในยุคแรกๆ กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ต้องทำหลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาความปลอดภัยในระดับชุมชน ด้วยการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของคนในชุมชน และให้บทบาทชุมชนได้ดูแลตัวเอง สิ่งสำคัญคือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และรัฐกับประชาชนต้องมองปัญหาให้ตรงกันเสียก่อน
“การแก้ปัญหาปากท้องให้ได้จะนำไปสู่ชัยชนะ ยุติปัญหาความไม่สงบได้ แนวทางนี้พิสูจน์มาแล้วทั่วโลก พร้อมกันนั้นก็ต้องสร้างวิสัยทัศน์ทดแทน เรียกว่าการต่อสู้ทางความคิด จะเห็นว่าฝ่ายวิชาการพยายามทำอยู่ ช่วง 2-3 เดือนมานี้มีเวทีเยอะแยะไปหมด คนนอกอาจไม่เข้าใจว่านักวิชาการทำอะไร เอาแต่พูดหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วเราพยายามต่อสู้ในสิ่งที่เราเรียกว่าการต่อสู้ทางความคิด”
จับกระแส”นครปัตตานี”
การต่อสู้ทางความคิดประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2552 คือข้อเสนอว่าด้วย “นครปัตตานี” ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย และอดีตนายกรัฐมนตรี
แม้แนวคิดเรื่อง “นครปัตตานี” ของ พล.อ.ชวลิต จะยังไม่มีรายละเอียดใดๆ ชัดเจน นอกจากการจัดรูปการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษสำหรับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอาจรวม 4 อำเภอของ จ.สงขลา แต่แนวคิดดังกล่าวก็ได้รับการขานรับอย่างกว้างขวางจากภาคส่วนต่างๆ
วันที่ 10 ธ.ค.2552 เครือข่ายภาคประชาสังคม 23 องค์กร เครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะที่ ม.อ.ปัตตานี เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นแบบใหม่ที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมของจังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจากเวทีใหญ่ที่ ม.อ.ปัตตานี แล้ว เครือข่ายภาคประชาสังคมยังเดินหน้าจัดเวทีสาธารณะขนาดย่อยใน 33 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลา เพื่อสร้างกระแสในเรื่องนี้ ก่อนยกร่างกฎหมายเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภา
ผศ.ปิยะ มองว่า การจุดกระแสเรื่องนครปัตตานีเป็นสิทธิของประชาชนที่จะคิดและเคลื่อนไหวได้ แม้สุดท้ายจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ภาครัฐต้องเคารพกระบวนการในสังคมเสรีประชาธิปไตย
“ผมคิดว่ากระบวนการเสรีประชาธิปไตยจะเป็นตัวคลี่คลายปัญหาหรือเป็นทางออกที่ดีของปัญหาได้ เพราะทุกคนล้วนต้องการสันติสุข” ผศ.ปิยะ กล่าว
ปชป.ชูมาตรา 21 ดับไฟใต้
อย่างไรก็ดี แนวคิดเรื่อง “นครปัตตานี” ถูกวิจารณ์จากหลายฝ่ายเช่นกันว่าเป็นเพียงการจุดพลุเพื่อสร้างกระแสทางการเมืองของ พล.อ.ชวลิต ที่เพิ่งย้ายชายคาไปเข้าพรรคเพื่อไทยเท่านั้น
โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำรัฐบาลชุดปัจจุบัน ปฏิเสธแนวทางนี้อย่างสิ้นเชิง และเห็นว่าแนวทางที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่คือทุ่มงบพัฒนาควบคู่กับการใช้กลไกมาตรา 21 ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง จะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่ได้ดีกว่า
นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สงขลา แม่ทัพภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายความมั่นคงน่าจะมาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ขณะที่การจัดงบประมาณก็เริ่มทุ่มไปที่งานพัฒนามากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางที่ถูกต้อง ฉะนั้นจุดเปลี่ยนของปัญหาภาคใต้จึงอยู่ที่การลดความหวาดระแวงของประชาชนที่มีต่อรัฐให้ได้มากที่สุด
“เริ่มจากกระบวนการยุติธรรมต้องไม่ไปสร้างเงื่อนไขความหวาดระแวง ต้องเป็นที่พึ่งอันมั่นคงให้กับประชาชน การจับกุมแบบเหวี่ยงแหหรือจับแพะต้องเลิก เพราะที่ผ่านมาคดีความมั่นคงที่ถูกนำขึ้นสู่ศาล ปรากฏว่ายกฟ้องถึง 40% จุดนี้ต้องรีบแก้ พร้อมๆ กับการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยากลุ่มแม่หม้ายกับเด็กกำพร้าในฐานะผู้สูญเสียโดยตรงจากเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมารัฐละเลยมาตลอด”
นอกจากกระบวนการยุติธรรมปกติแล้ว ยังต้องมีช่องทางพิเศษเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาด้วย และช่องทางนั้นก็คือ มาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
ทั้งนี้ สาระของมาตรา 21 ก็คือ การเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่กลับใจเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน หรือเป็นบุคคลที่หลงผิด กระทำความผิดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พนักงานสอบสวนสามารถทำความเห็นเสนอไปยัง ผอ.รมน.เพื่อพิจารณา หาก ผอ.รมน.เห็นชอบด้วย ก็ให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้บุคคลผู้นั้นเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนด้วยความยินยอม และจะไม่ถูกดำเนินคดีอาญา
นายนิพนธ์ กล่าวว่า หากนำช่องทางตามมาตรา 21 มาใช้อย่างเหมาะสม จะช่วยลดความหวาดระแวงที่ประชาชนมีต่อกลไกรัฐได้มาก ฉะนั้นรัฐบาลต้องรีบดำเนินการ โดยเฉพาะเร่งกำหนดลักษณะคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาจะสามารถเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ได้
“รัฐต้องไม่มองคนเหล่านี้เป็นอาชญากร เพราะเขามีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากรัฐ เพียงแต่ต้องกำหนดลักษณะคดีให้ชัดเจนว่าคดีลักษณะไหนเข้าข่าย คดีลักษณะไหนไม่เข้าข่าย โดย กอ.รมน.และ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ต้องรีบดำเนินการ เพราะนายกฯก็มอบหมายไปตั้งนานแล้ว ผมคิดว่าหากทำตรงนี้ได้ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งนครปัตตานี” ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ระบุ และว่า
“ผมคิดว่าในระยะต่อจากนี้ หากใช้กลไกตามมาตรา 21 เพื่อคลี่คลายปัญหาด้านความมั่นคง ขณะเดียวกัน ศอ.บต.ก็ดูแลเรื่องงานพัฒนา ซึ่ง ศอ.บต.ตามกฎหมายใหม่มีโครงสร้างองค์กรที่สามารถของบประมาณเองได้ หากสองขาเดินคู่กันไปอย่างนี้ คือความมั่นคงกับงานพัฒนา ไฟใต้จะดับได้อย่างแน่นอน”
--------------------------------------------------------
ภาพประกอบ : 1) ผศ.ปิยะ กิจถาวร 2) พลโทพิเชษฐ์ วิสัยจร 3) นายนิพนธ์ บุญญามณี และ 4) ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
หมายเหตุ :
- เนื้อหาส่วนที่เป็นความเห็นของนักวิชาการ เก็บความและสัมภาษณ์จากงานประชุมภาคประชาสังคมที่จัดโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2553
- บางส่วนของรายงานพิเศษชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันจันทร์ที่ 25 ม.ค.2553