สถาบันอาหารเผยเเนวโน้มดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ อาหารไทย
สถาบันอาหารชี้ดัชนีเชื่อมั่นอาหารไทยมีทิศทางดีขึ้น สั่งจับตามาตรการขึ้นค่าเเรง 300 บ.ทำธุรกิจฝืด จี้รัฐผลักดันนโยบายช่วยเหลือ-คลอดกฎคุมเเรงงานต่างด้าวทำงานในไทย
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โดยศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ได้เผยแพร่ดัชนีความเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทย หรือ CEOs Food Index โดยการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ที่เป็นสมาชิกของสถาบันอาหารจำนวน 100 ราย ในทุกกลุ่มผู้ผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อบริโภคในประเทศ และเพื่อการส่งออก พบว่าแนวโน้มระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2556 ดัชนีความเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมอยู่ที่ระดับ 55.8 สะท้อนภาพว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจโดยรวมจะอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น โดยองค์ประกอบดัชนีส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 50.0 โดยเฉพาะยอดคำสั่งซื้อโดยรวม และยอดขายโดยรวม ที่มีผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 60.0 และ 62.5 มีความเห็นว่าจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 65.0 เห็นว่าต้นทุนวัตถุดิบจะปรับเพิ่มสูงขึ้นอีก ดังนั้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ผู้ประกอบการร้อยละ 20.0 อาจปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง โดยมีผู้ประกอบการร้อยละ 73.8 คาดว่าจะยังคงตรึงราคาเดิมไว้
เมื่อจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม ดัชนีความเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรม ในกลุ่มสินค้าที่สำรวจส่วนใหญ่ มีค่าอยู่เหนือระดับ 50.0 แสดงว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะดีขึ้น ยกเว้น กลุ่มข้าวและแป้งข้าว และผักผลไม้ที่ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะแย่ลง ขณะที่การจำแนกตามขนาดธุรกิจ พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีค่าดัชนีอยู่เหนือระดับ 50.0 แสดงถึงความเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะดีขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจขนาดกลางมีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะทรงตัว (ระดับ 50.0) และเมื่อจำแนกตามการส่งออก ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่เน้นตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศเป็นหลัก มีค่าดัชนีเท่ากับ 58.3 และ 54.3 แสดงว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าภาวะอุตสาหกรรมจะมีทิศทางที่ดี
สำหรับข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ มีผู้ตอบแบบสำรวจในภาคอุตสาหกรรมอาหารร้อยละ 82.5 เห็นว่าข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ คือการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงาน รองลงมาร้อยละ 48.8 คือการขาดแคลนวัตถุดิบ และอันดับสามร้อยละ 47.5 คือการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน
ส่วนปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการการแก้ไข คือปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญ การขาดแคลนแรงงานในกลุ่มสินค้าเครื่องปรุงรส และราคาวัตถุดิบปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องปรุงรส และแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะว่า ภาครัฐควรกำหนดมาตรการที่ชัดเจนเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นค่าจ้างแรงงาน 300 บาททั่วประเทศ และภาครัฐควรกำหนดกฎระเบียบที่ชัดเจนเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่รับเข้ามาทำงานในไทย เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อภาคธุรกิจให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้