“หมอพรทิพย์” ย้ำ “จีที 200” มีดีกว่าไม่มี ท้าคนโจมตีลงพื้นที่พร้อมทีมนิติวิทย์
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม คือบุคคลที่เกี่ยวพันกับเครื่องตรวจสารระเบิด จีที 200 โดยตรง เธอยืนยันผ่านข้อเขียนของเธอเองถึงความจำเป็นของเครื่องมือชนิดนี้ ท่ามกลางกระแสเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้จัดทดสอบประสิทธิภาพอย่างเป็นทางการ เพราะเชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ลวงโลก
“คุณหญิงหมอ” เขียนคอลัมน์ชื่อ “เลื้อยไปเรื่อย” ตีพิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 912, 914 และ 916 ช่วงเดือน พ.ย.ถึง ธ.ค.ปีที่แล้ว ตอกย้ำประสิทธิภาพของเครื่อง จีที 200 ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคม นักวิทยาศาสตร์ และชุมชนอินเทอร์เน็ตวิพากษ์วิจารณ์เครื่องมือตัวนี้พร้อมตั้งคำถามว่ามีความแม่นยำขนาดไหน เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้ตรวจหาวัตถุระเบิดพลาดถึง 2 ครั้งติดๆ กันจนเกิดระเบิดขึ้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2552 และกลางตลาดในเขตเทศบาลนครยะลา เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ปีเดียวกัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
ความผิดพลาดที่ว่านี้ยังไม่รวมถึงกรณีที่บางฝ่ายตั้งคำถามว่าความไม่แม่นยำในการตรวจอาจทำให้สุจริตชนต้องสูญสิ้นอิสรภาพ เพราะเครื่องมือชี้ว่าร่างกายปนเปื้อนสารระเบิด ทั้งที่จริงๆ ไม่มีการปนเปื้อน
อย่างไรก็ดี แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ออกมาตอบโต้เสียงวิจารณ์อย่างแข็งขัน
ในคอลัมน์ “เลื้อยไปเรื่อย” ของคุณหญิงหมอ ตีพิมพ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ฉบับที่ 912 หัวเรื่องว่า “วิทยาศาสตร์ไม่เอียง แต่คนเอียง” เขียนถึงเครื่องมือ จีที 200 ตอนหนึ่งว่า
“...พร้อมๆ กันก็มีข่าวเรื่องการใช้เครื่องมือ จีที 200 ตรวจไม่พบระเบิด ทั้งๆ ที่มีการวางระเบิดไว้ ชาวบ้านจึงถูกระเบิดเจ็บระนาว มีการลงข่าวว่าเครื่องมือนี้ใช้ไม่ได้ ผู้คนเริ่มสับสนว่าตกลงเครื่องมือนี้ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้กันแน่ ซึ่งหมอก็ถูกเชิญให้ไปพูดคุยเรื่องนี้ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (จัดโดยโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 พ.ย.2551) มีคุณอังคณา นีละไพจิตร (ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ) มีนักศึกษาปริญญาเอกคนหนึ่ง ซึ่งพยายามนำเสนอข้อมูลว่ามีบทความหรือความเห็นในเชิงการตำหนิคุณภาพของเครื่องมือนี้
คุณอังคณาฯ เองก็เปิดประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าตรวจค้น โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ใช้เครื่องมือนี้ พอเครื่องมือชี้ที่ใคร ทหารก็เอาตัวไปเข้าค่ายอบรม ฟังแล้วรู้สึกได้ว่าทุกคนพูดแต่ในจุดของตัวเอง ซึ่งหมอฟังแล้วยังอยากเชิญคนพูดให้ลงไปสัมผัสหรือประกบการทำงานกับทีมงานของหมอด้วยตัวเอง แทนที่จะพูดจากการ 'ฟังเขาว่ามา'
ในมุมของนักวิทยาศาสตร์ก็มักจะไม่เชื่อไว้ก่อน เพราะฟังแล้วดูหลักการไม่ชัดเจน ซึ่งเครื่องมือจีที 200 นี้ หมอเองฟังหลักการแล้วดูไม่เป็นวิทยาศาสตร์นัก แต่จากการใช้ปฏิบัติงาน ทีมงานของหมอใช้งานได้แม่นยำ เราจึงใช้เป็นเพียงเครื่องมือนำทางเท่านั้น ตราบใดที่ยังไม่มีวิธีการหรือเครื่องมือที่ดีและสะดวกกว่านี้
หมอได้อธิบายให้ที่ประชุมฟังว่า เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสารระเบิด มีทั้งการตรวจแบบเบื้องต้น (Presumptive) และตรวจยืนยัน (Confirmative) การตรวจมีลักษณะหลากหลาย เช่น ตรวจหาปริมาณ (Quantitative) ตรวจหาคุณสมบัติหรือคุณภาพ (Qualitative) เครื่องมือบางอย่างมีความเฉพาะ (Specific) แต่ความไว (Sensitivity) ไม่แน่นอน รวมทั้งความแม่นยำ (Accuracy)
เครื่องมือ จีที 200 มีความไว ตรวจชนิดของสสารได้ แต่ไม่แม่นยำ เพราะมีปัจจัยตัวแปรที่คนใช้เครื่องมือพอสมควร จึงไม่ควรนำมาเป็นเครื่องมือพิสูจน์ทราบเพื่อดำเนินคดี แต่ต้องใช้เครื่องมืออื่นตรวจตามเพื่อยืนยันอีกครั้ง เช่น เครื่องไฟโด้ ไอออนสแกน หรือเครื่องจีซีเอ็มเอส
หมอสนใจว่าเจตนาของคนที่ร่วมเสวนาคิดอะไร โดยเฉพาะเรื่องเครื่องมือจีที 200 นี้ หมอเห็นพูดบ่อยมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ฟังคนอื่นมาทั้งนั้น มีการพูดกันปากต่อปากถึงขนาดลือว่าทหารสั่งให้คนถือเครื่องจีที 200 บังคับให้ชี้คนที่เขาสงสัยได้ รวมทั้งกลุ่มทนายความที่พากันสนับสนุนลูกความให้สู้คดี ทั้งๆ ที่ผลการตรวจดีเอ็นเอ หรือตรวจสารระเบิดด้วยเครื่องไอออนสแกนนั้นไม่ผิดพลาด
เครื่องมือวิทยาศาสตร์ชิ้นนี้ อย่างไรเสียก็ให้ประโยชน์ในการตรวจค้นมากกว่าการฟังคำคน ที่สำคัญทำให้พิสูจน์ทราบว่าคนที่อยู่เบื้องหลังการสั่งการนั้น เขาไม่เคยใช้มือของตัวเองสัมผัสจับต้อง แต่จ้างวานให้วัยรุ่นเป็นผู้ทำ ทำไมจึงไม่มีกลุ่มเอ็นจีโอออกมาช่วยกระชากหน้ากากผู้อยู่เบื้องหลัง...”
จากนั้นในคอลัมน์ชื่อเดียวกัน ตีพิมพ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ฉบับที่ 914 จั่วหัวว่า “อย่ายึดติด” แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ก็เขียนถึงเครื่องจีที 200 อีกครั้ง
“...อีกเรื่องที่พูดกันมากเหลือเกินคือเครื่องจีที 200 ที่มีคนฉวยโอกาสพยายามให้ยกเลิกการใช้ อ้างว่าไม่มีประสิทธิภาพ แต่ทีมงานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ใช้เครื่องนี้ได้แม่นยำมาก เพราะในการตรวจพิสูจน์หมอใช้เครื่องมือหลายชิ้นช่วยกัน ตั้งแต่จีที 200 เครื่องไฟโด้ และไอออนสแกน
หมออธิบายให้นักสิทธิมนุษยชนหลายครั้งว่า การตรวจทำอย่างไร ก็ดูเหมือนแผ่นเสียงจะตกร่อง เวลาอยู่ต่อหน้าหมอ ไม่พูดไม่ถาม แต่ลับหลังก็พูดให้ร้ายแบบเดิม การปิดความคิดเช่นนี้ น่าจะไม่ใช่คุณสมบัติที่ดีของนักสิทธิมนุษยชนที่ใช้เรียกอยู่ ควรทำงานให้คุ้มค่างานที่รับผิดชอบ ไม่ใช่เลือกทำสิ่งที่ตัวเองได้ประโยชน์ หัวโขนนั้นใช้หลอกผู้คนได้ก็เวลาแสดงบนเวที ตัวจริงคงปกปิดใครไม่ได้นาน”
ส่วนในคอลัมน์เลื้อยไปเรื่อยเช่นกัน แต่เป็นฉบับที่ 916 ชื่อเรื่องว่า “ระเบิดต้อนรับ” คุณหญิงหมอพูดถึง จีที 200 โดยโยงกับเหตุระเบิดต้อนรับนายกฯไทยและนายกฯมาเลย์ ที่ลงพื้นที่ชายแดนใต้ร่วมกันเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2552
“ช่วงที่ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ และนายกฯ มาเลเซีย ลงปฏิบัติภารกิจชายแดนใต้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา กลุ่มก่อเหตุร้ายได้แสดงพลังในการวางระเบิดอย่างรุนแรง
เริ่มจากกลางคืนก่อนกำหนดนายกฯ เดินทางเข้าพื้นที่ คนร้ายวางระเบิดที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทหารได้รับบาดเจ็บ รุ่งเช้าเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบแล้วสันนิษฐานว่าคนร้ายน่าจะจุดชนวนมาจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านซึ่งอยู่ใกล้กันมาก
ต่อมาตอนสายก็มีระเบิดที่อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ลักษณะการก่อเหตุมีการปิดป้ายผ้าว่ารัฐปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย จุดประสงค์เพื่อต้องการล่อเป้าให้ทหารเข้าไปปลดป้าย จากนั้นก็ได้เกิดระเบิดขึ้น เนื่องจากมีการจุดชนวนโดยการลากเส้นเอ็นเชื่อมระเบิดกับป้ายผ้าไว้ พอทหารเดินสะดุดเส้นเอ็นก็เกิดระเบิดขึ้น มีทหารนาวิกโยธินได้รับบาดเจ็บ พร้อมๆ กันก็มีการติดป้ายแบบเดียวกันที่หลายอำเภอในปัตตานี
หลังจากนั้นก็เกิดเหตุระเบิดรุนแรงหลายครั้งที่อำเภอเมืองยะลา โดยคนร้ายวางระเบิดไว้ที่ศาลาแล้วแจ้งเจ้าหน้าที่กู้ระเบิดของทหารให้มาตรวจสอบ ขณะประเมินสถานการณ์ คนร้ายกดระเบิด ทหารได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา หลังนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลก็มีเหตุระเบิดใกล้ๆ กัน เจ้าหน้าที่กู้ระเบิดตำรวจออกมาปฏิบัติการ พบป้ายมีข้อความเยาะเย้ยเครื่องมือจีที 200 และเจ้าหน้าที่กู้ระเบิด ตำรวจจึงรู้ตัวว่าเป็นกลลวงอีกครั้ง และได้สั่งให้ทุกคนถอยโดยเร็ว แต่ไม่ทันการณ์ ตำรวจคนหนึ่งจึงถูกระเบิดร่างแหลกเหลว จนเกือบหาชิ้นส่วนร่างกายที่เหลือไม่ได้
ปฏิบัติการครั้งนี้เหี้ยมโหดอำมหิต วางแผนมาอย่างแยบยล ทำให้หมอนึกไปถึงการถล่มโจมตีให้ร้ายอุปกรณ์จีที 200 ดูเหมือนจะมีกลุ่มบุคคลที่พยายามห้ามจัดซื้ออุปกรณ์นี้ หมอมองเลยไปเบื้องหลังของจิตใจคนกลุ่มนี้ว่าเขาคิดอะไร เพราะการมีเครื่องมือนี้ย่อมดีกว่าไม่มี หรือว่าเขาไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐมีเกราะป้องกันตัวเลย...”
ถือเป็นข้อคิดและข้อมูลอีกมุมหนึ่งจากทางฝั่ง “ผู้ใช้จริง” ซึ่งสังคมคงต้องชั่งน้ำหนักและใช้วิจารณญาณ!