ชาวอัมพวาชี้การท่องเที่ยว-ธุรกิจรุกพื้นที่ ตลาดน้ำ 70%นายทุนกว้านซื้อ
ถกการท่องเที่ยว-ธุรกิจ-วัฒนธรรมเมือง-พืชเศรษฐกิจรุกท้องถิ่น ยกกรณีตลาดน้ำอัมพวานายทุนกว้านซื้อ 70% กระจายรายได้ไม่ถึงชาวบ้าน นักวิชาการ-เอ็นจีโอแนะท้องถิ่นต้องรวมพลังเลือกวิถีเอง
วันที่ 18 ม.ค.56 โครงการจังหวัดนำร่องประชาธิปไตยชุมชน จ.สมุทรสาคร จัดเสวนา ‘เมื่อโลกท้าทายถึงบันไดบ้าน เราจะจัดการอย่างไร’ ณ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.2) จ.สมุทรสงคราม
อ.สนม ผิวงาม รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ปัจจุบันชาวแม่กลองประสบปัญหา 3 ด้านหลัก คือ 1.การท่องเที่ยว เพราะทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม สิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ ส่งผลให้ความสวยงามแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมหายไป 2.นิสัยใจคอของคนที่มักให้ความสำคัญเรื่องธุรกิจอันดับหนึ่ง เรียกว่าหายใจเป็นเงินเป็นทอง ทำให้ความเมตตากรุณาที่เป็นนิสัยของคนท้องถิ่นแทบไม่เหลือ และ 3.ปัญหาเยาวชนที่เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ได้นำวัฒนธรรมการแต่งกายสมัยใหม่เข้ามาเผยแพร่ด้วย ส่งผลให้เยาวชนขาดความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม และมีนิสัยก้าวร้าวมากขึ้น
เช่น ตลาดน้ำอัมพวาปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มทุนเข้ามาทำกิจการราว 70% แทบไม่มีคนในพื้นที่ได้ขายของ เพราะค่าเช่าแพง สภาวัฒนธรรมจังหวัดจึงเปิดตลาดถนนคนเดินริมเขื่อนอัมพวา โดยเปิดให้คนในท้องถิ่นเช่าพื่นที่ในราคาถูกเพื่อนำผลิตผลทางการเกษตรและสินค้าของตนมาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่
ดร.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม กล่าวว่าการเจริญเติบโตที่รวดเร็วกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสมุทรสงคราม เพราะขาดแผนบริหารจัดการที่เป็นระบบ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา โดยเฉพาะการจราจรที่แออัด ดังนั้นควรเร่งจัดระบบขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเน้นการขนส่งระบบราง เชื่อมต่อด้วยรถสาธารณะและบริการขนส่งทางน้ำ แต่หากจะทำให้เมืองมีเสน่ห์มากขึ้นควรส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวขี่จักรยาน เพราะจ.สมุทรสงครามเป็นเมืองเล็กๆ อย่างไรก็ตามต้องอาศัยการสนับสนุนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงชุมชนในพื้นที่
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่าขณะนี้ไทยส่อเกิดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านเกษตรกรรม 2 ด้าน คือ 1.การลงทุนขนาดใหญ่ที่เน้นปลูกพืชอุตสาหกรรมจำพวกพลังงานและอาหารสัตว์ เช่น ยางพารา ปาล์ม ข้าวโพด 2.การเติบโตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เน้นการผลิตในปริมาณมาก ซึ่งการพัฒนาระบบการผลิตที่เห็นในปัจจุบันนั้นจะนำไปสู่การใช้พลังงานมากและเกิดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว จนต้องพบกับปัญหาในอนาคต
“กระทั่งข้าวที่เชื่อว่าจะรองรับวิกฤตการขาดแคลนอาหารโลกนั้น ยังปล่อยให้เกิดการใช้สารเคมีมาก โดยล่าสุดพบข้าวในพื้นที่ภาคกลางมีสารเคมีเพิ่มขึ้นจากเดิม 7% เป็น 27% ของต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นอัตราก้าวกระโดด ประกอบกับผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าว และราคาปุ๋ยที่จะเพิ่มขึ้น 2 เท่า สุดท้ายไม่เกิน 2 ปีจะอยู่ไม่ได้”
ดังนั้นเกษตรอินทรีย์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะแม่กลองเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ เพราะเคยเป็นชายเลนมาก่อน ทุกฝ่ายจึงควรส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูการปลูกผลไม้เมืองร้อนอินทรีย์ขึ้น เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่จะต้านทานอำนาจกลุ่มทุนได้หรือไม่ คงต้องอาศัยการตัดสินใจของชาวแม่กลองเอง
ขณะที่นางวรรณี เกตุแก้ว ชาวบ้านอ.อัมพวากล่าวว่า ในอดีตอัมพวาเป็นเมืองเล็กๆที่เงียบสงบ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนและค้าขาย แต่เมื่อเกิดตลาดน้ำอัมพวาขึ้น จากเดิมตั้งใจเป็นแหล่งสร้างรายได้แก่คนในชุมชน หากแต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นแหล่งกอบโกยผลประโยชน์ของกลุ่มทุนที่มีกำลังเงินเช่าร้านในราคาที่สูงถึงเดือนละกว่า 10,000 บาทจากเดิมเดือนละ 500-1,000 บาทเท่านั้น
นางยิ้ม รอดประจง ชาวบ้านอ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี กล่าวว่า ตนอยู่เขตอ.ดำเนินสะดวกและอัมพวา ซึ่งเป็นเขตติดต่อกันข้ามคลอง มีอาชีพค้าขายทางเรือจนถึงปัจจุบัน เห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาดน้ำอัมพวาตลอด โดยเฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมากลุ่มทุนเข้ามาซื้อกิจการต่อจากคนในพื้นที่เกือบหมด แต่คงแก้ไขปัญหายาก เพราะชาวบ้านธรรมดาคงไม่มีทางสู้กับกลุ่มทุนได้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ยากที่จะเอาไม้ซีกงัดไม้ซุง’.
ที่มา:http://4.bp.blogspot.com/__XXhbalL2LE/TIL9WV2ym2I/AAAAAAAAACI/YYyDCg2I5e8/s1600/RBJ_5151.jpg