เปิดสัญญา"พันล้าน"วงจรปิดชายแดนใต้... 5 ปีล่มซ้ำซาก-สตง.ชี้มูลทุจริต
กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงถูกคนร้ายเผาทำลายอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น.วันเสาร์ที่ 19 ม.ค.2556 คนร้ายลอบเผากล้องโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่ อ.เมืองยะลา ได้รับความเสียหาย 2 จุด 2 ตัว
สำหรับวิธีการเผาทำลายกล้องของคนร้ายยังใช้วิธีเดิมง่ายๆ คือใช้ยางในรถจักรยานยนต์ราดด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วจุดไฟ จากนั้นจึงใช้ไม้ไผ่ยาวที่ปลายทำเป็นง่ามเกี่ยวยางในรถจักรยานยนต์ที่ติดไฟแล้วไปคล้องกับกล้องโทรทัศน์วงจรปิด
เหตุการณ์ลอบเผากล้องโทรทัศน์วงจรปิดครั้งใหญ่ในพื้นที่ จ.ยะลา เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเช้ามืดวันจันทร์ที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมานี้เอง โดยคนร้ายกระจายกันก่อเหตุเผาทำลายกล้องใน 7 อำเภอ 43 จุด ทำให้กล้องได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 116 ตัว ซึ่งเป็นยอดที่เพิ่มขึ้นจากการตรวจจุดเกิดอย่างละเอียดในเวลาต่อมา ขณะที่ในวันแรกหลังเกิดเหตุนั้น มีรายงานกล้องเสียหาย 76 ตัว
กล้องถูกเผาแยก 2 กลุ่ม "มท.-ท้องถิ่น"
หลังเกิดเหตุเผากล้องจำนวนมาก คนในรัฐบาลออกมาระบุสาเหตุของปัญหาว่าส่วนหนึ่งมาจากความขัดแย้งเรื่องการประมูล อย่างไรก็ดี จากการตั้งคณะกรรมการสอบสวนของ นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ยังสรุปได้ไม่ชัดเจนว่าสาเหตุของการลอบเผากล้องมาจากความขัดแย้งเรื่องการประมูล หรือเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ หรือทั้งสองอย่าง
ทั้งนี้เพราะกล้องที่ถูกเผามีอยู่ 2 กลุ่ม คือกล้องของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 72 ตัวซึ่งอยู่ระหว่างการติดตั้งและตรวจรับงานหลังจากจัดจ้างบริษัทเอกชนเข้าดำเนินงานแทนบริษัทเก่าเมื่อปี 2553 แต่กล้องอีก 44 ตัวที่ถูกเผาเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งมีการจัดซื้อต่างหากแยกขาดจากกัน
ผ่าโครงการติดกล้องมหาดไทย 969 ล้าน
จากการตรวจสอบเอกสารรายงานผลการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด สภาผู้แทนราษฎร พบว่า โครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) ในพื้นที่ 42 อำเภอ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 3,520 ตัวนั้น เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550
อย่างไรก็ดี โครงการมีปัญหาเรื่องการประมูลถึงขั้นล้มประมูล ทั้งยังมีปัญหาเรื่องการติดตั้งและตรวจรับงาน กระทั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้มูลความไม่โปร่งใส ต้องยกเลิกโครงการเก่า และจัดจ้างบริษัทเอกชนรายใหม่ด้วย
ทั้งนี้ โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของ สป.มท. เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2550 การประมูลครั้งแรกด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เมื่อเดือน มิ.ย.2550 ต้องถูกยกเลิกไป เพราะ 1 ใน 2 บริษัทที่ยื่นเสนอราคาขาดคุณสมบัติ
ต่อมา สป.มท.ได้ขออนุมัติดำเนินการจัดหาแบบวิธีพิเศษ มีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและด้านเทคนิค 3 ราย โดย บริษัทดิจิตอล รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลทิ่ง จำกัด เป็นผู้ชนะการจัดหา เสนอราคาที่ 969,499,180 บาท และ สป.มท.ได้ต่อรองราคาเหลือ 969,400,000 บาท จากนั้น ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2550 เห็นชอบการจัดหาโดยผูกพันงบประมาณ 3 ปีงบประมาณ
แก้สัญญา 2 รอบ-เลื่อนส่งมอบงาน
สป.มท.ได้ทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทดิจิตอล รีเสิร์ชฯ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2550 กำหนดส่งมอบงานภายใน 420 วัน หรือภายในวันที่ 7 พ.ย.2551 จากนั้นปลัดกระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าตามที่บริษัทฯขอเบิกตามสัญญางวดแรก จำนวน 145 ล้านบาท
ต่อมาได้มีการแก้ไขสัญญา 2 ครั้ง (ก.ค.2550 ถึง เม.ย.2552) เพื่อเปลี่ยนแปลงขนาดห้องควบคุม (คอนโทรล รูม) และย้ายที่ติดตั้งระบบตรวจสอบใบหน้า ตลอดจนการเพิ่ม-ลดจำนวนกล้องในพื้นที่ จ.สงขลา เปลี่ยนรุ่นเซิร์ฟเวอร์แม่ข่าย รวมทั้งจอแอลซีดี 19 นิ้ว และมีการเลื่อนส่งมอบงานหลายครั้ง
กระทั่งมีการนัดส่งมอบงานบางส่วนใน จ.สงขลา เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2552 แต่มีปัญหาเรื่องอุปกรณ์ที่ติดตั้งหลายรายการไม่ตรงตามทีโออาร์ (เอกสารกำหนดรายละเอียดและขอบเขตงานก่อนเปิดประมูล)
วันที่ 22 ก.ค.2552 บริษัทดิจิตอล รีเสิร์ชฯ ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญา โดยอ้างเหตุผลว่าคณะกรรมการตรวจรับพัสดุไม่เดินทางไปตรวจรับงานตามนัด แต่กระทรวงมหาดไทยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาและพบว่าบริษัทฯไม่อาจยกสาเหตุการไม่ตรวจรับงานเพื่อบอกเลิกสัญญาได้ จึงแจ้งให้บริษัทฯกลับเข้าไปทำงานต่อภายใน 7 วัน แต่บริษัทฯไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ สป.มท.จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา
ติดตั้งได้แค่ 30% สตง.ชี้มูล ขรก.ทุจริต
สรุปความก้าวหน้าของโครงการ ณ วันที่ 30 มิ.ย.2552 ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไปได้เพียง 30% อุปกรณ์ 3% ทั้งๆ ที่ล่วงเลยกำหนดส่งมอบงานนานถึง 8 เดือน
สำหรับการดำเนินการหลังบอกเลิกสัญญา สป.มท.ได้เรียกคืนเงินล่วงหน้า 145 ล้านบาท และเงินประกันสัญญา 48 ล้านบาท ขณะที่บริษัทดิจิตอล รีเสิร์ชฯ ได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง 2 คดี คือ
1.ขอให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุที่ไม่ขยายระยะเวลาตามสัญญาให้กับบริษัทฯ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกฟ้อง ปัจจุบันบริษัทฯอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
2.คดีเรียกค่าเสียหาย สป.มท.เป็นเงิน 2,527 ล้านบาทเศษ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา
อีกด้านหนึ่ง สตง.ได้ชี้มูลความผิดในการปรับปรุงแก้ไขรายละอียดอุปกรณ์ระบบกล้องซีซีทีวีที่ใช้ในการประกวดราคาด้วยวิธีพิเศษ โดยชี้มูลว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบพัสดุ ทำให้ราชการเสียประโยชน์ และให้กระทรวงมหาดไทยลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบสวนและแก้ข้อกล่าวหา
จัดจ้างวิธีพิเศษอีกรอบ-ติดใหม่ถูกเผาซ้ำ
หลังจากยกเลิกสัญญา สป.มท.ดำเนินการจัดจ้างวิธิพิเศษอีกครั้ง โดยมีการปรับปรุงทีโออาร์และราคากลางใหม่เป็น 960 ล้านบาท ปรากฏว่าบริษัทที่ชนะการประมูลคือ บริษัท ไทยทรานสมิชชั่น อินดัสทรี จำกัด โดยกระทรวงมหาดไทยได้ลงนามในสัญญาจัดจ้างวันที่ 13 ธ.ค.2553 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตั้งและส่งมอบงาน
อย่างไรก็ดี กล้องที่อยู่ระหว่างติดตั้งและส่งมอบงานงวดที่ 4 ของ จ.ยะลา ก็ยังถูกลอบเผา โดยเมื่อวันที่ 14 ม.ค.2556 มีกล้องในโครงการของ สป.มท.ถูกเผาจำนวน 72 ตัว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจสอบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่เพิ่งถูกเผาย่านชานเมืองยะลา เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 19 ม.ค.2556 (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)