ทบทวน "สันติวิธีแบบอิสลาม" : ศาสดามูฮัมมัดกับคำประกาศแห่งสันติภาพ
กัณหา แสงรายา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“นับแต่นี้ไปการอาฆาตมาดร้ายและจองล้างจองผลาญกันด้วยเลือดเฉกเช่นในยุคสมัยแห่งความป่าเถื่อนเป็นที่ต้องห้าม และให้อภัยในการกระทำที่แล้วๆ มาทั้งหมด...” - ศาสดามูฮัมมัด (ศ็อลฯ)
ลืมตาดูโลกในสภาพเด็กกำพร้า
ท่านศาสดามูฮัมมัด (ศ็อลฯ/สันติจงมีแด่ท่าน) คือผู้ประกาศสัจธรรมแห่งอัลอิสลาม (สันติภาพและการยอมมอบตน) เป็นครั้งแรก ณ นครมักกะฮ์ (เมกกะ) ดินแดนฮิจยาส (ประเทศซาอุดิอารเบีย) อันเป็นสถานที่ที่ท่านลืมตาดูโลกครั้งแรก เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 12 เดือนรอบีอุ้ลเอาวัล ปีช้าง ตรงกับวันที่ 22 เมษายน ค.ศ.571 (พ.ศ.1114) โดยปู่ของท่าน คือท่านอับดุลมุฏฏอลิบ เป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า "มูฮัมมัด" แปลว่า ผู้ได้รับการสรรเสริญ พ่อของท่าน -อับดุลเลาะห์ บิน อับดุลมุฏฏอลิบ จากท่านไปตั้งแต่ท่านยังอยู่ในครรภ์ พอท่านอายุได้ 6 ขวบ แม่ของท่าน -อามีนา บินติ อบูฏอลิบ ก็จากท่านไปอีก ท่านจึงกลายเป็นเด็กกำพร้าทั้งพ่อและแม่ตั้งแต่ในเยาว์วัย
ดินแดนฮิจยาสในสมัยที่ท่านเกิดนั้นยังปกครองในระบบของชนเผ่า ท่านเองกำเนิดในตระกูลกุร็อยช์ ซึ่งเป็นชนชั้นปกครองและผู้ดูแลนครมักกะฮ์ สถานที่ตั้งของกะบะฮฺ วงศ์ตระกูลของท่านสืบเชื้อสายมาจากศาสดา (นบี) อิสมาอีล บุตรนบีอิบรอฮีม (อลัยฮิสสลาม) ในวัยเด็กท่านรับจ้างเลี้ยงแกะของชนเผ่า ปู่ของท่านจึงรับเลี้ยงดูท่านจนกระทั่งท่านมาเสียชีวิตไปอีกคน ลุงของท่านคือ ท่านอบูฏอลิบ เป็นผู้รับช่วงอุปการะท่านต่อไป ท่านช่วยผู้เป็นลุงเลี้ยงแพะ แกะ และทำงานอื่นๆ หลายอย่างด้วยความขยันและซื่อสัตย์ อุปนิสัยนี้ยั่งยืนตลอดไป จึงไม่แปลกที่ท่านจะผ่านชีวิตสู่วัยหนุ่มโดยได้รับสมญาว่า "อัสซอดิก" -ผู้มีวาจาสัจจะ และ "อัลอามีน" -ผู้มีความซื่อสัตย์
พ่อค้าหนุ่ม การแต่งงาน และสาส์นแห่งสันติ
ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ ท่านมีโอกาสติดตามผู้เป็นลุงซึ่งเป็นพ่อค้าไปค้าขายยังประเทศซาม (ซีเรีย) ซึ่งทำให้ท่านมีประสบการณ์การค้าในต่างแดนเป็นครั้งแรก อีกสิบปีเศษในวัย 23 ท่านได้เข้าทำงานในกองคาราวานของท่านหญิงคอดีญะฮ์ ไปค้าขายยังเมืองซามอีก ความสามารถของท่านเป็นที่ประจักษ์ซึ่งทำให้อีก 2 ปีต่อมาท่านก็ได้แต่งงานกับท่านหญิง
ชีวิตของท่านเวลานี้ช่างพรั่งพร้อมด้วยความสุขสบายในท่ามกลางความมั่งคั่ง แต่ท่านก็หาได้พอใจไม่ จิตใจของท่านยังโหยหาที่จะค้นพบสัจธรรม ด้วยเหตุนี้ท่านจึงหาเวลาให้ตัวเองได้ออกไปอยู่ตามลำพังภายในถ้ำบนยอดเขาเสมอๆ เวลานี้ท่านอยู่ในวัย 40 ปีแล้ว
กระทั่งวันหนึ่งในค่ำคืนของวันศุกร์ที่ 17 เดือนรอมฎอน ท่านก็ได้รับวะห์ยู (วิวรณ์) ให้เป็นผู้สั่งสอนสัจธรรมของพระผู้เป็นเจ้าโดยโองการที่เริ่มต้นด้วยประโยคว่า “จงอ่าน..” ถึงสามครั้ง บัดนี้ท่านมีฐานะเป็นศาสนทูต (ศาสดา) ของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ท่านได้นำสาส์นแห่งสันติภาพจากพระผู้เป็นเจ้ามาสู่มวลมนุษยชาติ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.610 (พ.ศ.1153) อันเป็นปีเริ่มแรกของอัลอิสลาม ซึ่งจะกลายเป็นศาสนาแห่งสัจธรรมและสันติภาพไปตลอดกาล
ศาสดามูฮัมมัด (ศ็อลฯ) เผยแผ่สัจธรรมแห่งอัลอิสลามในหมู่ชาวมักกะฮ์อย่างเรียบง่ายและอย่างค่อยเป็นค่อยไป ความมุ่งมั่นของท่านมีทั้งผู้เห็นดีและผู้ไม่เห็นด้วย ชาวมักกะฮ์ได้กล่าวคำปฏิญาณตนว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์ และมูฮัมมัดคือศาสนทูตของพระองค์” แสดงการเข้ารับศาสนานี้ ซึ่งมีหลักการสำคัญคือการยอมรับและศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว (Ahad) ขณะที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับก็เริ่มต่อต้าน ทั้งๆ ที่กลุ่มผู้ศรัทธาใหม่ซึ่งเรียกว่า มุสลิมหาได้เป็นอันตรายต่อสังคมของชาวมักกะฮ์แต่อย่างใดเลย
เหนือกว่าอหิงสา ไม่ตอบโต้ในทุกรูปแบบ
ชาวมุสลิมเหล่านี้เพียงแต่ปฏิบัติศาสนกิจที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคมมักกะฮ์เวลานั้นเท่านั้น แต่สังคมที่ไม่ได้เคารพความแตกต่างก็ทนไม่ได้ จนแม้แต่ชีวิตของท่านศาสดาก็ถูกปองร้าย แต่ท่านก็ไม่ได้เลือกต่อสู้ไม่ว่าด้วยวิธีใด แม้ว่า "ซอฮาบัต" (สหาย) ของท่านจะถูกทำร้ายและทรมานต่างๆ นานาและหนักข้อขึ้นทุกที ท่านก็ยังคงยืนหยัดในวิถีแห่งอหิงสาและสันติธรรม
ทั้งๆ ที่เมื่อในวัยเพียง 15 ขวบท่านเองเคยมีประสบการณ์เข้าร่วมในสงครามระหว่างเผ่าในนครมักกะฮ์มาแล้วถึง 2 ครั้ง คือทั้งในสงครามฟุจญ้รฺครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ในยุคนั้นการทำสงครามระหว่างเผ่าถือเป็นเรื่องปกติและเด็กหนุ่มทุกคนก็ต้องเข้าร่วม หลังสงครามท่านได้แสดงถึงความใฝ่สันติด้วยการเข้าร่วมในขบวนการฟื้นฟูฮิลฟุล ฟูดุ้ล องค์กรเยาวชนมักกะฮ์เพื่อการเยียวยา ช่วยเหลือ และสงเคราะห์เหยื่อผู้ประสบภัย
ถอยร่น เลี่ยงการปะทะ และการอพยพ
การคุกคามที่มีต่อกลุ่มผู้ศรัทธาใหม่มุสลิมส่อเค้ารุนแรงขึ้นทุกขณะ ท่านจึงตัดสินใจส่งผู้ศรัทธาใหม่จำนวนหนึ่งลี้ภัยข้ามทะเลแดงไปยังประเทศอบิสสิเนีย (เอธิโอเปีย) ซึ่งกษัตริย์คริสเตียนที่นั่นทรงให้การคุ้มครองผู้อพยพมุสลิมเป็นอย่างดี สังคมมักกะฮ์เวลานั้นระส่ำระสายหนัก ในขณะที่การรุนแรงถูกก่อมากขึ้น ในที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและความรุนแรงที่อาจนำไปสู่การปะทะกัน ท่านและบรรดาสหายซึ่งร่วมน้ำหนึ่งใจเดียวกันก็ตัดสินใจถอยร่นออกจากนครมักกะฮ์ พวกเขาอพยพมุ่งหน้าไปยังเมืองยัษริบ (เมดินา) ซึ่งที่นั่นชาวเมืองต่างกำลังรอต้อนรับตามสัญญาด้วยความยินดี เมื่อถึงยัษริบท่านและสหายได้ละหมาดตอนย่ำรุ่ง (ซุบฮ์) ร่วมกับชาวเมือง นับเป็นการละหมาดซุบฮ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์อิสลาม
เหตุการณ์การอพยพของศาสดามูฮัมมัด (ศ็อลฯ) และสหายนี้มีความสำคัญเนื่องจากแสดงถึงจิตใจที่เกลียดชังสงครามและใฝ่หาสันติภาพของท่านอย่างแท้จริง ปีอพยพนี้ถูกนับเป็นปีเริ่มต้นแห่งศักราชอิสลามที่เรียกว่า "ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.)" (Hijrah) ซึ่งตรงกับ ค.ศ.578 (พ.ศ.1121)
เผชิญสงครามที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
การอพยพสู่เมืองยัษริบ แม้ว่าด้านหนึ่งเป็นการเปิดประตูสู่อิสรภาพและเสรีภาพอย่างเต็มเปี่ยมในการปฏิบัติศาสนกิจ แต่การคุกคามของพวกเดียรถีย์ก็มิได้ลดละและยุติลง ตรงกันข้ามกลับยกทัพมารังควานโดยหวังกำราบมุสลิมให้หมดสิ้น ในอีกด้านหนึ่งนั้นเมืองยัษริบจึงถูกเปลี่ยนสภาพเป็นที่มั่นสำคัญทั้งในการตั้งรับศัตรูและการรุกเชิงอุดมการณ์และอารยธรรมไปสู่ทั่วทั้งคาบสมุทรอารเบีย จะเห็นได้ว่าท่านศาสดามูฮัมมัดได้ส่งคณะทูตต่างๆ ไปป่าวประกาศสัจธรรมแห่งอัลอิสลามยังประเทศต่างๆ ทั้งใกล้และไกลโดยมิได้ย่อท้อ
พวกเดียรถีย์ยกทัพมาโจมตีรบกวนยัษริบซึ่งบัดนี้มีชื่อใหม่ว่า "มะดีนะตุนนบี" (เมืองแห่งศาสดา) หรือเรียกสั้นๆ ว่า "เมดีนา" อยู่เนืองๆ ในที่สุดพระผู้เป็นเจ้าก็ได้ลงโองการให้สงครามเป็นที่อนุมัติสำหรับมุสลิม แต่ก็จำกัดแค่สงครามเพื่อปกป้องตัวเองเท่านั้น ท่านศาสดาได้จัดตั้งกองกำลังป้องกันตนเองขนาดเล็กขึ้น แต่ท่านก็กลัวตลอดเวลาว่า การรบกันจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ท่านจึงออกคำสั่งว่า “อย่าโจมตีวัด โบสถ์ยิว และโบสถ์คริสต์ อย่าทำให้ต้นไม้หรือพืชพรรณเสียหาย อย่าทำให้ม้าและอูฐได้รับอันตรายเป็นอันขาด...” ท่านพูดย้ำอีกหลายเรื่องมิให้ก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน
ยืนหยัดเพื่อสัจธรรม
ในที่สุดในเดือนรอมฎอนปีที่ 8 แห่งฮิจเราะห์ศักราช ท่านศาสดาก็สามารถเคลื่อนทัพซึ่งมีจำนวนรี้พล 10,000 คนกลับไปยังมักกะฮ์ได้ ชาวมักกะฮ์ต่างตกใจตื่นกลัว แต่ก็สงบจิตใจลงได้เพราะทราบดีว่าพลพรรคมุสลิมจะไม่มีทางทำร้ายใคร ท่านศาสดาได้ประกาศให้ชาวมักกะฮ์อยู่ในความสงบ ท่านต้องการนำสันติภาพมาสู่มักกะฮ์ ท่านบอกว่าการนองเลือดจะไม่เกิดขึ้น ขอให้ทุกคนจงอยู่ในบ้านของตนเอง ในบริเวณลานกะอ์บะฮ์ หรือในบริเวณบ้านของอบูซุฟยาน ทุกคนจะได้รับการปกป้องและมีความปลอดภัยทุกประการ
บัดนี้พวกผู้อพยพได้กลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน ณ นครมักกะฮ์แล้ว ชาวมักกะฮ์ซึ่งเคยเป็นผู้ผลักไสท่านและบรรดาสหายพากันกลับใจและหันเข้ารับอัลอิสลามคนแล้วคนเล้า ความขุ่นข้องหมองใจระหว่างกันได้ปลาสนาการไปสิ้น ไม่มีการแก้แค้นจากผู้กำชัย มีแต่ความเมตตาและการให้อภัยซึ่งกันและกัน
ตลอดช่วงชีวิตท่านศาสดาถือเอาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นอุดมธรรมอันสูงส่ง และจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง ในอีกด้านหนึ่งการพิชิตมักกะฮ์ครั้งนี้ถือเป็นการปักหลักครั้งสำคัญของอัลอิสลาม ซึ่งในอีก 1,400 ปีต่อมามีผู้นับถือมากเป็นอันดับ 2 ของโลก
สุนทรพจน์ครั้งสุดท้าย
ในวันที่ 25 เดือนซุลกออิดะฮ์ ปีที่ 10 แห่งฮิจเราะห์ศักราช (ค.ศ.632/พ.ศ.1175) ศาสดามูฮัมมัด (ศ็อลฯ) ภรรยาของท่าน พร้อมชาวเมืองราว 90,000 คน ได้เดินทางมุ่งสู่นครมักกะฮ์ด้วยหัวใจอันปลื้มปิติยิ่ง ทุกคนตั้งใจว่าจะได้ประกอบพิธีฮัจญ์ แต่ใครเล่าจะรู้ว่าการประกอบพิธีฮัจญ์ปีนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของท่านศาสดา คณะเดินทางได้มาถึงสถานที่ชื่อซุลฮูลัยฟะฮ์ในช่วงพลบค่ำวันนั้นเอง ทั้งหมดได้พักค้างคืนอยู่ที่นั่นหนึ่งคืน เช้าวันรุ่งขึ้นทุกคนได้สวมใส่ชุดอิห์รอมเดินทางต่อไปยังมักกะฮ์
ในวันที่ 8 ซุลฮิจญะฮ์ ฮิจเราห์ศักราช 10 ศาสดามูฮัมมัดและบรรดาสหายได้ไปพักอยู่ ณ มีนาและค้างคืนที่นั่นหนึ่งคืน เช้าวันรุ่งขึ้น (9 ซุลฮิยะห์) คณะของท่านได้ออกเดินทางจากมีนาไปยังหุบอูรานะห์แห่งเขาอาราฟะห์ เที่ยงวันนั้นเอง ท่านก็ขี่อูฐชื่ออัลคอสวะห์ไปยังที่ที่ท่านจะได้กล่าวเทศนาเป็นครั้งสุดท้าย ณ เขาอาราฟะห์นั่นเอง ท่านได้กล่าวคำสรรเสริญพระผู้เป็นพระเจ้า จากนั้นก็เริ่มกล่าวเทศนาด้วยสุ้มเสียงอันดังกังวาน สหายของท่านผู้หนึ่งจะคอยพูดซ้ำอีกครั้งทีละประโยคๆ คำเทศนานี้ถือเป็นสุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายในช่วงชีวิตของท่าน เพราะไม่นานหลังจากนี้ ท่านศาสดามูฮัมมัด (ศ็อลฯ) ก็ได้อำลาโลกนี้ไปด้วยวัย 63 ปี
บางบทจาก "คำประกาศแห่งสันติภาพ"
1. ชีวิตและทรัพย์สินต้องได้รับการปกป้อง
“โอ้ท่านทั้งหลาย ชีวิตและทรัพย์สินของท่านเป็นสิ่งต้องห้าม เฉกเช่นเดียวกับวันนี้ (วันวูกุฟ), เดือนนี้ (เดือนแห่งพิธีฮัจญ์) และนครมักกะฮ์เป็นที่ต้องห้าม ที่คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านจะล่วงละเมิดมิได้”
2. กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน
“ใครที่รักษาหรือยึดครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ จงคืนทรัพย์สินเหล่านั้นแก่ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์”
3. ยกเลิกระบบดอกเบี้ย
“พวกท่านทั้งหลายจงรักษาความศรัทธาเชื่อมั่นให้คงไว้ในจิตใจของพวกท่าน และจงหลีกเลี่ยงออกห่างจากเรื่องบาปกรรมและความชั่วทั้งหลาย ดอกเบี้ยหรือการให้กู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเป็นสิ่งต้องห้าม สำหรับลูกหนี้ให้ส่งคืนเฉพาะเงินในจำนวนที่ยืมมา”
4. สงคราม การแก้แค้น และการให้อภัย
“นับแต่นี้ต่อไปเรื่องของการแก้แค้นทดแทนกันด้วยเลือดในสมัยแห่งความโง่เขลาจะต้องยุติลง และให้อภัยในการกระทำที่แล้วๆ มาทั้งหมด”
5. ผู้หญิงและผู้ชายเท่าเทียมกัน
“โอ้ท่านทั้งหลาย จงยำเกรงพระผู้อภิบาลของท่านทั้งหลายในกิจการอันเกี่ยวกับสตรี”
“โอ้ท่านทั้งหลาย พวกท่านมีสิทธิที่ได้รับมอบหมายเหนือฝ่ายสตรี และฝ่ายสตรีก็มีสิทธิเหนือฝ่ายชายเช่นกันในหน้าที่ที่ท่านได้รับมอบหมาย”
“จงดูแลปกป้องภรรยาของท่านด้วยความรักความเมตตา แน่นอนผู้ที่ทำเช่นนั้นเท่ากับเขาได้ดูแลภรรยาของเขาให้อยู่ในความพิทักษ์รักษาของพระผู้เป็นเจ้า”
6. ใช้สันติวิธีในการเลิกทาส
“โอ้ท่านทั้งหลาย บรรดาข้าทาสคนใช้ของท่านที่อยู่ในความดูแลของพวกท่านนั้น จงเลี้ยงดูพวกเขาด้วยอาหารชนิดเดียวกับที่พวกท่านรับประทาน และจงให้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแก่พวกเขาด้วยเครื่องนุ่งห่มที่พวกท่านใช้”
“หากพวกเขากระทำในสิ่งที่เป็นความผิดพลาดชนิดที่ท่านไม่ปรารถนาที่จะอภัยให้พวกเขา ก็จงแยกทางกับเขาเสีย (ปล่อยเขาเป็นอิสระ) อย่าทำร้ายเฆี่ยนตีทำทารุณพวกเขา เพราะเขาก็เช่นท่าน เป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า”
7. ต้องไม่กลับไปสู่การรบราฆ่าฟันกันอีก
“โอ้ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย หากเมื่อถึงเวลาที่ฉันต้องจากพวกท่านไปแล้ว พวกท่านจงอย่าได้หันกลับไปต่อสู้เป็นศัตรูที่หลั่งเลือดกัน เหมือนอย่างเช่นสมัยแห่งความโง่เขลา (ญาฮิลลียะห์) ดังที่ได้ผ่านมา”
8. มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน
“โอ้ ศรัทธาชนทั้งหลาย แท้จริงพระผู้เป็นเจ้าของพวกเจ้านั้นมีพระองค์เดียว พวกเจ้าต่างสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกันนั่นคืออาดัม และอาดัมนั้นถูกสร้างมาจากดิน”
“ชาวอาหรับไม่ได้สูงส่งไปกว่าเผ่าพันธุ์ที่ไม่ใช่อาหรับ คนผิวขาวก็ไม่ได้สูงส่งไปกว่าคนผิวดำ”
“แท้จริงผู้มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้านั้น คือผู้ที่มีศรัทธายำเกรงกว่าเท่านั้น”
9. มุสลิมทุกคนเป็นพี่น้องกัน
“โอ้ ท่านทั้งหลาย มุสลิมทุกคนเป็นพี่น้องกัน คือภราดรภาพที่เป็นเอกภาพเดียวกัน"
“ไม่มีสิ่งใดที่เป็นของพี่น้องมุสลิมด้วยกันจะเป็นของมุสลิมอีกผู้หนึ่งโดยถูกต้อง นอกจากว่าเขา (เจ้าของ) จะหยิบยื่นให้ด้วยความเต็มใจ ดังนั้นจงปกป้องตัวท่านเองให้ห่างไกลจากความอยุติธรรมทั้งมวล (ในทุกกรณี) เถิด”
10. ธรรมนูญแห่งชีวิต
“หลังจากฉันจากไปแล้ว พวกท่านอย่าได้กลับไปเป็นพวกเดียรถีย์อีก มีบางส่วนของพวกท่านจะหันไปต่อสู้กับ (บางส่วนของ) สิ่งอื่น (ไม่ใช่กับความไม่รู้และความอยุติธรรม) ฉันได้มอบธรรมนูญชีวิตเพื่อส่องนำทางท่านไว้ นั่นคือพระมหาคัมภีร์กุรอานและอัลฮาดีษ หากท่านยึดมั่นกับธรรมนูญแห่งชีวิตนี้อย่างมั่นคง ท่านจะไม่มีวันหลงทาง” (อัลฮาดีษและอัสซุนนะห์ = วจนะและแบบอย่างของท่านศาสดา)
ทำฮัจญ์เสร็จสมบูรณ์
ท่านศาสดามูฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้อ่านโองการหนึ่งจากคัมภีร์อัลกุรอานเป็นการเสร็จสิ้นการกล่าวเทศนา จากนั้นท่านได้ลงจากหลังอูฐเพื่อทำละหมาดซุฮร์ (ละหมาดหลังเที่ยง) หลังจากละหมาดอัศร์ (ละหมาดช่วงบ่าย-ก่อนพระอาทิตย์ตก) ท่านและบรรดาสหายก็ออกจากทุ่งอะรอฟะฮ์ไปยังตำบลมุซดะลีฟะฮ์โดยได้พักค้างคืนที่นั่นหนึ่งคืน พอรุ่งเช้าทุกคนก็ไปถึงมีนา ที่มีนาท่านและสหายทุกคนได้ขว้างเสาหินอันเป็นสัญลักษณ์ของชัยฏอนมารร้าย เมื่อกลับมายังกระโจมที่พักท่านก็ได้ทำกุรฺบ่าน หรือการเชือดสัตว์พลีเพื่อแจกจ่ายเนื้อให้แก่คนยากจน
การทำฮัจญ์ครั้งนี้มีผู้เรียกว่า "การทำฮัจญ์อำลา" (ฮัจญะตุล วาดะอ์/Hajjat-ul-wada’) และเทศนาธรรมครั้งนี้ก็ถือเป็น "สุนทรพจน์ครั้งสุดท้าย" (คุฏบะตุล วาดะอ์/Khutbat-ul-wada’)
ยังมีผู้กล่าวอีกว่า อันที่จริงนี่เป็นการทำฮัจญ์ใหญ่ครั้งเดียวของท่าน ที่เรียกดังนี้เพราะครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตที่ท่านศาสดาได้ทัศนานครมักกะฮ์
อุทาหรณ์เพื่อโลกสันติ
ปีหนึ่งๆ มวลมุสลิมได้พากันข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์นับล้านคน ในจำนวนนี้เป็นมุสลิมชาวไทยกว่าหมื่นคน ถ้าหากจะย้อนรำลึกถึงเทศนาธรรมครั้งสุดท้ายที่ท่านศาสดามูฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้กล่าวไว้ บางทีก็อาจจะเป็นอุทาหรณ์เพื่อเป็นเครื่องเตือนความทรงจำได้บ้างว่า วจนะและแบบอย่างที่ท่านศาสดาแสดงไว้นี้ ช่างงดงามและมีคุณค่าสูงยิ่งเพียงใด
เราทุกคนไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ภาษา และศาสนาใด ต่างก็ปรารถนาที่จะได้อยู่ร่วมกันบนโลกใบเล็กๆ ใบนี้อย่างมีความสุข
-----------------------------------------------
บรรยายภาพ
รูปที่ 1 ฮุจยาจ (ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์) ณ มัสยิดหะรอม มักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบีย เมื่อ พ.ย.ที่ผ่านมา (พ.ศ.2552) มีฮุจยาจรวมทั้งสิ้น 2.3 ล้านคน เป็นชาวต่างชาติ 1.6 ล้านคน ชาวซาอุดีฯอีก 7 แสนคน ฮุจยาจไทย 1.3 หมื่นคน รวมกันแล้วน้อยกว่าปีที่แล้ว (2551) เล็กน้อย
รูปที่ 2 ภูเขาอาราฟะฮ์ สถานที่ศาสดามูฮัมมัด (ศ็อลฯ) กล่าวเทศนาครั้งสุดท้าย
รูปที่ 3 การทำวูกุฟที่อาราฟะฮ์ ฮุจยาจครองชุดอิห์รอมสีขาว
อ้างอิง
1. สมาคมคุรุสัมพันธ์. (ไม่มีปีที่พิมพ์). หลักการศรัทธา ศาสนบัญญัติ ศาสนประวัติ อัลกุรอาน อัลฮ่ดิษ จริยธรรม ตัจญวีด ชั้นปีที่ 4
2. <http://gangland-dota.is.in.th/?md=content&ma=show&id=124> Retrieved: 25/12/2552
3. http://www.muslimchonburi.com/index.php?page=show&id=152 Retrieved: 25/12/2552
4. <http://blogs.udm.edu.my/drkuzaki/2007/12/30/khutbah-terakhir-rasulullah-saw/> Retrieved: 27/12/2552
5. <http://keluargahjmohamadyusof.wordpress.com/2009/08/22/khutbah-terakhir-rasulullah-saw/> Retrieved: 27/12/2552