กะเทาะความคิด “อัคคชา พรหมสูตร” ผู้เสนอร่างกฎหมายปัตตานีมหานคร
ปรัชญา โต๊ะอิแต
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ต้องยอมรับประการหนึ่งว่า กระแสว่าด้วย “นครปัตตานี” หรือการจัดรูปการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้ร้อนแรงเพียงเพราะการจุดพลุของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย และอดีตนายกรัฐมนตรี แต่เพียงเท่านั้น ทว่าเป็นเพราะข้อเสนอนี้ไปไกลถึงขนาดมีผู้ยกร่างกฎหมายเอาไว้แล้วด้วย
เป็นร่างกฎหมายที่ชื่อว่า ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการปัตตานีมหานคร พ.ศ.... ที่เสนอโดย อัคคชา พรหมสูตร สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง จากการขับเคลื่อนร่วมกันของสภาพัฒนาการเมือง และสถาบันพระปกเกล้า
การเสนอร่างกฎหมายโดยตรงจากประชาชนเป็นแนวทางที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นหากผู้เสนอสามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อสนับสนุนได้ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งก็เพียงแค่ 10,000 คนเท่านั้น ร่างกฎหมายจากประชาชนฉบับนี้ก็จะต้องถูกบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภา
การผลักดันประเด็นนี้จึงมิใช่ความฝันอีกต่อไป...
อัคคชา เล่าถึงเบื้องหลังการจัดทำร่างกฎหมายปัตตานีมหานครให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของร่างกฎหมายฉบับนี้ เกิดจากการพูดคุยวงเล็กๆ ของคนในพื้นที่และเครือข่ายภาคประชาสังคมว่าเราจะแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้อย่างยั่งยืนโดยเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ได้อย่างไร การพูดคุยครั้งนั้นนำมาสู่การยกร่างกฎหมายปัตตานีมหานครเพื่อเป็นตุ๊กตานำไปเสนอให้ภาคส่วนต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อนำไปสู่ร่างกฎหมายที่สมบูรณ์
อัคคชา อธิบายว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นร่างเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยดึงเอาจุดเด่นมาจากการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่งรูปแบบเหล่านั้นเป็นลักษณะการกระจายอำนาจและการปกครองที่มีกฎหมายและรัฐธรรมนูญรองรับ
“ร่าง พ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร นำเอาหลักการจาก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครเป็นหลัก โดยมีการปรับให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมันสามารถปรับให้เข้ากันได้ และที่ใช้ชื่อว่าปัตตานีมหานคร ก็เหมือนกับกรุงเทพมหานคร คือก่อนจะมาเป็นกรุงเทพฯ มีเขตพื้นที่ต่างๆ ที่ยังไม่ได้รวมกันมากมาย แต่เมื่อมารวมกันแล้วก็เป็นกรุงเทพมหานคร ปัตตานีมหานครก็เช่นกัน จะมีการผนวกเอานราธิวาส ยะลา และ 4 อำเภอของสงขลามาอยู่ด้วยกัน กลายเป็นปัตตานีมหานคร มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น”
อัคคชา บอกว่า ภายหลังมีการเผยแพร่ร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป ปรากฏว่ามีกระแสตอบรับดีมาก มีคนแสดงความเห็นเยอะ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
“กลุ่มที่เห็นด้วยเป็นเพราะเนื้อหาส่วนใหญ่สอดคล้องกับสิ่งที่คนในพื้นที่เคยเสนอมาแล้ว ตั้งแต่ยุคท่านหะยีสุหลง (หะยีสุหลง โต๊ะมีนา บิดาของ นายเด่น โต๊ะมีนา อดีต ส.ส. และ ส.ว.ปัตตานี) โดยเฉพาะบทบัญญัติที่ว่าด้วยการจัดการบริหารโดยคนในพื้นที่กันเอง ซึ่งในสมัยนั้น (สมัยที่หะยีสุหลงเสนอ คือช่วงทศวรรษก่อนปี พ.ศ.2500) รัฐบาลไทยยังไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยจึงไม่ยอมรับ แต่ปัจจุบันประเทศเรามีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ดังนั้นข้อเสนอตรงนี้ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ไม่ได้นอกกรอบของรัฐธรรมนูญ จึงน่าจะนำมาพิจารณาได้”
“ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่มองว่าจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน บางคนก็ตั้งคำถามว่าคนไทยพุทธในพื้นที่จะอยู่อย่างไร แต่ผมยืนยันว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงตุ๊กตาเท่านั้น มันต้องมีการพูดคุยปรับปรุงกันไปอีก โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่เป็นหลัก แล้วค่อยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหรือนักวิชาการมาช่วยดูกันอีกที”
อัคคชา แสดงความเชื่อมั่นว่า ร่างกฎหมายที่เขาเสนอจะได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลและรัฐสภาในที่สุด แม้ในเบื้องต้นจะไม่ได้รับการตอบรับจากผู้ถืออำนาจรัฐก็ตาม
“ขณะนี้ได้ทำเวทีประชาพิจารณ์ รวบรวมรายชื่อผู้ที่เห็นด้วยให้ได้หลักหมื่นก่อน จากนั้นก็จะนำมาปรับปรุงและจัดทำร่างฉบับสมบูรณ์ส่งไปที่สภาตามขั้นตอน ถือเป็นร่างของประชาชน ผมเชื่อว่าร่างกฎหมายฉบับสมบูรณ์จะได้รับการพิจารณา เพราะมาจากประชาชนอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับสถานการณ์ภาคใต้ในขณะนี้มากที่สุด ไม่ว่ารัฐบาลจะชอบหรือไม่ชอบก็ต้องทำไปตามขั้นตอน ติดขัดอย่างไรก็ต้องมาปรับแก้กัน ไม่ใช่ปล่อยให้ร่างตกไปเลย อย่าลืมว่าตอนนี้คนไทยทั้งประเทศต้องการให้ภาคใต้สงบ ซึ่งผมคิดว่าถ้านำกฎหมายฉบับนี้มาใช้ จะสามารถแก้ปัญหาภาคใต้ได้อย่างยั่งยืน”
อนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้เปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองได้โดยตรงหลายช่องทาง และช่องทางหนึ่งก็คือการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายด้วยตัวเอง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163 ซึ่งระบุว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติได้ โดยต้องจัดทำร่างเสนอมาด้วย
เป็นช่องทางที่อาจทำให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ร่วมกำหนดรูปแบบการปกครองของตนเองที่สอดคล้องดับวิถีชีวิต ศาสนา และวัฒนธรรม!
------------------------------------
ขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์หอการค้าจังหวัดปัตตานี