ใจถึงใจ "มุสลิมใต้" ถึง "โรฮิงญา" จับตา "ยะไข่โมเดล" ซ้ำรอยไทยแลนด์
ชะตากรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไร้รัฐปรากฏต่อหน้าต่อตาสังคมไทยอีกครั้ง จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเข้าช่วยเหลือชาวโรฮิงญาทั้งหญิง ชาย และเด็ก ระหว่างถูกกักตัวอัดแน่นอยู่ในโกดังย่านปาดังเบซาร์และด่านนอก อ.สะเดา จ.สงขลา ตั้งแต่เปิดศักราช 2556 มาได้เพียง 10 วัน นับรวมถึงวันนี้ก็ราวๆ 900 คนแล้ว
เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาหลบหนีเข้าเมือง แต่กำลังโยงใยไปถึงขบวนการค้ามนุษย์ที่ไทยถูกกล่าวหาเป็น "ศูนย์กลาง" มาเนิ่นนาน และยังทำให้ปัญหาของ "มุสลิมโรฮิงญา" ชาติพันธุ์ที่ไม่มีใครต้องการ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างจริงจังอีกครั้ง
จำนวนชาวโรฮิงญาที่เจ้าหน้าที่รัฐให้ความช่วยเหลือ ณ วันพฤหัสบดีที่ 17 ม.ค.พุ่งไปถึง 897 คนแล้ว จำนวนหนึ่งถูกส่งกระจายไปพักพิงชั่วคราวในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ ทั้ง จ.สงขลา นราธิวาส ตรัง ปัตตานี และพังงา เพื่อลดความแออัดระหว่างรอดำเนินการทางคดี รวมถึงรอแนวทางการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งยังไม่ชัดนักว่าจะผลักดันกลับประเทศต้นทางหรือส่งต่อไปยังประเทศที่สาม
ทว่าการถูกส่งกลับประเทศเมียนมาร์ (พม่า) ต้นทางที่พวกเขาส่วนใหญ่หลบหนีมา คือสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ!
รู้จัก"โรฮิงญา" รู้จัก"อาระกัน"
กัณหา แสงรายา นักเขียน นักประวัติศาสตร์ และนักค้นคว้าตัวยง เคยเขียนบทความเกี่ยวกับโรฮิงญาเอาไว้ในเว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศราเมื่อหลายปีก่อน เป็นบทความยาวหลายตอนชื่อ "สภาพและรากเหง้าปัญหาโรฮิงยา" สรุปความได้ว่า "โรฮิงยา" (เขียนตามบทความเดิมของกัณหา) คือชนพื้นเมืองดั้งเดิมของแคว้นโรฮัง (Rohang) ชื่อเก่าแก่ของรัฐอาระกัน อดีตเคยเป็นรัฐเอกราช ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมาร์
รัฐอาระกัน หรือ "ยะไข่" ตั้งอยู่บริเวณอ่าวเบงกอลทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า มีพรมแดนประชิดติดกับบังคลาเทศซึ่งมีแทบทุกอย่างที่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นภาษาเบงกาลี-จิตตะกองศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ และรูปร่างหน้าตาแบบคนเอเชียใต้ แตกต่างกับพม่าแทบทุกอย่าง
แม้โรฮิงยาจะเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของแคว้นโรฮัง แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่บรรพบุรุษของพวกเขาย้ายมาจากจิตตะกองในเบงกอล โดยอังกฤษเป็นผู้นำเข้ามาระหว่างปี ค.ศ.1826-1948 (พ.ศ.2369-2491) ในยุคล่าอาณานิคม เพื่อใช้แรงงานในภาคการเกษตร การก่อสร้าง และอื่นๆ
ชาวอาระกันเข้ารับศาสนาอิสลามตั้งแต่ศตวรรษที่ 7-8 อันเป็นยุคแรกๆ ของศาสนาอิสลาม คนกลุ่มนี้สามารถสร้างอาณาจักรอิสระของตนเองได้โดยใช้ภาษาเปอร์เซียเป็นภาษาในราชสำนัก ในบางช่วงแคว้นอาระกันก็ตกอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์เบงกอล ซึ่งเป็นธรรมดาของรัฐโบราณที่ไม่มีเขตแดนแน่นอน จะมีก็แต่เขตอิทธิพลของใครเข้มข้นกว่ากันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ดินแดนอาระกันส่วนใหญ่น่าจะตกอยู่ภายใต้ราชวงศ์มรัก-อู (Mrauk-U) ซึ่งเป็นราชวงศ์ของชาวพุทธอาระกันที่ได้รับอิทธิพลจากขนบธรรมเนียมแบบอิสลาม
อาระกันถูกพม่ารุกรานมาตลอด และยังเป็นพื้นที่สู้รบแย่งชิงของบรรดาชาตินักล่าอาณานิคม เช่น โปรตุเกส ฝรั่งเศส และอังกฤษด้วย แต่อาระกันก็ตกเป็นของพม่าโดยเด็ดขาดเมื่อ ค.ศ.1784 (พ.ศ.2327) ในสมัยพระเจ้าปะดุง หรือ "โบดอว์พญา" แต่พม่าก็ครอบครองอาระกันได้เพียงแค่ 42 ปีเท่านั้น คือในระหว่างปี ค.ศ.1784-1826 (พ.ศ.2327-2369) เพราะสงครามระหว่างอังกฤษกับพม่าทำให้อังกฤษครอบครองพม่าและดินแดนของชนกลุ่มน้อยต่างๆ
อังกฤษมอบเอกราชให้แก่พม่าเมื่อ 4 ม.ค.1948 (พ.ศ.2491) ขณะนั้นอาระกันเป็นเขตปกครองตนเองในสหภาพพม่า "อูนุ" ได้จัดตั้งรัฐบาลและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังได้รับเอกราช แต่ต้องประสบปัญหาวิกฤติรัฐธรรมนูญ สุดท้าย "นายพลเนวิน" บังคับให้ อูนุ ลาออก
ปี ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) นายพลเนวินทำรัฐประหารและประกาศยกเลิกรัฐปกครองตนเองอาระกัน (Arakanese autonomy) นับตั้งแต่นั้นมาอาระกันก็ลุกเป็นไฟที่ราวกับไม่มีวันมอดดับ เพราะชาวโรฮิงยาถูกปฏิเสธความเป็น "พลเมืองพม่า" (รับรองเฉพาะชาวอาระกัน) ทำให้พวกโรฮิงยากลายเป็นคนไร้รัฐ แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ไม่ได้รับรองความเป็นพลเมืองหรือสัญชาติของชาวโรฮิงยา
ประมาณการณ์กันว่าชาวโรฮิงยาเคยมีประชากรราว 3.5 ล้านคน แต่ปัจจุบันน่าจะเหลือเพียงครึ่ง เนื่องจากตกเป็นเหยื่อทารุณกรรม ผลักดันให้พ้นเขตแดน และอพยพหลบหนีจากแผ่นดินเกิด ทั้งข้ามไปบังคลาเทศ และล่องเรือเข้าน่านน้ำไทยเพื่อผ่านไปยังประเทศที่สาม
ชะตากรรมของชาวโรฮิงยา พวกเขาต้องโดนทั้งการฆาตกรรมและการล่าสังหาร การทรมานและการข่มขืน การบังคับย้ายถิ่นฐาน การบังคับใช้แรงงาน การเรียกเก็บภาษีตามอำเภอใจ ถูกขับไล่ไสส่ง บ้านเรือนถูกทำลาย แม้กระทั่งการแต่งงานหรือการปฏิบัติศาสนกิจก็ยังถูกห้าม
ต้นกำเนิดขัดแย้งชาติพันธุ์
ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังเพิ่มเติมถึงรัฐอาระกันในแง่ภูมิศาสตร์และสภาพปัญหาที่เชื่อมโยงถึงปัจจุบันว่า ทำเลที่ตั้งของรัฐอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า มีแม่น้ำนาฟกั้นเขตแดนระหว่างรัฐอาระกันกับบังคลาเทศ
ในแง่ของประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ อาระกันเป็นอาณาจักรโบราณที่มีความรุ่งเรือง เป็นอาณาจักรแบบพุทธผสมอิสลาม คณะผู้ปกครองก็เป็นกษัตริย์พุทธผสมสุลต่านที่มีความสัมพันธ์กับสุลต่านในเบงกอล บังคลาเทศ หมุนสลับกันเป็นช่วงๆ โดยอาระกันเป็นอาณาจักรร่วมสมัยกับอยุธยาและพะโค เป็นศูนย์กลางการค้า มีพ่อค้าอาหรับเข้ามา จนเกิดกระแสอิสลามภิวัฒน์จากตะวันออกกลาง
ในประวัติศาสตร์ยุคโบราณของอาระกันไม่เห็นความขัดแย้งเด่นชัด กระทั่งพระเจ้าปะดุงของพม่าพิชิตอาระกันได้สำเร็จ นับจากนั้นก็มีการเชิญชวนคนมุสลิมเข้าไปอยู่ที่อังวะ และมีประชากรพุทธบางส่วนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในอาระกัน
สมัย นายพลเนวิน (พม่ายุคใหม่หลังได้รับเอกราชและมีการรัฐประหาร ปกครองแบบรัฐบาลทหาร) มีการเปิดยุทธการทางทหาร ใช้กองทัพพม่าเข้าไปขับไล่โรฮิงญา บ้างก็ตกทะเล บ้างก็ข้ามแดนไปบังคลาเทศ เป็นปฐมบทความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และเชื้อชาติในรัฐอาระกัน เพราะรัฐบาลพม่าอพยพคนไทยพุทธเข้าไป แล้วสร้างแนวร่วมชาวยะไช่ที่เป็นพุทธ ตั้งหมู่บ้าน ตั้งชุมชนไปล้อมกรอบโรฮิงญา
"รัฐบาลทหารพม่าทุกยุคมีกรอบคิดเกี่ยวกับโรฮิงญาในแง่ลบ มองว่าเป็นต่างด้าวนอกคอก นอกวง แตกต่างจากคนพม่าทั่วไป สงสัยว่ากลุ่มเหล่านี้อาจเชื่อมต่อกับกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศในตะวันออกกลาง ขณะที่รัฐบาลบังคลาเทศก็ไม่ต้อนรับโรฮิงญา แต่รัฐบาลทหารพม่ามองว่ามีสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างกัน จึงสุ่มเสี่ยงกับพม่า เพราะพม่าขัดแย้งกับบังคลาเทศด้วย" ดุลยภาค กล่าว
ปะทะใหญ่ 2 ระลอกปี 55
แม้ปัจจุบัน "พม่า" หรือ "เมียนมาร์" ได้ส่งสัญญาณเปิดประเทศ มีการจัดการเลือกตั้ง มีรัฐบาลพม่ายุคใหม่ที่อ้างตัวเป็นรัฐบาลพลเรือน มีประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่มีท่าทีรอมชอม มุ่งสร้างสันติสมานฉันท์ และอยู่ในกระบวนการเสริมสร้างประชาธิปไตย ทว่าเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2555) ก็ยังเกิดความรุนแรงขึ้นในรัฐอาระกัน หรือยะไข่ จนกระบวนการประชาธิปไตยและสันติภาพของรัฐบาลใหม่พม่าถูกตั้งคำถาม
เดือน มิ.ย.2555 ชาวพุทธกับโรฮิงญาในรัฐยะไข่ได้เปิดศึกปะทะกันครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 90 คน บาดเจ็บอีกกว่าร้อยคน ไร้ที่อยู่อาศัยอีกอย่างน้อย 70,000 คน หลังจากบ้านเรือนกว่า 4 พันหลังถูกเผาเช่นเดียวกับมัสยิด 17 แห่ง วัด 15 แห่ง และโรงเรียนอีก 3 โรง กระทั่งรัฐยะไข่ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินและประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ 6 เมือง ก่อนจะขยายเพิ่มอีก 2 เมืองรวมเป็น 8 เมือง ส่งผลให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนเตือนว่าอาจเกิดวิกฤติด้านมนุษยธรรม
21-23 ต.ค.2555 ชุมชนชาวพุทธกับมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ปะทะกันอีกรอบ มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย บาดเจ็บจำนวนมาก บ้านเรือน 300 หลังคาถูกเผา ขณะที่รัฐบาลพม่าตัดสินใจประกาศเคอร์ฟิวในรัฐยะไข่
การจัดการปัญหาโรฮิงญาเป็นเรื่องซับซ้อนในเมียนมาร์ เพราะผู้คนพม่าจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้สึกอคติและเกลียดชังชาวโรฮิงญา เห็นได้จากช่วงหลังเหตุปะทะกันระลอกแรกเมื่อเดือน มิ.ย.2555 พระพม่าหลายร้อยรูปในเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ออกเดินรณรงค์สนับสนุนข้อเสนอให้ประธานาธิบดีเตงเส่ง ขับชาวโรฮิงญาออกไปอยู่ประเทศอื่น
พระรูปหนึ่งให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่า กิจกรรมครั้งนี้ทำเพื่อเปิดเผยให้โลกรู้ว่าพม่าไม่ยอมรับชาวโรฮิงญาว่าเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งของประเทศ ถึงแม้พม่าจะมีชนกลุ่มน้อยอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม
ขณะที่ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ก็ยังเคยแสดงท่าทีทำนองว่า "เป็นไปไม่ได้ที่พม่าจะยอมรับชาวโรฮิงญาที่อพยพเข้ามาอย่างผิดกฎหมายว่าเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งของพม่า" และยังเสนอความเห็นให้ส่งชาวโรฮิงญาออกไปประเทศอื่น หรือให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จัดค่ายอพยพให้อยู่เป็นการเฉพาะ
ท่าทีของประธานาธิบดีเต็งเส่ง สะท้อนว่าพม่ามองว่าโรฮิงญาเป็นผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจากบังคลาเทศ ในขณะที่บังคลาเทศก็ไม่ยอมรับชาวโรฮิงญาเช่นกัน โดยอ้างว่าเป็นประชากรของประเทศอื่น เพราะบังคลาเทศก็เป็นประเทศยากจน มีประชากรแออัดอยู่แล้ว คนบังคลาเทศจึงเกรงว่าหากปล่อยให้โรฮิงญาเข้ามา ก็จะมาแย่งงานพวกตน
อย่างไรก็ดี หลังจากถูกกดดันอย่างหนักอย่างยูเอ็นและประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศมุสลิม ทำให้ประธานาธิบดีเต็งเส่งต้องปรับท่าที ด้วยการส่งจดหมายถึงยูเอ็นว่าจะเร่งแก้ไขปัญหานี้ และพิจารณาให้สิทธิพลเมืองแก่ชาวโรฮิงญา
ไปตายเอาดาบหน้า
แม้ปัญหาการอพยพหนีการคุกคามและความทุกข์ยากจากพม่าด้วยการลอยเรือที่บางลำไม่มีแม้แต่ "เครื่องยนต์" อาศัยแรงลมพัดสู่น่านน้ำไทยเพื่อผ่านต่อไปยังประเทศที่สาม จะเกิดขึ้นซ้ำๆ มานานนับสิบปีแล้ว ทว่าที่ผ่านมาก็ไม่เคยปรากฏการนำชาวโรฮิงญามากักไว้มากมายนับพันคนเช่นนี้
ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าเหตุรุนแรงที่รัฐยะไข่เมื่อปี 2555 ส่งผลให้มีชาวโรฮิงญาทิ้งถิ่นไปตายเอาดาบหน้ามากกว่าเดิม ขณะที่ขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติและค้ามนุษย์ ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พบเหยื่อชาวโรฮิงญาสูงขึ้น
รายงานของฝ่ายความมั่นคงไทย ระบุว่า กลุ่มโรฮิงญาจะรวมตัวกันจัดหาเรือประมงขนาดเล็กที่อยู่ในสภาพเก่าเพื่อใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทาง โดยอาศัยแผนที่และเข็มทิศมุ่งหน้าไปยังเกาะนิโคบา แล้วจึงพยายามเข้าไทยด้าน จ.ระนอง ซึ่งจะใช้ห้วงเวลาเดินทางในทะเลประมาณ 15 วัน ระยะทางประมาณ 780 ไมล์ทะเล หรือ 1,400 กิโลเมตร
ทั้งนี้ การเดินทางของชาวโรฮิงญามีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
1.จากชายแดนจังหวัดค๊อกซีสบาซาร์ ประเทศบังคลาเทศ อ้อมหมู่เกาะอันดามันของอินเดีย มุ่งหน้าไปทางเกาะนิโคบา ใช้เวลาประมาณ 10-12 วัน ส่วนมากเป็นเรือขนาดใหญ่ และเดินทางต่อไปทางทิศตะวันออก เข้าน่านน้ำไทยที่ จ.ระนอง และพังงา
2.จากชายแดนอำเภอมองดอ จังหวัดซิตต่วย (ซิตตะเว) รัฐอาระกัน ของพม่า ผ่านน่านน้ำพม่าภาคอิรวดี เกาะโกโก้ รัฐมอญ ภาคตะนาวศรี เข้าเขตน่านน้ำไทยด้าน จ.ระนอง
สำหรับเป้าหมายหลักที่แท้จริงซึ่งกลุ่มโรฮิงญาต้องการเดินทางไปคือประเทศที่สาม โดยเฉพาะมาเลเซีย เนื่องจากรายได้ดี มีงานมาก ประกอบกับมีแนวคิดว่าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ประจำมาเลเซีย มีความอ่อนตัวในการดำเนินการต่อชาวโรฮิงญา เนื่องจากเป็นมุสลิมเหมือนกัน จึงน่าจะผลักดันให้การรับรองสถานภาพ "ผู้หนีภัยการสู้รบ" ง่ายกว่าประเทศไทย ประกอบกับประเทศในแถบตะวันออกกลางเองก็มีความนิยมใช้แรงงานซึ่งเป็นมุสลิมมากกว่า ทำให้นายหน้าค้าแรงงานซึ่งอยู่ในมาเลเซียทั้งที่อยู่ในขบวนการค้าแรงงานหรือในรูปแบบของสมาคมของกลุ่มประเทศอาหรับมีการบริจาคเงินและดูแลให้ความช่วยเหลือที่ดีกับชาวโรฮิงญามากกว่าแรงงานต่างด้าวกลุ่มอื่น
อย่างไรก็ดี ในระยะหลังเนื่องจากมีกลุ่มโรฮิงญาที่ต้องการอพยพและย้ายถิ่นเพื่อมาหางานทำมากขึ้นในลักษณะทวีคูณ ทำให้เกิดขบวนการลักลอบนำพากลุ่มคนเหล่านี้เข้าไทยและมาเลเซีย โดยจะมีการเรียกเก็บเงินคนละ 20,000-50,000 จั๊ต (ประมาณ 1,000 บาท) เพื่อจัดซื้อเรือพร้อมอาหารและน้ำดื่มในระหว่างการเดินทาง ส่วนเครือข่ายขบวนการจะได้รับผลประโยชน์จากการขายชาวโรฮิงญาให้กับนายจ้างปลายทางในประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยจะมีราคาระหว่าง 50,000-100,000 บาทต่อคน อายุระหว่าง 12-25 ปี
แหล่งข่าวจากหน่วยตำรวจ ระบุว่า งานที่ชาวโรฮิงญาเข้าไปทำในมาเลเซีย คือลูกจ้างกรีดยางพารา คนงานก่อสร้าง และรับจ้างทั่วไป ที่ผ่านมาเมื่อเรือลอยลำเข้าน่านน้ำไทยที่ จ.ระนอง จะมีขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติไปรับตามเกาะแก่งต่างๆ และพาขึ้นรถยนต์เดินทางเข้ามาเลเซียทันที โดยไม่ค่อยมีการแวะพักที่ จ.สงขลา
แหล่งข่าวรายนี้เชื่อว่า สาเหตุที่มีการแวะพักจนมีชาวโรฮิงญาสะสมเป็นจำนวนมากนับพันคนตามโกดังริมชายแดนไทย-มาเลเซียด้าน อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นเพราะด้านหนึ่งไม่สามารถผ่านแดนด้านสามจังหวัด (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ได้ เนื่องจากมีด่านความมั่นคงคุมเข้มเป็นพิเศษ ขณะที่อีกด้านหนึ่งอาจติดปัญหาบางประการในมาเลเซีย เบื้องต้นทราบว่าชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ถูกกักตัวอยู่นานนับเดือนแล้ว
มุสลิมใต้ส่งใจถึงโรฮิงญา
แง่มุมดีๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องร้ายๆ เกี่ยวกับชะตากรรมของชาวโรฮิงญาก็คือ น้ำจิตน้ำใจของคนไทย โดยเฉพาะคนมุสลิม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมุสลิมจากชายแดนใต้ ที่ให้ความช่วยเหลือทั้งด้านที่อยู่ที่อาศัย อาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค
หลายมัสยิดเปิดประตูให้ชาวโรฮิงญาเข้าไปพักพิง...
เมื่อปีที่แล้ว ช่วงที่เกิดเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ กลุ่มนักศึกษา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จัดกิจกรรมที่หน้ามัสยิดกลางงหวัดปัตตานี เพื่อร้องขอความเป็นธรรมและรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญา
ในวันนั้นเครือข่ายนักศึกษาได้ออกแถลงการณ์เอาไว้อย่างชัดเจน เสมือนเป็นการสะท้อนมุมมองของมุสลิมใต้ต่อมุสลิมโรฮิงญา คือ 1.เครือข่ายนักศึกษาขอประณามการกระทำที่โหดร้าย ทารุณ ป่าเถื่อน ด้วยการเข่นฆ่าทำลายชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องชาวโรฮิงญา 2.เครือข่ายนักศึกษาขอเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าหยุดเข่นฆ่าและอยู่เบื้องหลังการกระทำอธรรม แล้วเปิดโอกาสให้ชาวโรฮิงญาใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพตามหลักสิทธิมนุษยชน 3.ขอให้รัฐบาลพม่ารับผิดชอบต่อการหลั่งเลือด 4.ขอเชิญผู้นำโลกมุสลิม บรรดาอุลามาฮ์ องค์กรทางศาสนา องค์กรนักศึกษาและพี่น้องมุสลิมทุกท่านช่วยกันสนับสนุนการยับยั้งอธรรม พร้อมบริจาคเงินช่วยเหลือพี่น้องโรฮิงญา
ข้ามมาปีนี้ ปรากฏเหตุการณ์ที่ชาวโรฮิงญาตกระกำลำบากอีกครั้ง หนำซ้ำยังเกิดในประเทศไทยด้วย ทำให้กระแสความเห็นอกเห็นใจและการให้ความช่วยเหลือดำเนินไปอย่างกว้างขวาง
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ม.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา นายวิสุทธิ์ บินล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี พร้อมตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ในนามสำนักจุฬาราชมนตรีและองค์กรมุสลิม กรณีผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญา โดยมีจุดยืน 3 ข้อ คือ
1.ขอให้ประชาชนไทยเห็นใจชาวโรฮิงญา เพราะต้องเผชิญกับเหตุการณ์อันเลวร้าย ทำให้สูญเสียชีวิตของผู้เป็นที่รัก ทรัพย์สิน ตลอดจนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ จนไม่อาจทนอยู่ในแผ่นดินที่เกิดได้ จึงต้องหลบหนีมาอาศัยแผ่นดินไทยเป็นที่หลบลี้หนีภัย และขอให้พี่น้องชาวไทยและมุสลิมทั่วประเทศไทยร่วมบริจาคเงินและอาหารเพื่อการยังชีพแก่พี่น้องผู้ตกทุกข์ได้ยากเหล่านี้ โดยสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาจะเป็นศูนย์กลางการรับบริจาคจากทุกภาคส่วน
2.ขอให้รัฐบาลไทยคำนึงถึงมนุษยธรรม ไม่ส่งตัวคนเหล่านี้กลับไปยังประเทศเมียนมาร์ ตราบใดที่สถานการณ์ยังไม่กลับคืนสู่ภาวะปกติ และอาจส่งตัวคนเหล่านี้ไปยังประเทศที่สามตามความสมัครใจของผู้ลี้ภัยเอง
ส่วนสถานที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญานี้ หากไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองและกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ องค์กรที่ร่างแถลงการณ์ทั้งหมดยินดีให้ใช้มัสยิดกลางจังหวัดสงขลาเป็นสถานที่พักพิงแก่ชาวโรฮิงญาที่ไม่มีคดีอาญาติดตัว จนกว่าจะสามารถจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมได้
3.ขอให้ประเทศโลกมุสลิม และองค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานของยูเอ็นที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ให้ประสานงานกับประเทศที่สามเพื่อจัดหาที่ลี้ภัย พร้อมทั้งเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลเมียนมาร์ให้ยอมรับความเป็นพลเมืองของชาวโรฮิงญาเฉกเช่นชาติพันธุ์อื่น
ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาได้เปิดบัญชี สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.สงขลา (กองทุนช่วยเหลือชาวโรฮิงญา) ลขที่ 934-1-48557-6 ธนาคารอิสลามแห่งประไทย สาขาหาดใหญ่ เพื่อรับบริจาคจากประชาชนทั่วไปด้วย
ปัญหาที่ตีบตันทางออก
ถึงนาทีนี้ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลไทยจะจัดการปัญหาโรฮิงญาอย่างไร แต่จุดยืนที่ปรากฏและไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงคือการไม่ยอมตั้ง "ศูนย์อพยพ" เพื่อดูแลชาวโรฮิงญาแน่ๆ เพราะไทยมีบทเรียนที่ไม่ค่อยดีนักมาแล้วจากการ "เปิดศูนย์" ดูแลม้งลาว และชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะกะเหรี่ยง
แต่ที่แน่ๆ อีกประหนึ่งก็คือ การผลักดันชาวโรฮิงญาออกไปโดยไม่สนใจชะตากรรม หรือการส่งกลับเมียนมาร์โดยที่รัฐบาลเมียนมาร์ยังไม่ปรับท่าที น่าจะไม่สามารถกระทำได้ เพราะประชาคมโลกจับจ้องอยู่ ล่าสุด ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ก็เพิ่งออกมาเตือนรัฐบาลว่าอย่าผลีผลามผลักดันชาวโรฮิงญา
ทั้งหมดนี้ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างซับซ้อนและน่าจะใช้เวลาไม่น้อย ทั้งยังอาจมีความขัดแย้งเกิดขึ้นได้อีกด้วย โดยเฉพาะจุดยืนไทยที่จะไม่ยอมให้สถานะ "ผู้หนีภัยจากการสู้รบ" ค่อนข้างแน่ แต่จะให้สถานะ "ผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย" เท่านั้น ขณะที่องค์กรอย่างสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) พยายามเปิดกว้างการให้สถานะ "ผู้หนีภัยจากการสู้รบ" อันจะส่งผลให้ไดสิทธิ "ลี้ภัย" ไปประเทศที่สามได้ในที่สุด
โดยระหว่างที่รอประสานงานกับประเทศที่สาม ก็ต้องพำนักอยู่ในไทยไปพลางๆ ก่อน จุดนี้จะกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวและแหลมคมตามมา
ส่วนการแก้ไขปัญหาโรฮิงญาในภาพใหญ่ แม้ฝ่ายความมั่นคงไทยจะเสนอมาตลอดว่า ต้องกดดันทุกทางเพื่อให้เมียนมาร์รับชาวโรฮิงญากลับไป โดยครั้งนี้อาจใช้กลไกระดับอาเซียน แต่ตลอดมาก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากเมียนมาร์ และอ้างคำเดิมว่าไม่ใช่ประชากรของตน
จับตา "ยะไข่โมเดล" ซ้ำรอยไฟใต้
ดุลยภาค ปรีชารัชช วิเคราะห์อนาคตของปัญหาโรฮิงญาและสถานการณ์ในรัฐยะไข่ว่า หากทั้งชาวพุทธและมุสลิมมีความขัดแย้งบานปลายจนแพร่ระบาดและยากควบคุม จะส่งผลต่อแผนปฏิรูปประเทศของเมียนมาร์อย่างแน่นอน เพราะความเป็นประชาธิไตยต้องยอมรับความต่างทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม
ดุลยภาค อธิบายต่อว่า อาระกันไม่ใช่พื้นที่ชายแดนปกติ แต่เป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อความมั่นคงของพม่าหลายประการ
หนึ่ง คือ ทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้มหาอำนาจสนใจรัฐอาระกัน ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์เป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงจากชาติตะวันตกได้ง่าย และชาติตะวันตกอาจใช้ข้ออ้างนี้เพื่อรุกคืบเข้ามา โดยมีเป้าหมายที่แท้จริงคือทรัพยากร
สอง คือ รัฐอาระกัน หรือยะไข่ เป็นด่านหน้าของความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่แพร่เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเคยมีปัญหามานาน และการจัดการหลังจากนี้อาจเกิดโมเดลคล้ายๆ กับในอาเจะห์ (ประเทศอินโดนีเซีย) หรือในจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ หรือของไทยก็เป็นได้
สำหรับ "ซีนารีโอ" หรือ "ฉากทัศน์" ของปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่ ดุลยภาค วิเคราะห์ความเป็นไปได้เอาไว้ 2 แนวทาง คือ
1.รัฐบาลพม่าสามารถปิดเกมได้ เพิ่มตำรวจ ทหารเข้าไปปฏิบัติการกดดัน เมื่อสถานการณ์สงบมีเสถียรภาพพอสมควร รัฐบาสลพม่าอาจใช้นโยบายหรือการโฆษณาบางอย่าง เช่น บอกว่าจะทบทวนสิทธิ เพื่อลดแรงกดดันจากประชาคมโลก แต่ปัญหาจริงๆ ก็ยังยืดเยื้อต่อไป
2.รัฐบาลพม่าสามารถจัดระเบียบควบคุมสถานการณ์ได้ แต่มีโอกาสถูกนานาชาติแทรกแซงภายใต้เกมการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อแย่งชิงทรัพยากรพลังงานและแผ่อิทธิพลในพม่า รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
3.รัฐบาลพม่าคุมเกมไม่ได้ เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือสงครามเชื้อชาติ จะเป็นตัวกระตุ้นให้ยูเอ็นเข้าไปแสดงบทบาท และอาจเป็นโดมิโนให้มีการแพร่ระบาดของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ผสมกับอิทธิพลการเมืองทั้งภายในและภายนอกทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอาระกันเป็นด่านหน้า
โจทย์ที่ต้องมองให้ออกก็คือ อาเซียนจะเข้ามามีบทบาทแค่ไหน รัฐบาลเมียนมาร์ในปัจจุบันจะคุมได้จริงหรือเปล่า...
แต่ไม่ว่าผลลัพธ์ของสถานการณ์จะพลิกออกหน้าไหน ดูเหมือนชาวโรฮิงญาก็ยังไม่พ้นชะตากรรมการเป็น "คนไร้รัฐ" ที่อาภัพที่สุดในโลก!
------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ชาวโรฮิงญาที่ได้รับความช่วยเหลือหลังถูกกักตัวในโกดังตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซียด้าน อ.สะเดา จ.สงขลา (ภาพโดย สุเมธ ปานเพชร)
ขอบคุณ :
1 ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์จากงานเขียนของ กัณหา แสงรายา เรื่อง "สภาพและรากเหง้าของปัญหาโรฮิงยา" เคยนำเสนอบนเว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศรา ปัจจุบันหาลิงค์ไม่ได้แล้ว แต่ยังอ่านฉบับเต็มได้ในลิงค์ของเว็บไซต์มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ
ตอนที่ 1 http://www.muslim4peace.net/dp6/?q=node/438
ตอนที่ 2 http://www.muslim4peace.net/dp6/?q=node/534
2 บทสัมภาษณ์ ดุลยภาค ปรีชารัชช บางส่วนสรุปมาจากบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท โดยได้รับอนุญาตและคำแนะนำจากผู้ให้สัมภาษณ์ (อาจารย์ดุลยภาค)