พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ : ชายแดนใต้ไม่ถูกแบ่งแยก...แม้มี “นครปัตตานี”
แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
กระแสเรื่อง “นครปัตตานี” ยังไม่จบ เพราะแม้รัฐบาลประชาธิปัตย์จะแสดงจุดยืนชัดว่าไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องขยับเนื้อขยับตัวตอบรับกับกระแสที่แรงร้อนในพื้นที่พอสมควร ล่าสุดนายกฯเตรียมแก้กฎหมาย 4 ฉบับรวดเพื่อยกเครื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น นำร่องพื้นที่จังหวัดชายแดน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขับเคลื่อนประเด็นว่าด้วย “นครปัตตานี” โดยเฉพาะการจัดเวทีสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย : ความฝันหรือความจริง?” ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีน้ำหนักมากขึ้นเมื่อ “สถาบันพระปกเกล้า” เป็นหนึ่งในองค์กรร่วมจัดและให้การสนับสนุน
เป็นสถาบันพระปกเกล้า ในส่วนของสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล ซึ่งมี พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ เป็นผู้อำนวยการ
น่าสนใจว่าบุคลากรจากสถาบันแห่งนี้ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการวิจัย และเป็นองค์กรยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มองปัญหาภาคใต้อย่างไร และมอง “นครปัตตานี” อย่างไร...ลองฟังจาก พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ
“ที่จริงเรื่องนครปัตตานีไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการพูดคุยกันมานาน และผมไม่ได้รู้สึกตื้นเต้นเหมือนที่ภาครัฐฟังคำประกาศออกมาแล้วเหมาว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน ส่วนตัวผมไม่ได้คิดว่าพี่น้องในพื้นที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ถ้าหากคิดว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน ผมไปสู้ในสนามรบดีกว่ามาสู้กันอย่างนี้
เท่าที่ผมดูตัวเลขจากการเลือกตั้งปี 2550 (23 ธ.ค.2550 ช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) คนในพื้นที่นี้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่า 70% และเป็นแบบนี้เกือบทุกปี สิ่งนี้เป็นตัวบ่งบอกว่าเขายังต้องการอยู่ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ ไม่ใช่ต้องการแบ่งแยกดินแดน
ถามว่ากลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกมีไหม...ก็มี แต่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ ผมคิดว่าถ้าพวกเขาต้องการแบ่งแยกจริง คงไม่ออกมาเลือกตั้งมากอย่างนี้หรอก เลือกตั้งแค่ 5% ให้รู้ไปเลยว่าเขาไม่ชอบระบอบการปกครองนี้ กลับกันถ้าเราย้อนไปมองเขตปกครองพิเศษอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนมาเลือกตั้งแค่ 50% อย่างมาก 60% แสดงว่าคนไม่สนใจระบอบประชาธิปไตยเลย
จุดหลักที่ผมดู การที่จะเกิดนครปัตตานีขึ้นได้ ผมว่าเป็นกระแสของการเมืองภาคประชาชนในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นพูดคุยเป็นสิ่งที่ดี จริงๆ แล้วการจัดเวทีเพื่อพูดคุยกันแบบนี้เป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองไม่ค่อยทำเรื่องเช่นนี้ให้ประชาชนมากนัก ทั้งๆ ที่หน้าที่ของพรรคการเมืองคือสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชน ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 7 ทรงตรัสเอาไว้ว่า การจะมีระบอบประชาธิปไตยได้ ต้องให้ความรู้กับประชาชนก่อน แล้วให้ประชาชนปกครองตนเอง”
O กระบวนการนับจากนี้จะเป็นอย่างไร ประชาชนเสนอกฎหมายเองได้เลยหรือไม่?
แนวทางตามกระบวนการทางกฎหมายผมคิดว่าเสนอได้ แต่มันก็มีขั้นตอนของมัน โดยเฉพาะการจะออกพระราชบัญญัติ จะทำแบบรวดรัดไม่ได้
ตอนนี้ก็มีคนเสนอหลายรูปแบบ ทั้งทบวง (ตามข้อเสนอของนักวิชาการบางกลุ่ม และพรรคมาตุภูมิ) สบ.ชต. (สำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นแนวทางของ ส.ส.ใต้บางกลุ่มในพรรคประชาธิปัตย์) หรือ ครม.ภาคใต้ (แนวทางที่รัฐบาลดำเนินการมาเกือบ 1 ปี) ซึ่งมันมีความพิเศษอยู่แล้ว แต่ถ้าถามผม...ผมไม่เห็นด้วย คุณเห็นว่าปัญหาภาคใต้เป็นมาแล้วร้อยปี คุณจะแก้ปัญหาในช่วงระยะเวลาทำงานของรัฐบาลที่เหลือแค่ 2-3 ปีหรือ คิดว่าแก้ได้ไหม ถ้าคิดว่าแก้ไม่ได้ อย่าเอารูปแบบอะไรที่ไม่ยั่งยืนมาใช้ ต้องเอารูปแบบที่ยั่งยืน คือรัฐบาลชุดนี้ไปแล้ว รัฐบาลใหม่มาก็ยังใช้ได้ต่อไปได้ ต้องเอารูปแบบนั้นมา การใช้โครงสร้างของ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) แก้ปัญหาภาคใต้ ผมว่าไม่สามารถทำให้เกิดการแก้ไขยั่งยืนได้
O อยากให้วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ว่าเป็นอย่างไร ถูกทางหรือไม่?
รัฐไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนครปัตตานี เสมือนหนึ่งว่าต้องปกป้องตนเอง เพราะถ้าไปเห็นด้วยเมื่อไหร่ กลัวคนที่อยู่พื้นที่รอบนอกจะไม่เข้าใจและนำไปโจมตีรัฐบาลได้ว่าเป็นผู้ที่ทำให้เสียแผ่นดิน ซึ่งผมคิดว่าเรื่องอย่างนี้มันไม่น่าจะเกิดในยุคนี้แล้ว ขนาดนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย นายนาจิบ ราซัก ท่านยังแสดงจุดยืนเรื่องแบ่งแยกดินแดนว่าไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หรือบางฝ่ายที่ออกมาติดป้ายทำนองให้นำปัตตานีไปรวมกับมาเลเซีย เรื่องแบบนี้มันไม่มีทางเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าขอให้เกิดองค์กรในรูปแบบที่ประชาชนเขาต้องการ แล้วฝ่ายรัฐเข้ามาสนับสนุน มันถึงเวลาแล้วที่รัฐควรจะสนับสนุนไม่ใช่ชี้นำ ทุกวันนี้และที่ผ่านมาทั้งหมดฝ่ายรัฐเป็นผู้ชี้นำจึงเกิดปัญหา ซึ่งฝ่ายรัฐจะมารู้ดีและเข้าใจกว่าคนในพื้นที่ได้อย่างไร
O แล้วการร่วมจัดเวทีสัมมนาในเรื่องนครปัตตานี เป็นการแสดงบทบาทอะไรของสถาบันพระปกเกล้า?
เวทีวันนี้ (นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความฝันหรือความจริง?) ผมมาในฐานะผู้สนับสนุน ไม่ได้ชี้นำ ดูว่ารูปแบบน่าจะเกิดได้ แต่จะเกิดภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญไทยควรจะเกิดแบบไหน เราก็เพียงแต่ให้ความรู้ความคิดเห็นเท่านั้น
O คิดว่า “นครปัตตานี” มีโอกาสเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน?
จริงๆ แล้วชื่อนั้นสำคัญไฉน จะเป็นชื่อ “นครรัฐปัตตานี” หรือ “ปัตตานีมหานคร” ผมว่าไม่สำคัญ แต่ต้องไปดูในโครงสร้างที่เรานำเสนอว่า โครงสร้างและระบบบริหารจัดการมันสอดคล้องกับวิถีอย่างไรบ้าง วันนี้ประชาชนในพื้นที่ เขาไม่เชื่อใจ เพราะเมื่อไหร่มีการปกครองที่ส่วนกลางเข้ามาครอบงำทั้งหมด มันไม่ได้มีประโยชน์ต่อคนในพื้นที่
ยกตัวอย่าง คนนอกพื้นที่จะตั้งคำถามว่า การมีเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) และอบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) ยังไม่พออีกหรือ แล้วทำไมไม่เอาตรงนี้เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่เสีย ต้องยอมรับว่าองค์กรเหล่านี้ วันนี้ถูกสั่งมาจากส่วนกลางทั้งหมด งบประมาณก็อยู่ส่วนกลาง งบให้กระจายสู่ท้องถิ่นก็ยังทำไม่ได้ทั้งหมด นี่คือปัญหา
ผมคิดว่าถ้าเกิดคนเราไม่ได้รับความเดือดร้อน เขาไม่ต้องการหรอก เช่นเดียวกับคนที่ได้รับความยุติธรรมอยู่แล้ว เขาก็ไม่ต้องการเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะนครปัตตานีหรืออะไร เพราะเขามีความสุขแล้ว แต่ในปัจจุบันนี้ชาวบ้านไม่มีความสุข เขายังเดือดร้อน
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นต่างจากหลายฝ่ายคือ เราจะไปเอาตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ หรือความหนาแน่นของประชาชน ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการตั้งเทศบาลระดับต่างๆ มาใช้กับพื้นที่นี้ไม่ได้ เพราะถึงเขาจะมีประชากรไม่หนาแน่น แต่มีความหนาแน่นเชิงอัตลักษณ์ วัฒนธรรมสูงมาก และเป็นมุสลิมถึง 85% เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงเป็นพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์ ไทยพุทธเป็นชนกลุ่มน้อย ทำอย่างไรถึงจะอยู่ร่วมกันได้มากกว่า
ผมยังมองเลยว่า เรื่องนี้ถ้าเผื่อขับเคลื่อนโดยชาวพุทธ อยากให้เกิดการปกครองพิเศษอย่างนี้ขึ้นมาในพื้นที่ มันน่าจะเกิดได้ง่ายขึ้น โดยมีฝ่ายมุสลิมเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงในพื้นที่นี้แล้ว คนจะถามต่อว่าจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเหตุการณ์ที่สู้รบกันอยู่มันจะจบลง เราก็รับรองไม่ได้อีกนั่นแหละ แต่ผมเชื่อแน่ว่ามันเป็นเชื้อเริ่มต้นที่จะทำให้คนเชื่อมั่นต่อระบบของรัฐมากยิ่งขึ้นกว่าในปัจจุบันนี้
O สรุปว่ารูปแบบการเมืองการปกครองที่เหมาะสมกับวิถีของชาวบ้านในพื้นที่นี้ควรเป็นลักษณะใด?
วันนี้เรื่องนครปัตตานีก็คือการปกครองตนเอง แต่รูปแบบปกครองตนเอง ถ้าถามผม ผมคงไม่พุ่งเป้าหรือฟันธงว่าจะต้องเป็นรูปแบบไหน เพราะมันต้องมาจากฐานความคิดของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ ว่าเขาต้องการรูปแบบใด แล้วรูปแบบนั้นได้ก่อตัวขึ้นมาจากการพูดคุย มีส่วนร่วมด้วยกัน จึงจะออกมาเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดและตรงกับสิ่งที่เขาอยากจะได้ แค่นี้วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ก็จะดีขึ้นเป็นลำดับแล้ว
แต่ผมผมยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังอยู่ที่นี่เหมือนเดิม แต่ต้องการรูปแบบการปกครองที่เหมาะกับวิถีชีวิตของเขา ปัญหาคือรัฐให้พวกเขาได้หรือไม่เท่านั้นเอง