ส่งมอบพื้นที่"จะนะ-นาทวี"สู่พลเรือน...ปลดล็อคความรู้สึกดินแดนอันตราย
แม้การ "ถอนทหาร" จริงๆ จะเริ่มดำเนินการในช่วงกลางปีนี้ตามการชี้แจงของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกองทัพภาคที่ 4 แต่การสับเปลี่ยนกำลังและถ่ายโอนอำนาจการสั่งการในภารกิจรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ได้ทดลองนำร่องแล้วตั้งแต่ต้นปีในพื้นที่ 2 อำเภอของ จ.สงขลา
เป็น 2 อำเภอจาก 4 อำเภอซึ่งเป็น "พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร" หรือพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) คือ อ.จะนะ และ อ.นาทวี (ขณะที่อีก 2 อำเภอคือ อ.เทพา กับ อ.สะบ้าย้อย) ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
พิธีส่งมอบพื้นที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงของทั้ง 2 อำเภอ จัดขึ้นที่วิทยาลัยการอาชีพนาทวี เมื่อวันอังคารที่ 8 ม.ค.2556 โดยมี พล.ต.นพวงศ์ สุรวิชัย ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจสงขลา (ผบ.ฉก.สงขลา) กับ นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสงขลา (ผอ.กอ.รมน.สงขลา) ร่วมพิธี และมีกำลังทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงผู้นำศาสนาทั้งพุทธและอิสลามร่วมเป็นสักขีพยานอย่างพร้อมเพรียง
สาเหตุที่ 2 อำเภอนี้ได้รับเลือกให้เป็น "พื้นที่นำร่อง" เนื่องจากสถานการณ์ด้านความมั่นคงโดยรวมดีขึ้น ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และภาคประชาชนร่วมมือร่วมใจกันดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในระดับหมู่บ้าน ชุมชน และที่สำคัญคือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้แสดงออกถึงการปฏิเสธความรุนแรง และต้องการให้ความสงบสุขกลับคืนมาเหมือนเดิม
การส่งมอบพื้นที่และถ่ายโอนอำนาจครั้งนี้ ยังเป็นสัญลักษณ์ว่า "ฝ่ายทหาร" ซึ่งเดิมเป็นผู้ควบคุมดูแลและกำหนดการปฏิบัติการทั้งหมด ได้ส่งมอบพื้นที่และอำนาจสู่ กอ.รมน.จังหวัด ที่มี "ฝ่ายพลเรือน" เป็นหัวหน้า ซึ่งตามแผนขั้นต่อไปจะมีโครงการส่งมอบพื้นที่ลักษณะนี้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เช่น อ.เบตง จ.ยะลา อ.แว้ง จ.นราธิวาส และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งเฉพาะ อ.แม่ลาน เป็นพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เช่นกัน โดยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นอำเภอแรกของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.2553
ทหารยังเป็น "กำลังหนุน"
นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ก่อนการส่งมอบพื้นที่ อ.จะนะ และ อ.นาทวี ให้ กอ.รมน.จังหวัด รับผิดชอบนั้น ฝ่ายพลเรือนได้ปฏิบัติงานร่วมกับ ฉก.สงขลา อย่างใกล้ชิดมาตลอดเป็นเวลา 6 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางพื้นที่ของ อ.จะนะ และ อ.นาทวี ได้ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ลงไปเฝ้าดูแลโรงเรียนและสถานที่ล่อแหลมต่างๆ อยู่แล้ว และเหตุการณ์ความไม่สงบก็ไม่เกิดขึ้น จึงเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่ทางกองทัพภาค 4 หรือ กอ.รมน.ภาค 4 เห็นชอบให้ฝ่ายพลเรือนรับผิดชอบดูแลพื้นที่ต่อไป
นอกจากนั้น ที่ผ่านมา ฉก.สงขลา ยังสามารถเจรจาทำความเข้าใจผู้ต้องหาคดีความมั่นคง 2 ราย ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ใน อ.จะนะ กับ อ.นาทวี ให้เข้ากระบวนการตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ กระทั่งระงับการดำเนินคดีอาญาอย่างเด็ดขาดด้วย แสดงให้เห็นว่าการทำงานของ ฉก.สงขลา กับฝ่ายพลเรือนประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย กล่าวคือมีผู้ต้องหาคดีความมั่นคงหรือผู้หลงผิดเข้าแสดงตัวมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบลดจำนวนลง
"ตลอดปีที่ผ่านมา ทั้งภาคประชาชน นักวิชาการ เอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน) ได้เรียกร้องให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมดูแลความปลอดภัยพื้นที่ของตนเอง การดำเนินการตรงนี้จึงถือเป็นโครงการนำร่องตามข้อเรียกร้อง และได้มอบหมายให้ผู้นำชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา และผู้นำท้องถิ่น เข้ามามีบทบาทในการดูแลพื้นที่ จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันสนับสนุนเป็นกำลังใจให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และกองกำลังภาคประชาชนด้วย" ผู้ว่าฯสงขลา ระบุ
ส่วนที่มีบางฝ่ายกังวลว่าหากถอนทหารและส่งมอบพื้นที่ให้ฝ่ายพลเรือนแล้ว ถ้าเกิดสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นจะรับมือไหวหรือไม่นั้น นายกฤษฎา กล่าวว่า ฉก.สงขลา ยังมีกองกำลังบางส่วนอยู่ในพื้นที่ และพร้อมเข้าช่วยเหลือฝ่ายพลเรือนได้ทันทีที่มีการร้องขอ จึงไม่มีอะไรต้องกังวลทั้งสิ้น
ไม่เปลี่ยนเป็น "พื้นที่กบดาน"
ขณะที่ พล.ต.นพวงศ์ สุรวิชัย ผบ.ฉก.สงขลา กล่าวว่า การปฏิบัติการด้านความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แบ่งตามความรุนแรงของพื้นที่เป็น 3 ระดับ กล่าวคือ พื้นที่ที่มีความรุนแรงมาก รุนแรงปานกลาง และรุนแรงเบาบาง โดยในส่วนของพื้นที่ที่มีความรุนแรงมากและรุนแรงปานกลาง ฝ่ายทหารจะเป็นกำลังหลักในการปฏิบัติ โดยมีฝ่ายพลเรือนและตำรวจคอยสนับสนุน ส่วนพื้นที่ที่มีความรุนแรงเบาบาง จะให้ฝ่ายปกครองและพลเรือนเป็นหลัก ขณะที่ฝ่ายตำรวจและทหารเป็นหน่วยสนับสนุน
สำหรับพื้นที่ อ.จะนะ กับ อ.นาทวี จัดเป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรงเบาบาง จึงต้องให้ฝ่ายปกครองเป็นหลักในการปฏิบัติ ส่วนทหารก็จะยังอยู่ในพื้นที่เช่นเดิม เพียงแต่ปรับบทบาทให้เป็นการสนับสนุนฝ่ายพลเรือนและภาคประชาชน
ส่วนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าเมื่อส่งมอบพื้นที่แล้ว ทั้ง 2 อำเภอจะถูกใช้เป็นที่กบดานของกลุ่มก่อความไม่สงบนั้น พล.ต.นพวงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้นำศาสนา หรือผู้นำท้องถิ่น ล้วนเบื่อหน่ายต่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น เริ่มปฏิเสธและเริ่มต่อต้าน จะเห็นได้จากที่ผ่านมามีหลายภาคส่วนออกมาปฏิเสธความรุนแรงอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ เพราะประชาชนไม่เอาด้วยแล้ว
ปลดล็อคความรู้สึก"พื้นที่สีแดง"
ด้าน พระครูสุวัฒนาภรณ์ หรือ พระอาจารย์ภัตร อริโย เจ้าอาวาสวัดนาทวี กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อ.นาทวี เคยเกิดเหตุรุนแรงขึ้นเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นอีกเลย เพราะความสามัคคีของประชาชนทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม รวมทั้งส่วนราชการต่างๆ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน ทำให้บ้านเมืองปลอดภัย ประชาชนสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้อย่างเป็นปกติสุข แต่ที่ผ่านมาต้องถูกจำกัดสิทธิในด้านต่างๆ เพราะถูกขีดว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ
"การส่งมอบพื้นที่ในครั้งนี้ ในเรื่องของสถานการณ์มันดีของมันอยู่แล้ว แต่ในเรื่องความรู้สึกมันช่วยได้เยอะมาก ทำให้คนนอกหรือคนต่างพื้นที่เข้าใจว่าแผ่นดินแห่งนี้มีความสงบสุข มีสันติภาพ มีความปลอดภัย การเข้ามาเยี่ยมเยือนหรือติดต่อค้าขายก็จะมากขึ้น ผลดีก็จะตามมา โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่จะเกิดกับส่วนราชการย่อมดีกว่าเงินเบี้ยเลี้ยงหรือเงินพิเศษต่างๆ ที่เคยได้รับกันเสียอีก"
ต้องดูแลด้วยหัวใจ
นายวิชาญ รัตนเสถียร รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลนาทวี กล่าวว่า รู้สึกเห็นด้วยกับการส่งมอบพื้นที่ให้ทางจังหวัดดูแล เพราะเป็นการสะท้อนภาพความสงบสุขของ อ.นาทวี ประชาชนมีความเข้มแข็ง มีความผูกพัน มีสัมพันธ์อันดีระหว่างกันทั้งพุทธและมุสลิม ทั้งหมดนี้จะเป็นเกราะป้องกันพื้นที่ให้สงบสุขตลอดไป นักท่องเที่ยวก็จะเกิดความมั่นใจ กล้าเข้ามาท่องเที่ยวที่ อ.นาทวี กับ อ.จะนะ มากขึ้น และจะเป็นการนำร่องให้กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
"สิ่งที่ยังเป็นห่วงก็คือ การที่ อ.นาทวี เคยถูกใช้เป็นที่พักพิงของแนวร่วมผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัด ฉะนั้นเมื่อไม่มีทหารหรือทหารลดบทบาทลงแล้ว ฝ่ายปกครองและผู้นำท้องถิ่นต้องร่วมแรงร่วมใจกันดูแลพื้นที่ให้ได้ คนที่รับผิดชอบต้องมีจิตวิญญาณในการดูแลชาวบ้าน ดูแลพื้นที่ด้วยหัวใจและความตั้งใจ ไม่ใช่หวังเพียงเงินหรือสิทธิพิเศษเท่านั้น" นายวิชาญ กล่าว
ขณะที่พ่อค้ารายหนึ่งใน อ.จะนะ กล่าวว่า การส่งมอบพื้นที่คงไม่ได้มีผลโดยตรงทันทีกับชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาเหตุรุนแรงก็เกิดน้อยลงมากอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นทันทีคือคนนอกพื้นที่รับรู้ได้ ก็จะกล้าเข้ามาค้าขาย ลงทุน หรือท่องเที่ยวมากขึ้น ผลดีก็จะเกิดกับชาวบ้านในที่สุด
เป็นหลากหลายความรู้สึกที่ได้รับการปลดล็อคจากดินแดนอันตราย...สู่วันใหม่ที่สดใสและสันติสุข
-----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พิธีส่งมอบพื้นที่จากหน่วยเฉพาะกิจสงขลาสู่ กอ.รมน.จังหวัด
2 กองกำลังของฝ่ายปกครองและภาคประชาชนรับไม้ต่อดูแลพื้นที่