ความฝันอันแรงร้อน...นครปัตตานี
เลขา เกลี้ยงเกลา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ประเด็นร้อนว่าด้วย “นครปัตตานี” คุกรุ่นอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อคนนับพันพร้อมใจกันเข้าร่วมเวที “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความจริงหรือความฝัน” เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนักวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมร่วมกันถกหาทางออกเรื่อง “เขตปกครองพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญไทย”
เวทีวิชาการดังกล่าว เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคม 23 องค์กร เครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ที่หอประชุมสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ภาคประชาสังคมขับเคลื่อนเวทีสาธารณะเพื่อออกแบบ “การปกครอง” โดยให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมมากที่สุด
เวทีสัมมนาอุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยนักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ผลัดกันนำเสนอแนวคิดและแนวทางเกี่ยวกับ “การปกครองแบบพิเศษ” ที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและวิถีชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เริ่มจาก รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกล่าวนำในหัวข้อ “การเมืองการปกครองบนความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรม” ด้วยประโยคที่น่าสนใจยิ่งว่า “ถ้าเราพูดเรื่องนี้เร็วกว่านี้ อาจรักษาชีวิตคนไว้ได้จำนวนมากกว่าที่ต้องมาประหัตประหารกัน”
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.ฉันทนา เห็นว่า การพูดถึงเรื่องเขตปกครองพิเศษในปัจจุบันยังไม่ถือว่าสายเกินไป เพราะรัฐไม่สามารถอยู่ได้ภายใต้ความไม่มั่นคงของประชาชน ถึงเวลาแล้วที่ต้องคลี่คลายมายาคติทางการเมืองการปกครองที่เคยเชื่อกันว่าเสถียรภาพของรัฐคือการรวมศูนย์อำนาจ
“ถึงเวลาที่เราต้องพูดกันเรื่องต้องห้าม เมื่อความรุนแรงเป็นอาการของปัญหา และพิสูจน์แล้วว่าการใช้กำลังไม่ใช่คำตอบ รวมถึงไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์ได้ ฉะนั้นแนวสันติวิธีคือสิ่งที่เราต้องการ”
“ต้องเข้าใจว่าการเมืองเป็นเรื่องของการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคม เป็นการกำหนดกติกาของการอยู่ร่วมกัน คนในพื้นที่ต้องการพื้นที่ทางการเมืองที่ได้รับการรับรอง เพราะการยอมรับความแตกต่างและหาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นทางออกที่ยั่งยืน เราต้องมองเห็นภาพอนาคตอย่างเป็นระบบ มีกระบวนการ มีแผนที่นำทาง แม้เรื่องเหล่านี้จะเป็นโจทย์ที่ยาก แต่ต้องฝ่าข้ามไปให้ได้” รศ.ดร.ฉันทนา กล่าว
ขณะที่ อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอบทเรียน “เขตปกครองพิเศษอาเจะห์: ความสำเร็จที่ต้องรอคอย” โดยอธิบายว่า ขณะนี้อาเจะห์ (ซึ่งแยกตัวออกมาจากอินโดนีเซีย) ยังมีบางพื้นที่ที่ต้องการแยกตัวออกไปอีก ถือเป็นบทเรียนและความล้มเหลวที่ไทยสามารถดูเป็นตัวอย่างได้
ทั้งนี้ แม้สนธิสัญญาเฮลซิงกิระหว่างรัฐบาลกลางอินโดนีเซียกับขบวนการอาเจะห์เสรี หรือ GAM (Gerakan Aceh Merdeka) จะเป็นความสำเร็จทางกายภาพ แต่ก็ยังไม่สำเร็จในแง่ของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพราะแม้จะมีการส่งมอบอาวุธจำนวนมาก แต่หากรัฐบาลกลางมีปฏิกิริยา กลุ่ม GAM ก็จะเคลื่อนไหวทันที
การมีรัฐบาล พรรคการเมือง และกฎหมายท้องถิ่นของอาเจะห์กลับสร้างปัญหาความมั่นคงต่อรัฐบาลกลางมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันอาเจะห์เองยังเผชิญปัญหามากมาย ทั้งสถิติการว่างงาน การพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงการลักลอบทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะธุรกิจไม้เถื่อน
ส่วนการนำเสนอ “โมเดล” การปกครองพิเศษโดยนักวิชาการ และภาคประชาสังคม โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจให้เกิดนครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่อาจจะต้องปรับทัศนคติในรัฐธรรมนูญ เช่น กรอบรัฐธรรมนูญบอกว่า 1 รัฐ 1 ชาติ แต่สิ่งที่นำเสนออาจเป็น 1 รัฐแต่หลายชาติพันธุ์ กลายเป็น “รัฐพหุสังคมสยาม” อย่างไรก็ดี ในเรื่องของแนวทางนั้นเป็นโจทย์ที่คนสามจังหวัดต้องร่วมกันคิดว่าจะเอาอย่างไร เพื่อออกแบบการปกครองในพื้นที่ของตนเอง
“เราเป็นประเทศที่กระจายอำนาจน้อยมาก รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ก็ยังไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ผมอยากเสนอแนวคิดในเบื้องต้นว่า รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ควรมีรูปแบบเดียว และควรกระจายอำนาจให้มากขึ้น โอนงาน เงิน และคนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้บริหารจริงๆ โดยรัฐบาลต้องสนับสนุนอย่างจริงจัง”
ขณะที่ อัคคชา พรหมสูตร สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง ผู้ยกร่างกฎหมายระเบียบบริหารปัตตานีมหานคร อันเสมือนเป็น “ตุ๊กตา” ของนครปัตตานี เสนอให้นำโมเดลเขตปกครองพิเศษของกรุงเทพมหานคร (กทม.) มาใช้ โดยรวมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็น “ปัตตานีมหานคร”
ทางด้านเครือข่ายประชาสังคม 23 องค์กรก็มี “โมเดล” ที่เป็นรูปแบบการปกครองพิเศษเช่นกัน โดยนำเสนอผ่าน อุดม ปัตนวงศ์ จากมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ สรุปว่า ให้ยกเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล อันเป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบัน เพราะมีการทำงานที่ซ้ำซ้อน และเข้าไม่ถึงประชาชนอย่างแท้จริง
อุดมยังเสนอให้ตั้ง “นคร” ที่มีผู้นำสูงสุดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในพื้นที่ แบ่งเป็นนครปัตตานี นครยะลา และนครนราธิวาส แต่ก็ยังมีจุดยึดโยงกับรัฐบาลกลาง โดยให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นตัวเชื่อม
ขณะที่เสียงของคนกลุ่มน้อยในพื้นที่คือคนไทยพุทธ ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครูไทยพุทธที่มีบทบาทในพื้นที่มาเนิ่นนาน กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมอง 2 ประเด็น คือจะขยายประชาธิปไตยไปสู่สังคมสามจังหวัดจริงหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน หรือจะมุ่งเพียงต้องการคลี่คลายสถานการณ์ความไม่สงบให้ยุติลง
“ผมมั่นใจว่าถ้าถามกลุ่มก่อความไม่สงบ สิ่งที่เขาต้องการคือ เอกราช ไม่ใช่ เขตปกครองพิเศษ ฉะนั้นต้องเอาแกนนำผู้ก่อความไม่สงบมาคุย ไม่ใช่เอาประชาชนผู้บริสุทธิ์มาถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพราะไม่ใช่เสียงที่แท้จริง” ครูประสิทธิ์กล่าว และว่า ที่ผ่านมากลไกของรัฐไม่ได้พิทักษ์สิทธิของประชาชนอย่างแท้จริง ทรัพยากรและงบประมาณที่ส่งลงมาแก้ปัญหาไม่ตรงประเด็น ถึงเวลาแล้วที่คนในพื้นที่ต้องกล้าคัดค้าน
ส่วนความรู้สึกของคนไทยพุทธที่กลัวมุสลิม โดยเฉพาะหากรูปแบบการปกครองในพื้นที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปนั้น ครูประสิทธิ์ บอกว่า ความกลัวของคนไทยพุทธเป็นไปตามข่าวสารและสิ่งที่สื่อนำเสนอ กลัวบางพฤติกรรม กลัวกฎหมายอิสลามที่เด็ดขาด กลัวการปกครองระบอบอิสลามและสุลต่าน ซึ่งมุมมองเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเขาได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศอิหร่าน และได้รับคำชี้แจงเรื่องราวเกี่ยวกับอิสลามจนกระจ่างและเข้าใจ จึงอยากให้คนไทยพุทธเปิดใจให้กว้าง ศึกษาและยอมรับในหลักการที่ถูกต้องของอิสลาม
ปิดท้ายด้วย พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ที่กล่าวว่า เวทีครั้งนี้ได้รวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการบริหารและการปกครองที่สอดคล้องเหมาะสมกับความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีของท้องถิ่น อันจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชนทั่วไป รวมทั้งการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อประเด็นการเมืองการปกครอง ฉะนั้นจึงเห็นควรให้จัดเวทีสาธารณะเช่นนี้ต่อไป เพื่อรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยจะลงพื้นที่ให้ครบทั้ง 33 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้บวกกับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวมเป็น 37 อำเภอ
แม้วันนี้ “นครปัตตานี” จะยังเป็นเพียงแค่ความฝัน แต่ก็เป็นฝันอันแรงร้อนเหลือเกิน!