นครปัตตานี...โดนใจแต่ไม่มั่นใจแก้วิกฤติชายแดนใต้
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ในการเสวนาหัวข้อ “นครปัตตานี...ทางออกในวาระ 6 ปีไฟใต้” ซึ่งจัดโดยโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา วิทยากร 4 คน ซึ่งมีทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และอดีตทหาร ต่างตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับแนวคิด “นครปัตตานี” เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย และอดีตนายกรัฐมนตรี
ปรับปรุง”ท้องถิ่น”ไม่ง่ายกว่าหรือ?
นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วไม่อยากด่วนสรุปหรือวิจารณ์มากนัก เพราะยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดว่าโครงสร้างและรูปแบบของนครปัตตานีจะออกมาอย่างไร แต่หากจะตั้งนครปัตตานีในลักษณะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด คือยะลา ปัตตานี และนราธิวาสจะยังมีอยู่หรือไม่
ทั้งนี้ การกำหนดรูปแบบการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น หากไม่มีรายละเอียดคงแก้ไม่ได้ และรูปแบบนครปัตตานีจะต้องมีความแตกต่างจากการกระจายอำนาจแบบ อบต.และ อบจ.
“หาก พล.อ.ชวลิต บอกว่านครปัตตานีมีความหมายเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ก็ต้องถามว่าแล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ในปัจจุบันมีปัญหาอะไร ถ้าพบว่าปัญหามีจริง ก็มาร่วมแก้ตรงจุดนั้นจะดีกว่าหรือไม่ เช่น ถ้าอำนาจหน้าที่ ภารกิจ หรืองบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน้อยไป ก็แก้กฎหมายเพิ่มอำนาจกับภารกิจเข้าไป แบบนี้ผมคิดว่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า เป็นจริงมากกว่า ไม่ได้เพ้อฝันเหมือนนครปัตตานี”
นายนิพนธ์ ยังเสนอว่า ในเบื้องต้นหากจะจัดรูปการปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่จริงๆ ในรายละเอียดจะต้องมีความสัมพันธ์กับองค์กรต่างๆ ของรัฐที่มีอยู่แล้ว รวมถึงกระบวนการยุติธรรมด้วย
แค่วาทะทางการเมือง-ทำขัดแย้งหนักขึ้น
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ภาคใต้ กล่าวว่า การเสนอเรื่องนครปัตตานีเป็นการพูดเพื่อหวังผลทางการเมือง และไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอในรูปแบบใดก็เชื่อว่าจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ ที่สำคัญหากตั้งนครปัตตานีขึ้นจริง จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้น
“สิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการ คือเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรม และความปลอดภัย ซึ่งทั้ง 3 เรื่องไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนมอบให้ประชาชนได้ รวมทั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ทราบปัญหาดีที่สุดก็ยังมีความสับสนในเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาอยู่”
พล.ท.นันทเดช กล่าวอีกว่า หาก พล.อ.ชวลิต ไม่ได้อยู่พรรคเพื่อไทย แล้วเสนอเรื่องนครปัตตานี ก็คงมีคนสนับสนุนเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อผู้เสนอคือ พล.อ.ชวลิต ก็ต้องถามกลับไปว่าในยุคที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ซึ่ง พล.อ.ชวลิต ก็ร่วมรัฐบาลอยู่ด้วย ได้ทำอะไรไว้กับประชาชนบ้าง
อย่างไรก็ดี ในมุมหนึ่งก็สนับสนุนเรื่องนครปัตตานี เพราะหากตั้งได้ ชื่อนี้จะขายได้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอาหารฮาลาล หรือเป็นศูนย์กลางการศึกษา แต่กระนั้น ถ้าตั้งนครปัตตานีขึ้นมาแล้วยังให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านไม่ได้ ก็ไม่รู้จะตั้งขึ้นมาทำไม ควรรอให้เหตุการณ์สงบก่อน แล้วแนวทางแบบนี้จะพัฒนาขึ้นมาเอง แต่จนถึงขณะนี้ปัญหาที่มีอยู่มากมายยังไม่ได้แก้ ถ้าหากตั้งนครปัตตานีขึ้น คนไทยพุทธก็จะถูกยุให้จับอาวุธขึ้นต่อสู้ แล้วปัญหาจะจบลงได้อย่างไร ประชาชนทั่วประเทศจะยอมหรือไม่
เปิดแนวรุกทางการเมือง
ขณะที่ พล.ท.สมชาย วิรุฬหผล คณะทำงานเสริมสร้างสันติสุข ซี่งเป็นทีมที่ปรึกษาของ พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า นครปัตตานีเป็นการเสนอในแง่ยุทธศาสตร์ เป็นการรุกทางการเมือง เพราะปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง หากไม่รุกทางการเมืองก็แก้ไม่ได้ กรณีที่จะตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ เช่น ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ดังที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าทุกอย่างยังอยู่ในมือราชการก็จะเหมือนเดิม
ส่วนการทุ่มงบพัฒนาของรัฐบาลถึง 6.3 หมื่นล้านบาทตั้งแต่ปีงบประมาณนี้ถึงปี 2555 นั้น พล.ท.สมชาย กล่าวว่า โครงการพัฒนาไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหา เพราะสุดท้ายอาจจะเกิดเหตุการณ์เหมือนมาบตาพุดขึ้นมาก็ได้
เสียงจากประชาชน
“ข้อเสนอเรื่องนครปัตตานีเราไม่ได้คิดขึ้นเอง แต่เป็นข้อเสนอหนึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนในพื้นที่ และเมื่อเร็วๆ นี้จากการที่ได้พูดคุยกับคนกลุ่มต่างๆ คนพื้นที่เองได้เสนอให้ 3 อำเภอรอยต่อของ 3 จังหวัด คือ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี อ.รามัน จ.ยะลา และ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เป็นเขตสันติสุข หลังจากประกาศก็แทบไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นเลย ถือเป็นเงื่อนไขที่ดี และรัฐบาลควรให้การสนับสนุน”
พล.ท.สมชาย ย้ำด้วยว่า ประเด็นนครปัตตานีเป็นการรุกทางการเมืองครั้งสำคัญ แน่นอนว่าในรายละเอียดจะต้องมีการพูดคุยกันอีกมาก แต่ในเบื้องต้นถ้าเราประกาศเจตนาออกไป จะเป็นการลดเงื่อนไขของกลุ่มขบวนการ สุดท้ายก็จะนำมาสู่การเจรจาและแก้ปัญหาได้ในที่สุด
โดนใจแต่ยังไม่เข้าใจ
อาจารย์อับดุลเลาะ อับรู อาจารย์จากวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า นครปัตตานีคือคำพูดที่โดนใจชาวบ้านในพื้นที่ แต่รายละเอียดปลีกย่อยเป็นอย่างไรยังไม่มีใครรู้ และที่สอบถามชาวบ้านดู ส่วนใหญ่จะยังไม่เข้าใจ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ชาวมลายูมุสลิมได้สัมผัสมาตลอด ซึ่งถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างก็คือความไม่เป็นธรรม การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน การถูกปฏิบัติอย่างไร้เกียรติและศักดิ์ศรี หรือเรียกรวมๆ ว่าสองมาตรฐาน คำถามก็คือหากตั้งนครปัตตานีแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขหรือไม่ ถ้ากระบวนการที่จะนำไปสู่การตั้งนครปัตตานีมีการนำเรื่องเหล่านี้มาพูดกันแล้วแก้ไขด้วยก็คงจะดี
ตอบโจทย์ของวิกฤติได้จริงหรือ?
อาจารย์อับดุลเลาะ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากในขณะนี้คือ การกระทำของขบวนการกลายเป็นความชอบธรรม เพราะมีฐานทางศาสนารองรับ และทั้งหมดก็คือการเปิดช่องโดยการกระทำของรัฐเอง ฉะนั้นถ้าไม่เปลี่ยนฐานคิดตรงนี้ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้
“รัฐไปคิดว่าพวกที่เคลื่อนไหวเป็นโจร ไปใช้วิธีเดียวกับการปราบโจร กวาดจับให้หมด ซึ่งมันไม่ถูก เพราะคนที่ถูกจับเป็นอุสตาซ เป็นโต๊ะอิหม่าม ชาวบ้านไม่มีทางเชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นโจร และจะยิ่งสร้างปัญหาตามมา ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาจากความพยายามแบ่งแยกดินแดนของคนกลุ่มหนึ่งแน่นอน ฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง วิธีแก้ต้องแก้ด้วยการเมือง พูดคุยเจรจา ค้นหาปัญหาออกมา ไม่ใช่ใช้วิธีปราบโจร”
อาจารย์อับดุลเลาะ ตั้งคำถามทิ้งท้ายด้วยว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ว่าด้วยนครปัตตานีที่พูดกัน ตอบโจทย์ของวิกฤตการณ์ได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ต้องนำมาสู่การพูดคุยกันในรายละเอียด แต่ถ้าไม่ใช่คำตอบเราจะทำอย่างไร