"บิ๊กจิ๋ว" ขยายความ "นครปัตตานี" ฟื้นความยิ่งใหญ่ของ "ระเบียงมักกะฮ์"
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
"บิ๊กจิ๋ว" เดินหน้าโมเดล "นครปัตตานี" ชี้ 6 ปีไฟใต้ใช้แต่มาตรการทางทหาร แนะหันใช้ยุทธศาสตร์การเมืองด้วยการให้ปกครองตนเองภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ อ้างเป็นหนึ่งในสามข้อเสนอของแกนนำก่อความไม่สงบ ย้ำต้องเอาชนะหัวจิตหัวใจชาวบ้านจึงจะแก้ปัญหาได้ เร่งฟื้นสังคมภูมิบุตรที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยจีน พร้อมสถาปนาความยิ่งใหญ่ของปัตตานีกลับคืน ให้สมศักดิ์ศรี "ระเบียงของมักกะฮ์" ชูวัดช้างให้ มัสยิดขนาดใหญ่ และศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นสัญลักษณ์
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม "ราชดำเนินเสวนา" ครั้งที่ 17/2552 ในหัวข้อ “นครปัตตานี...ทางออกในวาระ 6 ปีไฟใต้?" เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยก่อนการเสวนาจะเริ่มขึ้น มีการปาฐกถาพิเศษของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย และอดีตนายกรัฐมนตรี เรื่อง “แนวคิดนครปัตตานี”
พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า แนวคิดเรื่องนครปัตตานีนั้น เป็นเรื่องที่ได้เสนอมานานหลายปีแล้ว จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันทหารพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 จึงได้มีการนำแนวคิดนี้กลับมาเสนออีกครั้ง
“สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นภาพจำลองใหญ่ที่เกิดในบ้านเมืองเรา กล่าวคือมีสถานการณ์ที่สร้างความหนักใจเรื่องความขัดแย้งในสังคมเรา ต้องเข้าใจว่าความขัดแย้งนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เกิดมา 77 ปีแล้ว ตั้งแต่คณะราษฎรยึดอำนาจการปกครองเมื่อปี 2475 นับตั้งแต่วันนั้นบ้านเมืองก็มีความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นตามลำดับ”
พล.อ.ชวลิต ยังย้อนความขัดแย้งให้เห็นตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ2519 จนถึงการแบ่งฝ่ายสีเหลืองสีแดงในปัจจุบันว่า มีสาเหตุมาจากการเมืองการปกครองที่ไม่เป็นธรรม
“เราพยายามจะแก้ แต่ก็ไปแก้กันผิดๆ คือไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ นี่คือสาเหตุที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมา 18 ฉบับแล้ว วันนี้ภาพใหญ่ในบ้านเราจำลองลงไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการเมืองการปกครองที่ไม่เป็นธรรม ความแตกแยกในพื้นที่เป็น 2 ฝ่าย 3 ฝ่าย คนกลุ่มหนึ่งได้รับประโยชน์จากการปกครองที่ไม่เป็นธรรมนี้ ซึ่งการปกครองที่ไม่เป็นธรรมเปรียบเหมือนรูปสามเหลี่ยม ปัญหาหลักบ้านเราจึงต้องอาศัยรัฐบาลที่มาจากประชาชน เพื่อประชาชน หัวใจในการแก้ไขจึงอยู่ตรงนี้”
“เราจึงพูดกันว่าความขัดแย้งในการต่อสู้เราแก้ไขปัญหาด้วยการเมือง เราได้รุกทางด้านการเมืองหรือไม่ ในอดีตที่ผ่านมาเราใช้มาตรการทางทหารแล้วเชื่อว่ามาตรการทางทหารจะนำไปสู่ความสำเร็จในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่นี่ผ่านมา 6 ปีแล้ว จนเริ่มมีการพูดกันว่าทำไมไม่ใช่มาตรการด้านการเมือง บางคนก็ว่าได้ทำไปแล้ว ถามว่าคืออะไร คือเอาเงินลงไปแล้ว คือพัฒนาเศรษฐกิจ ไปมุ่งกันตรงนั้นจนสับสน”
พล.อ.ชวลิต กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหานั้นแก้ได้ง่ายๆ คือทำให้เป็นประชาธิปไตย โดยวิเคราะห์ 2 แนวทาง คือ 1.ที่ผ่านมาเราไม่ได้ใช้มาตรการด้านการเมืองที่แท้จริง และ 2.เวลาแก้ปัญหาก็ไม่รู้จะเจรจากับใคร
“ที่ผ่านมานอกจากไม่รู้ว่าจะทำงานด้านการเมืองอย่างไรแล้ว ก็ยังไม่รู้อีกว่าเราจะไปคุยไปเจรจากับใคร ดังนั้นที่ผมได้เคยเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง 3 ข้อ คือ หนึ่งยุทธศาสตร์ดอกไม้หลากสี ให้คนไทยตระหนักว่าสังคมไทยประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์มารวมกัน แต่ละชนเผ่าก็มีประเพณีของตนเอง เมื่อมารวมกันก็เหมือนดอกไม้หลากสีในช่อเดียว เป็นความงดงาม แต่เพราะเราไม่ปฏิบัติยุทธศาสตร์นี้อย่างจริงจัง ทำให้คนไทยยังไม่เข้าใจสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”
“สอง ยุทธศาสตร์ถอยคนละ 3 ก้าว เพื่อให้มีพื้นที่ จะได้หันมาพูดจาด้วยความเข้าใจ อโหสิกันได้ โดยให้เกียรติกับคนที่เารจะพูดจา และสาม ยุทธศาสตร์ที่เป็นหัวใจคือสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้เขามีอำนาจในการปกครองตนเอง ให้อธิปไตยในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ศาสนา วัฒนธรรม การศึกษา ซึ่งเขามีขีดความสามารถในการดำเนินงานได้ เชื่อผมเถอะ ถ้าแก้อะไรไม่ได้ ต้องให้พี่น้องประชาชนเขามีส่วนร่วมแก้ปัญหาเอง”
พล.อ.ชวลิต กล่าวอีกว่า แนวคิดเรื่องนครปัตตานีนั้นอาจเป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบเขียนข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.ขออยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2.เอาสังคมภูมิบุตรที่เคยอยู่กันมาเป็นพันๆ ปี มีไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยจีนมาอยู่ร่วมกัน และ 3.ขอดูแลตนเองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
“ที่เราเสนอแนวคิดนครปัตตานีนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดา มีคนบอกว่าพล.อ.ชวลิต พูดไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร เรื่องอะไรผมจะบอก มืออย่างผมแก้ปัญหามา 100 เรื่อง จะไปอธิบายให้คนที่ไม่รู้เรื่องทำไม นั่นคือต้องให้พี่น้องได้คิดเอง อย่างน้อยเขาจะได้ดูว่าเป็นอย่างไร การไม่รู้ว่าจะเจรจากับใครนั้นไม่จริงเลย เพราะคนก่อการก็อยู่ในพื้นที่ ชาวบ้านเขารู้ว่าใครเป็นใคร เขาจะตกลงกันเองว่าเขาจะเอาอย่างไร เราชอบไปคิดแทนเขา เช่นเดียวกับปัญหาระดับชาติ ต้องให้คนที่ขัดแย้งมาพูดกันเองจึงจะสำเร็จ”
“คงเข้าใจว่าที่เราไม่พูดไป เพราะต้องการให้พี่น้องคิดกันเอง พูดกันเอง ไม่ใช่ผมพูดไม่รู้เรื่อง การจะก้าวข้ามไปตรงจุดนั้นได้ อยู่ที่ใครจะ Win heart and mind คือเอาชนะใจและความคิดของพี่น้องในพื้นที่ เราต้องก้าวข้ามตรงนี้ ไม่อย่างนั้นไม่ประสบความสำเร็จ”
พล.อ.ชวลิต ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งระบุว่า หัวใจของการแก้ไขปัญหาภาคใต้ อยู่ที่การบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งที่ผ่านมาเป็นปัญหามาตลอด โดยบอกว่า เรื่องการบริหารราชการแผ่นดินต้องพูดเป็นเรื่องสุดท้าย ต้องรู้ปัญหาคืออะไร ตีให้แตก แล้วค่อยมาพิจารณาว่าจะบริหารราชการแผ่นดินอย่างไรให้สำเร็จ ต้องเป็นข้อสุดท้าย หัวใจของปัญหาไม่ใช่ตรงนั้น บางคนบอกว่าต้องเป็นศูนย์ราชการใหญ่ นั่นก็ไม่ตรงใจพี่น้องประชาชน
อีกอย่างหนึ่งที่เคยเสนอเป็นพิมพ์เขียว คือ "นูซันตารา" แปลว่าความยิ่งใหญ่ของนครปัตตานีที่เคยมีในภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งต้องนำกลับมาให้ได้
“มีคำกล่าวว่าในอดีตนครปัตตานีเคยเป็นระเบียงของมักกะฮ์ ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เราต้องสถาปนาให้ได้ในยุคนี้ เพื่อเป็นเกียรติประวัติให้เขา นี่คือ mind and heart แต่การจะเป็นนูซันตาราได้ต้องเป็นพื้นที่ยิ่งใหญ่เหมือน Landmark (จุดสังเกต หรือสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์) ที่ประกอบด้วยวัดช้างให้ มัสยิดขนาดใหญ่ และศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว นี่คือสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ คือการรวมกันของสังคมภูมิบุตร เอาคำว่าระเบียงมักกะฮ์กลับมาให้ได้”
“เมื่อเสนออย่างนี้แล้ว ต่อไปก็คือพลังของพี่น้องประชาชนที่จะมารวมตัวกันทำให้เจริญ จะได้มาดูว่าจะเก็บภาษีกันอย่างไร จะเก็บอะไรได้บ้าง ซึ่งเป็นไปตามรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น สิ่งที่ผมเสนอนั้นไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย” พล.อ.ชวลิต กล่าว
--------------------
หมายเหตุ เอื้อเฟื้อภาพโดย "ศูนย์ภาพเนชั่น"