กษ.แก้ค้ามนุษย์ประมง ดันล้งGLP–ใช้เทคโนโลยีแทนแรงงาน กู้มาตรฐานสากล
กษ.ร่วม3กท.หลัก นำทูตสหรัฐฯ-อียู ตามผลการป้องกันการค้ามนุษย์ภาคประมง เตรียมผลักดันล้งนำร่องจีแอลพี-ใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานบนเรือ หวังกู้ศักดิ์ศรีกรณีสหรัฐฯแขวน Tier 2
วันที่ 16 ม.ค. 56 ที่โรงแรมเซ็นทรัลเพลส จ.สมุทรสาคร นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เปิดเผยภายหลังการนำเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และคณะทูตกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ติดตามผลการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ที่ จ.สมุทรสาคร ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงาน ว่า สืบเนื่องจากการที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจัดลำดับให้ไทยอยู่ในกลุ่มบัญชี Tier 2 Watch List ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ดังนั้นเพื่อปกป้องภาพลักษณ์และการค้าของอุตสาหกรรม ภาคประมงของไทยทั้งระบบที่มีผลผลิตการส่งออกมากกว่า 1,300 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ไม่ให้ได้รับผลกระทบ กษ.จึงได้ให้ความสำคัญและร่วมมือแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง
โดยที่ผ่านมากษ.ได้ดำเนินการตามนโยบายผลักดันและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติในการต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทยปี 2555-56 ในส่วนการคุ้มครองแรงงานอุตสาหกรรมประมง และข้อเสนอมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมง ภายใต้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
โดยในส่วนของกรมประมง ได้ดำเนินงานเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงาน ประมงอย่างต่อเนื่องมา โดยร่วมมือกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO จัดทำแนวทางการปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี หรือ Good Labour Practice: GLP สำหรับอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมกุ้งและอาหารทะเล โดยในปี 2556 นี้ จะขับเคลื่อนพัฒนาต้นแบบสถานประกอบการแปรรูปเบื้องต้นตามแนวทาง GLP หรือ ล้งนำร่อง GLP เพื่อให้ผู้ประกอบการรับทราบและส่งเสริมให้นำไปปฏิบัติ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์ 2556
นอกจากนี้จะส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีเพื่อลดจำนวนการใช้แรงงานบนเรือประมง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียดถึงความเหมาะสมในการนำเครื่องมือติดตั้งบนเรือประมง โดยคาดว่าจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงกลางปี 2556 เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ในเบื้องต้นได้จัดตั้งศูนย์ประสานแรงงานประมงเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการบังคับใช้แรงงานที่นำไปสู่การค้ามนุษย์ ในโครงการนำร่อง 7 ศูนย์ พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ระยอง ตราด ชุมพร สงขลา ระนอง และสตูล โดยมีการดำเนินการครบวงจรตั้งแต่ระบบการควบคุมตรวจสอบ คุ้มครองแรงงาน และให้ความรู้เรื่องสิทธิที่พึ่งจะได้รับ ตลอดจนมีการตรวจสอบเรือประมง เครื่องมือประมง และคนทำงานบนเรือให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ โดยได้จัดทำฐานข้อมูลหลักเพื่อเป็นเครื่องมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถตรวจสอบได้ในกรณีที่สงสัยว่า อาจเกิดปัญหาการค้ามนุษย์บนเรือประมงดังกล่าว
ทั้งนี้ยังมีการดำเนินการด้านอื่นๆ ควบคู่กันเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานประมงเชื่อมโยงกันทั้งระบบ เช่น จัดทำแนวทางการปฏิบัติในการตรวจตราเรือประมงไทยที่ออกไปและเดิน ทางกลับจากการทำประมงนอกน่านน้ำ , แนวทางการติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System; VMS) นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยส่งเสริมการใช้จรรยาบรรณของผู้ประกอบการภาคการประมงอย่างจริงจังด้วย
โดยเชื่อว่าภารกิจต่างๆเหล่านี้จะทำให้สถานการณ์ด้านแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทยซึ่ง กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯจัดอันดับให้อยู่ใน Tier 2 watch list มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทั้งนี้จะนำเสนอประเด็นดังกล่าวต่อนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 หรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาถึงโอกาสและความเหมาะสมต่อไป
ที่มาภาพ ::: http://www.thaigov.go.th