ไทยลงนามร่วมไจก้า จ้างบ.ญี่ปุ่นสร้างระบบกันน้ำท่วมโรจนะ-ประโยชน์ร่วมชุมชน
กรมชลฯลงนามร่วมไจก้า-รบ.ญี่ปุ่นให้เปล่า1พันล้านบ. จ้างบ.ที่ปรึกษาสร้างประตูระบายน้ำคลองกระมัง-หันตรา กันน้ำท่วมนิคมฯโรจนะ ชี้ชุมชน-ภาคเกษตรได้ประโยชน์ร่วม คาดเสร็จเม.ย.58
วันที่ 16 ม.ค. 56 ที่กรมชลประทาน สามเสน มีการลงนามข้อตกลงจ้างบริษัท CTI Engineering International Co., Ltd ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการ ดำเนินการจัดประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้าง และควบคุมงานก่อสร้างประตูระบายน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำคลองกระมังและประตูระบายน้ำคลองหันตรา ลุ่มแม่น้ำป่าสัก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ในโครงการป้องกันอุทกภัยในฝังตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (Flood Prevention Project of East Side of the Pasak River in Ayutthaya) ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) หรือ ไจก้า ให้เงินช่วยเหลือรัฐบาลไทยโดยกรมชลประทานแบบให้เปล่าจำนวน 2,550 ล้านเยน หรือ ประมาณ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ในการลงนามดังกล่าวมีตัวแทนจากไจก้าและผู้จัดการโครงการฯ(Project Manager) บริษัท CTI ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังลงนามข้อตกลงฯว่า ข้อตกลงความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Grant Agreement) เป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของไจก้า ซึ่งจะต้องมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาและผู้รับเหมาก่อสร้างจากประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ กรมชลประทานจึงต้องลงนามในข้อตกลงเพื่อจ้างบริษัทที่ปรึกษา CTI Engineering International Co., Ltd. เพื่อมาดำเนินการออกแบบรายละเอียด ดำเนินการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้าง-จัดหาบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างจากประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งควบคุมงานก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เมษายน 2558 ตามกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการ
โดยนับจากวันนี้เป็นต้นไป บริษัท CTI จะเริ่มการออกแบบโครงการและคาดว่าจะสามารถจัดประกวดราคาให้ได้บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างจากประเทศญี่ปุ่นได้ภายในเดือนเมษายน 2556 โดยกรมชลประทานจะเป็นหน่วยงานหลักในการทำงานร่วมกับบริษัทดังกล่าวและบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างจากญี่ปุ่น โดยเป็นผู้ดูแลรายละเอียดในภาพรวม เช่น รูปแบบของร่างสัญญา ทั้งนี้ตามข้อตกลงแล้วบริษัทผู้รับเหมาไทยไม่สามารถเข้าร่วมการประกวดราคาได้
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า เหตุที่ไจก้าเลือกให้เงินช่วยเหลือเพื่อก่อสร้างประตูระบายน้ำบริเวณดังกล่าวในจ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากคลองกระมังและคลองหันตรา ซึ่งมีปริมาณความจุน้ำรวมกันราว 800 ลบ.ม. เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดอุทกภัยรุนแรงปลายปี 54 โดยเครื่องมือที่มีอยู่ในขณะนั้นไม่สามารถต้านทานปริมาณน้ำมหาศาลได้ ทำให้น้ำจาก 2 คลองซึ่งไหลมาบรรจบกันที่คลองข้าวเม่า(จุดเชื่อมต่อแม่น้ำป่าสัก)ไหลท่วมพื้นที่เศรษฐกิจนิคมอุตสาหกรรมโรจนะได้รับความเสียหาย ไจก้าจึงเลือกให้ความช่วยเหลือก่อสร้างประตูระบาย 2 แห่งนี้เพื่อปกป้องความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นบริเวณดังกล่าวต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ดีบริเวณดังกล่าวยังมีพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชน และภาคการเกษตรแม้ว่าจะเป็นส่วนน้อยแต่ก็ถือว่าได้รับประโยชน์ร่วมกัน
โดยปัจจุบันจุดที่จะก่อสร้างประตูระบายน้ำที่คลองกระมังและคลองหันตราได้มีการดำเนินการสร้างระบบป้องกันกรณีเกิดอุทกภัยชั่วคราวไว้แล้ว โดยเชื่อว่าจะสามารถประคองสถานการณ์ได้จนกระทั่งการก่อสร้างประตูระบายน้ำในโครงการแล้วเสร็จปี 58 โดยโครงการดังกล่าวอยู่ในแผนงานการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.)ด้วย
……………………………………………
(ล้อมกรอบ)
รายละเอียดโครงการ “Project for Comprehensive Flood Management Plan for the Chao Phraya River Basin” โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น
รัฐบาลไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำได้ลงนามในบันทึกการหารือ (Record of Discussions) กับรัฐบาลญี่ปุ่น โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2555 สำหรับโครงการ “Project for Comprehensive Flood Management Plan for the Chao Phraya River Basin” ซึ่งตามบันทึกข้อตกลงมีขอบข่ายโครงการโดยสรุปดังนี้
1. การวางแผนบริหารจัดการน้ำท่วมที่มีสาเหตุจากสภาวะความเปลี่ยนแปลงของอากาศ และการพัฒนาที่ดิน โดยแบ่งเป็น 2 เรื่อง ได้แก่
1.1 การจัดเตรียมแผนที่ที่จำเป็นเพื่อใช้ในการทบทวนแผนแม่บทการวางแผนบริหาร จัดการน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่ง JICA ได้เคยศึกษาไว้ เมื่อปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542)
1.2 ทบทวนแผนบูรณาการการลดผลกระทบจากน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
2. การออกแบบหรือกำหนดรูปแบบโครงการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาล ญี่ปุ่น (Japanese Grant Aid) เพื่อป้องกันภัยพิบัติและการบูรณะฟื้นฟู
3. ปรับปรุงระบบการจัดการน้ำท่วมและเพิ่มขีดความสามารถของระบบการจัดการน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
โดยการดำเนินโครงการโดยใช้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่นตามข้อ2. กรมชลประทานได้จัดทำข้อเสนอการขอรับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าไปยัง JICA สำหรับโครงการป้องกันอุทกภัยในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (Flood Prevention Project of East Side of the Pasak River in Ayutthaya) และทาง JICA ได้ตอบรับข้อเสนอแล้ว ต่อมาผู้แทนรัฐบาลไทยโดยผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นโดยเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยน (Exchange of Notes) และบันทึกการหารือ (Record of Discussions) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 พร้อมทั้งได้มอบอำนาจให้กรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยมีวงเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าเป็นจำนวนเงิน 2,550,000,000 เยน หรือประมาณ 1,000,000,000 บาท
กรมชลประทานได้ลงนามในข้อตกลงความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Grant Agreement) กับผู้แทน JICA เพื่อเริ่มโครงการป้องกันอุทกภัยในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2555 โดยจะต้องมีการจ้างที่ปรึกษาและผู้รับเหมาก่อสร้างจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อมา ดำเนินโครงการซึ่งกรมชลประทานจะต้องลงนามในข้อตกลงจ้างที่ปรึกษา (Consulting Services Agreement) กับบริษัท CTI Engineering International Co.,Ltd. และสัญญาจ้างก่อสร้างกับผู้รับเหมาก่อสร้างจากประเทศญี่ปุ่น แต่การใช้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่นระบุให้ใช้วิธีอนุญาโต ตุลาการในการระงับข้อพิพาท