“หมอพรทิพย์” ยอมรับ “จีที 200” แค่ชี้เป้าเบื้องต้น ไม่แม่น 100% แต่จำเป็นสำหรับชายแดนใต้
กิ่งอ้อ เล่าฮง
ปกรณ์ พึ่งเนตร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“หมอพรทิพย์” ยอมรับกลางวงเสวนา เครื่องตรวจระเบิดจีที 200 ไม่ใช่เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ไม่แม่นยำ 100% จึงทำได้แค่ “ชี้เป้าเบื้องต้น” ไม่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลได้ แต่ย้ำยังเป็นประโยชน์ในชายแดนใต้ เพราะลดพื้นที่ตรวจค้นให้แคบลง แต่ถ้าจะเอาชัวร์ต้องมีเครื่องมืออื่นตรวจซ้ำ ยังไม่วายการันตีทีมนิติวิทย์ฯไม่เคยพลาด เหตุใช้ปริญญาโทถือเครื่อง
ส่วนตำรวจ ทหารต้องฝึกฝนเพิ่มเติม เพราะมีเทคนิคเยอะ วอนอย่านำไปใช้ปรักปรำใคร ด้านชาวบ้านให้ข้อมูลสวนทางคุณหญิงหมอ ซัด “ชี้มั่ว-ไม่แม่น-ก่อปัญหา” นักวิทยาศาสตร์เตือนภัย แฉผู้ผลิตถูกฟ้องร้องในอเมริกาฐานหลอกลวง จี้ทุกหน่วยเลิกใช้ทันที
ในการเสวนาหัวข้อ “เครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ประสิทธิภาพเต็มร้อยจริงหรือ?” ซึ่งจัดโดยโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ได้ชี้แจงข้อสงสัยของหลายฝ่ายเกี่ยวกับเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที 200 ซึ่งเคยตรวจหาวัตถุต้องสงสัยผิดพลาด จนเกิดระเบิดครั้งรุนแรงขึ้น 2 ครั้งในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า วิธีการตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยจำแนกเป็น 2 ระดับใหญ่ๆ คือ การตรวจสอบเบื้องต้น (presumptive test) กับการตรวจยืนยัน (confirmative test) ซึ่งการตรวจทั้ง 2 ระดับ ยังแยกย่อยอีกหลายอย่าง
ทั้งนี้ เครื่องจีที 200 เป็นเพียงเครื่องตรวจเบื้องต้น และมีความเซนซิทีฟสูง สามารถตรวจได้ระยะไกลมาก โดยที่มีความแม่นยำระดับหนึ่ง เทียบได้กับการชี้เป้า เพราะมีคุณสมบัติเด่นๆ ด้านละนิดละหน่อย
"เครื่องมือชนิดนี้ใช้วิธีการตรวจพลังสนามแม่เหล็ก แต่ไม่ได้ยืนยันผล 100% สาเหตุที่ใช้ในภาคใต้เพราะมีระเบิดเยอะเหลือเกิน จึงต้องใช้เครื่องจีที 200 ช่วยชี้เป้าและลดพื้นที่การตรวจให้แคบลง”
สำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจนทำให้เกิดระเบิดคาร์บอมบ์ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และมอเตอร์ไซค์บอมบ์ในตลาดสดกลางเมืองยะลา ส่งผลให้เครื่องจีที 200 ถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางนั้น แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ใช้เครื่องนี้อยู่ เห็นได้ชัดว่าความแม่นยำของเครื่องขึ้นกับสมาธิของผู้ใช้และการฝึกฝน ฉะนั้นจึงยอมรับว่ามีตัวแปร มีปัจจัยผันแปร จึงไม่ได้แม่นยำ 100%
“ขอบอกว่าเครื่องจีที 200 ยังมีความจำเป็นในภาคใต้ แต่ต้องใช้แค่ชี้เป้าเบื้องต้นเท่านั้น อย่าไปปักใจเชื่อ ต้องใช้เครื่องมืออื่นตรวจซ้ำ โดยเครื่องนี้จะใช้ตรวจหาสาร 4 ชนิดใหญ่ๆ คือ สารระเบิด สารเสพติด กระสุนปืน และศพมนุษย์ ถามว่าแม่นยำหรือไม่ ถ้าคนใช้มีความพร้อม ใช้ถูกวิธี และฝึกฝนมาอย่างดี ก็ชี้ทุกครั้ง (หมายถึงแสดงผลว่ามีสารต้องการค้นหาอย่างถูกต้อง)”
ห้ามใส่การ์ด”ปุ๋ย”ป้องกันชี้มั่ว
ส่วนปุ๋ยยูเรียซึ่งใช้ทางการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มผู้ไม่หวังดีก็นำมาประกอบระเบิดได้ด้วย ทำให้หลายครั้งเกิดความสับสนที่เครื่องจีที 200 อาจแสดงผลตรวจจับสารระเบิด แต่แท้ที่จริงเป็นเพียงปุ๋ยนั้น แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีการกำชับเจ้าหน้าที่ทุกคนว่าห้ามใส่การ์ดไนเตรท (การ์ดที่ใส่กับตัวเครื่องจีที 200 เพื่อหาสสารที่ต้องการ) เพราะเป็นสารที่ใช้ทางการเกษตร เป็นส่วนผสมของปุ๋ยชนิดต่างๆ
แต่แม้จะไม่ใส่การ์ดชนิดนี้ เครื่องก็ยังสามารถตรวจหาระเบิดได้อยู่ดี เพราะมีการ์ดที่ตรวจหาทีเอ็นที หรืออาร์ดีเอ็กซ์ ซึ่งเป็นสารประกอบในเชื้อปะทุกับดินขยาย ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของระเบิดเช่นกัน
“แทนที่เราจะไปตรวจหาสารไนเตรทซึ่งมีโอกาสผิดพลาดสูง เพราะสามจังหวัดเป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีการใช้สารไนเตรทมาก เราก็ห้ามตรวจ แล้วหันไปตรวจสารประกอบในเชื้อปะทุกับดินขยายแทน ซึ่งที่ผ่านมาทีมงานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็ตรวจเจอระเบิด ไม่เคยพลาด”
ให้ป.โท ใช้เครื่อง-การันตีความแม่น
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ กล่าวอีกว่า การใช้งานเครื่องจีที 200 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีความผิดพลาด เพราะให้ความสำคัญกับผู้ใช้ หรือผู้ถือเครื่อง โดยนำบุคลากรที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท มาใช้ทั้งสิ้น ฉะนั้นจึงไม่มีปัญหา และเครื่องก็แสดงผลแม่นมาก เช่นเดียวกับการใช้ของหน่วยเก็บกู้ทำลายล้างวัตถุระเบิด หรืออีโอดี ของกองทัพ
“การใช้เครื่องมันมีเทคนิคมาก เช่น จะตรวจด้านซ้ายต้องถือมือขวา ถ้าจะตรวจด้านขวา ต้องถือมือซ้าย ฉะนั้นถ้าคนตรวจไม่ชำนาญพอ ไม่ได้รับการฝึกมา หรือไม่ใส่ใจ แล้วก็ไม่ทำตามขั้นตอน ก็ตรวจหาสารไม่เจอ ขอบอกว่าเครื่องจีที 200 ไม่ใช่เครื่องมือวิทยาศาสตร์ 100% และไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันในชั้นศาลได้”
มีใช้ดีกว่าไม่มี
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ บอกว่า แม้เครื่องจีที 200 จะเป็นเพียงเครื่องมือชี้เป้า และไม่มีความแม่นยำ 100% แต่ก็ดีกว่าไม่มีเครื่องมืออะไรใช้เลย ฉะนั้นสื่อจึงควรช่วยกันนำเสนอในทางที่สร้างสรรค์จะดีกว่า
อย่างสถานการณ์ในภาคใต้มีระเบิดเยอะมาก การเข้าไปปิดล้อมตรวจค้นบ้านทุกหลัง ห้องทุกห้องมันเป็นไปไม่ได้ และไม่ดีด้วย เพราะเจ้าของบ้านก็จะไม่พอใจ แต่ถ้าเราใช้จีที 200 ชี้ก่อน แล้วค้นเฉพาะบ้านหรือห้องต้องสงสัยจริงๆ ก็จะช่วยประหยัดเวลาและทำให้พื้นที่ตรวจแคบลงมาก จากนั้นก็ใช้เครื่องมืออื่น เช่น ไอออนสแกน ตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อยืนยันและป้องกันความผิดพลาด
“อยากให้คนที่ออกมาวิจารณ์หรือตั้งข้อสงสัยกับเครื่องจีที 200 ลงพื้นที่ไปทำงานกับทีมเราในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะทีมนิติวิทยาศาสตร์ไม่เคยตรวจพลาดแม้แต่ครั้งเดียว มีเป็นเจอ ไม่มีคือไม่เจอ ฉะนั้นข้อเสนอของหมอก็คือ สื่อควรนำเสนอข่าวออกไปมากๆ เพื่อบอกทางทหาร ตำรวจว่า เครื่องมือชนิดนี้เป็นเครื่องชี้เป้า ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันในทางคดีได้ และก็ไม่ควรใช้เครื่องนี้ในการกล่าวหาบุคคลใด แม้ในส่วนของนิติวิทยาศาสตร์จะยืนยันว่าเครื่องนี้มีความแม่นยำ แต่ถ้าใช้เครื่องจีที 200 อย่างเดียว หมอก็ไม่เห็นด้วย เพราะเครื่องใช้ได้เพียงการชี้เป้า ไม่ใช่ยืนยัน”
รับประกันความแม่นเฉพาะทีมนิติวิทย์
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ยังย้ำว่า การตรวจหาวัตถุต้องสงสัยโดยใช้เครื่องจีที 200 ที่สามารถยืนยันความแม่นยำได้จริงๆ คือทีมของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เท่านั้น เพราะผ่านการฝึกมาอย่างดี และบุคลากรก็มีคุณภาพ ส่วนหน่วยทหาร ตำรวจซึ่งมีเครื่อง จีที 200 ใช้อย่างกว้างขวางนั้น ไม่สามารถยืนยันได้
“ที่มีข่าวว่าหลายๆ ประเทศเช่น อังกฤษ อเมริกา ฟ้องร้องบริษัทที่จำหน่ายเครื่องมือที่คล้ายคลึงกับจีที 200 เพราะไม่สามารถตรวจหาสารระเบิดได้จริงนั้น หมอก็ทราบข่าว แต่ของเราทดลองแล้วใช้ได้ผล จึงนำมาใช้” ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าว
ชาวบ้านยันชี้มั่ว-ไม่แม่น-ก่อปัญหา
ด้าน นางแยนะ สะแลแม ญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มีประสบการณ์ตรงกับเครื่อง จีที 200 ที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้กันอยู่ กล่าวว่า เครื่องนี้ไม่มีความแม่นยำ ชาวบ้านไม่เชื่อ ซ้ำยังสร้างปัญหา เพราะทำให้คนถูกตรวจแล้วเครื่องบอกว่ามีสารระเบิดถูกจับ ถูกคุมตัว ทั้งที่จริงๆ แล้วคนๆ นั้นไม่ใช่คนร้าย
“ฉันเคยเจอเอง 4 เหตุการณ์ คือ 1.ที่โรงเรียนอิสลามบูรพา อ.เมือง จ.นราธิวาส ที่มีการปิดล้อมตรวจค้นแล้วจับกุมมือระเบิด เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องจีที 200 ตรวจ ปรากฏว่าเครื่องชี้ไปที่กุโบร์ (สุสานของคนมุสลิม) เจ้าหน้าที่ไปขุดกุโบร์ ก็ไม่เจออะไรนอกจากศพคนที่ฝังมาแล้ว 8 ปี
2.เหตุการณ์ที่โรงเรียนบ้านศาลาใหม่ (อ.ตากใบ จ.นราธิวาส) เจ้าหน้าที่ได้ข่าวว่าคนร้ายนำระเบิดมาวาง ก็เอาเครื่องจีที 200 มาตรวจ ปรากฏว่าไม่พบ แต่หลังจากนั้นไม่ถึงชั่วโมงก็เกิดระเบิดขึ้น แสดงว่าเครื่องตรวจหาไม่เจอ
3.หลังเหตุการณ์ระเบิดที่โรงเรียนบ้านศาลาใหม่ เจ้าหน้าที่ก็นำเครื่องไปตรวจบุคคลต้องสงสัย ปรากฏว่าเครื่องชี้ไปที่ครูกับภารโรง ทำให้ 2 คนนี้ถูกจับ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่คนร้าย แต่ต้องถูกควบคุมตัวนานเป็นสัปดาห์ และ 4.เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่นำเครื่องจีที 200 ไปตรวจค้นในหมู่บ้าน แต่เครื่องกลับชี้ไปที่ยอดมะพร้าว เมื่อปีนขึ้นไปดูก็เป็นถุงน้ำมันมะพร้าวที่คาดว่าหนูคาบขึ้นไปเท่านั้น” นางแยนะ กล่าว
จี้ฝ่ายความมั่นคงจัดทดลองประสิทธิภาพ
ขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า แม้จะมีการระบุว่าผลตรวจของ จีที 200 ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันในศาลได้ แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกลับนำมาใช้ในการกล่าวหาประชาชน และเชิญตัวไปเข้ากระบวนการซักถาม ตลอดจนกระบวนการฝึกอบรมของรัฐ ซึ่งไม่ถูกต้อง หลายคนต้องถูกจับกุม สูญเสียอิสรภาพเป็นเวลานานจากการตรวจด้วยเครื่องมือนี้
“สิ่งที่อยากเรียกร้องคือ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะทหารจัดทดลองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพเครื่องจีที 200 อย่างเป็นทางการเพื่อให้ข้อครหาหมดไป”นางอังคณา กล่าว
นักวิทยาศาสตร์เตือนภัย-แนะเลิกใช้
ด้าน นายจุฬา พิทยาภินันท์ นิสิตปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพเครื่องจีที 200 ว่า แม้ปัจจุบันจะมีหน่วยงานของไทยหลายหน่วยงานใช้เครื่องดังกล่าวในการตรวจหาระเบิด แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการใช้งานที่ จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ทำให้ต้องตั้งคำถามว่าสมควรใช้เครื่องมือดังกล่าวจริงหรือ และเครื่องใช้การได้จริงหรือไม่ ไม่ใช่แค่มีประสิทธิภาพหรือเปล่า
“หน่วยงานด้านความมั่นคงในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เคยมีการนำเครื่องจีที 200 ไปทดสอบการใช้งานแล้ว ปรากฏว่าไม่สามารถใช้งานได้จริง โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯได้ออกหนังสือเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เครื่องจีที 200 ใช้ไม่ได้ ซ้ำยังมีการฟ้องร้องฐานหลอกลวงด้วย”
“แม้ผู้ผลิตจะอ้างว่ามีการใช้งานใน 25 ประเทศ แต่มีข้อมูลการยืนยันการใช้งานเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น เช่น ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก อินเดีย ปากีสถาน อิรัก และไทย ดังนั้นหากจีที 200 มีประสิทธิภาพจริง หน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐหรือยุโรปจะต้องมีการนำเครื่องดังกล่าวไปใช้งานจริงแล้ว”
นิสิตปริญญาเอกผู้นี้ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตลอดจนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยอีกหลายหน่วยงาน รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กำลังสั่งเครื่องดังกล่าวมาใช้งาน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก หากเป็นไปได้อยากเสนอไม่ให้มีการใช้งานเครื่องมือดังกล่าวเลยจะดีกว่า
จี้รัฐสอบงบจัดซื้อ จีที 200
นายสุนัย ผาสุก ผู้ประสานงานที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้โอกาสนี้เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อตรวจสอบการใช้เครื่องมือจีที 200 ตลอดจนงบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อ ซึ่งเป็นเงินมหาศาล หากทำได้ก็จะประหยัดงบประมาณของรัฐ และลดความเสี่ยงได้มากทีเดียว