บันทึกวันครูปลายด้ามขวาน...ปรีชา เวชศาสตร์ "สถานการณ์ร้ายไม่ทำให้อุดมการณ์เปลี่ยน"
"ทำวันนี้ให้ดีที่สุด" คือหลักการดำรงชีวิตที่ยึดถือและปฏิบัติมาตลอดของ ครูปรีชา เวชศาสตร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยประมงปัตตานี ซึ่งได้รับเลือกให้เป็น "ยอดครูผู้มีอุดมการณ์" ในโครงการ "ตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู" ครั้งที่ 7 ประจำปี 2556 ของกระทรวงศึกษาธิการ
และเป็นครั้งแรกของครูอาชีวศึกษาที่มีบุคลากรได้รับรางวัลนี้...
ในแวดวงการศึกษาชายแดนใต้ ชื่อของ ครูปรีชา เวชศาสตร์ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะของครูผู้ทุ่มเทและเสียสละ เขาทำงานในดินแดนปลายด้ามขวานมานานกว่า 15 ปี แม้จะมีโอกาสย้ายออกนอกพื้นที่ แต่อุดมการณ์และความตั้งใจที่จะพัฒนาการศึกษาให้แก่เยาวชนชายแดนใต้มีมากกว่า ทำให้เขายังคงทำหน้าที่อยู่จนถึงปัจจุบัน...และทำอย่างทุ่มสุดตัว
"การให้โอกาสทางการศึกษาคือสิ่งที่ดีที่สุด ผมอยากช่วยสร้างเมล็ดพันธุ์ดีตั้งแต่ต้นน้ำ พัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ จึงตัดสินใจมาเป็นครูแล้วทุ่มเท เสียสละ ต้องเป็นพ่อแม่คนที่สอง ช่วยเหลือเด็กในทุกๆ ด้าน เด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังขาดโอกาสทางการศึกษาอีกมาก คนที่เป็นครูต้องเป็นครูมืออาชีพ ไม่ใช่มีอาชีพเป็นครู ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ ต้องสอนได้ทุกอย่างทุกมิติ" ครูปรีชา บอกถึงความตั้งใจและจุดยืนในวิชาชีพ
ทุ่งโล่งกว่า 300 ไร่ใน ต.บางตาวา และ ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี คือที่ตั้งของวิทยาลัยประมงปัตตานี สถาบันที่ ครูปรีชา มารับตำแหน่งผู้อำนวยการ โดยสมัยที่เขาเดินทางมารับตำแหน่งนั้น มีเพียงทุ่งโล่งจริงๆ เขาต้องบุกเบิกแก้ปัญหาที่ดินตั้งแต่ปี 2546 ต้องกินนอนอยู่ที่นั่นเพื่อเร่งจัดตั้งวิทยาลัยและจัดการเรียนการสอนให้ลงตัว ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาแปรรูปสัตว์น้ำ สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และสาขาเกษตรศาสตร์ ตามโครงการปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต และโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท กระทั่งยกระดับสู่การจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้
จากวิสัยทัศน์ที่เขาตั้งไว้ในช่วง 5 ปีแรกของวิทยาลัย ระหว่างปี 2546-2551 คือ "ระดมสรรพกำลัง ก่อตั้งวิทยาลัย พัฒนาอาชีพฉับไว ก้าวไกลอาชีวศึกษา" เขาและบุคลากรเดินตามเข็มมุ่งนั้น มีนักศึกษาจบออกไป 5 รุ่น ต่อมาในปี 2552-2555 เขาปรับวิสัยทัศน์ใหม่เป็น "สร้างแหล่งเรียนรู้ มุ่งสู่สากล พัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง ลือเลื่องแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์" เพื่อเป็นหลักในการพัฒนาคน พัฒนาอาชีพ ให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาของท้องถิ่นและประเทศ
"ที่นี่รับเด็กด้อยโอกาสและยากจนมาเรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี มีรายได้ระหว่างเรียน สนับสนุนทุกเรื่องที่เขาทำได้ ให้มีทั้งวิชาการ วิชาชีพ พัฒนาศักยภาพและบุคลิกภาพ เมื่อรับเข้ามาจะมีการละลายพฤติกรรมโดยมีครูพี่เลี้ยงดูแล 24 ชั่วโมง มีการจำลองการปกครองเป็นหมู่บ้าน ให้ได้เรียนรู้ดูแลกันและกัน ไม่มีการแบ่งแยกศาสนา เปิดโอกาสให้ปฏิบัติศาสนกิจได้ตามคติขความเชื่อของแต่ละศาสนา มีทุนการศึกษาให้สำหรับเด็กที่ตั้งใจเรียน แต่สิ่งสำคัญก็คือครูทุกคนต้องรักและสามัคคีกันก่อนจึงจะสามารถสอนและแนะนำเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
ครูปรีชา เปรียบเทียบให้ฟังว่า การเรียนสายอาชีพก็เหมือนการปีนต้นมะม่วง ไม่ว่าจะปีนไปกิ่งก้านไหนก็จะมีลูกมะม่วงรออยู่ทุกกิ่งก้าน เช่น เมื่อจบ ปวช.ก็สามารถออกไปทำงานได้ทันที แต่หากมีความพร้อมก็เรียนต่อ ปวส.หรือปริญญาตรีแล้วค่อยออกไปประกอบอาชีพก็ได้ การเลือกประกอบอาชีพก็เลือกได้ทั้งที่เป็นลูกจ้างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และประกอบอาชีพอิสระที่สามารถกำหนดเงินเดือนของตัวเอง
"สิ่งสำคัญคืออีกไม่นานนี้จะมี ‘สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ’ ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดว่าสมรรถนะของแต่ละคนควรได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่ ไม่ใช่ให้ระดับการศึกษาเป็นตัวกำหนดเงินเดือนด้านเดียวเหมือนที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะวิชาชีพที่ขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ช่างเชื่อม ประมง หรือปิโตรเลียม ในบางสาขาวิชาจบชั้น ปวส.แต่อาจได้รับเงินเดือนมากกว่าปริญญาตรีบางสาขา อย่างนี้เป็นต้น"
ท่ามกลางปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรากเหง้าของปัญหาส่วนหนึ่งคือเรื่องการศึกษาและเยาวชน ครูปรีชา เห็นว่าการเรียนสายวิชาชีพจะช่วยบรรเทาปัญหาไปได้มากทีเดียว
"ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเร่งสร้างกระแสการเรียนสายวิชาชีพให้มาก เพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งโลกนี้และโลกหน้า จริงๆ แล้วมีวิทยาลัยมากถึง 18 แห่งในพื้นที่ให้เลือกเรียน มีศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้นใน 22 อำเภอที่ไม่มีวิทยาลัยตั้งอยู่ เช่น อ.ทุ่งยางแดง (จ.ปัตตานี) สะบ้าย้อย (จ.สงขลา) ศรีสาคร รือเสาะ แว้ง (จ.นราธิวาส) เป็นต้น ฉะนั้นอย่าไปมุ่งเรียนสายสามัญอย่างเดียวเพราะคิดว่าเรียนจบแล้วมีงานทำหรือรับราชการเพื่อเริ่มต้นเงินเดือน 15,000 บาท โลกของวิชาชีพก้าวไปได้ไกลกว่าที่คิดอีกมาก และได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" ครูปรีชาอธิบาย
นอกจากตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยประมงปัตตานีแล้ว ครูปรีชายังได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศพต.) และผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ด้วย
จากการทำงานหนักตลอดหลายปีที่ผ่านมา เขาได้รับรางวัลมากมายทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาคและระดับประเทศ อาทิ ครูผู้ปฏิบัติงานดีเด่นจากคุรุสภา, ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต จากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, ผู้มีผลงานดีเด่นสาขาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้บริหารมืออาชีพ, ผู้ทำประโยชน์ทางการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
ในห้วงแห่งสถานการณ์ไฟใต้ที่คุโชนและมีการกระทำรุนแรงต่อครู ปรีชาบอกว่าอุดมการณ์ครูของเขาไม่เคยเปลี่ยน และเชื่อว่าครูทุกคนในพื้นที่นี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน เพียงแต่บริบทรอบตัวทำให้ไม่สามารถแสดงศักยภาพที่มีออกมาได้อย่างเต็มที่เหมือนครูในพื้นที่อื่นๆ
"อุดมการณ์ของครูยังเหมือนเดิม แต่ไม่สามารถรีดเค้นความสามารถออกมาใช้ได้เต็มศักยภาพด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ไปสอนแต่เช้าไม่ได้และต้องกลับก่อนเพราะต้องเข้าระบบการดูแลรักษาความปลอดภัย ถ้าเป็นครูมาจากพื้นที่อื่นเมื่อใช้สิทธิ์ขอย้ายออกก็จำเป็นต้องให้ย้าย เมื่อย้ายแล้วก็ต้องหาคนใหม่มาแทนเพื่อให้มีความหลากหลาย แต่ต้องไม่ใช่คนในพื้นที่อย่างเดียวเพราะอาจไม่ตรงสาขาและไม่มีคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น"
ครูปรีชา กล่าวด้วยว่า การเป็นครูต้องมีอุดมการณ์จริงๆ จึงจะประสบความสำเร็จ มีความจริงใจและตั้งใจดีที่จะทำงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้กับลูกศิษย์ ความสำเร็จที่พูดถึงนี้สะท้อนจากคุณภาพของเด็กและเยาวชนที่ดีขึ้น หาใช่ตำแหน่ง ลาภ ยศ...
กับอายุราชการที่เหลืออีกสิบกว่าปีของครูปรีชา เขาบอกว่าไม่ว่าจะต้องไปรับตำแหน่งไหน ขอทำงานอย่างเต็มที่ตามอุดมการณ์เดิมตั้งแต่ตัดสินใจเข้ามาเป็นครู คือจะมุ่งพัฒนาการศึกษา พัฒนาเยาวชนให้เป็นกำลังสำคัญที่มีคุณภาพของประเทศ
นี่คืออีกหนึ่ง "ครูตัวอย่าง" จากดินแดนปลายด้ามขวานที่สมควรบันทึกไว้ในวันครู พ.ศ.2556
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ครูปรีชา เวชศาสตร์
2 รางวัลจากความทุ่มเท (ภาพทั้งหมดโดย เลขา เกลี้ยงเกลา)