ห่วงคนไทยเตรียมพร้อมสู่วัยชราต่ำ เร่งสร้างตำบล-วัดต้นแบบดูแลผู้สูงวัย
ส.วิจัยประชากรชี้ผู้สูงอายุไทยมากสุดในอาเซียน อีก 20ปีเข้าสู่สังคมสูงวัยสุดยอดคนแก่ 20% เตรียมพร้อมต่ำแค่ 34.2% สธ.ดึงท้องถิ่นสร้างตำบล-วัดต้นแบบดูแลคนชรา
วันที่ 15 ม.ค.56 ที่โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต มีการสัมมนา “ผู้สูงวัยมุ่งสู่...อำเภอสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว” โดยนพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าขณะนี้โลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ข้อมูลสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2555 พบว่าโลกมีประชากร 7,058 ล้านคน มีผู้อายุ 65 ปีขึ้นไป 565 ล้านคนหรือร้อยละ 8 ขณะที่ไทยมีมากถึงร้อยละ 12.59 ซึ่งมากที่สุดในประเทศอาเซียน นอกจากนี้ยังพบว่าความก้าวหน้าด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทยทำให้อัตราการเกิดน้อยลง ประชากรมีอายุยืนยาวมากขึ้น คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าในปี 2564 ไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และ 20 ปีข้างหน้าจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด”คือมีสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 หรือ
นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า จากรายงานการประเมินแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2545-2565 (ปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ.2552) ระยะที่ 2 พ.ศ.2550-2554 โดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) พบว่าประชากรมีการเตรียมความพร้อมเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพเพียงร้อยละ 34.2 จากเป้าหมายร้อยละ 50 มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์เพียงร้อยละ 18.7 จากเป้าหมายร้อยละ 30 เป็นสมาชิกชมรมและร่วมกิจกรรมชมรมผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 23.7 จากเป้าหมายร้อยละ 25 อยู่ในภาวะทุพพลภาพได้รับการเยี่ยมบ้านร้อยละ 29.9 จากเป้าหมายร้อยละ 80 ได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพประจำปีเพียงร้อยละ 56.7 จากเป้าหมายร้อยละ 50 ซึ่งยังไม่ผ่านการประเมินตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่าปัญหาและสถานการณ์ผู้สูงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ดังนั้นกรมอนามัยจึงต้องเร่งดำเนินการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ 2 กลุ่มหลัก คือกลุ่มผู้สูงอายุสุขภาพดี โดยการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้มีสุขภาพแข็งแรง ชะลอการเกิดโรคเรื้อรัง กลุ่มที่ 2 ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยให้สามารถรักษาตนเองและบรรเทาอาการเจ็บป่วยให้ดีขึ้นได้จากการพิการหรือทุพพลภาพ
“ต้องมีการบูรณาการงานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้ครอบคลุม มีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพพึงประสงค์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 มีตำบลดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวผ่านเกณฑ์อย่างน้อยร้อยละ 20 มีวัดส่งเสริมสุขภาพผ่านเกณฑ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 รวมถึงพัฒนาศักยภาพบุคลากรและภาคีเครือข่ายดูแลผู้สูงอายุทั้งจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น ชมรมผู้สูงอายุ วัด ชุมชน รวมถึงยกย่องเชิดชูเกียรติผู้สูงอายุดีเด่น วัดส่งเสริมสุขภาพดีเด่น ชมรมภาคเครือข่ายผู้สูงอายุดีเด่น เพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว .