กรมชลฯ ปรับแผนการใช้น้ำหลังพื้นที่ตอนล่างประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2556 การใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำไหลลงสู่ตอนล่างต่ำกว่าแผนที่ได้วางไว้ ทำให้พื้นที่ทางตอนล่างทั้งสองฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำแล้วหลายพื้นที่
จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมชลประทาน และ กฟผ. จึงได้ปรับแผนการใช้น้ำจากเขื่อนสิริกิติ์เพิ่มมากขึ้น จนสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำไม่ให้เกิดขึ้นอีก กรมชลประทาน จึงได้กำหนดแผนการใช้น้ำจากเขื่อนต่างๆ ในช่วงระว่างวันที่ 14 – 20 ม.ค. 56 ดังนี้
เขื่อนภูมิพล ส่งน้ำในอัตราวันละ 25.30 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ ส่งน้ำในอัตราวันละ 27.40 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ส่งน้ำในอัตราวันละ 1.38 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ส่งน้ำในอัตราวันละ 4.32 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมกับการปรับแผนการใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ในช่วงระหว่างวันที่ 14 – 20 ม.ค. 56 ด้วยการส่งน้ำผ่านเขื่อนท่าทุ่งนา ในอัตราวันละ 11.40 ล้านลูกบาศก์เมตร และจากเขื่อนวชิราลงกรณ ในอัตราวันละ 10.60 ล้านลูกบาศก์เมตร
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้น้ำในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2555/2556 และเพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างเพียงพอในทุกภาคส่วน โดยไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำขึ้นมาอีก จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดทำนาปรังครั้งที่ 2 และขอให้ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไปด้วย