โวยอธิบดีกรมชลฯปลุกมวลชนหนุนเขื่อน หวั่น ครม.สัญจรเหนือดันแก่งเสือเต้น
ชาวสะเอียบโวยอธิบดีกรมชลฯ-ผู้ว่าแพร่-รมว.ทรัพย์ฯ ปลุกมวลชนหนุนแก่งเสือเต้นอีกรอบ หวั่น ครม.สัญจรเหนือ 21ม.ค.ดันเขื่อน ร้องรัฐบาลเมิน 12 ข้อเสนอแนวทางจัดการลุ่มน้ำยมยั่งยืนแก้น้ำท่วม-แล้ง
วันที่ 14 ม.ค.55 นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้เรียกร้องให้นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ยุติพฤติกรรมปลุกระดมชาวบ้านมาสนับสนุนเขื่อน จากกรณีที่เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมาอธิบดีกรมชลประทาน และผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ (นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์) ระดมชาวบ้านมาร่วมกันทำฝายกั้นแม่น้ำยมที่ ต.ห้วยหมาย อ.สอง โดยมีเกษตรกรนำโดยนายสมบูรณ์ ใจเศษ มายื่นหนังสือให้เร่งสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง
"ชาวสะเอียบ ยืนยันจะคัดค้านทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เราได้ให้เหตุผลไปแล้วว่าทั้ง 3 เขื่อนไม่สมควรสร้าง แก้น้ำท่วมก็ไม่ได้ แก้น้ำแล้งก็ไม่ได้ และยังกระทบชุมชนและป่าสักทองอย่างมาก เราเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาไป 12 ข้อ ไปถึงนายกรัฐมนตรีหลายต่อหลายครั้งแล้ว ทำไมไม่ทำ หรือมันใช้งบประมาณน้อยถึงไม่สนใจ"
นายสมมิ่ง กล่าวอีกว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม ต้องมองทั้งระบบลุ่มน้ำ ไม่ใช่เขื่อนเท่านั้นที่เป็นเป้าหมายการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ แต่การรักษาป่าที่เหลืออยู่ การป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวรและยั่งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอลช่วยลดโลกร้อน รวมทั้งฟอกอากาศให้ออกซิเจน เป็นแนวทางที่ยั่งยืนที่สุด รวมทั้งการรักษาและพัฒนาป่าชุมชนที่ทุกชุมชนควรมีไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตชุมชน การรักษาป่าอนุรักษ์โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอย่างเข้มงวด การปลูกต้นไม้เพิ่ม สร้างพื้นที่สีเขียวให้ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และ ประเทศ
แนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมอย่างยั่งยืนแทนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่เคยเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ยังรวมถึงกล่าวถึงการพัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ว่าชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อม ควรได้รับการสนับสนุน นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำให้ทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ รวมทั้งเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็กทั้ง 77 ลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า
เสนอให้มีการทำแหล่งรับน้ำหลากไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า การพัฒนาโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม การสนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านและชุมชนอย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
การกระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ การทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู การส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่าและรักษาป่ารักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม
"รัฐบาลอย่าคิดว่ามีอำนาจแล้วจะรังแกประชาชน เราคนสะเอียบไม่ยอม เราจะจารึกบุคคลเหล่านี้ไว้ทั้งอธิบดีกรมชลฯ รัฐมนตรีกระทรวงวิทย์ฯ ผู้ว่าแพร่" นายสมมิ่ง กล่าว
ด้านนายวิชัย รักษาพล แกนนำชาวบ้านบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ กล่าวว่า ชาวสะเอียบ จะไม่ยอมให้มาทำลายป่าสักทองของคนทั้งประเทศ เรายืนยันจะต่อสู้คัดค้านจนถึงที่สุด ไม่เฉพาะเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่เขื่อนยมล่างก็ท่วมป่าสักทองเหมือนเดิม แค่ขยับจุดสร้างเขื่อนเท่านั้นเอง
ทั้งนี้คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ตำบลสะเอียบ ได้มีมติให้ชาวบ้านตั้งฐานที่มั่นที่จุดหัวงานที่จะสร้างเขื่อน และติดป้ายประกาศ "ห้ามบุคลหรือหน่วยงานที่ผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง(เขื่อนแม่น้ำยม) เข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด หากพบเห็นจะไม่รับรองความปลอดภัย" และยังมีการจัดเวรยามเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น
ทั้งนี้มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลอาจนำเรื่องโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเข้าพิจารณาใน ครม.สัญจรภาคเหนือ ที่ จ.อุตรดิตถ์ วันที่ 21 ม.ค.56 นี้ ส่วนโครงการเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) นั้นยังอยู่ในขั้นการศึกษาความเป็นไปได้และศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาถึง ต.ค.56 .