“สื่อเปลี่ยนคน หรือคนเปลี่ยนสื่อ” สร้างสื่อน้ำดีให้เป็นสื่อหลัก ได้ไหม?
“เหนือเมฆ”ถูกระงับออกอากาศคงสร้างความหงุดหงิดสงสัยให้ประชาชนไปอีกพัก แต่สังคมไทยยังไม่ถึงกับสิ้นหวังกับสื่อ ทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ(ชุมชน) ฯลฯ จะเป็น “สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ได้อย่างไรไปฟัง
สังคมไทยก็ยังไม่ถึงกับสิ้นหวังกับสื่อเสียทีเดียว สิ้นปีที่ผ่านมามีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งอย่างสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สถาบันอาศรมศิลป์ และเครือข่ายอีกหลายองค์กร ร่วมจัดงานระพีเสวนา การเรียนรู้เพื่อความเป็นไทครั้งที่ 6 ว่าด้วยเรื่อง “สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ไปฟังมวลทัศนะอันน่าสนใจ…
“สื่อเปลี่ยนคนได้จริง?”
“คนทำสื่อต้องเปลี่ยนแปลงก่อน”…
ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ประธานองค์ความรู้คณะละครมรดกใหม่ แสดงทัศนะถึงบทบาทสื่อที่สร้างการเปลี่ยนแปลงคนหรือสังคมว่าก่อนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆนั้น คนทำสื่อต้องเปลี่ยนแปลงก่อน ตามหลักของพระพุทธเจ้าที่ว่าเราต้องบริสุทธิ์ก่อนถึงจะชวนคนให้บริสุทธิ์ได้ ละครนั้นเป็นสื่อที่สวยงาม เพราะมีทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา และโดยหลักการละครแล้ว นักแสดงรู้สึกอย่างไร คนดูก็จะรู้สึกอย่างนั้น ถ้าเราโกง ต่อให้พูดว่าไม่โกงๆๆ ไม่ว่าอย่างไรคนดูก็จะรู้สึกว่าเราโกง ดังนั้นตัวกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเปลี่ยนอันดับแรก คือคนทำสื่อจะต้องเปลี่ยนแปลงก่อน
ดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ศสส.) สสส. ผู้มีส่วนร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการทำสื่อหลากหลายรูปแบบของเยาวชน เห็นด้วยกับอาจารย์ชนประคัลภ์ เพราะจากประสบการณ์การทำงานร่วมกับเยาวชนพบว่า ในช่วงแรกเริ่มเยาวชนที่เข้ามาทำสื่อมักติดอยู่กับการใช้เทคนิคและเครื่องมือ คือยังยึดติดอยู่กับเปลือกของการสื่อสาร กระบวนการของ ศสส.จึงเน้นไปที่แก่นของสื่อ คือการสร้างการเรียนรู้ให้เยาวชนเข้าใจในเนื้อหาและประเด็นปัญหาที่เขาสนใจก่อน เพราะเรื่องของเครื่องมือและเทคนิคนั้นเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยได้ แต่เรื่องจิตสาธารณะนั้นไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งไหนสอน
“ถ้าเรามองสื่อเป็นเครื่องมือ เราที่เป็นคนทำสื่อต้องเปลี่ยนตัวเราก่อน หันกลับมามองว่าเราเข้าถึงและเข้าใจเขา (คนรับสื่อ) แล้วหรือยัง เข้าใจปัญหา เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกและจิตวิญญาณของเขามากน้อยแค่ไหน สื่อที่เราทำนั้น เราทำด้วยความเข้าใจเขาอย่างถ่องแท้หรือเปล่า”
หน้าที่สื่อคือทำให้คนเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต
คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ แห่งทีวีบูรพา มองว่าเราไม่ควรตีกรอบสื่อเป็นแค่โทรทัศน์ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือละคร เพราะในความเป็นจริงของชีวิตที่คนเราสื่อสารกันอยู่ตลอดเวลานั้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็คือสื่อ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากคนเราคิดว่าสื่อคือโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือสิ่งที่ใหญ่ๆ เพราะจะทำให้เราไม่ได้ใช้กระบวนการสื่อหรือศักยภาพสื่อในการทำหน้าที่สร้างการเปลี่ยนแปลง
“ผมมองว่าทุกคนที่ทำหน้าที่ต่างๆในชีวิตก็กำลังใช้สื่อเพื่อสร้างสรรค์สิ่งเหล่านั้นอยู่ ตั้งแต่ในครอบครัว การที่เราสอน เราแสดงโลก หรือบ่มเพาะลูก ไม่ใช่เฉพาะการสื่อสารที่เราสื่อกับลูก แต่คือการรับรู้สื่อของลูก ครูในโรงเรียนก็กำลังใช้กระบวนการสื่อต่างๆ ผมกลับคิดว่าสื่อใหญ่เสียอีกที่สร้างปัญหามากมาย แล้วยังไปมีผลกระทบต่อคนที่จะใช้สื่อเล็กๆ หรือสื่อใกล้ตัวอีกด้วย”
“สื่อคือสิ่งที่มีผลต่อการรับรู้และการเรียนรู้ของคนเรา ทำให้เราเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ความเป็นจริงของโลก เข้าใจการอยู่ร่วมกัน เข้าใจบทบาทหน้าที่ที่มากกว่าการหาประโยชน์สุขให้กับตัวเอง แต่ว่าเข้าใจหน้าที่ที่เรามีต่อผู้อื่น ต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” สุทธิพงษ์กล่าว
ปลดล็อกโครงสร้างอำนาจสังคมเพื่อสิทธิของสื่อภาคประชาชน
“ต้องปลดล็อกโครงสร้างอำนาจสังคม ร่วมถึงอำนาจรัฐเพื่อสิทธิสื่อภาคประชาชน” การเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนมีสิทธิทำสื่อ เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้..... เป็นมุมมองผู้ขับเคลื่อนสื่อภาคประชาชน ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน มูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาสังคม ว่าโครงสร้างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มาตรา ๔๐ นั้นเป็นการปลดล็อกการเป็นเจ้าของสื่อวิทยุโทรทัศน์ และเป็นจุดเริ่มต้นให้ตนที่เป็นนักวิชาการที่มีความฝันได้มาขายฝัน ด้วยการสร้างการเรียนรู้เรื่องสิทธิสื่อภาคประชาชนให้กับประชาชนในชุมชน ซึ่งประชาชนก็รับซื้อแล้วลงมือทำ จนกระทั่งเกิดเป็นวิทยุชุมชนทุกวันนี้
แต่น่าเสียใจว่าจากเดิมที่ภาคประชาชนไม่มีพื้นที่ในสื่อ เป็นเพียงผู้รับสื่ออย่างเดียว แต่เมื่อมีพื้นที่แล้วนั้น วิทยุชุมชนที่เป็นสื่อภาคประชาชนที่ไม่ค้ากำไร และมุ่งการสื่อสารของประชาชนระดับชุมชนกลับกลายเป็นคนชายขอบในพื้นที่ของเขาเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นโครงสร้างอำนาจในสังคมที่ไม่เชื่อในสิทธิและศักยภาพของประชาชน และการเข้าใจว่าผู้จะประกอบกิจการสื่อนั้นต้องเป็นมืออาชีพหรือต้องมีเงิน
“การเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนมีสิทธิทำสื่อนั้น สื่อวิทยุถือเป็นสื่อที่ประชาชนเข้าถึงง่ายและทำได้ง่ายที่สุด วิทยุนั้นเขียนบทได้ เล่นละครได้ แต่ปรากฏว่าพอมีพื้นที่ รูปแบบที่พบมากที่สุดในการทำวิทยุชุมชนคือการเป็นดีเจที่พูดตามเพลง สิ่งนี้สะท้อนถึงโครงสร้างที่กดทับประชาชนอยู่ เพราะเขาฟังแบบนี้มาตลอด โครงสร้างต่อไปคือเสียงที่อยู่ในสื่อต้องเป็นคนที่มีตำแหน่ง เป็นคนสำคัญ คนทำวิทยุชุมชนจึงไม่เชื่อมั่นว่าชาวบ้านจะสามารถเป็นผู้รู้ที่ให้ข้อมูลในวิทยุได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความขัดแย้งทางการเมือง เพราะการเมืองของเราเป็นเรื่องการปะทะ ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์หรือความเชื่อ”
“ดิฉันเป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่มีความเชื่อและศรัทธาในพลังภาคประชาชน แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ยิ่งผ่านไปยิ่งทำงานยากขึ้นเรื่อยๆ หัวใจที่แข็งแกร่งยังคงอยู่ แต่ความจริงที่เจ็บปวดคือคลื่นที่ประชาชนใช้นั้นมีคนใช้ซ้ำ ฟังได้แต่ในสถานี เลยรั้วสถานีไปก็ไม่ได้ยินแล้ว การสนับสนุนจากประชาชนก็น้อย เพราะประชาชนยังไม่เข้าใจเรื่องการเป็นเจ้าของสื่อ กระทั่งมีการปรับแก้กฎหมายว่าให้วิทยุชุมชนเสนอขอทุนจากกองทุนใน กสทช.ได้ แต่ดิฉันไม่เห็นด้วย เพราะไม่อยากให้จมูกของวิทยุชุมชนไปอยู่ที่องค์กรที่กำกับดูแล จมูกของชุมชนต้องอยู่ที่ชุมชน ลมหายใจของวิทยุชุมชนต้องอยู่ที่ชุมชน”
“บ้านเรามีคำว่าทางเลือกกับทางรอด แต่น่าแปลกใจว่าทำไมสื่อที่เป็นทางรอดของสังคมถึงต้องเป็นสื่อทางเลือก แล้วสื่อที่นำพาสังคมไปสู่ปัญหากลับกลายเป็นสื่อกระแสหลัก”
สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนด้วย ‘นิติธรรม’
บนเวทีเสวนาในวันนั้นต่างเห็นตรงกันว่า การจะสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆให้กับสังคมนั้น สื่อหรือคนทำสื่อจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงก่อน และเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้ว โจทย์หนึ่งที่ตามมาคือ ทำอย่างไรจึงจะรักษาการเปลี่ยนนั้นๆ ของสื่อไว้ได้ เพราะด้วยโครงสร้างอำนาจในสังคม การเมือง และธุรกิจสื่อ อาจสั่นคลอนอุดมการณ์และการทำงานของคนทำสื่อได้
อาจารย์ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “การเปลี่ยนแปลงนั้นง่ายกว่าการรักษาการเปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้คนทำสื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ลบมาก ดังนั้นแม้ว่าสื่อจะเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ก็เป็นเรื่องยากและท้าทายที่จะรักษาการเปลี่ยนแปลงนั้นไว้ จากประสบการณ์ของผมพบว่า การบอกเล่าการเปลี่ยนแปลงของตัวเราออกไป จะทำให้การเปลี่ยนแปลงของเราทรงอยู่ ยิ่งเล่าก็ยิ่งทรง”
ในฐานะ “คนทำรายการโทรทัศน์เป็นอาชีพ และใช้รายการโทรทัศน์ในการทำหน้าที่ที่คิดว่ามนุษย์คนหนึ่งควรจะทำ” คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ มีความเห็นว่า ตราบใดที่คนทำสื่อมีความตระหนักรู้หรือมีความถ่องแท้กับการมีหน้าที่ในชีวิตที่ไม่ใช่เพียงการแสวงหาความพึงพอใจหรือประโยชน์สุขให้กับตัวเอง การจะรักษาอุดมการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงไว้ก็จะอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจที่แท้จริง
“การไปยึดกุมเป้าหมายเพียงแค่ความสำเร็จที่ไม่ได้มีความเข้าถึงความตระหนักรู้ของชีวิตนั้น ไม่อาจก่อให้เกิดความมั่นคงได้ ในวันนี้เรากำลังพูดถึงการใช้สื่อเพื่อนำเสนอความเป็นจริง เพื่อการต่อสู้ ปกป้อง และรักษาไว้ซึ่งสิทธิความเท่าเทียมของภาคประชาชน ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่สำคัญที่สุด ผมคิดว่าเราต้องกลับมาสู่คนทำสื่อและคนรับสื่อ ตราบใดก็ตามถ้าทั้งคนทำสื่อและคนรับสื่อไม่มีความเท่าทัน และขาดเรื่องนิติธรรม การจะรักษาความมั่นคงหรือการเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปได้ยาก ผมคิดว่าการใช้สื่อเพื่อการต่อสู้หรือเรียกร้องในเรื่องใด เราควรนำสิ่งที่เรียกว่านิติธรรมเข้ามาบรรจุอยู่ในแนวคิด ในหลัก ในแก่น หรือในสาระด้วย”
“ผมเห็นการใช้สื่อเพื่อการต่อสู้มากมาย แต่มันกลับเต็มไปด้วยความโกรธ ความเกลียด ความชัง ผมเห็นคนที่ทำงานเพื่อสังคมมากมายที่ไม่ได้อยู่ในศีลในธรรม เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ถ้าเราอยากจะให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และรักษามันไว้ได้นั้น ผมคิดว่าไม่ได้อยู่ที่การหายุทธศาสตร์ทางการตลาดเพื่อที่จะขาย หรือเพื่อให้มีเวลาอยู่ในสถานีต่อไป แต่อยู่ที่การต้องรักษาความเข้าใจความถ่องแท้นี้ไว้ให้ได้”
สื่อสาธารณะต้องเปลี่ยนนิสัยคนรับสื่อ
ดร.เอื้อจิต กล่าวย้ำว่าตนยังมีความเชื่อว่าสื่อนั้นเปลี่ยนแปลงคนและเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่จะทำอย่างไรให้สื่อที่ต้องการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคน ไม่เป็นเพียงสื่อกระแสรองหรือสื่อทางเลือก เพราะสถานการณ์ความนิยมของคนรับสื่อในตอนนี้จะเห็นว่า สื่อกระแสหลักซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือเรื่องกำไรนั้นกลับจับคนไว้ได้จำนวนมาก
จากงานวิจัยของมีเดียมอนิเตอร์ (www.mediamonitor.in.th) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ศึกษาในหัวข้อ ‘วัยรุ่นกับการใช้สื่อ’ โดยเลือกศึกษาสื่อ ๕ รูปแบบ คือ โซเชียลเน็ตเวิร์ก สื่อกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ สื่อนิตยสาร และสื่อภาพยนตร์ พบว่า สื่อที่วัยรุ่นชอบรับมากที่สุดคือสื่อในวงการบันเทิง คนที่วัยรุ่นสนใจมากที่สุดคือดารา อาชีพที่อยากเป็นมากที่สุดคืออาชีพในวงการบันเทิง ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวโน้มการรับสื่อของวัยรุ่นไทยในขณะนี้ และสิ่งนี้คือภาระของสื่อทางเลือกหรือสื่อสาธารณะที่ต้องปรับนิสัยในการใช้และการรับสื่อของสังคมให้ได้
“ดิฉันไม่โทษวัยรุ่น ต้องถามว่าสังคมทำอะไรให้เขา ดิฉันเคยพูดกับคุณสมชัย สุวรรณบรรณ (ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) ว่าสื่อสาธารณะต้องเปลี่ยนนิสัยคนรับสื่อ คำว่าเปลี่ยนนิสัยไม่ได้แปลว่าไม่ให้รับสื่อกระแสหลักหรือเปลี่ยนแปลงทันที แต่ทำอย่างไรให้คนคิดทบทวนได้ว่า เขารับและใช้สื่อเพื่ออะไร มองภาพอนาคตของสังคมและตัวเองอย่างไร ทุกวันนี้เรามีโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่ส่วนใหญ่กลับไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร”
“การศึกษาอีกหัวข้อหนึ่งของมีเดียมอนิเตอร์ที่ศึกษาฟรีทีวีทุกช่อง เราพบทางสองแพร่ง คือ ฟรีทีวีมองคนดูเป็นพลเมือง หรือเป็นผู้บริโภค คำว่าพลเมืองในที่นี้หมายถึงคนที่ตระหนักรู้ในสิทธิหน้าที่ เชื่อมั่นและมีความเข้าใจว่าสังคมที่ดีต้องเป็นอย่างไร มองเห็นบทบาทของตัวเองว่าจะเข้าไปช่วยเสริมหรือสร้างสังคมที่ดีอย่างไร เหมือนกับคำขวัญที่เราใช้อยู่เป็นประจำว่า “สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมกันสร้าง” ผลการศึกษาครั้งนั้นชัดเจนว่าฟรีทีวีส่วนใหญ่มีเนื้อหาปลุกระดมให้คนดูเป็นนักบริโภค แต่ว่าเนื้อหาที่พัฒนาความเป็นพลเมืองนั้นน้อยมาก ถามว่าสื่อเปลี่ยนแปลงคน เปลี่ยนแปลงสังคมได้ไหม เปลี่ยนแปลงได้ แต่ก่อนอื่นต้องพัฒนาผู้รับสื่อก่อน”
“กรณีนักเล่าข่าวที่ ปปช.ชี้มูลว่าฉ้อฉล แต่ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของสถานีไปให้ข้อมูลกับกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่าทราบเรื่องนี้ แต่คงไม่ปรับผังรายการ เพราะรายการที่ว่านั้นนำรายได้มาสู่สถานีมากเหลือเกิน ตอนนี้สังคมเราเป็นสังคมที่เกณฑ์ความดี ความงาม ความถูกต้อง ต้องมีการตั้งคำถามกันครั้งใหญ่”.
ที่มาภาพ : https://www.transportationsafetyexchange.com/about/press_room.php