สรุปสถานการณ์มลพิษไทย ปี 2555 'สระบุรี' แชมป์มลพิษอากาศมากสุด
วันที่ 11 มกราคม 2556 นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แถลงสรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ในปี 2555 จากการตรวจวัดสารมลพิษทางอากาศ 5 ชนิด ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจน ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ โอโซน และฝุ่น สรุปว่า คุณภาพอากาศในภาพรวมของประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) โดยมีค่าเฉลี่ยรายปี และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด เท่ากับ 42 และ 142 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2554 (39 และ 113 มคก./ลบ.ม.) แต่ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ฝุ่น PM10 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ที่ เกินเกณฑ์มาตรฐานก็ลดลง เป็นผลมาจากมาตรการควบคุมฝุ่นจากการก่อสร้าง การปรับเปลี่ยนมาตรฐานยานพาหนะใหม่และการควบคุมการเผาในที่โล่ง อย่างไรก็ตามในปี 2555 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
พื้นที่ที่มีปัญหาคุณภาพอากาศมาก ได้แก่ สระบุรี เนื่องจากอุตสาหกรรมโรงโม่ บดหิน รองลงมา คือ จังหวัดในกลุ่มภาคเหนือตอนบน ในช่วงสถานการณ์หมอกควัน กรุงเทพมหานครและจังหวัดในปริมณฑล ได้แก่ สมุทรปราการ นนทบุรี สมุทรสาคร เนื่องจากการจราจร โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง
สถานการณ์หมอกควันพื้นที่ภาคเหนือ ปี 2555 ต้องถือว่าระดับปัญหาเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เพราะฝุ่น PM10 เพิ่มขึ้นทุกจังหวัด โดยเฉพาะที่ อ.แม่สาย เชียงราย สูงสุดอยู่ที่ 470 มคก./ลบ.ม. (มาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ต้อง ไม่เกิน 120 มคก./ลบ.ม.) มากกว่ามาตรฐาน 3 เท่า อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สอดคล้องกับปริมาณ จุดความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมและสูงขึ้นต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน ซึ่งรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย คือ เมียนมาร์ และลาว ดังนั้น ตั้งแต่ปลายปี 2555 คพ. จึงมีการเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาหมอกควันและขณะนี้มาตรการต่าง ๆ ก็ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 8 มกราคม ศกนี้
พื้นที่กรุงเทพมหานคร มีปัญหาคุณภาพอากาศเรื่องฝุ่น PM10 มากที่สุดในเขตพญาไท ราษฎร์บูรณะ ธนบุรี ดินแดง บางนา ราชเทวี จตุจักร ยานนาวา บางขุนเทียน บางกะปิ ห้วยขวาง วังทองหลาง ป้อมปราบศัตรูพ่าย และปทุมวัน
สำหรับสถานการณ์ของสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในบรรยากาศ ในกรุงเทพมหานคร พบ สารเบนซีน เกินมาตรฐานบริเวณจุดเก็บตัวอย่างริมถนน แต่ค่าความเข้มข้นมีแนวโน้มลดลงทุกจุดเก็บตัวอย่าง ตั้งแต่ปี 2553 - 2555 ส่วนในจังหวัดระยอง สารเบนซีน สาร 1,3-Butadiene และสาร 1,2-Dichloroethane มีค่าสูงเกินมาตรฐาน แต่สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้นโดยความเข้มข้นสารเบนซีน และ 1,2-Dichloroethane มีค่าลดลง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการจำหน่ายและใช้น้ำมันมาตรฐาน EURO 4 และการควบคุมการระบายสาร VOCs จากกิจกรรมต่าง ๆ ยกเว้นสาร 1,3-Butadiene มีค่าเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ พารามิเตอร์ที่ต้องจับตามองและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด คือ ก๊าซโอโซนระดับผิวพื้น เพราะปริมาณค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 และ ในปี 2555 พบเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ส่วนสารมลพิษอื่น ไม่ว่าจะเป็นก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และสารตะกั่ว ไม่เกินมาตรฐานทุกพื้นที่และทุกช่วงเวลา
คุณภาพน้ำแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ จำนวน 48 สาย และแหล่งน้ำนิ่ง 4 แห่ง ปี 2555 ร้อยละ 80 มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ตั้งแต่ระดับพอใช้ขึ้นไป เมื่อเทียบกับปี 2554 อาจไม่ดีขึ้น (ร้อยละ 85) แต่ถ้าดูในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ถือว่ามีแนวโน้มดีขึ้น (ร้อยละ 72 ในปี 2551) เนื่องจากแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมลดลง เพราะเป็นพื้นที่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาของ คพ. และของกระทรวง อาทิเช่น แม่น้ำท่าจีนตอนบน-ตอนล่าง ลำตะคอง ทะเลสาบสงขลา เป็นต้น
พื้นที่ที่ต้องแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำโดยเร่งด่วน ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา สมุทรปราการ นนทบุรี แม่น้ำท่าจีน สมุทรสาคร นครปฐม แม่น้ำป่าสัก สระบุรี เป็นต้น
คุณภาพน้ำทะเลมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง เนื่องจากบริเวณที่เคยมีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมากและดี ลดน้อยลงอย่างมาก (เกณฑ์ดีมาก จากร้อยละ 16 ในปี 2551 ร้อยละ 2 ในปี 2554 เป็นไม่มีเลยในปี 2555 และเกณฑ์ดี จากร้อยละ 48 ในปี 2551 ร้อยละ 36 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 15 ในปี 2555) ได้แก่ อ่าวไทยฝั่งตะวันออก บริเวณเกาะเสม็ด (อ่าวทับทิม) ระยอง อ่าวไทยฝั่งตะวันตก หาดเจ้าสำราญ หาดปึกเตียน เพชรบุรี อ่าวมะนาว กองบิน 53 หัวหิน เขาตะเกียบ ประจวบคีรีขันธ์ ปากแม่น้ำชุมพร อ่าวปากหาด หาดภารดรภาพ ชุมพร เกาะสมุย เกาะพงัน สุราษฎร์ธานี ชายฝั่งอันดามัน บริเวณ หาดกะรน ภูเก็ต เกาะพีพี กระบี่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชายหาดท่องเที่ยวและชุมชน และบริเวณที่คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมากมาโดยตลอดคือ อ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก)
สถานการณ์ขยะมูลฝอยในชุมชน ของปี 2555 เกิดขึ้นประมาณ 16 ล้านตัน หรือ 43,000 ตันต่อวัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 8 หมื่นตัน (ปี 2554 มีขยะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติจากกรณีอุทกภัย) โดยร้อยละ 22 เป็นขยะที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร (9,800 ตันต่อวัน) ทั้งนี้ ขยะทั้งหมดถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการเพียง 5.8 ล้านตัน หรือร้อยละ 36 ขยะส่วนที่เหลือกว่า 10 ล้านตัน ถูกกำจัดทิ้งโดยการเผา กองทิ้งในบ่อดินเก่าหรือพื้นที่รกร้าง ซึ่งส่วนที่จัดการไม่ถูกต้องจะเพิ่มขึ้นทุกปีจากขยะคงค้างและปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น
จังหวัดที่น่าห่วงใยในเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยเมื่อพิจารณาจากปริมาณมูลฝอยตกค้างและปริมาณสะสมในสถานที่กำจัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครศรีธรรมราช ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สุรินทร์
ของเสียอันตราย ผลการศึกษาของกรมโรงงานอุตสาหกรรมจากการสำรวจปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรม ในปี 2555 มีปริมาณที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ จำนวน 3.95 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 84 ของปริมาณของเสียอันตรายทั้งหมด ซึ่งแม้ว่าจะมีการกำกับดูแลการจัดการของเสียที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมโดยโรงงานรับจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วที่เป็นของเสียอันตรายทั้งประเทศกว่า 300 แห่ง ซึ่งรองรับของเสียอันตรายได้กว่า 10 ล้านตัน แต่ก็ยังพบปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสีย ซึ่งในปี 2555 เกิดขึ้นหลายครั้งในหลายพื้นที่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปู สมุทรปราการ ต.หนองแหน ฉะเชิงเทรา และบางพื้นที่ในจังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น จากปัญหาดังกล่าวจึงนำไปสู่การเร่งรัด ทบทวน และเพิ่มเติมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งและบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายโดย คพ. จะนำเสนอมาตรการดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีเพื่อการพิจารณาสั่งการต่อไป
ส่วนของเสียอันตรายจากชุมชน ประมาณ 7 แสนตัน (ร้อยละ 15) ของปริมาณของเสียอันตรายทั้งหมด ซึ่งเป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 360,000 ตัน และของเสียอันตรายอื่นกลุ่มแบตเตอรี่ หลอดไฟ ภาชนะบรรจุสารเคมี 354,000 ตัน จะต้องสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีสถานที่เก็บรวบรวมเพื่อส่งไปกำจัดยังผู้ให้บริการรีไซเคิลหรือกำจัดของเสียอันตราย
ในส่วนของ มูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งขณะนี้ข้อมูลระบุว่ามีอยู่ประมาณ 43,000 ตัน (ร้อยละ 1 ของปริมาณของเสียอันตรายทั้งหมด) ตัวเลขนี้ก็ยังไม่สะท้อนปริมาณที่เกิดขึ้นทั้งหมดเนื่องจากยังขาดการรวบรวมข้อมูลการเกิดมูลฝอยติดเชื้อจากสถานพยาบาล คลินิค หรือโรงพยาบาลเอกชนในทุกประเภทและทุกขนาด ขณะนี้ คพ. ได้มีข้อตกลง ความร่วมมือกับกรมอนามัยที่จะวางระบบการบริหารจัดการขยะติดเชื้อของโรงพยาบาลทั่วประเทศตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล การกำกับการขนส่ง (Manifest) วิธีกำจัด และการควบคุมบริษัทที่รับขยะเหล่านี้ไปกำจัด เนื่องจากปัจจุบันเตาเผาของโรงพยาบาล ส่วนใหญ่ชำรุดเสียหาย ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งส่งขยะติดเชื้อไปกำจัดยังเตาเผามูลฝอยติดเชื้อเอกชนซึ่งมีอยู่เพียง 3 แห่ง และเตาเผาของ อปท. ที่มีอยู่เพียง 14 แห่งทั่วประเทศ
ปีที่ผ่านมา คพ. มีการตรวจสอบเพื่อบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ อาคารประเภท ก การเลี้ยงสุกร ที่ดินจัดสรร ระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชน นิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรม ซึ่งโดยภาพรวมมีการปฏิบัติตามกฎหมายเพียง ร้อยละ 43 และเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษได้มีการออกคำสั่งให้แหล่งกำเนิดเหล่านี้จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสีย เปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อให้บำบัดน้ำทิ้งให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนการตรวจสอบยานพาหนะ พบรถยนต์ควันดำเกินมาตรฐาน ประมาณไม่เกินร้อยละ 20
สำหรับเรื่องร้องเรียน ในปี 2555 คพ. ได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหามลพิษ รวม 431 เรื่อง มีการตรวจสอบ ติดตามผล ประสานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว 361 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 84 พื้นที่ ที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 49) รองลงมา ได้แก่ ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี สมุทรสาคร ปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดเรียงตามลำดับ คือ กลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง/เขม่าควัน และเสียงดัง/เสียงรบกวน
อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมามีเรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้นในแวดวงสิ่งแวดล้อม คือ
(1.) คดีเรือบรรทุกน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา จากกรณีเรือยูอี 35 ซึ่งบรรทุกน้ำตาลทรายดิบหนักประมาณ 650 ตัน จมลงบริเวณ ต. โพสะ อ.เมือง อ่างทอง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2550 ทำให้หลายอำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี มีน้ำเสียไหลผ่านไม่สามารถใช้ประโยชน์ตามธรรมชาติได้ รวมทั้งสัตว์น้ำของเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงในกระชังและสัตว์น้ำตามธรรมชาติตายเป็นจำนวนมาก ศาลจังหวัดอ่างทองได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2555 ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำนวน 36,557,742 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง ขณะนี้ คพ. พร้อมโจทก์ร่วม 5 หน่วยงาน อยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลจังหวัดอ่างทอง เนื่องจากศาลฯ พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายน้อยกว่าค่าเสียหายที่เรียกร้องไป จำนวน 58,281,110.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการอาศัยบทบัญญัติของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 96 และมาตรา 97 ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก ผู้ที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของมลพิษและเกิดความเสียหายทั้งต่อผู้อื่นและทรัพยากรธรรมชาติ
(2.) มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัด ปี 2556 เรื่องนี้ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกับมาตรการ หรือ บัญญัติ 8 ประการ เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันดังกล่าว เพื่อเตรียมพร้อมรับมือในช่วงที่กำลังเข้าสู่ฤดูของหมอกควันไฟป่าภาคเหนือ หรือ 80 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 21 มกราคม - 10 เมษายน 2556
ประเด็นที่ยังเป็นข้อกังวล และต้องดำเนินการต่อไปในปี 2556 ได้แก่
- การจัดการขยะมูลฝอย ทั้งขยะที่เกิดขึ้นในชุมชนและของเสียอันตรายชุมชน โดยเฉพาะในส่วนที่ยังไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เนื่องจากขยะจะมีปริมาณสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี ของเสียอันตรายจากชุมชนที่ยังถูกทิ้งปะปนกับขยะมูลฝอยทั่วไป หรือขายให้กับผู้รับซื้อของเก่าที่มีการคัดแยกโดยไม่คำนึงถึงการปนเปื้อนของสารอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้ง อปท. ยังไม่มีสถานที่จัดการของเสียอันตรายจากชุมชนโดยเฉพาะ รวมทั้งสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่เพียงพอ การประยุกต์หลักการ 3Rs ที่จะทำให้ประชาชนลดปริมาณการเกิดขยะ และการใช้ประโยชน์จากขยะ (Reduce Reuse Recycle) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน ซึ่งปัญหาขยะล้นเมืองจะเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
- ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม จากข่าวที่ปรากฏในสื่อบ่อยครั้งในหลายพื้นที่ในรอบปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการและการกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกากของเสียเหล่านี้มีความเป็นอันตรายทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นความกังวลที่ทำให้ต้องให้ความสำคัญกับมาตรการ ต่าง ๆ ที่กำหนดออกไปว่าจะต้องได้รับการดำเนินงานอย่างจริงจังจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- กรณีการตรวจพบปริมาณสารตะกั่วในเลือดของเด็กนักเรียนในจังหวัดระยอง ซึ่งสูงเกินเกณฑ์ เฝ้าระวังขององค์การอนามัยโลก จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ ปัจจัยเสี่ยงหลักจะมาจากการรับสัมผัสสารตะกั่ว ที่ปนเปื้อนอยู่ในสีเคลือบ (สีน้ำมัน) ที่ใช้ทาเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น รั้วสนามเด็กเล่น และโต๊ะอาหาร ดังนั้น เพื่อสร้างความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับอนาคตของชาติ คพ. จะต้องติดตามการดำเนินงานของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องตามที่ คพ. ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานของโรงเรียนในการขูดลอกและทาสีใหม่โดยใช้สีที่มีความปลอดภัย การออกข้อกำหนดหรือหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างหรือรับบริจาควัสดุอุปกรณ์และเครื่องเล่นต่าง ๆ ให้ตกแต่งด้วยสีเคลือบที่ได้มาตรฐาน หรือการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สีทั้งสีน้ำและสีน้ำมันซึ่งปัจจุบันเป็นเพียงมาตรฐานแบบสมัครใจให้เป็นมาตรฐานแบบบังคับ
- การปฏิบัติตามกฎกระทรวงออกตามความมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ 10 ประเภท ต้องรายงานผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย แต่หากดูจากปริมาณการจัดส่งรายงานพบว่ายังมีน้อยมากเพียงแค่ร้อยละ 1 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังไม่ให้ความสำคัญและไม่มีความพร้อมในการดำเนินงาน แม้ว่า คพ. จะเร่งโหม การประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มาตรา 80 ถือเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ
การรายงานข้อมูลสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้สาธารณชนทราบและร่วมกันตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากภาวะมลพิษต่างๆ เพื่อจะได้ร่วมกันดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีผลกระทบต่อระบบนิเวศตามธรรมชาติน้อยที่สุด
10 ข่าวเด่นด้านสิ่งแวดล้อมในรอบปีในมุมมองของ คพ. ที่อยากสะท้อนให้สาธารณชนทราบ ได้แก่
1. เร่งดำเนินมาตรการแก้ไขวิกฤติหมอกควันฯ หมอกควันภาคเหนือ
2. กรณีการลับลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ต.หนองแหน จ.ฉะเชิงเทรา และการปล่อยน้ำเสียนิคมบางปู จ.สมุทรปราการ และเขตลาดกระบัง
3. เพลิงไหม้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
4. สารตะกั่วปนเปื้อนในเลือดเด็กนักเรียน จ.ระยอง
5. การใช้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ม.80 ผู้ประกอบการ 10 แหล่งกำเนิดมลพิษ ปฏิบัติตามกฎหมาย
6. คดีคลิตี้
7.โรงกลั่นน้ำมันบางจากระเบิด
8. มลพิษทางอากาศในเมืองจากรถยนต์คันแรก
9. คดีเรือน้ำตาลล่ม จ.อยุธยา
10. แผนจัดการมลพิษ พ.ศ. 2555-2559