กรีนพีซจี้กรมควบคุมมลพิษเร่งฟื้นฟูห้วยคลิตี้
กรีนพีซเรียกร้องกรมควบคุมมลพิษทำตามคำสั่งศาลเร่งฟื้นฟูห้วยคลิตี้ เตือนอย่าบิดเบือนคำสั่งศาลใช้การฟื้นฟูโดยธรรมชาติ เพราะเท่ากับไม่มีการฟื้นฟู
นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กล่าวว่า กรีนพีซขอแสดงความยินดีกับชัยชนะชุมชนคลิตี้ล่างจากการต่อสู้เรียกร้องการสิทธิและการแก้ไขปัญหาจากกรมควบคุมมลพิษที่ยาวนานถึง 9 ปี และขอคัดค้านท่าทีของกรมควบคุมมลพิษที่ยืนยันปล่อยห้วยคลิตี้ฟื้นฟูตามธรรมชาติซึ่งหมายถึงการไม่ดำเนินการฟื้นฟู และถือว่าไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์คำตัดสินศาลปกครองสูงสุด ที่ระบุให้ให้กรมควบคุมมลพิษเร่งกำหนดแผนงานวิธีการ และดำเนินการฟื้นฟูสายน้ำคลิตี้จนกว่าสารตะกั่วจะลดลงในระดับที่ปลอดภัย
โดยผลการตัดสินของศาลปกครองสูงสุดได้ชี้ว่ากรมควบคุมมลพิษผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดที่บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) ผู้ ก่อมลพิษได้ก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารตะกั่วในน้ำดินตะกอนดินพืชและสัตว์น้ำ โดยไม่ได้ดำเนินการจัดทำแผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมาตรการในการควบ คุมป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมตามเวลาอันสมควรจนทำให้ชุมชนได้รับผล กระทบและไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้ โดยศาลยังได้สั่งให้กรมควบคุมมลพิษกำหนดแผนงานวิธีการและดำเนินการฟื้นฟู จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้จะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี
“คำพิพากษาดังกล่าวถือเป็นข่าวดีและชัยชนะของทั้งชุมชนคลิตี้ล่างและประชาชนที่ ได้เริ่มเห็นหลักประกันในการปกป้องสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการยุติธรรม แต่ความมุ่งหวังสูงสุดของชุมชนคลิตี้ล่างและประชาชนคือสายน้ำคลิตี้จะได้รับ การฟื้นฟูจากการปนเปื้อนสารตะกั่วมากกว่าเพียงการได้รับการชดเชยเป็นตัวเงิน ตราบใดที่ห้วยคลิตี้ยังคงมีการปนเปื้อนสารตะกั่ว นั้นหมายถึงว่าสิทธิของชุมชนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติยังคงถูก ละเมิด เพราะนับสิบปีมาแล้วที่กรมควบคุมมลพิษอ้างการใช้วิธีฟื้นฟูตามธรรมชาติโดยไม่ดำเนินการใดๆ เป็นการแก้ปัญหา ซึ่งวันนี้สารตะกั่วก็ยังคงอยู่ วันนี้แม้ศาลได้ตัดสินมาแล้วให้เร่งดำเนินการฟื้นฟู แต่กรมควบคุมมลพิษยังคงยืนยันวิธีการเดิม ทั้งที่มีทางเลือกมากมายที่ได้มีการศึกษาไว้แล้วและยังเป็นวิธีการฟื้นฟูการปนเปื้อนที่นานาประเทศล้วนปฏิบัติ เช่นการขุดลอกตะกอนไปบำบัดหรือฝังกลบ" นายพลาย ภิรมย์ กล่าว
นายกำธร ศรีสุวรรณมาลัย ชาวบ้านคลิตี้ล่าง กล่าวว่า “รู้สึกพอใจกับคำพิพากษาดังกล่าวเพราะเป็นการพิสูจน์ว่าสิ่งที่ชาวบ้านสู้มาตลอดกว่า9 ปี ที่กรมควบคุมมลพิษละเลยล่าช้าในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เป็นความจริง อย่างไรก็ตามยังรู้สึกหวั่นใจกับเรื่องการฟื้นฟูที่ศาลไม่ได้ระบุวันเวลาที่ แน่นอน เกรงว่ากรมควบคุมมลพิษจะอ้างการฟื้นฟูโดยธรรมชาติจนกระทั่งไม่มีการฟื้นฟู อีก ซึ่งชาวบ้านคงต้องผลักดันให้การฟื้นฟูเกิดขึ้นจริงต่อไป
นายสุรชัย ตรงงาม ผู้อำนวยการโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษควรใช้โอกาสนี้ทบทวนการวางแผนการจัดการทางสิ่งแวดล้อม ด้วยการขยายงาน ขยายคนและภารกิจ เพื่อการจัดการและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะคลิตี้ ซึ่งควรจะทำเป็นต้นแบบในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากมลพิษในสังคมไทย และป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก
วันนี้ทางเครือข่ายสิ่งแวดล้อมภาคประชาชนได้มีการนัดประชุมเพื่อตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามเรื่องการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เพื่อให้คำพิพากษาเกิดขึ้นจริงต่อไป โดยปัจจุบันการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ยังคงอยู่ในระดับอันตราย
ที่มาภาพ:http://www.greenpeace.org/seasia/th/Global/seasia/image/2012/klitty/IMG_2998.jpg