แก้สวมสิทธิ์ขายเมล็ดพันธุ์เข้าโครงการจำนำข้าว กษ.สั่งสลักหลังใบขึ้นทะเบียน
กษ. สั่งหน่วยงานผลิตพันธุ์ข้าว สลักหลังใบรับรองขึ้นทะเบียนชาวนาแก้ปัญหาสวมสิทธิ์ขายเมล็ดพันธุ์เข้าโครงการจำนำฯ เตรียมชง กขช.รับหอมมะลินาปรังเข้าโครงการ
วันที่ 10 ม.ค. 56 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(รมว.กษ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการผลิตว่า ที่ประชุมได้รับทราบว่ามีการขายเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับทำพันธุ์เข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือก จึงได้วางแนวทางกำหนดปริมาณข้าวที่ชาวนาจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์หรือเก็บไว้ทำพันธุ์ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว โดยกำหนดให้ 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กรมการข้าว ศูนย์ข้าวชุมชน สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ ทำการสลักหลังในใบรับรองผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว(ฉบับจริง) ของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยให้ระบุปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรนำไปจำหน่ายแก่ 4 หน่วยงานดังกล่าว และให้หน่วยงานเหล่านั้นเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ทราบปริมาณแท้จริงของเมล็ดพันธุ์ที่นำไปจำหน่าย
โดยเงื่อนไขสำคัญในการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้หน่วยงานต่างๆ เกษตรกรจะต้องมีหนังสือรับรองเกษตรกรที่ออกโดยกรมส่งเสริมการเกษตร หรือหนังสือยืนยันการไม่ขอขึ้นทะเบียน(กรณีที่ไม่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร) ไปแสดงต่อหน่วยงานต่างๆ จึงจะรับซื้อเมล็ดพันธุ์ โดยส่วนที่เหลือจากการขายนั้นจึงจะสามารถนำไปเข้าโครงการจำนำได้ ทั้งนี้ปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะผลิตได้ในปี 2555/56 มีดังนี้ กรมการข้าวผลิตเมล็ดพันธุ์ 8.5 แสนตัน ศูนย์ข้าวชุมชน ผลิตได้ 1.05 แสนตัน สหกรณ์การเกษตร 3 หมื่นตัน และผู้ประกอบการเอกชน 2.8 แสนตัน
รมว.กษ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กรมการข้าวได้ดำเนินการศึกษาวิจัยการปลูกข้าวหอมมะลินาปรัง(นอกฤดู) ตั้งแต่ปี 2552-2555 โดยพบว่า ข้าวหอมมะลินอกฤดูมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลินาปี แต่ไม่เหมือนกันทั้งหมด อย่างไรก็ดีต้องมีการศึกษาต่อไปว่า เมื่อชาวนานำข้าวไปปลูกจะได้ผลตามรายงานการวิจัยหรือไม่ โดยคาดว่าจะมีการปลูกข้าวหอมมะลินอกฤดูในพื้นที่ 6 หมื่นไร่ คิดเป็นผลผลิตราว 2 หมื่นตัน อย่างไรก็ดีจะต้องมีการหารือต่อไปในชั้นคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ว่าจะนำข้าวหอมมะลินอกฤดูนี้เข้าโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ หากเข้าจะได้ราคาเกณฑ์เดียวกับข้าวหอมมะลินาปีหรือไม่อย่างไร
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับการรายงานกรณีที่ชาวนาร้องเรียนถึงการถูกตัดราคาข้าวที่มารับจำนำ ซึ่งโครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีเงื่อนไขที่ชัดเจนว่า ข้าวที่เข้ามาในโครงการของรัฐบาลต้องมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด และจะการปรับราคาตามคุณภาพของผลผลิต จึงควรมีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบเพื่อให้เน้นการผลิตข้าวให้ได้คุณภาพเป็นอันดับแรก
ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวนาปรังปี 2556 โดยรวมทั้งประเทศมีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 13.7 ล้านไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 13.6 ล้านไร่ ผลผลิต 9.18 ล้านตัน ผลผลิตต่อพื้นที่เก็บเกี่ยว 672 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนข้าวนาปรัง แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ข้าวเจ้าหอมปทุมธานี 1 มีผลผลิตต่อพื้นที่เก็บเกี่ยว 711 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวเจ้าอื่นๆ มีผลผลิตต่อพื้นที่เก็บเกี่ยว 671 กิโลกรัมต่อไร่ และข้าวเหนียว มีผลผลิตต่อพื้นที่เก็บเกี่ยว 513 กิโลกรัมต่อไร่