เปิดตัว ‘เคเบิ้ลทีวีเกษตร’ ดูผ่านจานดำ 24 ชม. หนุนสมาร์ทฟาร์เมอร์-ไทยครัวโลก
กษ.เปิดตัวเคเบิ้ลทีวีเกษตร ‘MOAC TV’ งบ 50 ล้าน หนุนสร้างสมาร์ทฟาร์เมอร์-รุกแข่งอาเซียนสู่ครัวโลก-เตือนภัยผู้บริโภค รับชมผ่านจานดำ 24 ชม.
วันที่ 10 ม.ค. 56 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(รมว.กษ.) เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการศึกษาและทดลองออกอากาศสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเพื่อการเกษตร ช่องทีวีเกษตร หรือ MOAC TV” โดยกล่าวว่าปัจจุบันประชากรไทย 20.5 ล้านครัวเรือนที่รับชมรายการจากช่องฟรีทีวี สามารถเข้าถึงเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมถึงร้อยละ 51.7 หรือ 10.5 ล้านครัวเรือน คาดว่าในปี 2558 เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์จะเข้าถึงดาวเทียมและเคเบิลทีวี
การจัดตั้งทีวีเกษตร เพื่อให้ กษ.มีสื่อของตัวเองเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรแผนใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก นำเกษตรกรไทยสู่การเป็น ‘สมาร์ทฟาร์มเมอร์’ และผลิตสินค้าคุณภาพสู่ครัวโลก ทีวีเกษตรยังจะเป็นสื่อเตือนภัยให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมรับมือและหลีกเลี่ยงภัยพิบัติด้านการเกษตร ทั้งนี้มีงบประมาณสำหรับทีวีเกษตรในปี 2556 จำนวน 50 ล้านบาท
“ทีวีเกษตรยังเป็นสื่อกลางสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภคทั่วไปต่อเรื่องสินค้าเกษตรคุณภาพซึ่งไม่ได้เป็นเพียงอาหารแต่ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น มีงานศึกษาวิจัยว่าคอเลสเตอรอลในไข่ไก่ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพยกเว้นบุคคลที่มีความจำเพาะต่อโรค หรือกะทิมะพร้าวก็เป็นไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อกันว่ากะทิทำให้เกิดปัญหาคอเลสเตอรอล” นายยุคลกล่าว
นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้อำนวยการกองเกษตรนิเทศ กษ. กล่าวว่า ทีวีเกษตรมีการศึกษาและทดลองออกอากาศในระยะแรกตั้งแต่ พ.ย.-ธ.ค.55 และระยะที่ 2 ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย.56 โดยจะเพิ่มเติมเนื้อหาด้านสารคดีและการแปรรูปสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายนอกจากจะเน้นเกษตรกรแล้วยังครอบคลุมประชาชนกว่า 70 ล้านคนทั่วประเทศด้วยเพื่อให้เข้าใจกระบวนการทางเกษตรมากขึ้น
ทั้งนี้เนื้อหารายการที่จะเผยแพร่แบ่งเป็น 4 กลุ่ม หนึ่ง-รายการโครงการเกษตรตามแนวพระราชดำริ ร้อยละ 20 สอง-รายการข่าวร้อยละ 20 สาม-รายการวิเคราะห์ข่าวและสถานการณ์ร้อยละ 30 สี่-รายการสารคดีและสาระด้านการเกษตรร้อยละ 30 เช่นรายการ ‘ฉันจะเป็นชาวนา’ และ ‘พื้นที่ชีวิต’ ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยจะออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ประชาชนสามารถรับชมช่องทีวีเกษตรผ่านทางดาวเทียมไทยคม 5 (Thaicom5) ผ่านจานรับสัญญาณระบบซีแบนด์ (C BAND) หรือจานดำ ความถี่4160 MHz v.symbol rate 30000 POR V หรือกล่องรับสัญญาณ อาทิ พีเอสไอ ช่อง 218, สามารถช่อง 28, ซันบ๊อกซ์ ช่อง 188, จีเอ็มเอ็มแซด ช่อง 133, ไอพีเอ็ม, อินโฟแซท, ไอเดียแซท, คิวแซท และไดน่าแซท รวมทั้งทีวีเคเบิ้ลระบบซีแบนด์อื่นๆ ทั้งนี้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับระบบทีวีดิจิตอลในอนาคตข้างหน้าด้วย
รมว.กษ. กล่าวเพิ่มเติมว่าการออกอากาศช่องทีวีเกษตรผ่านระบบจานดำ จะทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถรับชมด้วยได้ ทั้งนี้กษ.มีความมุ่งหมายให้ประชาชนอาเซียนตระหนักว่าไทยมีเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่มีศักยภาพ นำไปสู่การยอมรับและเชื่อถือสินค้าเกษตรไทยที่จะออกสู่ตลาดเออีซี ไม่กังวลว่าประเทศเพื่อนบ้านจะลอกเลียนแบบ เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการพัฒนาและปรับปรุง แต่ที่กังวลคืออนาคตเมื่อสินค้าที่หมุนเวียนในตลาดอาเซียนไม่มีภาษี สินค้าเกษตรของเพื่อนบ้านที่ลักษณะเดียวกับไทย แต่คุณภาพและราคาถูกกว่าจะเป็นปัญหาของเกษตรกรไทยด้านการแข่งขัน ทั้งนี้ยืนยันว่าปัจจุบันไทยยังเป็นผู้นำด้านการเกษตรอาเซียน ด้วยความพร้อมทุกด้านที่ก้าวหน้ากว่าประเทศสมาชิกอื่น .