ครม. ปล่อย 16 มาตรการช่วย SMEs บรรเทาปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท
การประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 มกราคม 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป
มาตรการการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จำนวน 16 มาตรการ ดังนี้
1) มาตรการเพื่อเสริมสภาพคล่อง เพิ่มวงเงิน ลดต้นทุนทางการเงิน โดยผ่านกระบวนการให้สินเชื่อ ประกอบด้วย
1.1) มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเสริมสร้างสภาพคล่องสถานประกอบการ และเพิ่มผลผลิตแรงงาน
- กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ผ่าน 5 ธนาคาร โดยขยายระยะเวลาการยื่นกู้ตามโครงการฯ ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2556 ปรับหลักเกณฑ์วงเงินกู้สำหรับสถานประกอบการ ดังนี้ ลูกจ้างไม่เกิน 50 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท ลูกจ้าง 51 – 200 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 4 ล้านบาท ลูกจ้างเกินกว่า 200 คนขึ้นไปวงเงินกู้ไม่เกิน 8 ล้านบาท และประสานบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสำหรับ SMEs ที่ไม่มีหลักทรัพย์
1.2) มาตรการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan) กระทรวงการคลังได้ขยายระยะเวลาโครงการ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 (วงเงินเดิม 20,000 ล้านบาท)
1.3) มาตรการการค้ำประกันสินเชื่อ ในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 ระยะเวลาโครงการ 3 ปี (ปี 2556 – 2558) วงเงินค้ำประกันรวม 240,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 7 ปี
1.4) มาตรการการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New / Start-up) กระทรวงการคลังพิจารณาขยายโครงการถึงปี 2558 สำหรับเกณฑ์ระยะเวลาการดำเนินงานของผู้ประกอบการใหม่ให้ปรับจากไม่เกิน 2 ปีเป็นไม่เกิน 3 ปี
2) มาตรการลดต้นทุนผู้ประกอบการ โดยผ่านกระบวนการทางภาษีและเงินสมทบ ประกอบด้วย
2.1) มาตรการการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้ขยายระยะเวลาการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในปี 2556 โดยลดอัตราเงินสมทบฝ่ายละร้อยละ 1 คงเหลือฝ่ายละร้อยละ 4
2.2) มาตรการการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล
- ในปี 2556 กระทรวงการคลังลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 20
- กระทรวงการคลังพิจารณาการปรับช่วงกำไรสุทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ประกอบการ SMEs ตามความเหมาะสม
2.3) มาตรการการนำส่วนต่างของค่าจ้างที่จ่ายเพิ่มขึ้นจากอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำในปี 2555 เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท มาหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนชำระภาษี
ในปี 2556 กระทรวงการคลังให้คงการนำค่าใช้จ่ายในการปรับเพิ่มค่าจ้างมาหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่าของส่วนต่างค่าจ้าง
2.4) มาตรการการนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 มาหักลดหย่อนภาษี กระทรวงการคลังให้คงการนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
2.5) มาตรการการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กระทรวงการคลังได้ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ออกไปอีก 1 ปี ในปี 2556
2.6) มาตรการการหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร กระทรวงการคลังขยายระยะเวลาการหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร ร้อยละ 100 ในปีแรกออกไปอีก 1 ปี ในปี 2556
2.7) มาตรการการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กระทรวงการคลังพิจารณาปรับลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแก่ผู้ประกอบการ SMEs สำหรับค่าจ้างทำของและค่าบริการ ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
ในวันที่ 8 มกราคม 2556
2.8) มาตรการการลดค่าธรรมเนียมห้องพักที่เรียกเก็บสำหรับโรงแรม/ที่พักแรม กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอัตราค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจโรงแรมรายปีลงร้อยละ 50 จากที่เก็บห้องละ 80 บาทต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งปัจจุบันมีห้องพักที่จดทะเบียนกับกรมการปกครอง ข้อมูล ณ วันที่ 4 มกราคม 2556 จำนวน 354,165 ห้อง การลดอัตราค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจโรงแรมรายปีดังกล่าว จะทำให้กระทรวงการคลังสูญเสียรายได้แผ่นดินลงปีละ 14,166,600 บาท
3) มาตรการเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้ผู้ประกอบการ ประกอบด้วย
3.1) มาตรการการให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 เพื่อใช้ในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในปี 2556 กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ขยายเวลาในการลดอัตราดอกเบี้ยเหลือเป็นร้อยละ 0.1
3.2) มาตรการการจัดคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปยังสถานประกอบการต่าง ๆ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการจัดทำหลักสูตรตามความต้องการและเคลื่อนที่ไปยังสถานประกอบการ SMEs โดยใช้ฐานข้อมูล SMEs ของสำนักงานประกันสังคม
4) มาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการโดยการทบทวนค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ได้แก่
4.1) มาตรการการปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ กระทรวงการคลังพิจารณาปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
5) มาตรการกระตุ้นและส่งเสริมการขายโดยผ่านการบริโภค ได้แก่
5.1) มาตรการการจัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการโครงการสินค้าธงฟ้าและร้านค้าถูกใจให้ครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น
มาตรการการคลังและการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร จำนวน 3 ฉบับ เพื่อขยายระยะเวลามาตรการภาษีในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การหักค่าเสื่อมเครื่องจักร และช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 จากสิ้นสุดที่ 31 ธันวาคม 2555 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556
2. เห็นชอบร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ จำนวน 1 ฉบับ เพื่อลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
3. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 1 ฉบับ เพื่อปรับเพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท
4. เห็นชอบในหลักการการปรับเพิ่มอัตราค่าเช่าที่พักและค่าอาหารในการฝึกอบรมของส่วนราชการให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและสภาวการณ์ปัจจุบัน
5. เห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และงบประมาณสำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5
6. เห็นชอบการขยายระยะเวลา หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan) ของ ธพว. และโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up)
สาระสำคัญ
กระทรวงการคลังได้พิจารณามาตรการการคลังและการเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ไทย ดังนี้
1. มาตรการการคลัง
1) มาตรการภาษี
(1) ให้ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเดิมเพื่อบรรเทาผลกระทบการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ไปอีก 1 ปี จากสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ดังนี้
(1.1) การหักค่าใช้จ่ายส่วนต่างค่าแรงขั้นต่ำเดิมและค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ได้ 1.5 เท่า ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 553) พ.ศ. 2555
(1.2) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้จากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 551) พ.ศ. 2555
(1.3) ให้สามารถหักค่าเสื่อมเครื่องจักรใหม่ได้ร้อยละ 100 ในปีแรกแทนการทยอยหักค่าเสื่อมภายใน 5 ปี ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 552) พ.ศ. 2555
(2) ปรับเพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท เพื่อลดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SMEs ที่มีรายได้น้อย และปรับโครงสร้างอัตราภาษีของ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลให้เท่าเทียมกัน โดยปรับเพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ 150,000 บาทแรก เป็น 300,000 บาทแรก เพื่อให้สอดคล้องกับภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดาที่ปรับลดลง สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป
2) มาตรการรายจ่าย
กระทรวงการคลังจะได้ดำเนินการปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารและค่าเช่าที่พักในการฝึกอบรมของส่วนราชการให้เหมาะสมกับค่าครองชีพและสภาวการณ์ปัจจุบัน
2. มาตรการการเงิน
(1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 5
กระทรวงการคลังได้จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 สำหรับปี 2556 ซึ่งต่อเนื่องจากระยะที่ 4 เนื่องจากปัจจุบันเต็มวงเงินแล้วเพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs ไทย โดยมีสาระสำคัญของโครงการ สรุปได้ ดังนี้
(1.1) วัตถุประสงค์
เพื่อช่วยเหลื่อ SMEs ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและต้องการสินเชื่อแต่ขาดหลักประกันให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ไทยในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ และเป็นการเสริมสร้างสภาพคล่องให้กับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยการค้ำประกันในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ของบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
(1.2) คุณสมบัติของ SMEs ผู้เข้าร่วมโครงการ
1) เป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย
2) มีสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท
3) ประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมาย และต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี
4) ได้รับสินเชื่อใหม่และจะต้องไม่นำไปชำระหนี้เดิมกับสถาบันการเงินผู้ให้กู้
(1.3) เงื่อนไขการค้ำประกัน
1) วงเงินค้ำประกันรวม 3 ปี จำนวน 240,000 ล้านบาท
2) วงเงินค้ำประกันต่อรายต่อสถาบันการเงิน สูงสุด 40 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบัน
3) ระยะเวลาโครงการในแต่ละ Portfolio มีระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 7 ปี
4) ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อตลอดอายุค้ำประกัน 7 ปี
5) ระยะเวลารับคำขอการค้ำประกันจาก บสย. ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 จนสิ้นสุดรับคำขอภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยในแต่ละปีถือเป็น 1 Portfolio (รวมเป็น 3 Portfolio)
(1.4) เงื่อนไขการจ่ายค่าประกันชดเชยให้แก่สถาบันการเงิน
บสย. จ่ายอัตราค่าประกันชดเชยสะสมให้กับสถาบันการเงินสูงสุดในกรณี Portfolio ปกติ ไม่เกินร้อยละ 18 ของภาระค้ำประกันเฉลี่ยตลอดระยะเวลาโครงการ 7 ปี ส่วนกรณี Portfolio แบบไม่มีหลักประกันและ NPL บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยสะสมให้กับสถาบันการเงินสูงสุดไม่เกิน ร้อยละ 14 ของภาระค้ำประกัน
(1.5) งบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุน
รัฐบาลชดเชยความเสียหายการดำเนินโครงการ PGS ระยะที่ 5 ให้กับ บสย. คิดเป็นวงเงินไม่เกิน 13,800 ล้านบาท (โดยคำนวณจาก 18% - ( 1.75% * 7 ปี) เท่ากับ 5.75 % คูณวงเงิน 240,000 ล้านบาท ) ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายจากกรอบวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 มาตรการสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการผ่านกลไกค้ำประกันของ บสย. ภายใต้มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 23,000 ล้านบาท ซึ่งยังคงมีวงเงินงบประมาณคงเหลือจำนวน 16,100 ล้านบาท โดยในรายละเอียดให้ตกลงกับสำนักงบประมาณต่อไป
(2) โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan)
ธนาคารพัฒนาวิสหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 ประกอบด้วย (1) สินเชื่อเพื่อพัฒนาเครื่องจักรเพื่อช่วยเหลือ SMEs ขนาดย่อมในภาคการผลิตที่มีโรงงานที่ประกอบกิจการถูกต้องตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ในการซื้อและการปรับปรุงเครื่องจักรและ (2) สินเชื่อเพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน เพื่อช่วยเหลือ SMEs ขนาดย่อมในทุกภาคธุรกิจในการนำไปลงทุน ขยาย ปรับปรุง หรือพัฒนากิจการด้านต่าง ๆ ในวงเงินรวม 2 โครงการที่ 20,000 ล้านบาท โดยขอขยายระยะเวลาโครงการจากเดิม สิ้นสุดการอนุมัติสินเชื่อภายใน 2 ปี นับจากวันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ คือวันที่ 24 เมษายน 2555 ถึงวันที่ 23 เมษายน 2557 เป็นสิ้นสุดการขอรับสินเชื่อจาก ธพว. ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ทั้งนี้ ให้ ธพว. พิจารณาสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับจากวันที่ปิดรับคำขอ สำหรับเงื่อนไขอื่น ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555
(3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up)
คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 และวันที่ 4 กันยายน 2555 เพื่อช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ที่เริ่มประกอบธุรกิจใหม่ ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากระบบสถาบันการเงินมากขึ้น ซึ่งมีวงเงินค้ำประกันรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท โดยขอปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไข และขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
3.1) ขยายระยะเวลาสิ้นสุดการรับคำขอค้ำประกัน ออกไปอีก 3 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เป็นสิ้นสุดการขอรับสินเชื่อในวันที่ 31 ธันวาคม 2558
3.2) ปรับเกณฑ์คุณสมบัติ SMEs จาก SMEs ที่ประกอบกิจการที่มีอายุกิจการไม่เกิน 2 ปี โดยพิจารณาจากการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือการจดทะเบียนการค้า หรือเอกสารราชการเป็น SMEs ที่ประกอบกิจการ ที่มีอายุกิจการไม่เกิน 3 ปี โดยพิจารณาจากการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือการจดทะเบียนการค้า หรือเอกสารราชการ หรือเอกสารอื่นใดที่ บสย. เห็นชอบ
3.3) เปลี่ยนแปลงการชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันที่รัฐบาลเป็นผู้รับภาระแทน SMEs ในปีแรก จากอัตราร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 2.50 เพื่อเป็นการลดภาระของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ จากการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งนี้ ให้อยู่ภายใต้กรอบงบประมาณเดิมที่เคยได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555