แผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2556
วันที่ 8 มกราคม 2556 คณะรัฐมนตรีรับทราบแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2556 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า กษ. ได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2556 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์และเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาอุทกภัย และปัญหาศัตรูพืชระบาด โดยเฉพาะการเตรียมรับมือปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมีแนวโน้มว่าสถานการณ์ปีนี้จะมีความรุนแรง ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งและรายได้ของเกษตรกร จึงได้กำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ดังนี้
1. มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
1.1 ด้านการป้องกัน (Prevention) ประกอบด้วย การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง เช่น การพัฒนาโครงการแก้มลิง การก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ การก่อสร้างชลประทาน ขนาดกลาง รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน เช่น โครงการแหล่งน้ำในไร่นอกเขตชลประทาน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน เป็นต้น
1.2 ด้านการเตรียมความพร้อม (Preparation) ได้กำหนดมาตรการสำคัญ ได้แก่ การจัดทำแผนการปฏิบัติการฝนหลวงและจัดตั้งหน่วยปฏิบัติฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง การวางแผนจัดสรรน้ำและการปลูกพืชฤดูแล้ง โดยกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ จำนวน 16.62 ล้านไร่ (ปรับลดเป้าหมายจากปีที่แล้ว 2.61 ล้านไร่) และงดการปลูกข้าวนาปรังในเขตพื้นที่ซึ่งใช้น้ำจากเขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เขื่อนลำตะคอง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ จังหวัดนครราชสีมา และเขื่อนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ในช่วงฤดูแล้ง เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร นอกจากนี้ยังได้มีการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย การจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง/ฝนทิ้งช่วง รวมถึงการสำรองเมล็ดพันธุ์พืช เสบียงอาหารสัตว์และเวชภัณฑ์ยา ตลอดจนเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำและรถบรรทุกน้ำ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย
1.3 ด้านการเผชิญเหตุ (Response) ประกอบด้วย การแจ้งเตือนภัยและประชาสัมพันธ์ การปฏิบัติการฝนหลวง การปรับแผนการระบายน้ำและปรับรอบเวรการใช้น้ำ เพื่อลดผลกระทบจากภัยแล้ง รวมทั้ง จัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ประสบภัย สนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์ เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ ประสบภัย
1.4 ด้านการฟื้นฟู (Recovery) ดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยโดยใช้เงินงบกลาง หรือเงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 รวมทั้งให้การฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร
2. มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย
2.1 ด้านการป้องกัน (Prevention) โครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการตามแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยระยะเร่งด่วนและระยะยั่งยืนของรัฐบาล รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่ใช้งบปกติของหน่วยงาน การขุดลอกกำจัดวัชพืชในคลองและแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ รวมถึงพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพยากรณ์และแจ้งเตือนภัย และวางระบบโทรมาตรเพื่อการพยากรณ์น้ำและเตือนภัยลุ่มน้ำต่าง ๆ
2.2 ด้านการเตรียมความพร้อม (Preparation) ประกอบด้วย การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย การจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและดินถล่ม จัดทำข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และได้เตรียมความพร้อมของหน่วยงานในด้านต่าง ๆ ได้แก่ แผนการบริหารจัดการน้ำหลาก แผนการจัดสรรน้ำและการปลูกพืชฤดูฝน แผนเตรียมความพร้อมด้านอาหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน (Food Emergency) รวมถึงการสำรองเมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์น้ำ เสบียงอาหารสัตว์และเวชภัณฑ์ยา การเตรียมสถานที่อพยพสัตว์ ตลอดจนจัดเตรียมยานพาหนะ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ
2.3 ด้านการเผชิญเหตุ (Response) ประกอบด้วย การแจ้งเตือนภัยและประชาสัมพันธ์
การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย เช่น การปรับแผนการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ การส่งน้ำเข้าระบบชลประทานในพื้นที่การเกษตร การเสริมคันกั้นน้ำในจุดต่าง ๆ เป็นต้น รวมทั้งได้จัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ประสบภัย ให้การสนับสนุนยานพาหนะ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย
2.4 ด้านการฟื้นฟู (Recovery) ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยโดยใช้เงินงบกลาง หรือเงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ รวมทั้งได้จัดเตรียมโครงการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร เช่น การช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกรที่ประสบอุทกภัย การให้ความช่วยเหลือด้านหนี้สินแก่สมาชิกสถาบันเกษตรกร รวมถึงการซ่อมแซมฟื้นฟูแหล่งน้ำและระบบชลประทาน
3. มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาศัตรูพืชระบาด ได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาศัตรูพืชระบาดที่สำคัญ ได้แก่ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในข้าว เพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง หนอนหัวดำและแมลงดำหนามในมะพร้าว ดังนี้
3.1 ด้านการป้องกัน (Prevention) ประกอบด้วย การเฝ้าระวังและเตือนภัยการระบาดของศัตรูพืช โดยจัดทำแปลงสำรวจติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชระบาดอย่างเป็นระบบ การสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและชุมชนในการจัดการศัตรูพืชและการศึกษาวิจัยด้านการป้องกันกำจัดศัตรูพืช
3.2 ด้านการเตรียมความพร้อม (Preparation) ได้ดำเนินงานศูนย์ประสานงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดศัตรูพืชในทุกระดับ รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านปัจจัยในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ตลอดจนให้คำแนะนำทางวิชาการแก่เกษตรกร
3.3 ด้านการเผชิญเหตุ (Response) ประกอบด้วย การแจ้งเตือนภัยและประชาสัมมพันธ์ การตัดวงจรแพร่ระบาดของศัตรูพืช และการจำกัดพื้นที่ระบาดของศัตรูพืช
3.4 ด้านการฟื้นฟู (Recovery) ดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย