แปลงงบฯ ฟื้นฟู เยียวยา ป้องกันน้ำท่วม 70 ล้าน เป็นงบลงทุน ค่าครุภัณฑ์ ครุภัณฑ์สำรวจ
เรื่อง ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการโครงการสำรวจระดับแม่น้ำและคลองสายสำคัญ
วันที่ 8 มกราคม 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการภายใต้แผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน และแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) แผนงานพัฒนาและจัดตั้งคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ โครงการสำรวจระดับแม่น้ำและคลองสายสำคัญ จากงบดำเนินงาน ไปเป็นงบลงทุน ค่าครุภัณฑ์ ครุภัณฑ์สำรวจ จำนวน 70,000,000 บาท ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ
เรื่อง ขออนุมัติใช้วิธีอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทในข้อตกลงจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างและสัญญาจ้างก่อสร้าง โครงการป้องกันอุทกภัยในฝังตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายใต้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่น (Japanese Grant Aid)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติใช้วิธีอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทในข้อตกลงจ้างที่ปรึกษาและสัญญาจ้างก่อสร้าง โครงการป้องกันอุทกภัยในฝังตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (Flood Prevention Project of East Side of the Pasak River in Ayutthaya) ก่อนการลงนาม ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า
1. รัฐบาลไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำได้ลงนามในบันทึกการหารือ (Record of Discussions) กับรัฐบาลญี่ปุ่น โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2555 สำหรับโครงการ “Project for Comprehensive Flood Management Plan for the Chao Phraya River Basin” ซึ่งตามบันทึกข้อตกลงมีขอบข่ายโครงการโดยสรุป ดังนี้
1.1 การวางแผนบริหารจัดการน้ำท่วมที่มีสาเหตุจากสภาวะความเปลี่ยนแปลงของอากาศและการพัฒนาที่ดิน โดยแบ่งเป็น 2 เรื่อง ได้แก่
1.1.1 การจัดเตรียมแผนที่ที่จำเป็นเพื่อใช้ในการทบทวนแผนแม่บทการวางแผนบริหารจัดการน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่ง JICA ได้เคยศึกษาไว้ เมื่อปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542)
1.1.2 ทบทวนแผนบูรณาการการลดผลกระทบจากน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
1.2 การออกแบบหรือกำหนดรูปแบบโครงการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่น (Japanese Grant Aid) เพื่อป้องกันภัยพิบัติและการบูรณะฟื้นฟู
1.3 ปรับปรุงระบบการจัดการน้ำท่วมและเพิ่มขีดความสามารถของระบบการจัดการน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
2. การดำเนินโครงการโดยใช้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่นตามข้อ 1.2 กรมชลประทานได้จัดทำข้อเสนอการขอรับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าไปยัง JICA สำหรับโครงการป้องกันอุทกภัยในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (Flood Prevention Project of East Side of the Pasak River in Ayutthaya) และทาง JICA ได้ตอบรับข้อเสนอแล้ว ต่อมาผู้แทนรัฐบาลไทยโดยผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นโดยเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยน (Exchange of Notes) และบันทึกการหารือ (Record of Discussions) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 พร้อมทั้งได้มอบอำนาจให้กรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยมีวงเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าเป็นจำนวนเงิน 2,550,000,000 เยน หรือประมาณ 1,000,000,000 บาท
3. กรมชลประทานได้ลงนามในข้อตกลงความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Grant Agreement) กับผู้แทน JICA เพื่อเริ่มโครงการป้องกันอุทกภัยในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2555 โดยจะต้องมีการจ้างที่ปรึกษาและผู้รับเหมาก่อสร้างจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อมาดำเนินโครงการซึ่งกรมชลประทานจะต้องลงนามในข้อตกลงจ้างที่ปรึกษา (Consulting Services Agreement) กับบริษัท CTI Engineering International Co.,Ltd. และสัญญาจ้างก่อสร้างกับผู้รับเหมาก่อสร้างจากประเทศญี่ปุ่น แต่การใช้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่นระบุให้ใช้วิธีอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท ซึ่งไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552
4. เนื่องจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 จึงจะต้องเร่งดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำคลองกระมัง และประตูน้ำคลองหันตรา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อันเป็นวัตถุประสงค์หลักของโครงการดังกล่าวและกรมชลประทานจะได้ดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จทันตามเวลาที่กำหนด เนื่องจากกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานที่ระบุไว้ใน Grant Agreement จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน 2558