เกาะติด"ถอนทหาร" ถ่ายโอนภารกิจให้ตำรวจ - ตำบล - อส.-ชรบ.
ความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปีนี้ นอกจากเรื่องการเจรจาและการบริหารจัดการปัญหาของรัฐบาลภายใต้โครงสร้างใหม่ "ศปก.จชต." แล้ว ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่น่าจับตา คือ การถอนทหารและถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยอื่นดูแลพื้นที่แทน
หน่วยอื่นที่ว่านี้มีทั้งตำรวจและกองกำลังประชาชน ไม่ว่าจะเป็นอาสารักษาดินแดน (อส.) และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) หรืออาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน (อรบ.)
อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวไม่ได้มีเฉพาะฝั่งทหาร แต่มีหลายด้านประกอบกัน ดังนี้
"ทหาร" ส่งไม้ "ตำรวจ"
เริ่มจากกองทัพบก (ทบ.) ซึ่งเป็นกำลังหลักในพื้นที่ชายแดนใต้ ปัจจุบันมีกำลังพลภายใต้กรอบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ( กอ.รมน.ภาค 4 สน.) มากกว่า 30,000 นาย ล่าสุดได้เริ่มถอนกำลังออก พร้อมถ่ายโอนภารกิจให้ "ตำรวจ" กับ "อส." ดูแลพื้นที่แทน โดยมีโครงการการผลิตตำรวจ 1,800 อัตรารองรับ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ขณะนี้ได้มีการกำหนดแผนงานด้านต่างๆ ของ ทบ.ไปถึงปี 2569 ในส่วนของการแก้ไขปัญหาภาคใต้ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 คือตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป เน้นนโยบายทำให้กำลังพลในพื้นที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น และลดการบ่มเพาะความเชื่อที่ผิดๆ ให้มีจำนวนน้อยลง
ส่วนแผนงานระยะที่ 3 กำหนดไว้ว่าจะให้กำลังประจำท้องถิ่น เช่น ตำรวจ และอาสาสมัคร เข้าไปดูแลพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจากการหารือกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ก็มีความคืบหน้าเรื่องการผลิตตำรวจเพื่อความมั่นคง โดยจะมีทั้งหมด 1,800 อัตรา ซึ่งตำรวจชุดดังกล่าวจะเป็นการรับอดีตพลทหารที่เคยปฏิบัติหน้าที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามาทำงาน
อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่บรรจุกำลังพลจริงอาจบวกลบจากที่ ผบ.ทบ.พูดเล็กน้อย เพราะ พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) กล่าวว่า ขณะนี้มีกำลังพลใหม่ทั้งหมด 1,698 นายที่กำลังฝึกอบรมในหลักสูตรบุคคลภายนอกผู้เป็นทหารกองหนุน เคยรับราชการในกองประจำการ หรืออาสาสมัครทหารพราน เข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวนสายปฏิบัติการป้องกันปราบปราม โดยฝึกอยู่ที่ศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และหน่วยอื่นๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ โดยจะใช้เวลาฝึก 4 เดือน จากนั้นจะมาปรับพื้นฐานอีก 1 เดือน รวมเป็น 5 เดือน ก่อนเข้าปฏิบัติภารกิจในหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) เพื่อทดแทนกำลังทหารที่ถอนออกไป
นอกจากนั้น ยังมีการอบรมหลักสูตรนักเรียนนายสิบ (พิเศษ) พ.ศ.2555 จำนวน 1,907 นาย ฝึกอยู่ในหน่วยตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ทั่วประเทศเป็นเวลา 6 เดือน จบแล้วก็จะเข้าไปปฏิบัติภารกิจตามโรงพักในพื้นที่ชายแดนใต้
2อำเภอสงขลา
แค่โอนอำนาจสั่งการแต่กำลังยังอยู่
ขณะเดียวกัน หน่วยเฉพาะกิจสงขลา (ทหาร) ได้เตรียมส่งมอบพื้นที่ 2 อำเภอจาก 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่เป็นรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ อ.จะนะ กับ อ.นาทวี ซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) ให้ "กอ.รมน.จังหวัด" ภายใต้การสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาดูแลแทน ดีเดย์วันที่ 8 ม.ค.2556
โดยพิธีส่งมอบจะจัดขึ้นเวลา 10.00 น.วันอังคารที่ 8 ม.ค. ที่วิทยาลัยการอาชีพนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา
พล.ต.นพวงศ์ สุรวิชัย ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจสงขลา กล่าวว่า อ.จะนะ และ อ.นาทวี มีสถานการณ์ความรุนแรงเบาบางลงมาก จึงมีนโยบายส่งมอบพื้นที่ให้ กอ.รมน.จังหวัดสงขลา ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการ (ผอ.) เป็นผู้มีอำนาจควบคุมสั่งการ ส่วนกำลังทหารและ ตชด.ของหน่วยเฉพาะกิจสงขลาที่กระจายกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ 2 อำเภอดังกล่าวก็จะยังคงอยู่ ไม่ได้ถอนออกจากพื้นที่ แต่จะเปลี่ยนสถานะจากกำลังหลักมาเป็นกำลังสนับสนุน โดยกำลังหลักของทาง กอ.รมน.จังหวัดสงขลา คือ อส.จากฝ่ายปกครอง กำลังภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ
"ตำบลละล้าน" สู้ป่วน
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง แม้จะยังไม่ใช่การถอนทหาร แต่เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับ "ตำบล-หมู่บ้าน" โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เร่งอัดงบ "ตำบลละล้าน" ตามโครงการเสริมสร้างความปลอดภัยและความเข้มแข็งของหมู่บ้าน/ตำบล หรือที่เรียกว่า "ตำบลสันติธรรม" เพื่อให้ประชาชนในระดับตำบลหมู่บ้านดูแลชุมชนของตนเอง
โครงการนี้คล้ายๆ กับโครงการผู้นำ 4 เสาหลัก ที่อดีตผู้ว่าฯยะลา นายกฤษฎา บุญราช (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯสงขลา) เคยทำเอาไว้ ทว่าครั้งนั้นไม่ได้ใช้ "เงิน" เป็นตัวขับเคลื่อน แต่เน้นว่าให้ "ผู้นำ 4 เสาหลัก" (ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา และผู้นำธรรมชาติ) ประสานงานกันเพื่อช่วยดูแลหมู่บ้านและตำบลให้ปลอดภัย หากหมู่บ้านหรือตำบลใดปลอดเหตุร้าย ก็จะนำไปสู่การยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ หรือ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ที่ชาวบ้านอึดอัดมาเนิ่นนาน
โครงการ "ตำบลสันติธรรม" ก็ใช้หลักการคล้ายๆ กันนี้ แต่มีเงินให้ไปขับเคลื่อนงานด้วย โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ได้เชิญกำนันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี รวม 282 ตำบล (จาก 37 อำเภอ) เข้ารับทราบนโยบายเพื่อลดเหตุการณ์ความไม่สงบและลดความสูญเสีย โดยเน้นใช้พลังมวลชนผ่านผู้นำท้องถิ่นกลุ่มต่างๆ พร้อมมอบเงินสนับสนุนให้ตำบลละ 1 ล้านบาท รวม 282 ล้านบาท ทั้งยังเปิดให้กำนันเขียนโครงการขอสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อรักษาความปลอดภัยและป้องกันเหตุรุนแรง เช่น กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) วิทยุสื่อสาร ฯลฯ ได้อีกด้วย
สำหรับการตรวจสอบการใช้งบประมาณ มอบให้นายอำเภอและปลัดอำเภอที่รับผิดชอบพื้นที่ไปติดตามดูแล...
และทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวเรื่องการถอนทหารและส่งมอบภารกิจการดูแลรักษาความปลอดภัยพื้นที่ให้หน่วยอื่นดูแลแทน!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การประชุมกำนันในโครงการ "ตำบลสันติธรรม" ที่ ศอ.บต. (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)