เปิดฟ้าปากีสถาน (จบ) เสน่ห์รัฐอิสลามที่ยากไปเยือนและยากจะลืม
"ไปเที่ยวปากีสถานกันไหม?" หากใครชวนคุณด้วยประโยคสั้นๆ ง่ายๆ นี้ คุณอาจย้อนกลับไปทันควันด้วยคำถามว่า "บ้าหรือเปล่า?" เพราะชื่อเสียงของปากีสถานหาใช่ดินแดนแห่งการพักผ่อนช่วง "ลอง วีคเอนด์" แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแหล่งฝึกขบวนการก่อการร้าย และมีข่าวความรุนแรงทั้ง "คาร์บอมบ์" และ "ระเบิดพลีชีพ" ให้ได้ยินได้ฟังกันผ่านสื่อแขนงต่างๆ อยู่บ่อยครั้งจนแทบจะกลายเป็นโลโก้ประเทศไปแล้ว
แต่สำหรับคนที่เคยเดินทางไปสัมผัสปากีสถาน โดยเฉพาะนครการาจี อดีตเมืองหลวง ซึ่งประเทศไทยมีสถานกงสุลใหญ่ตั้งอยู่ที่นั่น ทุกคนล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "การาจีและปากีสถานมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครกล้าเหมือน" ถือเป็นความประทับใจในระดับ "ยากจะลืมเลือน" เลยทีเดียว
"แวลีเมาะ ปูซู" ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ได้รับเชิญไปร่วมสัมมนาเรื่อง "บทบาทบัณฑิตด้านศาสนาต่อการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมไทย" ซึ่งมีแม่งานใหญ่คือ อุดม สาพิโต กงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี ระยะเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ที่การาจีและปากีสถาน ทำให้แวลีเมาะมีโอกาสได้ดื่มด่ำกับความงดงามทั้งผู้คนและสถานที่ของรัฐอิสลามแห่งนี้ ซึ่งเธอยืนยันว่ามีเสน่ห์ไม่แพ้ชาติใดในโลก...
การาจี...Economic Capital
การาจี (Karachi) เป็นเมืองหลวงของรัฐซินด์ (Sindh) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ติดชายฝั่งทะเลอาหรับ (Arabian Sea) ในอดีตเมืองการาจีเคยเป็นเมืองหลวงของปากีสถาน และปัจจุบันยังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ทำให้เมืองนี้ได้รับสมญานามว่า "Economic Capital" หรือเมืองหลวงทางเศรษฐกิจของประเทศ
ความโดดเด่นของการาจี คือ เป็นเมืองที่ขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจของปากีสถาน เพราะเป็น "ฮับ" ด้านการคมนาคมขนส่ง การเงิน และยังเป็นแหล่งผลิตซอฟท์แวร์ที่สำคัญ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "Software Outsourcing Hub of Pakistan" ด้วย โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติและบริษัทท้องถิ่นมาเปิดสำนักงานและโรงงานอยู่ที่นี่ ทำให้เมืองการาจีเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับรัฐสูงถึง 60% ของรายได้จากทั้งประเทศ
อย่างไรก็ดี การาจีเป็นเมืองที่อยู่ในโซนแห้งแล้ง และค่อนข้างขาดแคลนน้ำ จึงไม่สามารถผลิตน้ำสำหรับอุปโภคได้ตามความต้องการของประชาชน นั่นจึงส่งผลให้คนการาจีส่วนใหญ่มีนิสัย "ไม่นิยมอาบน้ำ" หนำซ้ำยังไม่ชอบใช้น้ำหอม และไม่ค่อยซักผ้าด้วย
เอกลักษณ์ข้อนี้ไม่รู้จะเรียกว่า "เสน่ห์" ได้หรือเปล่า...
เมืองแห่งความแตกต่าง
ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของการาจีก็คือ ความแตกต่างหลากหลายทางศาสนาและความเชื่อ เพราะแม้ชนส่วนใหญ่จับนับถือศาสนาอิสลาม แต่กลับมีความเชื่อต่างนิกายกัน หลักๆ ก็คือ "สุหนี่" กับ "ชีอะห์" หากชุมชนย่านไหนมีความเชื่อในนิกายใด ก็จะมีมัสยิดของนิกายนั้นๆ ตั้งอยู่ และติด "ธง" เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกกันอย่างชัดเจน
นอกจากความต่างด้านความเชื่อและนิกายทางศาสนาแล้ว การาจียังมีความต่างเรื่องฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนแบบสุดขั้ว ถนนบางสาย บางเขตจะเป็นย่านที่มีเศรษฐีและกลุ่มคนฐานะดีอยู่อาศัยกัน ขณะที่ถนนอีกหลายๆ สายจะเป็นแหล่งรวมของคนยากจน อย่างเช่นถนนซินด์ เป็นถนนที่เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม และมีประชากรอาศัยอยู่กันอย่างแออัด แถมอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ ตึกเล็กๆ บางตึกแม้จะมีสภาพเก่า แต่มีคนเบียดเสียดกันอยู่หลายร้อยชีวิต
ราชันย์ มูเก็ม หรือ "น้องดุสลาม" หนุ่มมุสลิมจากสงขลา ซึ่งอาสาเป็นไกด์พาเที่ยว เล่าให้ฟังว่า การาจีเป็นแหล่งรวมยานพาหนะคลาสสิกซึ่งควรจะไปจอดอยู่ในพิพิธภัณฑ์มากกว่าแล่นอยู่ตามท้องถนน เพราะยังสามารถพบเห็นยานพาหนะสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งวิ่งอยู่เต็มไปหมด ขณะที่ผู้ขับขี่นั้นก็มีฝีมือประดุจ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ แชมป์รถฟอร์มูลาร์วัน เพราะขับกันอย่างไร้ระเบียบสุดๆ แต่กลับไม่ค่อยมีอุบัติเหตุ
"แล็คช่า" ตุ๊กตุ๊กปากีสถาน
เมื่อพูดถึงยานพาหนะแล้ว ก็อดพูดถึง "รถโดยสารสาธารณะ" ไม่ได้ ในการาจีนั้นนอกจากจะมีรถประจำทางให้บริการอยู่เกือบทุกเส้นทางด้วยความเร็วระดับจรวด ทั้งๆ ที่บนหลังคารถแน่นไปด้วยฝูงชนแล้ว ยังมี "แท็กซี่" หรือที่เรียกกันว่า "แล็คช่า" ซึ่งมีรูปทรงคล้ายรถตุ๊กตุ๊กบ้านเราด้วย
น้องดุสลาม เล่าว่า เจ้า "แล็คช่า" นี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเรื่องการคิดราคาค่าบริการ คือไม่ได้มีมาตรฐานใดๆ ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของโชเฟอร์แต่ละคน แต่ก็เปิดโอกาสให้ผู้โดยสารต่อรองได้เช่นกัน ทว่าก็ต้องชิงไหวชิงพริบกันไม่ต่างจากการเล่นเกมโชว์ และผู้ที่ต้องการจะขึ้น "แล็คช่า" ควรศึกษาเส้นทางให้ดี ไม่อย่างนั้นจะเสียเงินฟรี ถูกเรียกค่าโดยสารแบบว่าได้ลูกค้าคนเดียวโชเฟอร์คงกลับบ้านนอนเลย เพราะรวยแล้ว
"จะขึ้นแล็คช่ากันทีต้องมีกลยุทธ์ในการต่อรอง คนขับจะพูดไปเรื่อยๆ หาเหตุผลร้อยแปดพันประการมาอ้างเพื่อให้เราตกลงราคาตามที่เขาต้องการ กรณีนี้แก้ไม่ยากคือเดินหนีเปลี่ยนคัน ราคาที่สูงลิ่วก็จะลดวูบลงมาทันที" น้องดุสลาม บอก
ทีนี้เมื่อขึ้น "เจ้าแล็คช่า" ได้แล้ว ปัญหาต่อมาก็คือความหวาดเสียว เพราะวิธีการขับและความเร็วขึ้นอยู่กับโชคดวงของแต่ละท่านว่าจะเจอคนขับสไตล์ไหน อารมณ์อย่างไร ถ้าฟลุคเจอคนขับแก่ๆ ก็จะได้สัมผัสการขับแบบกินลมชมธรรมชาติไป โดยไม่สนใจว่าท่านจะรีบแค่ไหน แต่ถ้าเจอคนขับที่เพิ่งทะเลาะกับภรรยามา ก็อาจจะเจอความเร็วระดับ "ซิ่งสั่งตาย" แถมระหว่างทางคนขับอาจจอดเติมก๊าซ ซื้อหมากไว้เคี้ยวเล่น (หมากจริงๆ ไม่ใช่หมากฝรั่ง) หรือรับโทรศัพท์ระหว่างขับด้วย
"แต่ไม่ว่าจะเจออย่างไรก็ไม่ต้องตกใจ เพราะถึงที่สุดแล้วท่านก็จะไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัยแน่นอน เนื่องจากที่นี่อุบัติเหตุบนท้องถนนมีน้อยมาก" น้องดุสลามย้ำ
สวรรค์บนดิน...
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของเมืองการาจีนั้นมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน แล้วแต่ว่าชอบเที่ยวแบบไหน หากชื่นชอบแนวประวัติศาสตร์ ก็ต้องไปที่ "Jinnah" ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพกษัตริย์ Al-Quazim และ PAF Museum หรือพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศปากีสถาน แต่หากชอบเที่ยวแบบครอบครัว ก็ต้องแวะไปที่ Aladin Park ซึ่งเป็นสวนสนุกชื่อดัง หรือไม่ก็ Cliffton กับ Paradise ซึ่งหมายถึงชายหาดและชายฝั่งทะเลยอดนิยมของชาวเมือง
Paradise อยู่ห่างจากท่าเรือการาจีไม่มากนัก ออกจากตัวเมืองไปแค่ 10 กิโลเมตร ลักษณะเป็นชายหาดทอดยาวกว่า 20 กิโลเมตร บรรยากาศค่อนข้างเงียบสงบ สมัยก่อน Paradise เคยเป็นเส้นทางที่รถสามารถสัญจรผ่านได้ แต่ภายหลังเกิดวาตะภัย คลื่นซัดจนถนนขาด และกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ รถทุกชนิดไม่สามารถแล่นผ่านได้อีกแล้ว นอกจากนั้นในช่วงเดือน ก.ค.ถึง ส.ค.ของทุกมี ยังมีเต่ามาวางไข่เต็มชายหาดด้วย
หาด Paradise มีบางจุดเป็นเนินสูงและเป็นแหลมยื่นเข้าไปในทะเลให้ชมตะวันตกน้ำ บรรยากาศเหมือนแหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต อย่างไรอย่างนั้นเลย
อีกหนึ่งสถานที่ที่งดงามและน่าสนใจคือ สวน "มูฮัมหมัดอิบนีกอเซ็ม" เป็นสวนขนาดใหญ่ริมทะเล มีเนื้อที่ประมาณ 1 พันไร่ ฟากที่ติดทะเลจะมี "อูฐ" ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวที่พิศมัยการขี่สัตว์พาหนะและชมอาทิตย์อัสดง ส่วนอีกฟากที่ติดถนนใหญ่มี "หอคอย" ที่สามารถขึ้นไปชมทัศนียภาพในแบบ Bird’s eye view ได้อย่างน่าทึ่ง
สำหรับหนุ่มสาวนักช้อปจากเมืองไทย การาจีมีตลาดมากมายให้เลือกซื้อหา ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน เครื่องแต่งกาย ไปจนถึงเครื่องประดับ สินค้ามีของแบรนด์เนม โนเนม และเลียนแบบ มีทั้งมือหนึ่งมือสองให้เลือกสรรตามกำลังเงินในกระเป๋า แต่ถ้าอยากสัมผัสตลาดแบบจตุจักรบ้านเรา การาจีก็มี "Sunday Market" สามารถต่อรองราคาได้แบบเรียกรถ "แล็คช่า"
แดนแห่งวัฒนธรรม
สำหรับใครที่ชอบเรื่องวัฒนธรรม การาจีนับว่ามีสิ่งที่หาดูได้ยากในโลกยุคปัจจุบัน เช่น ประชาชนยังนิยมแต่งกายในชุดประจำชาติ สตรีสวมชุดรัดกุมปกปิดใบหน้าและอวัยวะพึงสงวน ขณะที่บางเรื่องก็รับเอาอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียมา อาทิ การกินหมาก การแห่ฉลองงานแต่งงาน การสวมกอดเมื่อเจอหน้ากัน เป็นต้น
นอกจากนั้น การาจียังเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานคู่กับรัฐปากีสถาน ตึกรามบ้านช่องโบราณจึงมีให้เห็นอยู่ทั่วไปตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และส่วนใหญ่ยังเป็นตึกที่ใช้งานอยู่ ไม่ได้ปิดร้าง (ใช้ทั้งหลับนอนและขับถ่ายครบเซ็ต)
ใครบางคนเคยบอกว่า สถานที่บางแห่งในโลกใบนี้ ชั่วชีวิตหนึ่งต้องหาโอกาสไปเยือนสักครั้ง และการาจี ปากีสถาน ก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจ...
แล้วคุณจะจดจำไม่มีวันลืม!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 (ภาพลีด) Jinnah สถานที่ฝังศพกษัตริย์ Al-Quazim
2 โฉมหน้าของ "แล็คช่า" คล้ายตุ๊กตุ๊กสามล้อเมืองไทย
3 รถประจำทางปากีสถาน มีผู้โดยสารนั่งบนหลังคาเป็นเอกลักษณ์
4 "อูฐ" พาหนะอีกอย่างหนึ่งที่เอาไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวตามชายหาด
5-6 สุสานกษัตริย์ ด้านบนเป็นสุสานจำลองให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม ส่วนสุสานจริงอยู่ใต้ดิน
7 สวนมูฮัมหมัดอิบบีกอเซ็ม มองจากมุมสูง
8-9 Paradise และ Cliffton
10 ตลาด Sunday Market อารมณ์เดียวกับจตุจักร
อ่านประกอบ :
- เปิดฟ้าปากีสถาน (2) "ขัดแย้งการเมือง-ความไม่สงบ" ฉุดประเทศล่ม ประชาชนทุกข์ยาก
http://www.south.isranews.org/scoop-and-documentary/documentary/834--2-q-q-.html
- เปิดฟ้าปากีสถาน (1) สัมผัส นศ.มุสลิมไทย เรียนศาสนาไม่ใช่ก่อการร้าย!
http://www.south.isranews.org/scoop-and-documentary/documentary/822--1-.html
- จาก "โกลกัตตา" ถึง "โกตาบาโต"
http://www.south.isranews.org/talk-to-the-editor/472-2010-08-07-22-23-07.html
- อินเดีย : ศาสนาช่วยดูดซับความขัดแย้ง
http://www.south.isranews.org/academic-arena/509-2010-09-05-19-19-06.html
- ตามไปดูประสบการณ์อินเดียแก้ก่อการร้าย แนะไทยใช้ "เจรจา" ดับไฟที่ปลายขวาน
http://www.south.isranews.org/academic-arena/485--qq-.html