เปิดฟ้าปากีสถาน (2) "ขัดแย้งการเมือง - ความไม่สงบ" ฉุดประเทศล่ม ประชาชนทุกข์ยาก
เอ่ยชื่อ "ปากีสถาน" ภาพที่ทุกคนต้องจินตนาการถึงก็คือปัญหาความวุ่นวายภายในประเทศ มีเหตุร้ายประเภทลอบวางระเบิดตั้งแต่ "คาร์บอมบ์" ไปจนถึง "ระเบิดพลีชีพ" แถมยังถูกกาหัวว่าเป็นแหล่งฝึกนักรบก่อการร้าย จึงแทบไม่มีใครอยากผ่านไปท่องเที่ยวหรือเยี่ยมเยือน
แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า "ปากีสถาน" คือจุดหมายปลายทางของนักเรียนนักศึกษามุสลิมจากหลายชาติ รวมทั้งเยาวชนจากประเทศไทยหลายร้อยคนที่ไปศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติที่กรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของประเทศ กับสถาบันการศึกษาเฉพาะทางด้านการศาสนาที่เมืองการาจีด้วย
นั่นจึงทำให้ "ปากีสถาน" มีความน่าสนใจ และน่าจะมีอะไรๆ ให้ค้นหาไม่น้อย...
แวลีเมาะ ปูซู ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ได้รับเชิญไปร่วมงานสัมมนา "บทบาทบัณฑิตด้านศาสนาต่อการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมไทย" เมื่อไม่นานมานี้ ที่เมืองการาจี สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน และได้มีโอกาสสัมภาษณ์ อุดม สาพิโต กงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี
เรื่องราวและประสบการณ์ผ่านการบอกเล่าของท่านกงสุลใหญ่ฯอุดม เป็นเสมือนการ "เปิดฟ้า" ให้คนไทยได้รู้จักและสัมผัส "ปากีสถาน" ได้มากขึ้นและใกล้ชิดขึ้นกว่าเดิม
ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในหลายๆ ประเด็นที่ค้นพบจากบทสัมภาษณ์ขนาดยาวชิ้นนี้ก็คือ ปัญหาที่ปากีสถานกำลังเผชิญอยู่นั้น นอกจากการก่อการร้าย ก่อความไม่สงบ และความสูญเสียแล้ว ยังมีความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัญหาอันหนักอึ้งด้วย
ประโยคที่ท่านกงสุลใหญ่ฯอุดมเล่าให้ฟังว่า ปากีสถานสมัยที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษใหม่ๆ เคยมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอินเดีย จีน และเกาหลีใต้ แต่ถึงวันนี้ทุกอย่างมลายหายไป เหลือทิ้งไว้แต่อดีตที่นับวันจะไม่มีใครพูดถึงนั้น น่าจะเป็นตัวอย่างอันดีสำหรับประเทศไทยที่ยังไม่หลุดพ้นจากวังวนแห่งความวุ่นวายเพราะความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาการก่อความไม่สงบที่กำลังฉุดให้ "จุดแข็ง" กลายเป็น "จุดอ่อน" และความยิ่งใหญ่กับความสงบสุขกำลังกลายเป็นอดีตที่มิอาจหวนคืน
O สถานการณ์ในปากีสถานในระยะหลังเป็นอย่างไรบ้าง?
ต้องยอมรับว่าเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลปัจจุบันค่อนข้างมีปัญหา เพราะเป็นรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยหลายพรรคการเมืองจึงไม่มีความมั่นคง หลังจากพ้นยุคของ พลเอก เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ (Pervez Musharraf) พรรคประชาชนปากีสถาน (PPP) จับมือกับพรรคเอ็มคิวเอ็ม (MQM) และพรรคสันนิบาตมุสลิมปากีสถาน (Pakistan Muslim League-Nawaz; PML-N) ทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง แต่การรวมกลุ่มกันเป็นรัฐบาลหลายพรรคก็มักจะมีความขัดแย้งอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวก็เข้าร่วมเดี๋ยวก็ถอนตัวออก
ด้านเศรษฐกิจของปากีสถานก็ค่อนข้างมีปัญหา การลงทุนลดลง เพราะสภาพการเมืองการปกครองมีความวุ่นวายตลอดเวลา เงินเฟ้อปีที่ผ่านมาก็สูง ค่าเงินของปากีสถานอ่อนมาก มีผลต่อการพัฒนาประเทศ บวกกับการประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะรัฐปัญจาบ กับ รัฐซินด์ (เป็นรัฐที่มีเมืองการาจีเป็นเมืองหลวง)
ส่วนทางด้านความมั่นคง หากดูจากสภาพภูมิศาสตร์ ปากีสถานถือเป็นจุดยุทธศาสตร์หนึ่งของโลกและของภูมิภาคนี้ที่ทำให้เกิดความมั่นคงยากมากโดยสภาพ รัฐบางรัฐหรือบางเขตพื้นที่ในประเทศเอง รัฐบาลกลางก็เข้าไปมีบทบาทได้น้อยมาก อิทธิพลท้องถิ่นจะเข้าไปควบคุมแทน โดยเฉพาะทางตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐบาลแทบเข้าไปไม่ถึง อีกทั้งมีปัญหาการปะทะกับกลุ่มก่อความไม่สงบตลอดเวลา
ถ้าลองดูตามสภาพภูมิศาสตร์ ปากีสถานตั้งอยู่ติดกับประเทศมหาอำนาจอย่างน้อย 2 ประเทศ และมีปัญหาการเมืองระหว่างกัน คือ สาธารณรัฐประชาชนจีนกับอินเดีย โดยเฉพาะอินเดียมีชายแดนติดต่อกันยาวมาก ขณะที่จีนก็ต้องการมีอิทธิพลเหนือปากีสถาน ส่วนอีกด้านหนึ่งก็มีพรมแดนติดต่อกับประเทศอัฟกานิสถานซึ่งยังมีสงครามและปัญหาความไม่สงบ มีเหตุระเบิดรถยนต์บ่อยครั้ง ซึ่งล้วนเป็นรถขนถ่ายยุทโธปกรณ์ สิ่งเหล่านี้คือความวุ่นวายในปากีสถานทั้งสิ้น
ขณะที่ด้านสังคม หากลองไปสัมผัสดูจะพบขอทานมากมายตามท้องถนน คนเหล่านี้เป็นกลุ่มด้อยโอกาส มาจากชนบท ไร้ที่อยู่อาศัย สิ่งเดียวที่ทำให้ชีวิตเขาอยู่รอดคือขอทาน เพราะหนทางอื่นเขาไปไม่ได้ แต่แม้จะมีความขัดแย้งภายในตลอดเวลา แต่คนปากีสถานก็ดูจะยอมรับสภาพ ยกตัวอย่างเรื่องการขับรถบนท้องถนน จะเห็นว่าคนปากีสถานไม่มีระเบียบวินัยในการขับรถเลย แต่สถิติการเกิดอุบัติเหตุมีน้อยมาก เพราะเขาใช้ใจและใช้สายตาสื่อสารกันเวลาขับรถ โดยส่วนใหญ่ก็ยอมๆ กัน
คนปากีสถานในภาพรวมมองสภาพบ้านเมืองของพวกเขาเป็นเรื่องปกติ และค่อนข้างยอมรับสภาพ เพราะไม่รู้จะหลบเลี่ยงไปทางไหน อย่างเมืองการาจีมีคนเสียชีวิตทุกวัน ส่วนใหญ่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ๆ ทุกวันในหนังสือพิมพ์รายวันต้องมีข่าวการฆ่ากันตาย ทำให้รู้สึกเป็นเรื่องปกติ ยิ่งเหตุประท้วงภาครัฐหรือเอกชนด้วยแล้วก็มีเกือบทุกวันเช่นกัน คนจะมากหรือน้อยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อปัญหาการเมืองไม่มั่นคง ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมปากีสถาน ผู้คนจะพึ่งพาตนเองมากกว่าพึ่งอำนาจรัฐ
O ปัญหาที่มองเห็นมากมายขนาดนี้ แล้วรัฐบาลในฐานะผู้บริหารประเทศมีบทบาทอย่างไร?
การบริหารประเทศของปากีสถานต้องมอง 2 ระดับ คือ ระดับรัฐบาลกลางกับระดับรัฐบาลท้องถิ่น ในส่วนของรัฐบาลกลางจะมีอำนาจสั่งการเรื่องใหญ่ๆ ในแง่นโยบาย เช่น การต่างประเทศ การศึกษา การป้องกันประเทศ ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นจะมีอำนาจบริหารในเขตพื้นที่ของตัวเอง ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ
แต่ปัญหาที่พบก็คือรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละรัฐไม่ได้มีความสามัคคีกัน ทั้งในรัฐเองและระหว่างรัฐด้วย ผมยกตัวอย่างเรื่องน้ำที่ใช้สำหรับการเกษตรระหว่างรัฐปัญจาบกับรัฐบาโลกีสถาน หรือรัฐปัญจาบกับรัฐซินด์ ล่าสุดรัฐซินด์โวยว่ารัฐปัญจาบกั้นเส้นทางน้ำ ทำให้กระทบกับรัฐซินด์ นี่คือปัญหาภายในระหว่างแต่ละรัฐของเขาเอง บางทีรัฐบาลกลางก็ลงมาแก้ไข แต่ก็แก้ไม่ได้ทั้งหมด เนื่องจากรัฐบาลกลางก็ต้องการเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองในแต่ละรัฐเช่นกัน หากไปแก้ปัญหาแล้วทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนตนเองเสียประโยชน์ การถอนตัวจากรัฐบาลกลางจะเกิดขึ้นได้ทันที
ยกตัวอย่างรัฐซินด์ พรรคที่มีบทบาทสำคัญคือพรรคพีพีพี แต่ในเมืองการาจี (เมืองหลวงของรัฐ) พรรคเอ็มคิวเอ็มกลับครองเสียงมากที่สุดถึง 5 ใน 6 ของจำนวน ส.ส. ซึ่งทั้งสองพรรคเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลผสม (รัฐบาลกลาง) แต่ก็เป็นคู่แข่งกันในระดับรัฐด้วย หรืออย่างในรัฐปัญจาบ พรรคพีพีพีกับพรรคมุสลิมลีกก็จะมีบทบาทร่วมกัน ฉะนั้นใครที่มีอิทธิพลในท้องถิ่น ก็จะมีบทบาทถึงในระดับรัฐบาลกลางด้วย
ทั้งหมดนี้คือความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้ปากีสถานประสบปัญหา หากย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ตอนที่ปากีสถานได้รับเอกราชจากอังกฤษใหม่ๆ ความก้าวหน้าของปากีสถานไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจหรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องยอมรับว่ามีความเจริญทัดเทียมกับประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านั้นไม่มีแล้ว เพราะความมั่นคงทางการเมืองมันไม่มี ทำให้ทั้งอินเดีย จีน หรือเกาหลีใต้ก้าวไปไกล ขณะที่ปากีสถานนอกจากจะไม่ก้าวไปข้างหน้า ยังถอยหลังอีกต่างหาก ซึ่งทั้งหมดนี้มีสาเหตุจากปัญหาการเมืองและนักการเมือง ผมคิดว่าถ้านักการเมืองบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว ปากีสถานน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ และนี่คือสิ่งที่ชาวปากีสถานเล่าให้ฟัง
O เมืองการาจีมีความสำคัญอย่างไร ทำไมรัฐบาลไทยถึงเปิดสถานกงสุลที่นี่?
การาจีเป็นเมืองที่ใหญ่มาก ตัวเลขประชากรที่เป็นทางการราว 6 ล้านคน ถึงแม้การาจีไม่ใช่เมืองหลวงของประเทศ แต่เราสามารถมองการาจีเสมือนเป็นสัญลักษณ์และตัวแทนของปากีสถานได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจะอยู่ที่เมืองการาจีเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางการศึกษา ศูนย์กลางการเงิน ศูนย์กลางการค้าการลงทุน ความจนที่สุดและรวยที่สุดอยู่ที่นี่ ส่วนการปกครองในระดับรัฐบาลกลางแน่นอนว่าอยู่ที่กรุงอิสลามาบัด (เมืองหลวงของประเทศ) แต่ศูนย์กลางอื่นๆ ทั้งหมดอยู่ที่การาจี
สภาพเมืองของการาจีจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือเมืองเก่า หรือ Old city จะมีผังเมืองไม่ค่อยดีนัก ระบบสาธารณูปโภคและสวัสดิภาพของประชาชนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ส่วนเมืองใหม่ หรือ New city มีการวางผังเมืองดีมาก และถือเป็นเขตปลอดภัย เป็นที่ตั้งของสถานทูต ย่านที่อยู่อาศัยของคนชั้นสูง (Defence Housing Authority; DHA) และย่านคลิบตันที่ผังเมืองสวยงามมาก จะดูได้ตอนเช้าๆ ช่วงคนที่ยังไม่ออกมาเดินและรถยังไม่วิ่ง เมืองจะมีความสะอาด
O อะไรที่เป็นจุดเด่นและจุดด้อยของปากีสถาน?
จุดเด่นคือคนปากีสถานไม่ก้าวร้าว ถามว่าเป็นมิตรร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ก็ไม่ถึงกับเต็มร้อย แต่เขาก็ไม่ได้เป็นศัตรูกับคนต่างชาติ สิ่งที่เขาแสดงออกส่วนใหญ่คือเพื่อความอยู่รอด สถานที่ท่องเที่ยวก็น่าเที่ยวหลายที่
ส่วนจุดด้อยคือขาดความมั่นคงในชีวิต คนจึงต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ทำให้ไม่มีระเบียบวินัย ขณะที่การเมืองที่ไม่มีความมั่นคง ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างกันมาก ระบบวรรณะก็ยังคงมีอยู่ เนื่องจากปากีสถานเป็นส่วนหนึ่งของชมพูทวีปเดิม ฉะนั้นปากีสถานก็ยังมีระบบวรรณะ แม้ในทางกฎหมายจะไม่มีการแบ่งชนชั้นแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติยืนยันได้ว่ามีชนชั้นอยู่
เช่นเดียวกับความขัดแย้งทางศาสนาก็ยังมีอยู่มาก แม้จะมีคนมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ แต่ต่างนิกาย คือมีทั้งที่นับถือนิกายชีอะห์กับสุหนี่ ทำให้ขัดแย้งกันเยอะ ส่วนหนึ่งที่ตายก็มาจากความขัดแย้งทางศาสนา
O ทัศนคติของคนปากีสถานต่อประเทศไทยเป็นอย่างไร?
คนปากีสถานจะมองภาพประเทศไทยเป็นบวกมาก จะนึกถึงประเทศไทยเหนือกว่าประเทศที่เป็นมุสลิมด้วยกันอย่างประเทศมาเลเซียหรือประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างสิงคโปร์ด้วยซ้ำ แต่หากพิจารณาจากสินค้านำเข้าจากประเทศไทยจะพบว่ามีค่อนข้างน้อย เพราะมีกำแพงภาษีสำหรับสินค้าจากประเทศไทย ทำให้สินค้าไทยราคาแพง ขณะที่สินค้านำเข้าจากประเทศมาเลเซียและอินเดียจะสูงกว่า เพราะขายได้ราคาถูก เนื่องจากทั้งสองประเทศทำสัญญายกเว้นภาษีร่วมกันกับปากีสถาน แต่ประเทศไทยไม่ได้ทำ
ส่วนความสัมพันธ์ในระดับรัฐต่อรัฐ ประเทศปากีสถานกับประเทศไทยถือว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีมาก ไม่เคยมีความบาดหมางกันไม่ว่าเรื่องใด
O ปากีสถานมีชายแดนติดกับอัฟกานิสถาน อินเดีย และแคชเมียร์ ถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางฝึกการก่อการร้าย รัฐบาลเขาแก้ปัญหาอย่างไร?
ปากีสถานมีปัญหาขัดแย้งทั้งภายในและภายนอก จึงไม่สามารถตกลงกันเองได้ ต้องมีประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ปากีสถานก็ระมัดระวังมาก เนื่องจากเขาอยู่ในเขตอิทธิพลของอินเดียและจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีพลังขึ้นมามากในโลกปัจจุบัน ปากีสถานต้องผูกสัมพันธ์ที่ดีกับจีนไว้ ส่วนกับอินเดียแม้จะมีปัญหาเรื่องเขตแดนระหว่างกัน แต่ปากีสถานก็ไม่ได้วู่วาม เพราะตัวเองตกเป็นรองอินเดียในทุกๆ ด้าน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแสดงศักยภาพว่าไม่ได้กลัวอินเดียสักเท่าไหร่
ปัญหานี้ใช่ว่าจะแก้ไม่ได้เลย แต่แก้ยาก เพราะปากีสถานถูกรายล้อมไปด้วยประเทศมหาอำนาจ และรัฐบาลกลางเองก็ไม่สามารถคุมพื้นที่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น เขตตะวันออกเฉียงเหนือ เขตอิทธิพลของตอลีบัน (กลุ่มปฏิวัติในอัฟกานิสถาน) ประชาชนไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับรัฐบาลกลาง ถึงแม้ปัจจุบันทางการจะประกาศว่าควบคุมพื้นที่ได้แล้ว แต่ก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ อำนาจรัฐยังเข้าไปควบคุมไม่หมด
O จากประสบการณ์ที่พบเจอกับตัวเอง ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ของโลกขณะนี้เกิดจากอะไร?
หากมองภาพรวมเรื่องความขัดแย้ง ผมไม่ค่อยตำหนิประเทศคู่ขัดแย้ง แต่อยากตำหนิประเทศมหาอำนาจโบราณที่มาแบ่งเขตแดนประเทศตามอำเภอใจของตน สาเหตุเกิดจากประเทศที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมแบ่งเขตแดนไม่เป็นธรรม ย้อนดูปากีสถานกับอินเดีย พบว่าไม่ได้แบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์ แต่แบ่งเขตตามศาสนา เขตไหนที่มีมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ก็ให้เป็นประเทศปากีสถาน เขตไหนที่มีฮินดูเป็นส่วนใหญ่ก็ให้เป็นอินเดีย ฉะนั้นในปากีสถานกับอินเดียจึงมีเมืองชื่อเดียวกันเยอะ อาทิ รัฐปัญจาบ หรือเมืองฮีเลมาบัด ทั้งอินเดียและปากีสถานก็มีชื่อนี้เหมือนกัน ผมจึงมองว่าสาเหตุเกิดจากประเทศมหาอำนาจนี่แหละ
O สถานการณ์การก่อการร้ายและความไม่สงบในปากีสถานเทียบกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้บ้านเราได้หรือไม่ และของเราอยู่ในระดับใด?
ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถ้าเทียบกับปากีสถานแล้วถือว่าเล็กมาก ที่การาจีมีทั้งคาร์บอมบ์และระเบิดพลีชีพ แต่ละทีมีคนตาย 50-60 ศพ บ้านเรายังไม่ถึงขนาดนั้น แต่คนปากีสถานจะเฉยๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งจะไม่มีการรำลึกวันครบรอบเหตุการณ์ใหญ่ๆ เหมือนที่บ้านเรารำลึกกันอีกด้วย
O ในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศที่มีสถานการณ์ร้ายแรงกว่าไทย มองปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร อีก 5-6 ปีจะสงบหรือไม่?
ผมว่าประเด็นการแบ่งแยกดินแดนไม่น่าจะใช่ประเด็นหลักของปัญหาภาคใต้ คืออาจจะมีบ้างแต่เชื่อว่าน้อยมาก ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ที่เห็นกับแนวคิดนี้ สมมุติคนมุสลิมในพื้นที่ 80% ของทั้งหมด ผมว่าแค่ 1% ก็ถือว่ามากแล้วที่มีความคิดจะแยกดินแดน ผมมองว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์บางอย่างมากกว่า
เหมือนนักศึกษาไทยมุสลิมที่มาเรียนในการาจี ถ้าเราเข้าใจในความคิดของเขา ผมว่าเขาแค่มุ่งด้านศาสนา ไม่ได้มาเพื่อฝึกก่อการร้าย เราต้องมองปัญหาให้ถูกจุด ฉะนั้นเหตุการณ์ในภาคใต้ ผมว่าน่าจะสงบและมีทางออกได้ถ้ารัฐบาลจับจุดถูก มีข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่สนองให้กับพื้นที่ต้องทำอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการไปสร้างเงื่อนไขให้คนในพื้นที่เกิดความลำบากใจ
O พูดถึงนักศึกษาไทยมุสลิม อยากทราบบทบาทของกงสุลใหญ่การาจีต่อนักศึกษาไทยมุสลิมซึ่งเข้ามาศึกษาต่อในการาจีกว่าร้อยคน?
อันดับแรก คือนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศที่เน้นสร้างสังคมไทยในต่างแดนให้แข็งแกร่ง สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี ได้สนองนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนไทยทุกหมู่เหล่าที่พำนักอยู่ในเขตที่เราดูแล เราก็จะสร้างความแข็งแกร่งให้เขาเป็นปึกแผ่น ซึ่งรวมถึงนักศึกษาไทยมุสลิมด้วย โดยนักศึกษาที่อยู่ในเขตการดูแลของเรามีประมาณ 120-130 คน ก็ได้จัดตั้งสมาคมขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางในการขับเคลื่อนสร้างปฏิสัมพันธ์กับทางเรา บอกได้เลยว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถานกงสุลกับนักศึกษาไทยมุสลิมอยู่ในระดับดีมาก
ที่ผ่านมาเราดำเนินงานภายใต้กรอบโครงการ Muslim Flagship จะมีหลายโครงการเกิดขึ้น ปีที่ผ่านมาเราทำโครงการกับนักศึกษาไทย 5 กิจกรรม ปีนี้ตั้งไว้ 7 กิจกรรม เช่น กิจกรรมฟุตบอลกระชับมิตร, บทบาทบัณฑิตด้านศาสนาต่อการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมไทย, ทัศนศึกษาดูงานเมืองไคโร ประเทศอียิปต์ และมอบทุนการศึกษา เหล่านี้เป็นต้น
O หลายฝ่ายจับตามองนักศึกษาไทยมุสลิมที่เรียนศาสนาอย่างเดียวว่าอาจเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงหรือก่อการร้าย โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราก็กำลังมีปัญหา ทางสถานกงสุลฯมีบทบาทการทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?
เอาเฉพาะในระดับรัฐก่อน หากจะพูดอย่างเป็นทางการต้องบอกว่าปากีสถานเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทยน้อยมาก และปากีสถานเป็นมิตรประเทศที่ช่วยคัดค้านไม่ให้นำปัญหาชายแดนภาคใต้ของเราเข้าสู่ที่ประชุมโอไอซี (องค์การการประชุมอิสลาม หรือ โอไอซี ซึ่งปากีสถานเป็นชาติสมาชิก) จึงทำให้ปัญหาไม่ถูกยกระดับเป็นปัญหาสากล แต่เป็นเพียงปัญหาภายในของไทยเท่านั้น
ส่วนบทบาทของนักศึกษาไทยมุสลิมที่นี่ แน่นอนถ้าพูดในมิติความมั่นคงอาจจะมองในแง่นั้นได้ แต่ผมมองในแง่ที่ได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์ทำกิจกรรมกับน้องๆ ทุกคน พฤติกรรมที่บ่งบอกว่าเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับปัญหาภาคใต้หรือการก่อความรุนแรง ชัดเจนว่าไม่มีเลย น้องๆ นักศึกษาเขาแค่อยากมุ่งเรียนศาสนาโดยเฉพาะ ซึ่งถ้าเขาเรียนหลักศาสนาจริงๆ ผมก็เชื่อว่าไม่น่าจะเลือกใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา
O เท่าที่ทราบนักเรียนไทยที่มาเรียนต่อที่ปากีสถานมีปัญหาเรื่องวีซ่า เพราะทางการปากีสถานไม่ยอมออกให้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?
เรื่องวีซ่าที่เป็นปัญหาเพราะทางการปากีสถานไม่อนุญาตอย่างเป็นทางการสำหรับคนที่มาเรียนศาสนาในการาจีกับบริเวณใกล้เคียง นักศึกษาที่มาเรียนที่นี่จึงอยู่อย่างผิดกฎหมาย เพราะไม่มีวีซ่า นักศึกษาส่วนใหญ่ใช้วีซ่าท่องเที่ยว แล้วถือโอกาสเรียนไปด้วยเลย ฉะนั้นนักศึกษาเหล่านี้ถ้ากลับบ้านไปแล้วก็จะไม่มีสิทธิ์กลับไปมาอีก หรือไม่สามารถเดินทางเข้าออกได้เหมือนวีซ่านักเรียน เนื่องจากอยู่อย่างผิดกฎหมาย ซึ่งไม่เพียงแต่นักศึกษาไทยอย่างเดียวที่ได้รับผลกระทบ แต่รวมถึงนักศึกษาจากมาเลเซียหรืออินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมด้วยกันด้วย
ปัญหาที่ว่านี้ไม่มีทางออก เพราะว่าปากีสถานไม่เปิด เรื่องนี้เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละประเทศ ต้องเข้าใจว่าเมื่อประเทศผู้รับเขาไม่เปิด แล้วประเทศผู้ส่ง (ประเทศต้นทางของนักศึกษา) จะมาอยู่โดยถูกกฎหมายได้อย่างไร ทางกงสุลใหญ่เองก็ไม่รู้จะช่วยเรื่องวีซ่านี้ได้อย่างไร เพราะทางปากีสถานเขาไม่เปิดจริงๆ แต่เรื่องการส่งตัวกลับไทย เมื่อถึงเวลากลับ ทางกงสุลใหญ่ก็ต้องช่วยให้เขากลับให้ได้
O มีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนโดยได้รับอนุญาตให้วีซ่าอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?
ต้องเข้าใจก่อนว่านักศึกษาที่มาเรียนในปากีสถานมี 2 กลุ่ทม กลุ่มหนึ่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ เรียนศาสนาและระบบสายสามัญสอนควบคู่กันไปด้วย กับอีกกลุ่มหนึ่งคือมาเรียนศาสนาอย่างเดียว ซึ่งคนที่มาเรียนศาสนาโดยเฉพาะคือคนที่มาเรียนในการาจีกับบริเวณใกล้เคียง
กรณีนักศึกษาที่ได้วีซ่าถูกต้อง คือกลุ่มที่เรียนในมหาวิทยาลัยนานาชาติ ตั้งอยู่ที่กรุงอิสลามาบัดเมืองหลวงของปากีสถาน มีนักเรียนต่างชาติเข้ามาเยอะแยะถึงกว่า 50 ชาติ ที่นั่นก็มีนักเรียนไทยเรียนอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเราจะพบความต่างระหว่างการาจีกับอิสลามาบัด นั่นเป็นเพราะว่าที่มหาวิทยาลัยนานาชาติ มีการสอนคอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และสังคม ไม่ได้สอนศาสนาล้วนๆ เหมือนที่การาจี นี่คือความแตกต่างว่าทำไมเด็กนักเรียนที่นั่นถึงได้วีซ่า ขณะที่เรียนในการาจีกลับไม่ได้วีซ่า
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อุดม สาพิโต (ภาพโดย แวลีเมาะ ปูซู)
อ่านประกอบ : เปิดฟ้าปากีสถาน (1) สัมผัส นศ.มุสลิมไทย เรียนศาสนาไม่ใช่ก่อการร้าย!
http://www.south.isranews.org/scoop-and-documentary/documentary/822--1-.html