เปิดฟ้าปากีสถาน (1) สัมผัส นศ.มุสลิมไทย เรียนศาสนาไม่ใช่ก่อการร้าย!
เป็นที่ทราบกันดีว่าเยาวชนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นับถือศาสนาอิสลามและใช้ "ภาษามลายู" เป็น "ภาษาแม่" นั้น เส้นทางการศึกษา "ศาสนาควบคู่สายสามัญ" ผ่านระบบการศึกษาของประเทศไทยค่อนข้างตีบตัน พวกเขาจึงจำเป็นต้องเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหลักสูตรทางศาสนาในประเทศอิสลาม...และ "ปากีสถาน" ก็เป็นจุดหมายปลายทางหนึ่ง
แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีเช่นกันว่า เมื่อเยาวชนเหล่านี้สำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับสู่มาตุภูมิแล้ว พวกเขามักประสบปัญหาในการหางานทำ เนื่องจากวุติบัตรที่ได้รับไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทย
ฉะนั้นการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมเกี่ยวกับนักศึกษาไทยมุสลิมทั้งจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่อื่นๆ ที่เดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ยิ่งจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเผชิญกับสถานการณ์ความไม่สงบอยู่ในปัจจุบัน ยิ่งทำให้นักศึกษาเหล่านั้นประสบปัญหามากยิ่งขึ้น เพราะประเด็นความมั่นคงถูกฝ่ายรัฐหยิบยกขึ้นมาพิจารณาประกอบด้วย
เหตุนี้เอง สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน ซึ่งมีนักศึกษาไทยมุสลิมที่ศึกษาอยู่ในเขตอาณาถึง 120 คน จึงได้จัดสัมมนาเรื่อง "บทบาทบัณฑิตด้านศาสนาต่อการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมไทย" ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษาไทยมุสลิมเกี่ยวกับบทบาทของคนไทยที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและท้องถิ่นของตน พร้อมทั้ง "แนะแนว" ด้านการประกอบอาชีพที่เหมาะสมให้สามารถประกอบสัมมาชีพได้นอกเหนือจากการเป็นบุคลากรทางศาสนาตามที่นิยมกัน
นอกจากนั้นก็เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติและประสบการณ์กับผู้ที่ประสบความสำเร็จจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ รวมทั้งส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ระหว่างสถานกงสุลใหญ่ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐกับนักศึกษาไทยมุสลิม เพราะทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยด้วยกัน
การสัมมนาจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ที่โรงแรม Beach Luxury เมืองการาจี สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน โดยมีนักศึกษาไทยมุสลิมทั้งหมด 120 คนจาก 6 สถาบันเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ได้แก่ Binnoria International University, Abu Bakr Islamic University, Jamia-tul Uloom Il-Islamiyya (Jamia Banuri Town), Darul Khair, Darul Uloom College และ Asraful Madares และมี อาจารย์อับดุลกอเดร มูซอ ผู้อำนวยการโรงเรียนศาสนาอีกรอ กรุงเทพมหานคร กับ อาจารย์วีรโชติ หะยีมะ นักวิชาการอิสระจากประเทศไทย เดินทางไปร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะและให้คำแนะนำกับน้องๆ นักศึกษาอย่างเป็นกันเอง ซึ่งถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของการดูแลนักศึกษามุสลิมไทยในต่างแดน
"แวลีเมาะ ปูซู" ผู้สื่อข่าวสาวจากโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ได้รับเชิญไปร่วมกิจกรรมสำคัญในครั้งนี้ด้วย โดยเธอได้รายงานรายละเอียดของงานสัมมนา ความเป็นอยู่และแง่คิดของนักศึกษามุสลิมไทยที่นั่น รวมทั้งบรรยากาศและสภาพบ้านเมืองปากีสถานซึ่งมีน้อยคนนักที่เคยสัมผัส...กลับมาให้คนไทยได้รับรู้กัน
เปิดฟ้า "ปากีสถาน"
ประเทศปากีสถานมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน" มีพื้นที่ราว 796,096 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าประเทศไทยเล็กน้อย ทิศตะวันตกมีอาณาเขตติดต่อกับอิหร่านและอัฟกานิสถาน ทิศเหนือติดกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ทิศตะวันออกติดกับอินเดีย สองยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน ขณะที่ทิศใต้เป็นชายฝั่งทะเลอาหรับ มีกรุงอิสลามาบัด (Islamabad) เป็นเมืองหลวง
ปากีสถานมีประชากรถึง 172 ล้านคน ประกอบด้วยเชื้อชาติปัญจาบ ร้อยละ 59 ปาทาน ร้อยละ 14 ซินด์ ร้อยละ 12 บาลูชี ร้อยละ 4 มูฮาเจียร์ (ชาวมุสลิมที่อพยพมาจากอินเดีย) ร้อยละ 8 และอื่นๆ ร้อยละ 3
ปากีสถานมีภาษา "อูรดู" เป็นภาษาประจำชาติ ส่วนภาษาอังกฤษใช้ในรัฐบาลกลางและแวดวงธุรกิจ นอกจากนั้นยังมีภาษาถิ่นอื่นๆ อีกจำนวนมาก อาทิ ปัญจาบี ซินดิ ปาทาน และบาลูชี ประชากรร้อยละ 97 นับถือศาสนาอิสลาม (ร้อยละ 77 เป็นนิกายสุหนี่ และร้อยละ 21 เป็นนิกายชีอะห์) ที่เหลือเป็นศาสนาคริสต์ ฮินดู และอื่นๆ รวมร้อยละ 3
สภาพอากาศโดยทั่วไปของปากีสถานอยู่ในเขตร้อนและแห้งแล้ง ยกเว้นภาคตะวันตกเฉียงเหนือที่อากาศอบอุ่น ส่วนภาคเหนือมีอากาศเย็น
เมืองสำคัญของปากีสถานนอกจากเมืองหลวงคือกรุงอิสลามาบัดแล้ว ยังมีเมืองการาจี (Karachi) เป็นเมืองท่าและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ อีกเมืองหนึ่งคือเมืองละฮอร์ (Lahore) เป็นเมืองศูนย์กลางของภาคอุตสาหกรรม ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ
ปากีสถานปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นายอาซีฟ อาลี ซาร์ดารี (Asif Ali Zadari) มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร คือ นายไซยิด ยูซัฟ ราซา กิลลานี (Syed Yousaf Raza Gilani)
"มายาคติ" นศ.มุสลิมกับความรุนแรง
อุดม สาพิโต กงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี เล่าถึงนักศึกษาไทยในพื้นที่รับผิดชอบว่า นักศึกษาไทยมุสลิมในเมืองการาจีมีอยู่ 120 คน ทั้งหมดศึกษาด้านศาสนาอย่างเดียว และส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 ไม่มีพื้นฐานด้านวิชาสามัญ เยาวชนเหล่านี้เมื่อกลับไปบ้านเกิดก็มักไปเป็นครูสอนในโรงเรียนสอนศาสนา เนื่องจากทางเลือกมีน้อย มีบ้างเหมือนกันที่ไปประกอบอาชีพอื่นแต่ก็ไม่ถาวร เนื่องจากวุติบัตรไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทย
"จริงๆ แล้วการศึกษาศาสนาอิสลามไม่ได้เน้นหนักเฉพาะด้านหลักคำสอนเพียงอย่างเดียว แต่ส่งเสริมให้ทุกคนเรียนรู้วิชาการทางโลกและวิวัฒนาการใหม่ๆ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ช่วยกันสร้างสังคมที่มีความเจริญอย่างมีจริยธรรม ผมจึงหวังว่านักศึกษาทุกคนที่จะจบเป็นบัณฑิตในไม่ช้านี้จะนำสิ่งดีๆ ไปเติมเต็มให้กับสังคมไทย และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความรับผิดชอบ" กงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี กล่าว
ส่วนที่ประเทศปากีสถานถูกมองจากบางฝ่ายโดยเฉพาะโลกตะวันตกว่าเป็นศูนย์กลางการก่อการร้าย ทำให้นักศึกษาที่จบจากปากีสถานถูกมองอย่างอคติไปด้วยนั้น อุดม ยืนยันว่า เท่าที่ได้สัมผัสกับนักศึกษาไทยมุสลิมทุกคน ไม่มีใครมีพฤติกรรมในแง่ลบ และไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน
"ถ้าพูดถึงเรื่องความมั่นคง อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย แต่จากการที่ผมได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับน้องๆ ภายใต้กรอบโครงการ Muslim Flagship ซึ่งมี 5 กิจกรรมในปีที่ผ่านมา พบว่าน้องๆ นักศึกษาที่นี่มุ่งมาเรียนศาสนาเท่านั้น และไม่มีใครมีความคิดใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา"
"แต่เดิมที่นี่เป็นที่ที่นักเรียนไทยมาสร้างชื่อเสียงอย่างมาก เรียนจบกลับไปเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมืองก็หลายท่าน ตอนหลังน้องๆ เลือกมาเรียนศาสนากันเป็นหลัก ซึ่งเมื่อก่อนจะมีวิชาสามัญ ทั้งแพทย์ เศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์การปกครอง แต่การมุ่งเรียนด้านศาสนาอย่างเดียวก็ถือเป็นเรื่องดี ผมเห็นด้วย เพราะทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดี แต่หากเป็นไปได้ผมก็อยากให้เรียนสายสามัญควบคู่ไปด้วย เพื่ออย่างน้อยจะได้เป็นฐานรองรับด้านอาชีพของน้องๆ เองเมื่อต้องกลับไปประกอบอาชีพในเมืองไทยบ้านเรา" อุดม กล่าว
"ผู้รู้-ปัญญาชน-ชาวบ้าน"ต้องประสานเป็นเนื้อเดียว
อาจารย์อับดุลกอเดร มูซอ กล่าวกับนักศึกษาไทยมุสลิมในงานสัมมนาว่า บทบาทของบัณฑิตด้านศาสนาเป็นเสมือน "อูลามา" หรือ "ผู้รู้" คือเป็นผู้ชี้นำสังคม ฉะนั้นความเข้าใจในศาสนาและการปฏิบัติตัวตามหลักการอิสลามที่ถูกต้องจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและพัฒนาสังคมโดยอัตโนมัติ สังคมก็จะยืนอยู่ได้ โดยคนทั้งที่ใช่มุสลิมและไม่ใช่มุสลิมก็จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
"แม้กระทั่งคนเป็นหมอหรือเป็นวิศวกรก็ไม่ได้อยู่เพื่อผลประโยชน์อย่างเดียว คนเป็นหมอต้องเป็นเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ช่วยชีวิตที่ใกล้ความตาย ทำอย่างไรที่จะได้ใกล้ชิดพระเจ้า ไม่ใช่เอาแต่กอบโกยผลประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียวโดยเอาชีวิตของคนใกล้ตายเป็นเดิมพัน ตรงนี้เป็นบทบาทของอูลามาที่สามารถชี้นำสังคมให้เกิดสันติสุขได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาสังคมโดยอัตโนมัติ เมื่อทุกคนทำหน้าที่ถูกต้องตามหลักอิสลาม ความดีงามก็จะเกิดขึ้นในสังคม"
"ผมยกตัวอย่างพื้นฐานง่ายๆ ตัวของเรามีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วน คือ หัวใจ สมอง และเรือนร่าง ถ้าหากเราเข้าใจอิสลามจะไม่มีการแบ่ง พูดถึงคนที่เรียนศาสนาเปรียบเสมือนหัวใจ มันสมองคือปัญญาชน ชาวบ้านคือเรือนร่าง ทั้ง 3 กลุ่มในอิสลามจะไม่แยกกัน ถือว่าเป็นศูนย์เดียวกัน ต้องช่วยเหลือกัน ถ้าหัวใจดีอย่างเดียว สมองไม่ดี มันก็เพี้ยน สังคมก็อยู่ไม่ได้ ผมมองภาพทั้งปัญญาชน ผู้รู้ และชาวบ้านมีความสัมพันธ์กัน ไม่ใช่ผู้รู้อยู่ส่วนหนึ่ง ปัญญาชนอยู่ส่วนหนึ่ง เรือนร่างอยู่ส่วนหนึ่ง ถามว่าวันนี้หัวใจเราดี สมองเราดี แต่ขาเดินไม่ได้ เราอยู่ได้ไหม...ก็อยู่ไม่ได้ อิสลามจึงถือว่าเราทุกคนมีความสำคัญด้วยกันหมด จะแยกกันไม่ได้ ต้องประสานเป็นเนื้ออันเดียวกัน จึงจะสร้างสังคมได้อย่างเป็นระบบ" อาจารย์อับดุลกอเดร กล่าว
นักวิชาการมุสลิมจากกรุงเทพฯยังได้สะท้อนมุมมองต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ปัญหานี้ต้องแก้ด้วยศาสนาเท่านั้น เหตุการณ์ร้ายจึงจะสงบ
"ความไม่สงบเกิดขึ้นท่ามกลางผลประโยชน์ การแก้ปัญหาจึงยาก ต่างคนต่างแก้ มุ่งแต่ผลประโยชน์ ผมเชื่อว่าปัญหาอะไรก็แล้วแต่บนโลกใบนี้ต้องแก้ด้วยการมีศาสนา และไม่ใช่ใช้แค่บางส่วน แต่ต้องใช้ทุกส่วนในการแก้ ปัญหาจึงจะคลี่คลายได้ ฉะนั้นบัณทิตด้านศาสนาทุกคนต้องช่วยกัน ต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมไทยให้ได้ แล้วเหตุการณ์ภาคใต้จะสงบ"
ขณะที่ อาจารย์วีรโชติ หะยีมะ กล่าวว่า บทบาทของบัณฑิตด้านศาสนาในอนาคตขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงของนักศึกษาในอันที่จะปรับความรู้ด้านศาสนาของตนให้เข้ากับสภาพสังคมและความต้องการของตลาด จริงอยู่ในอดีตนักศึกษาสายศาสนาไม่ค่อยได้มีโอกาสเข้าร่วมหรือปฏิบัติงานกับสังคมอื่นๆ แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมาก ผลพลอยได้จากนักศึกษาสายศาสนาคือภาษาอาหรับที่สามารถปรับใช้ในการประกอบอาชีพด้านอื่นๆ ได้
"ผมอยากให้ทุกคนมีความมุมานะ ทุ่มเทใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด ขยันใฝ่หาความรู้ตลอดเวลา และเมื่อรู้แล้ว เราต้องพัฒนาตามที่เรารู้ด้วย อย่าละทิ้งโดยอันขาด ซึ่งความมุมานะดังกล่าวจะไปสร้างคุณประโยชน์ให้กับคนในพื้นที่ในอนาคตได้เยอะทีเดียว" อาจารย์วีรโชติ ระบุ
ชีวิตต้องสู้ของ นศ.ไทยในการาจี
ด้านความรู้สึกของนักศึกษามุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อับดุลเลาะห์ แวดอแม วัย 23 ปี หนุ่มน้อยจากสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่ Jamia-tul Uloom Il-Islamiyya เล่าถึงการใช้ชีวิตในต่างแดนของเขาว่า ประเทศปากีสถานนั้นหลายคนอาจมองว่าเป็นประเทศที่ไม่เจริญ ไม่เติบโต แต่จริงๆ แล้วมีความเรียบง่ายแอบแฝง ทำให้เขาได้ฝึกใช้ความอดทนในหลายๆ ด้าน และได้เรียนรู้ชีวิตจากสภาพความเป็นจริง
ส่วนการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสังคมมุสลิมที่นี่นั้น อับดุลเลาะห์ บอกว่า ก็มีปรับบ้างเล็กน้อยในเรื่องการปฏิบัติตามหลักศาสนา เพราะที่การาจีเคร่งกว่าบ้านเราที่เป็นสังคมไทย ส่วนภาษาไม่มีอุปสรรค โดยตลอด 3 ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ สามารถสื่อสารได้ระดับหนึ่ง
"ตอนอยู่ที่บ้านผมจะใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่งเลย คือคนที่บ้านทำให้หมด เราแทบไม่ต้องทำอะไร แต่พอมาอยู่ที่นี่ เราไม่รู้จักใคร ทุกอย่างต้องทำเอง ต้องปรับตัว ต้องพึ่งตนเอง สมองเราจะต้องคิดตลอด ทำอย่างไรให้เราอยู่ได้ ถือว่าที่ปากีสถานฝึกให้ผมคิดเป็น ทำเป็น ถือเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากมาก"
กับสถานการณ์ในปากีสถานซึ่งมีสถานการณ์ความไม่สงบอยู่บ่อยๆ นั้น อับดุลเลาะห์ บอกว่า เป็นปัญหาทางการเมืองของรัฐบาล ไม่ใช่สงครามศาสนา หรือญิฮาด
"จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ การที่เราจะอยู่ที่นี่อย่างปลอดภัยเราก็ต้องปรับตัว พยายามอ่านกีตาบ (หนังสือ) และทำกิจกรรมกับเพื่อนในโรงเรียนเป็นหลัก หากมีเรื่องจำเป็นจริงๆ เท่านั้นถึงจะออกไปข้างนอก" อับดุลเลาะห์ บอก
เรียนศาสนาไม่ใช่ก่อการร้าย
ส่วนมุมมองด้านความมั่นคง นักศึกษาหนุ่มจากสุไหงโก-ลก กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายมองนักศึกษาไทยที่มาเรียนในการาจีในแง่บวก เราไม่ได้ถูกฝึกให้ใช้อาวุธหรือสอนให้ไปก่อความไม่สงบ แต่หลักสูตรที่นี่เน้นเป็นพิเศษในเรื่องศาสนา เรื่องคำสั่งสอนของพระเจ้า ไม่ได้ไปมุ่งเรื่องก่อการร้าย
"เท่าที่ทราบข่าวจากรุ่นพี่ก็มีบ้างเหมือนกันที่เมื่อกลับไปเมืองไทยก็ถูกเพ่งเล็งหรือโดนติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทุกคนที่มาเรียนที่นี่โดนคำครหาอยู่แล้ว แต่เราก็ยึดหลักตั้งปณิธานว่ามาเรียนศาสนาจริงๆ ไม่ได้มาเพื่อฝึกเป็นกองโจรกลับไปปฏิบัติการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การสอนศาสนาบ้านเราก็มีพอๆ กับที่นี่ แต่ที่นี่ระบบการเรียนการสอนจะเคร่งกว่า ผมได้รู้หลักการศาสนา ได้รู้จักแก่นแท้ของอิสลาม รวมถึงได้ภาษาด้วยในเวลาเดียวกัน ทั้งภาษาอาหรับ อังกฤษ และอุรดู ถือว่าได้เปรียบกว่าคนที่เรียนบ้านเรา"
"ถามว่าหนักใจไหมที่ถูกสังคมมองอย่างนั้น บอกได้เลยว่าไม่หนักใจ เพราะจริงอยู่ที่สังคมส่วนใหญ่มองว่าที่นี่เป็นแหล่งฝึกก่อการร้าย แต่ทุกคนที่มาที่นี่มีเป้าหมายเดียวคือมาเรียนหนังสือ มาหาความรู้ เหมือนผมที่ตั้งเป้ามาเรียนรู้ศาสนา ก็หวังในสิ่งที่เราจะได้จากที่นี่นำกลับไปพัฒนาบ้านของตนเอง" อับดุลเลาะห์ กล่าว
หวังสังคมไทยเปิดกว้างให้ นศ.มุสลิม
ส่วนนักศึกษาไทยมุสลิมจากพื้นที่อื่นๆ อย่าง อุษมาน อาดำ จาก จ.ปทุมธานี ประธานสภานักเรียน Binnoria International University เล่าว่า วิถีชีวิตในแต่ละวันจะอยู่ในบริเวณสถานศึกษาเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะเรียนอย่างเดียว ถ้าอยู่ในช่วงฤดูร้อนจะเริ่มเรียนตั้งแต่เวลา 07.30 – 16.30 น. มีพักเที่ยงและละหมาด หลังจากนั้นราวสองทุ่มจะทบทวนบทเรียนกับรุ่นพี่ และเตรียมดูบทเรียนที่จะเรียนวันรุ่งขึ้นต่อ
"ที่นี่มีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ก็กลัวเหมือนกัน แต่ทุกคนก็ปรับตัวได้ อย่างเวลามีปัญหา เด็กไทยจะรวมตัวกัน และจะได้รับการชี้แจงแนะนำการใช้ชีวิตจากรุ่นพี่ ส่วนใหญ่เราก็อยู่ในบริเวณโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เวลามีเหตุข้างนอก รุ่นพี่ก็จะแจ้งข่าวบอกเรา ทุกคนก็จะไม่ออกไปข้างนอกกัน" อุษมาน บอก
ฝันของ อุษมาน ที่เดินทางไกลจากปทุมธานีมาเรียนถึงปากีสถาน เขาบอกว่า เมื่อเรียนจบแล้วอยากกลับไปพัฒนาคนที่บ้าน ชักจูงพี่น้องที่ไม่เข้าใจศาสนาอย่างแท้จริงให้เข้าใจศาสนา นั่นคือความตั้งใจสูงสุดที่เลือกมาเรียนที่การาจี
ขณะที่ "น้องบ่าว" จากนครศรีธรรมราช เล่าว่า เรียนกีตาบมา 5 ปีแล้ว เทียบวุฒิที่เมืองไทยก็เท่ากับปริญญาตรี หวังว่าเมื่อกลับไปบ้านเกิดจะทำงานให้เกิดประโยชน์กับสังคมมากที่สุด
"ที่ผ่านมานักศึกษาที่จบจากที่นี่จะปัญหาเรื่องการเทียบวุฒิอยู่บ้าง ผมจึงอยากให้หน่วยงานรัฐช่วยเหลือในเรื่องของวีซ่าและวุฒิการศึกษาให้สามารถกลับไปเทียบที่เมืองไทยได้ เพราะระบบการศึกษาด้านศาสนาในปากีสถานมีมาตรฐานสูงมาก แต่กลับไม่มีวุฒิรับรองที่บ้านเรา"
"ที่นี่ฝึกอะไรให้ผมหลายๆ อย่าง ทั้งการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องในแบบของศาสนาและกฎหมาย ได้รู้จักการเสียสละ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ฝึกให้ผมมีความรับผิดชอบ คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับการใช้ชีวิตที่เมืองไทย" เป็นความรู้สึกจากใจของน้องบ่าว
นักศึกษาและเยาวชนเปรียบเสมือน "ต้นกล้า" ของสังคม หาก "ต้นกล้า" งอกงาม สังคมก็ "งดงาม"
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศสถานศึกษาในปากีสถาน
2 งานสัมมนาว่าที่บัณฑิตด้านศาสนาจากประเทศไทยซึ่งจัดโดยกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี
3 อับดุลเลาะห์ แวดอแม จากสุไหงโก-ลก
4 นักศึกษานั่งล้อมวงอ่านกีตาบ