งบดับไฟใต้จ่อ 2 แสนล้าน ปืนถูกปล้น 1,629 กระบอก รัฐยันหมู่บ้านสีแดงลด
หากนับเอาเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่จำนวน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงรอบใหม่ที่มีลักษณะเป็น "สงครามอาชญากรรม" ซึ่งยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบันแล้วล่ะก็... ในวันนี้สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ได้เดินทางมาครบวาระ 9 ปี!
ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา แม้การเกิดเหตุรุนแรงในแง่สถิติตัวเลขจะมีแนวโน้มลดลงเป็นลำดับ แต่ความรุนแรงขนาดใหญ่ก็ยังปรากฏอยู่เป็นระยะ เช่น ปี 2555 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เกิดเหตุคาร์บอมบ์ที่โรงแรมลีการ์เด้นส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา (31 มี.ค.2555) มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก หรือเหตุยิงครูถึง 10 รายต่อเนื่องกัน ในห้วงเดือน ก.ย.ถึง ธ.ค. หรือแม้แต่เหตุก่อกวนเชิงสัญลักษณ์ที่ส่งผลทางจิตวิทยาอย่างสูง อย่างการปักธงชาติมาเลเซียถึง 296 จุดในช่วงเช้ามืดของวันที่ 31 ส.ค.2555 เป็นต้น
ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ หากพลิกดูตัวเลขสถิติเหตุรุนแรงที่เป็น "เหตุความมั่นคง" ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ที่มีปัจจัยบ่งชี้ว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ แม้ตัวเลขจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา กล่าวคือ ปี 2550 มีเหตุความมั่นคงเกิดขึ้น 1,670 เหตุการณ์ ปี 2551 ลดลงเหลือ 765 เหตุการณ์ ปี 2552 จำนวน 757 เหตุการณ์ ปี 2553 ลดลงเหลือ 652 เหตุการณ์ ปี 2554 ทรงตัวอยู่ที่ 675 เหตุการณ์ และปี 2555 นับถึงวันที่ 21 ธ.ค.จำนวน 532 เหตุกาณ์ก็ตาม ทว่าตัวเลขเหตุรุนแรงทุกประเภทในภาพรวมกลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบระหว่างปี 2554 กับ 2555
กล่าวคือ ปี 2554 มีเหตุรุนแรงทุกประเภท จำนวน 1,085 เหตุการณ์ ขณะที่ปี 2555 พุ่งขึ้นถึง 1,450 เหตุการณ์ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าแม้เหตุรุนแรงเหล่านี้จะไม่ถูกจัดกลุ่มเป็นเหตุการณ์ความมั่นคง เช่น เหตุที่เกิดจากความขัดแย้งเรื่องการเมืองท้องถิ่น หรือเรื่องชู้สาว เป็นต้น แต่ก็มีคำถามว่าหากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีปัญหาความมั่นคงอยู่เป็นทุนเดิม อาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรงบางประเภท อาทิ การฆ่าตัดคอ หรือลอบวางระเบิดรถยนต์ จะเกิดขึ้นมากมายขนาดนี้หรือไม่
ขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณสำหรับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับถึงปีงบประมาณปัจจุบัน คือ ปี 2556 ยอดรวมพุ่งไปถึง 182,402 ล้านบาทแล้ว
9 ปีป่วน 1.4 หมื่นครั้ง ตาย-เจ็บ 1.4 หมื่นราย
ข้อมูลจากศูนยปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ระบุว่า เหตุรุนแรงทุกประเภทในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี เกิดขึ้นทั้งสิ้น 14,059 เหตุการณ์ เป็นเหตุความมั่นคง 7,903 เหตุการณ์
ทั้งนี้เมื่อนำเหตุรุนแรงจำนวน 14,059 เหตุการณ์มาแยกประเภท พบว่าเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 7,014 ครั้ง เหตุระเบิด 2,480 ครั้ง เหตุลอบวางเพลิง 1,513 ครั้ง ฆ่าทารุณ 92 ครั้ง ปล้นอาวุธ 171 ครั้ง ประท้วง 65 ครั้ง ทำร้าย 301 ครั้ง ก่อกวน 2,197 ครั้ง ปะทะ 219 ครั้ง และอื่นๆ 7 ครั้ง
จากสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและร่างกายตามข้อมูลที่รวบรวมโดยส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) นับถึงวันที่ 31 ธ.ค.2555 แยกเป็นผู้เสียชีวิต 4,980 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 9,071 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บตลอด 9 ปีไฟใต้สูงถึง 14,051 ราย
อย่างไรก็ดี ข้อมูลของ ศชต.ได้แยกแยะตัวเลขความสูญเสียเฉพาะจากเหตุความมั่นคง 7,903 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 3,380 ราย แยกเป็น ตำรวจ 278 นาย ทหาร 372 นาย ประชาชนทั่วไป 2,316 ราย พระ 7 รูป บุคลากรการศึกษา 157 ราย คนร้าย 250 คน
ผู้บาดเจ็บ 8,388 ราย แยกเป็น ตำรวจ 1,279 นาย ทหาร 1,961 นาย ประชาชนทั่วไป 4,948 พระ 23 รูป บุคลากรการศึกษา 147 ราย และคนร้าย 30 คน
ปล้นปืน 1.6 พันกระบอกตามคืนได้แค่ 500
สำหรับจำนวนอาวุธปืนที่ถูกปล้นไป ทั้งการปล้นครั้งใหญ่จากค่ายทหารหรือฐานทหาร และการปล้นจากการก่อเหตุร้ายรายวัน มีทั้งสิ้น 1,629 กระบอก ติดตามคืนได้เพียง 508 กระบอก โดยตัวเลขนี้นับถึงวันที่ 21 ธ.ค.2555 ยังไม่รวมปฏิบัติการตรวจค้นพื้นที่ ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 28-31 ธ.ค.2555 ที่สามารถยึดอาวุธปืนได้เพิ่มอีก 18 กระบอก (แต่ยังไม่ได้แยกแยะว่าเป็นอาวุธปืนที่ถูกปล้นไปทั้งหมดหรือไม่)
ทั้งนี้ อาวุธปืนที่ติดตามคืนได้จำนวน 508 กระบอก แยกเป็น ปืนพกสั้น จำนวน 210 กระบอก เอ็ม-16 จำนวน 148 กระบอก อาก้า จำนวน 71 กระบอก ลูกซองจำนวน 53 กระบอก เอชเค จำนวน 16 กระบอก และอื่นๆ 10 กระบอก
กล่าวสำหรับอาวุธปืนที่ถูกปล้นไป 2 ครั้งใหญ่ๆ คือ กองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง ถูกปล้นเมื่อ 4 ม.ค.2547 จำนวน 413 กระบอก ติดตามคืนได้ 76 กระบอก แยกเป็น เอ็ม-16 จำนวน 68 กระบอก และ 11 ม.ม.จำนวน 8 กระบอก
ส่วนปืนที่ถูกปล้นจากฐานกองร้อยทหารราบที่ 15121 (ร้อย ร.15121) หรือฐานพระองค์ดำ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2554 จำนวน 65 กระบอกนั้น ติดตามคืนได้ 5 กระบอก แยกเป็น เอ็ม-16 จำนวน 3 กระบอก อูซี่ จำนวน 1 กระบอก และมินิมิ จำนวน 1 กระบอก (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ธ.ค.2555)
ข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ผลการตรวจปืนของหน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งตรวจไปทั้งสิ้น 5,349 กระบอก พบการยิงซ้ำ 744 กระบอก สันนิษฐานว่าเป็นปืนที่คนร้ายใช้หมุนเวียนในการก่อเหตุรุนแรงรายวัน
หมู่บ้านสีแดงลด-เครือข่ายป่วนใต้ร่วมหมื่น
ข้อมูลจาก ศชต.ยังชี้ว่า สถานะหมู่บ้านใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่แยกเป็น สีแดง สีเหลือง และสีเขียว ตามสถานการณ์ความรุนแรงและอิทธิพลของกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยสีแดงถือว่าเป็นหมู่บ้านที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ไม่หวังดีในระดับสูง สีเหลืองมีการเคลื่อนไหวปานกลาง และสีเขียวเป็นหมู่บ้านที่ปลอดจากอิทธิพลของกลุ่มก่อความไม่สงบนั้น ปรากฏว่าแนวโน้มจำนวนหมู่บ้านสีแดงลดจำนวนลง
ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลเดิม ในพื้นที่มีจำนวนหมู่บ้านทั้งสิ้น 1,996 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านสีแดง 319 หมู่บ้าน สีเหลือง 517 หมู่บ้าน สีเขียว 1,160 หมู่บ้าน แต่ปัจจุบัน จำนวนหมู่บ้านเพิ่มเป็น 2,001 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านสีแดง 176 หมู่บ้าน สีเหลือง 487 หมู่บ้าน และสีเขียว 1,338 หมู่บ้าน
ขณะที่เครือข่ายผู้ก่อความไม่สงบที่พิสูจน์แล้วทุกระดับ มีทั้งสิ้น 9,822 คน แยกเป็น อาร์เคเค (กลุ่มติดอาวุธที่ปฏิบัติการด้วยความรุนแรง) 2,262 คน แนวร่วม 5,930 คน แกนนำ 1,113 คน ระดับสั่งการ 207 คน และอูลามา (ผู้รู้ หรือผู้นำทางศาสนา) 310 คน
คดีความมั่นคงยกฟ้องกว่า 60%
ในด้านการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม พบว่า ตลอด 9 ปีไฟใต้มีคดีอาญาทุกประเภทเกิดขึ้นทั้งหมด 109,043 คดี แยกเป็นคดีความมั่นคง 8,778 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 8.05
พิจารณาเฉพาะคดีความมั่นคง จำนวน 8,778 คดี แยกเป็น คดีที่รู้ตัวผู้กระทำ 2,079 คดี หรือร้อยละ 23.68 คดีไม่รู้ตัวผู้กระทำ 6,699 คดี หรือร้อยละ 76.32 โดยในส่วนของคดีที่รู้ตัวผู้กระทำ สามารถจับผู้ต้องหาได้ 1,472 คดี หลบหนี 607 คดี
จากตัวเลขคดีความมั่นคงทั้งหมด 8,778 คดี มีคดีที่อยู่ในชั้นศาลและศาลมีคำพิพากษาแล้วเพียง 501 คดี แยกเป็น พิพากษาลงโทษ 197 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 39.32 จำเลย 339 คน แยกเป็น ตัดสินประหารชีวิต 28 คดี จำเลย 34 คน จำคุกตลอดชีวิต 53 คดี จำเลย 80 คน และจำคุกไม่เกิน 50 ปี 116 คดี จำเลย 225 คน ส่วนคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง มีถึง 304 คดี หรือร้อยละ 60.68 จำเลย 780 คน
งบดับไฟใต้จ่อ 2 แสนล้าน
จากสถิติตัวเลขที่ยกมาซึ่งมีทั้งหมด 9 ด้าน (ดูกราฟฟิกและข่าวในหมวดสารคดีประกอบ ; เจาะสถิติ 9 ด้านในวาระ 9 ปีไฟใต้) น่าจะเป็นตัวชี้วัดได้ว่าการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่าพึงพอใจหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ทุ่มลงไป
ข้อมูลจากสำนักงบประมาณ ได้แจกแจงงบดับไฟใต้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547 จนถึงปีงบประมาณ 2556 เอาไว้ดังนี้ ปี 2547 จำนวน 13,450 ล้านบาท ปี 2548 จำนวน 13,674 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 14,207 ล้านบาท ปี 2550 จำนวน 17,526 ล้านบาท ปี 2551 จำนวน 22,988 ล้านบาท ปี 2552 จำนวน 27,547 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 16,507 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 19,102 ล้านบาท ปี 2555 จำนวน 16,277 ล้านบาท และปี 2556 จำนวน 21,124 ล้านบาท รวม 10 ปีงบประมาณใช้จ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 182,402 ล้านบาท
ทั้งนี้่ ตัวเลขงบประมาณที่สรุปมาทั้งหมด เป็นงบฟังก์ชัน หรืองบโครงการตามแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ยังไม่รวมงบรายจ่ายประจำประเภทเงินเดือนข้าราชการ งบเยียวยา และงบที่รัฐบาลจัดสรรเพิ่มให้เป็นพิเศษ เช่น งบกลางประเภทรายจ่ายฉุกเฉินจำเป็น และหากอัตราการจัดสรรงบประมาณดับไฟใต้ยังดำรงอยู่ในระดับนี้ ในปีงบประมาณ 2557 งบดับไฟใต้รวมจะพุ่งถึง 2 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน
นอกจากนั้น ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า งบดับไฟใต้ปีงบประมาณ 2556 ตั้งไว้สูงถึง 21,124 ล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งใน 3 ปีงบประมาณตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาที่งบดับไฟใต้ทะลุ 2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของงบประมาณรวมปี 2556 จำนวน 2.4 ล้านล้านบาท และยังเพิ่มขึ้นกว่างบประมาณปี 2555 ที่ได้รับการจัดสรร 16,277 ล้านบาท ถึงราวๆ 5 พันล้านบาทด้วย
สำหรับหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2556 ในภารกิจดับไฟใต้มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) 7,280 ล้านบาทเศษ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) 2,295 ล้านบาทเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,798 ล้านบาทเศษ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกประกอบข่าว โดยทีมกราฟฟิก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
หมายเหตุ :
1 ชมกราฟฟิกขนาดใหญ่ได้ในเฟซบุ๊ค "ศูนย์ข่าวอิศรา"
2 สกู๊ปชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปกโฟกัส ฉบับวันศุกร์ที่ 4 ม.ค.2556 ด้วย