เจ็ดปีหลังเหตุร้ายพ้นผ่าน...เสียงอาซานจากมัสยิดกรือเซะยังคงอยู่
วันที่ 28 เมษายนของทุกปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา ได้แปรเปลี่ยนวันธรรมดาๆ วันนี้ไปสู่วันแห่งประวัติศาสตร์บาดแผลจากปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแม้ปัจจุบันคนไทยเกือบทั้งประเทศจะหลงลืมกันไปเกือบหมดแล้ว แต่พี่น้องมุสลิมที่ปลายสุดด้ามขวานไม่เคยลืม
เช้ามืดของวันที่ 28 เมษายนเมื่อ 7 ปีที่แล้ว กลุ่มเยาวชนและชายฉกรรจ์มุสลิมนับร้อยคน...มีเพียงมีดกับกริชเป็นอาวุธ...แยกกันเข้าโจมตีป้อมจุดตรวจของทหาร ตำรวจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 10 แห่ง แทบทุกแห่งจบลงด้วยความสูญเสียของฝ่ายผู้โจมตี บางรายจบชีวิต บางรายได้รับบาดเจ็บสาหัส หลายรายถูกจับกุม
จุดสุดท้ายและสำคัญที่สุดอยู่ที่มัสยิดกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มัสยิดเก่าแก่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความรุ่งเรืองของศาสนาอิสลามในปัตตานีและคาบสมุทรมลายู ไม่มีใครรู้ชัดว่า 30 กว่าชีวิตที่อยู่ในมัสยิดวันนั้นเป็นผู้ร้ายที่โจมตีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด หรือมีประชาชนผู้บริสุทธิ์ติดอยู่ด้วย กระทั่งบ่ายแก่ๆ วันเดียวกัน มีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงให้ใช้อาวุธหนักยิงเข้าใส่ ผู้คนกว่า 30 ชีวิตต้องตาย ขณะที่มัสยิดก็ได้รับความเสียหายจนต้องปิดซ่อมแซม
มัสยิดซึ่งได้ชื่อว่าคือ "บ้านของพระเจ้า" ในความรู้สึกของพี่น้องมุสลิม...
หลายเดือนต่อมา มัสยิดกรือเซะจึงเริ่มตื่นจากหลับใหลหลังได้รับการซ่อมแซม และเริ่มกลับมาทำหน้าที่ "บ้านของพระเจ้า" ให้พี่น้องมุสลิมผู้ศรัทธาดังเดิม
เสียงอาซานดังเอื่อยบอกให้มุสลิมรับรู้ว่าได้เวลาละหมาดแล้ว ผู้คนในละแวกมัสยิดและคนเดินทางทะยอยกันเข้าไปประกอบศาสนกิจ...
"บ้านผมอยู่ข้างใน (หมายถึงในหมู่บ้านกรือเซะ) มาละหมาดที่นี่ทุกวัน ทุกเวลา ไม่ได้กลัวอะไร เพราะคิดว่าอะไรจะเกิดก็ต้องให้มันเกิด อยู่ที่ว่าใครจะทำความดีกันมากกว่า" ลุกมัน อีแต บอกถึงความรู้สึกของเขาที่ยังคงเดินทางมาละหมาดที่มัสยิดกรือเซะไม่เคยขาด แม้สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เคยอยู่ในสมรภูมิความรุนแรง
"ผมมาขายของที่ตลาดเปิดท้าย ก็จะแวะมาละหมาดที่มัสยิดกรือเซะ จริงๆ บ้านผมอยู่บางปู (อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี)" เป็นเสียงของ ซอเฮง สามาแล ชาวบ้านตำบลบางปูซึ่งอยู่ห่างออกไปจากตัวเมืองปัตตานีหลายกิโลเมตร "ที่นี่บรรยากาศยังเหมือนเดิม ผมไม่ได้กลัวอะไรเพราะเรามาทำความดี และที่นี่คือบ้านของพระเจ้า" เขาย้ำ
ชาวบ้านแถบนี้หลายคนบอกตรงกันว่า ช่วงแรกหลังเกิดเหตุใหม่ๆ มัสยิดเงียบเหงาไปบ้าง แต่ก็เพียงชั่วคราว เพราะทุกคนยังคงไปปฏิบัติศาสนกิจและทำความดีกันที่มัสยิดเป็นประจำ
สามาแอ ตินอ ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนใกล้ๆ มัสยิดซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่มานาน เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า หลังเกิดเหตุใหม่ๆ ก็เหงากันนิดหน่อย จากนั้นก็ปฏิบัติเหมือนเดิม แต่จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยลง ร้านค้าขายของที่ระลึกเริ่มปิดตัวเพราะไม่ค่อยมีใครมาเที่ยว ก็ต้องทำใจและอดทนกัน แต่เรื่องการละหมาดที่มัสยิดเรายังคงทำกันสม่ำเสมอ และจะยังคงทำอย่างนี้กันไปอีกนานเท่านาน
ไม่ว่าจะครบรอบกี่ปีของเหตุการณ์ร้าย มัสยิดกรือเซะยังคงทำหน้าที่ของตนเองอย่างสง่างามไม่เปลี่ยนแปลง เหลือเพียงคำถามที่ค้างคาใจผู้คนว่า แล้วฝ่ายรัฐได้ทำหน้าที่อะไรเพื่อคืนความสงบสุขให้กับดินแดนแห่งนี้บ้าง...
ช่วยตอบที!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มุสลิมกำลังละหมาดในมัสยิดกรือเซะ (ใช้เทคนิครวมภาพจาก 2 ภาพโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา)
2 มัสยิดเก่าแก่กลางแดดแรง (ภาพทั้งหมดโดย เลขา เกลี้ยงเกลา)